Skip to main content

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม


เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต นี่อาจเป็นเรื่องราวหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาบนฝั่งแม่น้ำด้านทิศตะวันตก เมื่อหลายปีมาแล้ว และปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่


ในปี ๒๕๓๖ ภาพยนตร์เรื่อง ‘มือปืน ๒ สาละวิน’ โดยการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน


ซึ่งถือได้ว่าอาจเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ไทยที่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินได้ดีที่สุด หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายออกไป เรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน จึงถูกดึงเข้าไปอยู่ในความสนใจของผู้คนบนฝั่งน้ำด้านตะวันออกอย่างกว้างขวาง


นอกจาก จะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่น้ำสาละวินแล้ว ยังมีหนังสือหลายๆ เล่มที่กล่าวถึงแม่น้ำสาละวิน และความเป็นไปของผู้คนสองฝั่งน้ำ ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘เพชรพระอุมา’ บทประพันธ์ของพนมเทียน คือหนึ่งในหนังสือหลายๆ เล่มนั้น หากใครได้อ่านคงจดจำการผจญภัยอันตื่นเต้น และเร้าใจในป่าดงดิบสาละวินของระพินทร์ ไพรวัลย์ และม...ดาริน วราฤทธิ์ รวมทั้งแงทรายได้ดี แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ไม่มีภาพประกอบ แต่ผู้เขียนก็ทำให้คนอ่านจินตนาการได้ถึงภาพของผืนป่า และแม่น้ำสาละวินได้ดีทีเดียว


แน่นอนว่าความทรงจำ และการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน ย่อมแตกต่างกันออกไปตามแต่การสัมผัสรู้ของแต่ละคน เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ ผู้คนจำนวนมากจะจินตนาการถึงสิ่งใดบ้าง


หากย้อนหลังไป เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ คนส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงเรื่องราวของป่าสักทองจำนวนมากที่ถูกนายทุนเข้าไปสัมปทาน ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย


โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ‘แม่น้ำสาละวิน’ ได้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยแทบทุกฉบับ สาเหตุที่เป็นข่าวครึกโครมขึ้นหน้าหนึ่งในครั้งนั้น เนื่องมาจากมีการจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ในป่าสาละวินครั้งมโหฬารที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์


โดยการจับกุมมีการยึดไม้ของกลางได้ จำนวนทั้งสิ้น ๑๓,๒๕๑ ท่อน และมีการจับกุมขบวนการมอดไม้ได้หลายคน ทั้งข้าราชการ และประชาชนธรรมดา ช่วงที่มีการจับกุมใหม่ๆ นั้น แม่น้ำสาละวิน ก็ถูกพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในฐานะเส้นทางการลำเลียงไม้ เส้นทางการค้าไม้ และที่สำคัญคือสาละวินเป็นเส้นทางที่พาผู้คนโลภมากเหล่านั้นไปสู่ความหายนะ


แต่หลังจากคดีสิ้นสุดลง ไม้ส่วนหนึ่งได้มลายหายไป และบางส่วนก็ถูกปล่อยให้โดนแดด โดนฝนเป็นไปตามยถากรรม เรื่องราวเกี่ยวกับไม้สักจากป่าสาละวิน ก็เงียบหายไปจากความทรงจำของผู้คนในประเทศไทยอีกครั้ง


-รู้จักแม่น้ำสาละวิน-


สาละวินเป็นสายเลือด สายน้ำเอยไม่เคยเหือดหาย ขุนเขาสลับซับซ้อนเรียงราย เรื่องราวมากมายมาหลายชั่วคน มีเสียงดนตรี-มีเสียงสงคราม มีความสวยงาม-มีความเข้มข้น สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวน ไหลเชี่ยวเกลียวน้ำหมุนตัว อำนาจเมามัวเหมือนน้ำหมุนวน แสนคนตาย-แสนปืนกล-แสนความจน ข้าวยากหมากแพง สันติธรรมค้ำสาละวิน พิราบเจ้าบินเห็นมาแต่ไกล ขอลูกปืนแปรเป็นดอกไม้ ความเลือดความตายขอให้หลุดพ้น ยิ้มของเด็ก-ยิ้มของแม่ ซึ้งใจเมื่อแล-ซึ้งใจเมื่อยล สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน... เนื้อนัยเพลง,สุรชัย จันทิมาธร,๑๗๓’


บทเพลงของสุรชัย จันทิมาธร ได้กล่าวถึงแม่น้ำสายนี้เอาไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว และบทเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่บอกเล่ากับเรื่องราวความเป็นจริงของแม่น้ำสายนี้ได้ดีอีกเพลงหนึ่ง


