Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก  


เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน

ลูกเป็นไข้มาหลายวันแล้วแม่จึงให้ลูกผักผ่อนอยู่กับบ้านเกือบตลอดสัปดาห์ แม่คิดว่าเพราะอากาศช่วงนี้ค่อนข้างผันผวน 

โดยเฉพาะช่วงเช้าซึ่งยังคงหนาวเย็นเหมือนหน้าหนาว แต่เราจำต้องขี่มอเตอร์ไซด์ฝ่าอากาศหนาวจากบ้านใกล้เมืองเพื่อไปถึงโรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยเสือเฒ่าเป็นระยะทางกว่าเจ็ดกิโลเมตร ลูกจะนั่งด้านหน้ามีผ้าห่มแขวนไว้หน้ารถให้ลูกซุกซ่อนตัวป้องกันความหนาวยามรถวิ่ง

 


ถนนสู่หมู่บ้าน

 
พอตกบ่ายแม่รู้สึกว่าอากาศช่างร้อนอบอ้าว รถที่วิ่งแหวกอากาศแทนที่จะเย็นสบายกลับกลายเป็นลมร้อนอ้าว แผดเผาจนลูกต้องซุกซ่อนหน้าเข้ากับผ้าห่มผืนเดิม อาการหวัดของลูกจึงเป็นๆหายๆ อยู่นานเป็นเดือน


เส้นทางเจ็ดกิโลเมตรที่ว่าก็ยังเป็นเส้นทางที่แปลกที่สุดในโลกก็ว่าได้ เราจะตัดผ่านน้ำทุกๆห้าร้อยเมตร นั่นคือมีลำห้วยสายหนึ่งที่คดโค้งไปมาตัดผ่านถนนกว่าสิบสายเลยทีเดียว


แม่ต้องขี่รถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อก่อนแม่เคยล้มอยู่หลายครั้งด้วยความลื่นของถนน  จนเกิดความชำนาญและรู้เทคนิคในการขับ แต่แม่ก็ไม่เคยประมาทที่จะลดความเร็วเวลาขับขี่ผ่านลำน้ำ


ถนนตัดผ่านลำห้วย


ย่างเข้าหน้าร้อนไม่เท่าไร แม่รู้สึกว่าปีนี้คงต้องแล้งกว่าทุกๆ ปี น้ำที่เคยเจิ่งนองบนถนนบางสายมุดหายไหลอยู่ใต้พื้นถนน  แทนที่แม่จะดีใจที่ไม่ต้องคอยระวังถนนลื่น กลับรู้สึกใจหายที่เห็นปรากฏการณ์ความแห้งแล้งเกิดขึ้นในรอบห้าปีได้อย่างชัดเจน

ทั่วโลกเองก็เป็นอย่างนี้ประสบปัญหาภัยแล้งและไฟป่าที่กำลังจะตามมา โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนที่ป่าส่วนใหญ่จะผลัดใบจนต้นโก๋น ใบไม้แห้งกลายมาเป็นเชื้อเพลิงยามเมื่อไฟป่าถูกจุดขึ้นที่ไหนสักแห่งกลายเป็นมังกรไฟลามไปทั้งป่า 


ว่ากันว่าไฟป่าเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เกิดจากการเผาด้วยมือของมนุษย์มากกว่าไฟป่าตามธรรมชาติที่ต้นไม้เสียดสีกันจนลุกไหม้  รัฐจึงรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านจุดไฟเผาป่า แต่อีกมุมหนึ่งของชาวบ้าน ไฟกับป่าหนีกันไม่พ้นในหน้าแล้ง


ชาวบ้านจึงต้องผ่อนหนักให้เป็นเบาด้วยการชิงเผาในสวนของตัวเอง เพื่อทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟป่าลุกลามกินอาณาเขตกว้าง คือชาวบ้านเป็นผู้จุดไฟก็จริงแต่ก็สามารถควบคุมไม่ให้ไฟลุกลามไปทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าทั้งป่า


แต่สำหรับแม่การกำจัดต้นเพลิงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าการชิงเผาจะจัดการไฟได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่  หรือการห้ามจุดไฟเลยอาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียครั้งใหญ่ก็เป็นได้


ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขตป่าไม้จึงมีโอกาสพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเก็บใบตึงมาทำหลังคาใบตองตึง สร้างรายได้และช่วยลดโลกร้อนแบบที่ไม่ต้องทำตามในโฆษณาทีวีก็เห็นผลได้แบบทันตา

คงมีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้นที่เราจะเห็นกระท่อมหลังคามุงใบตองตึงมีอยู่ทั่วไปตามชนบท  ด้วยหาง่าย แม้ซื้อหาก็มีราคาถูก คือตับละสองบาทห้าสิบ  กระท่อมหลังย่อมๆใช้ประมาณไม่เกินห้าร้อยตับ แล้วแต่ว่าจะให้มีความหนามากน้อยเพียงใด  



หลังคาครึ่งใบไม้-ครึ่ง สังกะสี


ที่บ้านพือพือ(ย่า)ก็ยังคงใช้ใบตองตึงมุงหลังคา ทุกๆ สองถึงสามปีจึงจะมีการรื้อเปลี่ยนใหม่  เวลารื้อ-มุงหลังคาใหม่ก็จะใช้วิธีลงแขก  โดยที่ชายหนุ่มในหมู่บ้านมาช่วยกันทำให้เสร็จภายในหนึ่งวัน  เจ้าบ้านก็จะเลี้ยงข้าวปลาอาหารจนอิ่มหนำ  เมื่อเพื่อนบ้านประสงค์จะรื้อ-มุงหลังคาก็จะใช้วิธีเวียนกันไปลงแขก

การลงแขกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านมีความร่วมใจกันสามัคคีเกื้อกูล และมีคนมากพอที่จะช่วยกันทำงานให้เสร็จเร็วขึ้นเหนื่อยน้อยลง แต่เมื่อชุมชนของเราแตกออกเป็นหลายหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งกลับเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพบ้านในสอย

 


แม่บ้านเย็บใบไม้ทำ หลังคา


บ้านของพือพือจึงมีหลังคาเป็นสังกะสีครึ่งหนึ่งเป็นใบตองตึงครึ่งหนึ่ง เมื่อลูกชายและลูกสาวอีกสองคนตัดสินใจเดินทางไปประเทศที่สาม(อเมริกา) ตามพี่สาวคนโตและครอบครัวที่ไปอยู่ที่นู่นก่อนแล้ว ด้วยเหตุผลเดียวคือสังกะสีไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆเหมือนใบตองตึง     

แต่บ้านหลังคาสังกะสีร้อนแสนร้อน เวลาฝนตกใส่เสียงดังสนั่น ไม่เพราะหูเหมือนฝนสาดใบตองตึง ที่ทั้งนุ่มและชื้นเย็น จะดีก็แต่หน้าหนาวที่อบอุ่นกว่าบ้านหลังคาใบตองตึงบ้าง


บ้านของเรามุงกระเบื้องแม้ว่าแม่อยากจะมุงใบตองตึงเหมือนกระท่อม  แต่ในระยะยาวเราจะต้องปวดหัวกับการเกณฑ์คนมาช่วยมุงหลังคาทุกๆสามปีเป็นอย่างน้อย


เพื่อนแม่คนหนึ่งมาสร้างบ้านพักตากอากาศไว้ที่แม่ฮ่องสอน บ้านไม้สักทั้งหลังแต่มุงด้วยใบตองตึง หลายปีผ่านไปพอจะกลับมาพักหลังคาใบตองตึงรั่วจนเป็นรูโบ๋  ไม้สักผุพังเพราะโดยฝนตกใส่อยู่หลายปี


ปีนี้ราคาใบตองตึงแพงขึ้น อาจจะเพิ่มอีกตับละห้าสิบสตางค์ถึงหนึ่งบาทก็เป็นได้ในช่วงท้ายฤดูกาลเก็บใบไม้ใครขยันก็มีรายได้ แค่เดินออกไปไม่กี่ก้าวเก็บใบไม้มาถักร้อยจากหนึ่งเป็นร้อยจากร้อยเป็นพัน เก็บเงินใส่กระเป๋าแบบลดโลกร้อน.


รักลูก

แม่

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว