Skip to main content

  

ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ"


ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน เสาไฟฟ้าที่พอสันนิษฐานได้ว่าตรงนั้นเคยเป็นถนนมาก่อนถูกน้ำท่วมขึ้นมาถึงครึ่งหนึ่ง


เมื่อไปถึงหมู่บ้าน ผมก็มุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ เพราะมีเป้าหมายในการไปดูพื้นที่หาปลา และไปฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการหาปลาของคนหาปลา แต่ก็น่าเสียดาย เพราะวันที่ไปถึงนั้น น้ำในแม่น้ำโขงท่วมจนเกือบถึงตลิ่ง คนหาปลาจึงน้อย เพราะส่วนมากต้องไปทำนาอันเป็นหน้าที่การงานหลัก แต่ก็ถือว่าโชคดีที่คนหาปลาบางส่วนยังหาปลาอยู่ ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุยหลังจากคนหาปลาเดินทางกลับมาจากการไหลมอง การพูดคุยก็มีหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่อง ‘กองทุนปลา' ที่คนหาปลาในหมู่บ้านได้ก่อตั้งขึ้นมา

การก่อตั้งกองทุนปลาขึ้นมาก็เพื่อเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยน และทำการขายปลา โดยปลาที่จับได้จะถูกนำมาขายให้กับกองทุนในราคาที่เหมาะสม และกองทุนก็จะนำปลาที่รับซื้อมาจากคนหาปลาไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าอีกทอดหนึ่ง สำหรับพ่อค้าแม่ค้าเมื่อมาถึงแล้วก็รับรองได้ว่าจะมีปลานำกลับไปขายต่อ และคนหาปลาก็ไม่ต้องห่วงว่าปลาที่จับได้จะขายไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว การลงทุนในกองทุนปลา เงินทุนที่ได้มายังมาจากชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดโดยไม่มีคนนอกเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุน เงินปันผลก็จะกลับไปหาผู้ร่วมทุนแตกต่างกันออกไปตามแต่จำนวนหุ้นที่ลงทุนในกองทุน


การพูดคุยกำลังสนุก แต่ดูเหมือนว่าฝนบนฟ้าจะไม่ค่อยเป็นใจ เพราะฟ้าเริ่มมืด และครึ้มฝนมาทุกทิศทุกทาง ราวบ่ายผมจึงเดินทางออกจากหมู่บ้านพร้อมกับปลาเคิงหนัก ๓ กิโลกรัม หลังกลับมาจากหมู่บ้านในคราวนั้น ผมก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย แต่ยังมีความหวังว่า ผมจะกลับไปยังหมู่บ้าน เพื่อตามเจาะลึกเรื่องราวกองทุนปลาอีกครั้ง




แล้ววันที่ผมเฝ้ารอจะกลับไปยังบ้านผาชันอีกครั้งก็เดินทางมาถึง จากการไปเยือนบ้านผาชันครั้งแรกกับครั้งล่าสุดที่ผมเดินทางไปนี้ห่างกันเกือบ ๗ เดือน การไปบ้านผาชันครั้งนี้ ผมไม่ได้เดินทางด้วยรถ แต่เป็นการเดินทางไปทางน้ำโดยการล่องเรือจากสามพันโบก บ้านสองคอน ระยะทางจากสามพันโบกไปถึงบ้านผาชันทางน้ำราว ๑ ชั่วโมงของการเดินเรือ


พูดถึงสามพันโบกแล้วผมเองยังไม่อยากเชื่อว่าในแม่น้ำโขงจะมีพื้นที่เช่นนี้อยู่ สามพันโบกเป็นชื่อของหลุมที่อยู่บนแก่งหินที่อาจารย์เรืองประทิน เขียวสดบอกว่า มีถึงสามพันหลุม (ผู้คนทางฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณนั้นเรียกหลุมที่เกิดขึ้นบนแก่งหินว่า ‘โบก') การเกิดขึ้นของโบกมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา โดยมีอาจารย์เรืองประทินเล่าให้ฟังอีกทอดหนึ่งว่า มีปู่กับหลานคู่หนึ่งพากันไปหาปลาตามแก่ง ปู่ไปตักต้องอยู่ริมฝั่งจนเที่ยงก็ไม่ได้ปลา หลานก็หิวข้าว พอปู่รู้ว่าได้เวลากินข้าวสวย (ข้าวเที่ยง) แล้วก็วางเครื่องมือหาปลาขึ้นมาหาหลาน และพอได้รู้ว่าหลานหิวข้าว แต่ปู่ก็ไม่ได้ปลาสักตัว ปู่จึงเดินไปตามแก่งหินและเริ่มลงมือจก (ล้วง) เข้าไปตามแก่งหินเพื่อหาปูไปปิ้งให้หลานกิน การจกของปู่ การล้วงไปล้วงมาจนเกิดเป็นโบก หลังอาจารย์เรื่องประทินเล่าให้ฟังมาถึงตรงนี้ หลายคนแอบยิ้ม และพึมพำว่า ดูท่าปู่จะจกปูหลายปี และหลานคงมีหลายคนจึงเกิดโบกตั้งสามพันโบก