แม่น้ำสาละวิน มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป บ้างก็เรียกว่า ‘แม่น้ำสายเลือด’ บ้างก็เรียกว่า ’แม่น้ำมรณะ’ หากพูดถึงต้นธารแห่งแม้น้ำสายนี้แล้ว สามารถกล่าวได้ว่าแม่น้ำสาละวิน มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะในบริเวณที่ราบสูงธิเบต เหนือเทือกเขาหิมาลัย ที่ระดับความสูงมากกว่า ๔,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ชนพื้นถิ่นในราบสูงธิเบต เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘นู่เจียง-หรือแม่น้ำนู แปลว่า ‘แม่น้ำที่โกรธเกรี้ยว’ เนื่องจากลักษณะของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากผ่าโตรกผา และโขดหิน’


เมื่อแม่น้ำสาละวิน ไหลผ่านตอนกลางในเขตรัฐฉาน ซึ่งเป็นเขตที่มีชาวไตหรือไทใหญ่อาศัยอยู่มากที่สุด ชาวไตเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำคง’ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐคะยา รัฐกระเหรี่ยง เวลาเรียกชื่อแม่น้ำสาละวิน มักจะออกเสียงคล้ายกับชาวไตในรัฐฉานคือออกเสียงว่า ‘คง’ ส่วนชาวปกากะญอ เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โคโหล่โกล’


สำหรับชื่อ ‘สาละวิน‘ นั้นเป็นชื่อที่ชาวอังกฤษเรียกเพี้ยนมาจากเสียงเรียกของชาวพม่า ซึ่งออกเสียงว่า ‘ตาลวิน’


แม่น้ำสาละวิน มีความพิเศษแตกต่างกับแม่น้ำอื่นทั่วไป กล่าวคือ แม่น้ำสาละวิน จะมีอุณหภูมิที่เย็นตลอดปี ในฤดูฝนน้ำจะมีสีเหลืองขุ่น และมีแก่งหินตลอดทั้งสาย ร่องน้ำมีลักษณะคล้ายมีดปักลึกลงไปในแผ่นดิน นอกจากนั้นแม่น้ำสาละวิน ยังแตกต่างจากแม่น้ำหลายๆ สายบนพรมแดนตะวันตกของประเทศ เช่น แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม เพราะในหน้าแล้งเราไม่สามารถเดินข้ามแม่น้ำสาละวินได้ แต่สำหรับแม่น้ำเมยแล้ว ในหน้าแล้งเราสามารถเดินข้ามได้


ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา แม่น้ำสาละวิน ได้ถูกเรียกขานว่า ‘แม่น้ำสีเลือด’ ซึ่งความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่คงไม่มีใครกล้าบอกได้ แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่สังคมโลกได้รับรู้เสมอมาคือ ในช่วงที่การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกับพม่าทวีความรุนแรง ศพของเหล่านักรบนิรนามก็จะลอยมาตามน้ำอยู่เป็นระยะ ฤดูฝนแม่น้ำสายใหญ่สายนี้จะกลายเป็นแม่น้ำที่โกรธเกรี้ยวไหลเชี่ยวกรากส่งเสียงดัง เนื่องจากการไหลกระทบกันของน้ำกับแก่งหินที่จมอยู่ใต้น้ำตลอดทั้งสาย ในหน้าฝนช่วงที่น้ำเป็นน้ำใหญ่ จึงมีอันตรายกว่าช่วงอื่นๆ


ทีเซ คนขับเรือรับจ้างที่บ้านแม่สามแลบเล่าว่า

ในแม่น้ำสาละวิน จะมีน้ำวนอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็จะมีอันตรายช่วงหน้าฝน บางแห่งก็จะมีอันตรายช่วงหน้าแล้ง ในหน้าฝนก็จะไม่ค่อยอันตราย แต่บางแห่งก็จะอันตรายทั้งหน้าฝน และหน้าแล้ง อย่างถ้าขับเรือทวนน้ำขึ้นเหนือจุดที่อันตรายที่สุด ก็จะเป็นตรงเว่ยจี แถวปากห้วยแม่แต๊ะหลวง


เว่ยจี-เป็นภาษาพม่าแปลว่าน้ำวนใหญ่ ชาวปกากะญอ เรียกว่า กุยเว่ยจี กุยพะโด หรือ “แม่แตะกุย’ เพราะตรงนั้นเป็นช่วงที่สองฝั่งน้ำแคบ แม่น้ำทั้งสายไหลมาเป็นน้ำใหญ่แล้วเหลือเล็กลงและตรงนั้นก็จะเป็นหน้าผาทั้งสองฝั่งน้ำ ถ้าขับเรือไม่ระวังเรือก็จะชนหินแล้วเรือก็จะจมส่วนด้านล่าง จุดที่อันตรายก็มีหลายจุด แต่จุดที่สำคัญคงเป็น แจแปนทีลอซู ห่างจากบ้านสบเมยไปประมาณ ๗๐ กิโล ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังต่อๆ กันมาว่า ในช่วงสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) มีทหารญี่ปุ่นหลายร้อยคนล่องเรือตามน้ำลงไปพอไปถึงตรงจุดที่เป็นน้ำตก ซึ่งสูงประมาณตึก ๒ ชั้น เรือก็ไปต่อไม่ได้ เพราะน้ำมันแรง พอไปถึงตรงจุดนั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันมีแก่งที่เป็นน้ำตก หลังจากเรือไปถึง เรือก็ตกลงไป พอตกลงไปเรือก็แตก คนก็ตาย ชาวบ้านในแถบนั้นก็เรียกจุดนั้นว่า ‘แจแปนทีลอซู’ คือ หมายถึงน้ำตกของคนญี่ปุ่นหรือน้ำตกที่คนญี่ปุ่นตาย ถ้าคนไม่เคยลงเรือในน้ำสาละวินนี่ เวลานั่งเรือต้องฟังคนขับเรือ อย่างคนขับเรือบอกไม่ให้นั่งขอบเรือ และให้นั่งนิ่งๆ ถ้าไม่นั่งนิ่งๆ เรือจะเสียการทรงตัวได้ ถ้าตกน้ำแล้วไม่ตายก็รอดยาก น้ำสาละวินมันเชี่ยว


