Skip to main content

สาละวินบนนิยามของความหลากหลาย


สาละวิน บนเส้นทางงานวิจัยชาวบ้าน งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดแนวพรมแดนไทย
-พม่า โดยได้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกาะกญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรม และความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ


ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวิน ตลอดพรมแดนไทย-พม่า มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย และระบบนิเวศย่อยตามลำห้วยสาขาอีกมากมาย ความหลากหลายซับซ้อนทั้งหมดนี้ เป็นทั้งบ้านของปลา และแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้าน


การศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน และลำห้วยสาขาพบพันธุ์ปลา ๗๐ ชนิด โดยชาวบ้านใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกันกับระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนและฤดูกาล เครื่องมือหาปลาบางชนิด มีไว้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะผู้หญิงมีความสามารถในการใช้เครื่องมือได้ดีกว่า


วิธีการหาปลาบางชนิดแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และความเชื่อของคนต่อธรรมชาติ เช่น การตึกแค หรือกั้นแควของลำห้วยเพื่อจับปลา ชาวบ้านเชื่อว่าถ้ามีการกั้นแควลำห้วยเพื่อจับปลาแล้วไม่ปล่อยน้ำให้เป็นอิสระดังเดิม ต่อไปก็จะไม่มีปลากินอีก


วิชัย อำพรนภา นักวิจัยเรื่องปลาเล่า ถึงการทำวิจัยเรื่องพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน ให้ฟังว่า

คนในลุ่มน้ำสาละวิน จะหาปลา ๒ ส่วนคือ หมู่บ้านตามริมห้วยสาขาก็จะหาปลาตามลำห้วย ใช้เครื่องมือหาปลาขนาดเล็ก เช่น เบ็ด มอง ไซ ส่วนมากก็จะได้ทั้งปลาตัวใหญ่และตัวเล็ก ปลาในลำห้วยเป็นปลาที่ขึ้นมาจากแม่น้ำสาละวินในช่วงหน้าฝน ปลามันจะเข้ามาวางไข่ตามลำห้วย ช่วงหน้าแล้งปลาก็จะอพยพลงไปในแม่น้ำสาละวิน บางช่วงของห้วยที่เป็นแก่งหินและน้ำลึกก็จะมีปลาหลงเหลือยู่ให้จับไปประกอบอาหารได้ ตอนนี้พอปลาลดน้อยลงที่บ้านโพซอก็มีการจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เพื่อจะได้มีปลากินอีกหลายๆ ปีในอนาคตข้างหน้า’


นอกจาก จะได้ทำงานวิจัยในประเด็นที่กล่าวมาแล้ว คณะนักวิจัยยังได้ร่วมกันทำงานวิจัยในประเด็นเรื่องการทำเกษตรของชาวปกากะญอ ในการวิจัยพบว่า ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในป่าสาละวิน มีวิถีการทำเกษตรที่แตกต่างกันตามลักษณะภูมินิเวศ โดยสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะภูมินิเวศคือ


การทำเกษตรริมฝั่งน้ำสาละวิน ทุกปีเมื่อแม่น้ำสาละวิน เริ่มลดระดับลงหลังฤดูฝนจะเกิดหาดทรายขาวยาวตลอดริมฝั่ง พื้นที่หาดทรายอันอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุที่สายน้ำพัดพามาเหล่า นี้คือแปลงเกษตรของชาวบ้านริมฝั่งน้ำ หลังจากน้ำลด ชาวบ้านจะทำการจับจองพื้นที่ในการปลูกพืชต่างๆ กว่า ๓๐ ชนิด เช่น ถั่ว แตงโม ยาสูบ เพื่อบริโภคในครัวเรือนหรือนำไปแลกเปลี่ยนในชุมชน เกษตรริมน้ำสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชนริมฝั่งน้ำสาละวินตลอดฤดูแล้ง


การทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ถือเป็นหัวใจของการผลิตของชุมชนสาละวิน ชาวบ้านทุกครอบครัวทำไร่หมุนเวียนบนดอย โดยมีวงรอบของการหมุนเวียนไปประมาณ ๕-๘ ปี ในไร่ของชาวบ้านสาละวิน มีพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองถึง ๕๒ ชนิด และพืชอาหารปลูกผสมกันไปอีกกว่า ๑๓๐ ชนิด


การทำนา ชุมชนริมห้วยสาขาในป่าสาละวิน จะทำนาบนที่ราบลุ่มริมฝั่งลำห้วย โดยมีการจัดการน้ำด้วยวิถีพื้นบ้านในระบบเหมืองฝาย เป็นการ ‘ขอยืมน้ำ’ จากลำห้วยให้ไหลผ่านนาขั้นบันได หล่อเลี้ยงต้นข้าวและไหลกลับคืนสู่ลำห้วยดังเดิม ทุกปี ชาวบ้านที่ใช้ฝายจะร่วมกันทำพิธีเลี้ยงผีฝาย เพื่อขอบคุณสรรพสิ่งที่มอบความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา


ตลอดรอบปีของการเกษตรทั้งไร่หมุนเวียนและนา พบว่า ชาวบ้านมีพิธีกรรมจัดขึ้นในทุกช่วง เพื่อขออนุญาตผืนดิน แม่น้ำ และป่าในการทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัว พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงความเคารพต่อสรรพสิ่ง และธรรมชาติ ซึ่งแนวคิดที่เคารพในธรรมชาติถูกปลูกฝังอยู่ในทุกชีวิตแห่งป่าสาละวิน


พ่อหลวงธวัชชัย อมรไผ่ชนแดน หนึ่งในนักวิจัยเรื่องการทำเกษตรได้เล่าถึงผลการศึกษาว่า

คนอยู่ในป่าก็หากินกับป่า ทำไร่บนดอย บางคนก็ทำนา พันธุ์ข้าวในไร่มีเยอะ ปลูกข้าวไร่ทีก็ปลูกผักอย่างอื่นไปด้วย ไม่มีอดกิน แต่ถ้าต่อไปไม่ให้ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนแล้ว ชาวบ้านคงอดตายกันแน่ เพราะไม่รู้จะเอาข้าวที่ไหนมากินจะให้ไปรับจ้างก็คงไม่ไหว เพราะพวกเราไม่คุ้นเคย อยู่กับไร่นี่แหละสบายดี ทำไร่ปีหนึ่งมีข้าวกินก็พอแล้ว’


ส่วนพะตีสิริพอ จตุพรเวียรสกุล นักวิจัยเรื่องสมุนไพรและอาหารจากป่ากล่าวว่า

ในป่าสาละวิน มีพืชสมุนไพรเยอะ ป่าสาละวิน อุดมสมบูรณ์มีพรรณพืชมากมายที่ชาวบ้านได้ใช้เป็นอาหารและยาสมุนไพรด้วยความรู้พื้นบ้านชาวบ้านสามารถเก็บพรรณพืชสมุนไพรได้กว่า ๑๓๐ ชนิดชาวบ้านก็จะไปเก็บเอามารักษาโรค เพราะกว่าจะเดินทางเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลในเมืองมันก็นาน ในป่านี่สมุนไพรมีความจำเป็น คนอยู่ป่าก็อาศัยป่า รักษาป่า บางคนอายุมากแล้วไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยหนักๆ เลยเพราะกินแต่สมุนไพร เดี๋ยวนี้คนในเมืองป่วยกันเยอะ เพราะกินสารเคมีมาก คนในป่าบางทีเป็นมาลาเรียเอาใบไม้มาต้มกินก็หาย พรรณพืชเหล่านี้จึงเป็นความมั่นคงของชุมชนในผืนป่าสาละวินที่มิต้องซื้อหา’