บริเวณที่เรียกว่าสามพันโบกนี้กินบริเวณพื้นที่ราว ๑๐ ตารางกิโลเมตร ในช่วงหน้าแล้งหลังน้ำลด โบกจะโผล่พ้นน้ำไปจนถึงเดือนมิถุนายน และหลังจากนั้นโบกก็จะจมอยู่ใต้น้ำ นอกจากสามพันโบกจะเป็นพื้นที่อันสวยงามในเชิงของการท่องเที่ยวแล้ว สามพันโบกยังเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาที่อาศัยตามโบกในช่วงฤดูแล้ง พอถึงฤดูฝนที่น้ำท่วมหลาก ปลาก็จะเดินทางออกสู่แม่น้ำโขง


การเดินทางไปบ้านผาชันในครั้งนี้ เราใช้เรือ ๓ คัน หลังคนเดินทางขึ้นเรือเรียบร้อย เครื่องยนต์ท้ายเรือก็ดังขึ้น แล้วเรือก็บ่ายหน้าออกจากตลิ่งพาผู้โดยสารราว ๓๐ คนล่องแม่น้ำโขงเพื่อเดินทางสู่บ้านผาชัน การเดินทางบนเรือเหนือแม่น้ำโขงบริเวณนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผม แม้จะเคยเดินทางไปหลายพื้นที่ของแม่น้ำโขงมาแล้ว การเดินทางในครั้งนี้ก็มีความตื่นเต้นเดินทางมาเคาะประตูหัวใจ


ตลอดสองฝั่งน้ำ แก่งหินสูงชันขึ้นไปจากลำน้ำ ในห้วงยามที่เรือเดินทางผ่านแก่งหิน และมีคนหาปลาพักพิงอาศัยตามแก่งหินทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องราวของภาพเขียนบนผนังผาแต้ม ผมแอบสันนิษฐานเพียงลำพังว่า ผู้คนแถบถิ่นนี้ได้อาศัยแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่ที่กินมาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำคงมีความสำคัญต่อผู้คนในถิ่นนี้มากมายทีเดียว อย่างน้อยๆ ภาพเขียนบนหน้าผาที่ผาแต้มก็คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใดล้วนพึ่งพาแม่น้ำเพื่อการยังชีพมาช้านาน


ตะวันจวนลับขอบฟ้า เรือก็พาคนเดินทางมาถึงบ้านผาชัน หน้าผาสูงชันที่อยู่สูงขึ้นไปจากแม่น้ำถึงขนาดที่ว่า หน้าผาบางแห่งต้องนำบันใดมาปีนขึ้นไปถึงจะปีนข้ามหน้าผาไปยังหมู่บ้านได้


"ผามันสูงชันจริงๆ สมแล้วที่ชื่อว่าบ้านผาชัน" ใครบางคนในขณะร่วมเดินทางเอ่ยออกมา ขณะเรือกำลังตีวง เพื่อเดินทางทวนแม่น้ำไปยังท่าเรือบ้านผาชัน หลังขึ้นจากแม่น้ำโขงมา ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมหมู่บ้านที่ผมเคยมาเยือนเมื่อ ๗ เดือนก่อนจึงได้ชื่อว่า ‘บ้านผาชัน'


จากตัวเลขที่ปรากฏอยู่ตามหน้าผาบางแห่งบอกว่า หน้าผาสูงจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อยู่ในช่วงหน้าแล้งถึง ๑๕ เมตร


ตะวันตกลับเหลี่ยมภูเขาลงไปแล้ว การเดินทางจากสามพันโบกไปบ้านผาชันสิ้นสุดลงแล้ว คนหาปลาเริ่มทยอยกลับคืนสู่บ้าน ผม และคณะเดินทางออกเดินทางจากหมู่บ้านโดยมีความร้อนของฤดูแล้งแห่งภาคอีสานเป็นแรงหนุนให้รถตู้โดยสารต้องเปิดแอร์แรงสุด


"แปลกจริงๆ เลย พวกนักสร้างเขื่อนนี่ มันชอบทำเขื่อนแต่ตรงที่แม่น้ำสวยๆ ทั้งนั้น อีกหน่อยถ้าทำเขื่อนบ้านกุ่มทั้งสามพันโบก และบ้านผาชันคงจมอยู่ใต้น้ำ" ใครบางคนบนรถตู้รำพึงรำพันด้วยความร้อนกาย และร้อนใจทั้งที่บนรถแอร์เย็นฉ่ำ...

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกมติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…