Skip to main content

บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายชั่วอายุคนแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่ที่น่าสนใจเพราะมันเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ผู้เขียนใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย 3 ปี พ่อเล่าให้ฟังว่ามีบั้งไฟขึ้นกลางลำน้ำโขงตอนออกพรรษา แต่ไม่มีใครในบ้านสนใจไปดูแฮะ ทั้งที่อยู่ใกล้แค่เนี้ย!

ในอดีตมีจำนวนบั้งไฟน้อยและเล็กกว่าในปัจจุบัน ขึ้นพ้นน้ำแค่ไม่กี่เมตร เป็นสีขาว ไม่ใช่สีชมพูและแดง เมื่อถึงวันออกพรรษา หากต้องการมาดูบั้งไฟ ผู้คนก็แค่เดินทางมาจับจองที่นั่งริมโขงแล้วรอดู ในเวลานั้น บั้งไฟพญานาค ถูกเรียกว่าเป็น บั้งไฟผี แต่บั้งไฟผี ดูเหมือนจะดึงดูดผู้คนให้มาสนใจได้ไม่มาก การนำบั้งไฟผีมาเชื่อมโยงกับตำนานพญานาคในวันออกพรรษาเกิดขึ้นเมื่อต้นทศวรรษที่ 1990 นี้เอง แม้ว่าในบางคืนที่ไม่ใช่วันออกพรรษา ก็ยังมีคนเห็น [1]

ชาวบ้าน 2 คน วัยประมาณ 50 กว่าๆ ซึ่งเป็นชาวอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (จุดที่เป็นสถานที่ชมบั้งไฟพญานาคที่สำคัญ) บอกกับผู้เขียนว่า เดิมชาวบ้านโพนพิสัยเรียกว่า “บั้งไฟผี” นี่แหละ แต่มาเรียก “บั้งไฟพญานาค” สมัยนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา (ระหว่าง 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539) ในเวลานั้น ทางราชการเขาต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงได้นำตำนานพญานาคเข้ามา “ให้ความหมาย” ต่อการเกิดบั้งไฟนี้ และก็ได้ผล เพราะพญานาค พุทธศาสนา และวันออกพรรษาต่างก็ผูกพันกับชีวิตชาวอีสานมาอย่างช้านาน

เมื่อบั้งไฟพญานาค เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของสถาบันหลักด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ททท. เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และในสื่อกระแสหลัก เช่น iTV (สมัยนั้น) และภาพยนต์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 แน่นอนว่านักท่องเที่ยวย่อมหลั่งไหลเข้ามาชม อันเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม เกสต์เฮ้า ร้านอาหาร แผงค้า ฯลฯ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่เฉพาะกิจกรรมมา “ส่องเบิง” บั้งไฟพญานาคแบบเงียบๆ ริมตลิ่ง  ทว่ากิจกรรมทั้งทางศาสนา วัฒนธรรม และทางโลก ก็เกิดขึ้นมากมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ เช่น ทัวร์ทำบุญมหากุศลเก้าวัด การเจริญศีลสวดมนต์ภาวนาและนั่งสมาธิ ปล่อยปลา การบวงสรวงวันเปิดโลก "บูชาพญานาค” การแสดงแสงสีเสียง และคอนเสริ์ตอีกหลายเวที 

อย่างไรก็ดี อย่างที่ อีริค โคเฮน (Erik Cohen) กล่าวว่า[2] พญานาค ผูกพันทั้งกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ในศาสนาฮินดู นาคขดตัวเป็นอาสนะที่นอนสำหรับพระวิษณุที่หลับไหลอยู่ในมหาสมุทรในช่วงเวลาแห่งการทำลายล้างและการสร้างโลกใหม่ ในทางพุทธ นาคเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนาจนต้องแปลงกายมาขอบวชและคอย “ปรก” ป้องคุ้มครองภัยธรรมชาติให้พระพุทธองค์ แต่กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น (ประมาณทศวรรษที่ 1990 - 2006) มีเพียงแค่พิธีพราหมณ์ (ในศาสนาฮินดู) ในขณะที่พิธีพุทธ ไม่มีทั้งที่เป็นวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาและบั้งไฟกับเกี่ยวข้องกับการกลับมาโลกมนุษย์ (ภายหลังจากการโปรดพระมารดา) ของพระพุทธองค์ด้วย