สาละวิน ในชื่อของอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่า พื้นที่ป่าบริเวณริมแม่น้ำสาละวินเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนอันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยบริเวณยอดเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๒๐๐-,๑๐๐ เมตร มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นต้นน้ำของแม่น้ำหลายสาย สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง มีพรรณไม้สำคัญ เช่น ไม้สัก แดงประดู่ เป็นต้น


จากการสำรวจเบื้องต้นของกรมป่าไม้เมื่อปี ๒๕๓๒ พบว่า พื้นที่ป่าแม่ยวม ฝั่งขวา และป่าสาละวิน มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๐๑๓ ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ ๖๓๒,๑๒๕ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์สมควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงมีมติตามที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ ๑/๒๕๓๖ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ..๒๕๓๖ พิจารณาเห็นชอบในการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน


และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินในเขตป่าแม่ยวมฝั่งขวา ป่าสาละวินในท้องที่ตำบลเสาหิน ตำบลบ้านกาศ ตำบลแม่คง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง และตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแมฮ่องสอนให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ..๒๕๓๗ โดยใช้ชื่อว่า ‘อุทยานแห่งชาติสาละวิน’ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๑ ตอนที่ ๕๐ ก ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ..๒๕๓๗


สาละวิน บนเส้นทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำสายใหญ่หลายสาย มักจะปรากฏหลักฐานการอาศัยอยู่ของมนุษย์มาแต่โบราณ ลุ่มน้ำสาละวิน ก็เป็นลุ่มน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งต่อประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนักประวัติศาสตร์ระบุว่า การค้นพบแหล่งโบราณคดีเช่นถ้ำผี ซึ่งอยู่บนภูเขาสลับซับซ้อนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวได้ว่า ถ้ำผีแห่งนี้เป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ในยุคที่เริ่มเปลี่ยนแปลงจากใช้ชีวิตแบบล่าสัตว์ และเก็บพืชเพื่อการยังชีพมาเป็นการก่อร่างสร้างสังคมแบบการทำเกษตร


การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในครั้งนั้น สามารถมาลบล้างความเชื่อเดิมของนักโบราณคดีได้ว่า

ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนนั้นยังล้าหลังต้องอาศัยวัฒนธรรมจากอินเดียและจีนมายกระดับความเจริญของบ้านเมือง’


เพราะจากการขุดค้นได้พบเครื่องมือกะเทาะหิน ซึ่งมีอายุ ๑๒,๐๐๐-,๐๐๐ ปีมาแล้ว และการขุดค้นต่อมาก็พบเครื่องปั้นดินเผา หลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชนเผ่าดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินได้ดีคือ กลุ่มคนในยุคก่อนมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าทำเครื่องปั้นดินเผา นอกจากนั้นยังมีการนำเส้นใยจากพืชมาทำเชือกและตาข่ายจับปลา


จากหลักฐานการค้นพบแหล่งโบราณคดีดังที่กล่าวมาแล้ว ล้วนแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า

ผู้คนอาศัยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้มาหลายร้อยหลายพันปีแล้ว’


หากไม่กล่าวเกินเลยไปนักก็คงต้องบอกว่า คนที่อยู่ตามริมฝั่งน้ำในปัจจุบันคือลูกหลานของคนยุคก่อนที่อาศัยอยู่ที่นี่มาเนิ่นนาน


แม่น้ำสาละวิน นอกจากจะมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คนริมฝั่งน้ำแล้ว แม้น้ำสายนี้ยังมีคุณค่าทางวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย ชาวคะเรนนี บางส่วนเชื่อว่า เมื่อได้ดื่มกินน้ำสาละวิน จะหายจากการป่วยไข้


ในช่วงที่มีเทศกาลเกโตโบของทุกปี ผู้เฒ่าชาวคะเรนนี จะกล่าวอวยพรคนหนุ่มสาวด้วยคำว่า

บลา ตู บู ฮู เต เค-ขอให้เธอจงเติบโตเหมือนแม่น้ำสาละวินที่ทอดยาว’



บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’