จากต้นน้ำบนภูเขาสูงแม่น้ำสาละวิน ได้ไหลลงสู่พื้นที่ลาดชันอันเต็มไปด้วยภูเขาทางด้านทิศใต้ ผ่านยูนนาน ประเทศจีน และไหลเข้าสู่รัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยงจากนั้นแม่น้ำสาละวิน ก็จะลดระดับลงมาเหลือต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนที่จะไหลเป็นเส้นพรมแดนไทย-พม่าประมาณ ๑๑๘ กิโลเมตร จากนั้นก็จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตระนาวศรีที่บ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นจุดสุดท้ายของแม่น้ำสาละวิน ในประเทศไทย


หลังจากนั้นก็จะไหลวกกลับเข้าเขตประเทศพม่า ค่อยๆ ลดระดับลงจนกระทั่งไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ บริเวณเมืองเมาะลำเลิง หรือเมืองมะละแหม่ง ในรัฐมอญ รวมระยะการเดินทางของแม่น้ำสายนี้ทั้งหมด ๑,๗๕๐ไมล์หรือ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร มีความยาวเป็นอันดับ ๒๖ ของโลก ถือเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่ และมีความสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากแม่น้ำโขง


จากรายงานการสำรวจทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐระบุว่า แม่น้ำสาละวิน มีปริมาณน้ำมากเป็นอันดับ ๔๐ ของโลก และมีน้ำที่ไหลลงมหาสมุทรมากถึง ๕๓ ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที


ในทางภูมิศาสตร์แม่น้ำสาละวิน เป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าที่ยาวลงไปตามลำน้ำเมย จนไปถึงเทือกเขาตะนาวศรี ครอบคลุมผืนป่าขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยทั้งหมด ผืนป่าที่เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้นี้มีเขตอนุรักษ์ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น


ด้านพันธุ์สัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ๒๐ ชนิด มีสัตว์ป่าหายาก ๒๐ ชนิด เช่น กระทิง เสือโคร่ง เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบนกและสัตว์ปีกอื่นๆ อีก ๑๒๒ ชนิด โดยแบ่งเป็นนกประจำถิ่น ๑๐๘ ชนิด นกอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว ๑๔ ชนิด และพบสัตว์สะเทินบกอีกประมาณ ๓๘ ชนิด (ศูนย์วิจัยป่าไม้, ๒๕๓๔; ๔๓-๖๑)


สำหรับพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน จากการสำรวจพบ โดยนักคณะวิจัยปกากะญอสาละวิน มีปลาที่ชาวบ้านำมาเป็นอาหารทั้งสิ้น ๗๐ ชนิด แยกเป็นปลาหนัง ๒๒ ชนิด ปลาเกร็ด ๔๘ ชนิด ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่า ปลาในแม่น้ำสาละวิน น่าจะมีมากถึง ๒๐๐ ชนิด


นอกจากปลาที่กล่าวมาแล้ว ในแม่น้ำสาละวินยังมีปลาหายาก คือ ปลาไหลหูดำหรือปลาตูหนา ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยหากินตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ในฤดูวางไข่จะออกไปวางไข่ในทะเลลึก นอกจากจะพบปลาขนิดนี้ ในแม่น้ำสาละวินแล้ว ยังพบในแม่น้ำสาขาสายอื่นๆ ด้วย เช่น แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา รวมไปถึงแม่น้ำปาย คนหาปลาที่บ้านสบเมย บอกตรงกันว่า

ปลาสะเงะจะจับได้ช่วงหน้าหนาวกับช่วงน้ำหลาก คือจับได้ ๒ ช่วงคือ ช่วงน้ำหลากกับช่วงน้ำลด’


ในทางชีววิทยาเชื่อกันว่า เหตุที่ปลาตูหนาเดินทางกลับสู่ทะเลนั้น สาเหตุน่าจะมาจากเกลือในร่างกายหมดทำให้เกิดแรงกระตุ้น เพื่อให้เดินทางกลับไปสู่ทะเล ซึ่งการเดินทางกลับสู่ทะเล ก็คงเป็นช่วงที่ปลาตูหนาเดินทางกลับไปวางไข่ในทะเล


บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’