โคเฮนกล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการบวงสรวงพญานาคที่ริมน้ำโขงอำเภอโพนพิสัย ด้านหลังวัด โดยมีผู้ประกอบพิธีที่แต่งกายสีขาว 3 คน คือ ผู้หญิงที่เป็นร่างทรงพญานาค คนที่ถามคำถามและตีความคำตอบพญานาค และพราหมณ์ ด้วยเหตุที่การบวงสรวงนี้ไม่ใช่พิธีพุทธ พระจึงไม่ได้รับการนิมนต์ เพราะไม่รู้จะเข้ามาทำอะไรในพิธีนี้ การจัดงานเทศกาลฯ เดิมจัดแค่คืนเดียว ต่อมาจัดถึงสี่คืน

แต่ในวันนี้ ปีนี้ วันขึ้น 15 เดือน 11 พุทธศักราช 2557 อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป จากสี่คืน เป็นเจ็ดคืน (พร้อมคอนเสริตทุกคืน)

ในพิธีบวงสรวงปีนี้ ผู้เขียนกับนิสิตหญิงคนหนึ่งนามว่า หมวย ไปนั่งเก้าอี้พลาสติกอยู่ชายข้อบ ชายขอบ ของการประกอบพิธีบวงสรวงพญานาค ซึ่งเริ่มในเวลาประมาณห้าโมงเย็นเห็นจะได้ ระหว่างที่นั่งรอพิธีเริ่มพร้อมๆ กับชาวบ้านอีกหลายสิบคน ก็มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการมาไล่ที่ชาวบ้านพร้อมผู้เขียนออกไป บอกว่าจะเอาเก้าอี้เหล่านี้นี้ให้ผู้ติดตามนักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสานนั่ง

ลุกก็ลุกวะ ไปยืนเป็น “ชายขอบ ของชายขอบ” ก็ได้วะ เป็นชาวบ้านก็งี้แหละ เป็นชายขอบเสมอในพื้นที่ของทางราชการ

แต่อนิจจา อนิจจัง ยืนได้อีกไม่เท่าไร ทางหลวงท่านก็ไล่พื้นที่ออกไปอีก เมื่อไล่จนโล่งแล้วเอาเสื่อมาปูกับพื้นบริเวณนั้นอีก บอกว่าจะให้เฉพาะคนที่ใส่ชุดขาวนั่งเสื่อ ส่วนพวกแต่งสีสันก็ต้องไปอยู่ชายขอบ ของชายขอบกว่าเหมือนเดิม เช่น ผู้เขียน ใส่กางเกงสีส้ม ส่วนหมวย กางเกงสีดำ ต้องไปยืนชายขอบด้านหลังสุด ซึ่งอยู่ห่างจากหน้าเจดีย์น้อยที่ใส่อัฐิคนตาย ในระยะเผาขน (หัวลุก) อยากเห็นจังน้อ นี่น้อออ...พิธีบวงสรวงพญานาคของทางการนี่จะยิ่งใหญ่แค่ไหน ว่าแล้ว ก็ชะเง้อแล้ว ชะเง้ออีก ....กำ เจง เจง...เป็นชายขอบ

จริงๆ แล้ว ทางการจะระดมหาเก้าอี้พลาสติกมาให้ “นาค” ชุดชาวนั่งก็ได้ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ไม่เห็นต้องปูเสื่อให้ต้องนั่งต่ำกว่าแขกของท่านนักการเมืองท้องถิ่นและท่านเจ้านายราชการส่วนภูมิภาคก็ได้ แต่ไม่ทำ (ก็เพราะไม่ได้สมาทานความคิดเรื่องคนเท่ากันไว้ในหัวไง) ชิ๊! ผู้เขียนกระซิบกับหมวย หมวยบอกว่า เออ ใช่ๆๆๆ

เมื่อพิธีบวงสรวงซึ่งจัดโดยเทศบาลตำบลโพนพิสัยจะเริ่มขึ้น พิธีกรชายหญิงในงาน ก็ประกาศว่านี่เป็นพิธีบวงสรวงแบบ “ดั้งเดิม” เริ่มต้นด้วยพิธีพราหมณ์ พิธีกรประกาศว่าผู้ที่จะเข้าไปร่วมในพิธีได้ต้องแต่งชุดขาวเท่านั้น แต่ที่ผู้เขียนเห็น ก็เห็นแขก VIP นั่งเก้าอี้อยู่ก็ใส่ชุดหลากสี ส่วนคนใส่ชุดขาวแบบ “นาค” จริงๆ (คนจะบวชพระต้องเป็นนาค  คือใส่ชุดชาวก่อน) กลับต้องนั่งกับพื้นเสื่อในชายขอบของพิธี ทำให้อดซุบซิบกับนิสิตไม่ได้ว่า ชาวบ้านหน่ะ ต่อให้ใส่ชุดขาว “เป็นนาค” มาบวงสรวงพญานาค ก็ยังต้องเป็นชายขอบอยู่ดี ...ว่ามั้ยหมวย 

ผู้ประกอบพิธีเป็นพราหมณ์ พราหมณ์ได้เริ่มพิธีด้วยการเชิญเทพ เทวดา อาทิ พระอิศวร พระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ พระแม่อุมาเทวี ลักษมี อรชุน ฯลฯ ที่ผู้เขียนจำไม่ได้ไม่หมดเพราะเยอะมาก ลงมาในพิธี มีการเป่าสังข์ประโคมเป็นระยะๆ เมื่อเชิญเทพเทวดาเสร็จแล้ว พราหมณ์จึงเชิญเหล่าพญานาคลงมาในพิธีนี้

ว่าแล้วผู้เขียนก็หันไปเม้าท์มอยกับหมวยว่า ดูแปลกๆ เนอะ บวงสรวงพญานาค เชิญเทพเทวดามาก่อน พญานาคมาเป็นคนสุดท้าย สมมติว่าเทพฯ และพญานาคทั้งหมดมาตามคำเชิญ พญานาค(ด้วยฐานะที่ต่ำต้อยกว่า) คงนั่งอยู่ชายขอบข้างๆ เรา เพราะไม่มีที่นั่งในเวที จะไปนั่งเทียบรัศมีกับเหล่าทวยเทพได้อย่างไร เด๋วก็โดนไล่ออกจากเก้าอี้แบบเราสองคนหรอกอิอิ

หมวย: ???? งงนิดหน่อยแล้วบอกว่า ค่ะ

คิดอีกที ถ้าฉันเป็นเทพฯ ฉันก็อาจจะ “นอย” เหมือนกัน เพราะงานนี้ชื่อว่างาน “บวงสรวงวันเปิดโลก บูชาพญานาค” แล้วเอาฉันมาทำไม ให้ฉันมาทำอะไร ไม่ได้บวงสรวงฉันเป็นหลักซักกะหน่อย “สง เสา หลักเมือง ก็เป็นเสาหลักเมืองบาดาล รูปพญานาค บายสีประธาน ก็เป็นรูปพญานาค เราก็ “นอย” เป็นเหมือนกันนะเฟ้ย

หมวย: อืมมมมมม ค่ะ

....ว่าแล้วก็ไม่ต้องไปคิดมากแทนเทพ แทนนาค(คน) และพญานาค ดูพิธีต่อเหอะ

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีพราหมณ์แล้วก็นิมนต์พระมาสวดให้พญานาค เมื่อสวดเสร็จแล้วก็มีการรำไทย โดยสามสาวที่แต่งชุดไทยภาคกลางเรียบๆ ง่ายๆ รำด้วยเพลงไทยภาคกลาง แล้วตามมาด้วยเซิ้งอีสาน อืมมมม พิธี “ดั้งเดิม” “อีสาน” นี้ดูแปลกดีมีรำไทยก่อน แต่รำไทยถวายดูแมวเหมียวไปนิดนุง ไม่เหมาะกับศักดิ์ศรีของเทพผู้ใหญ่หลายองค์ และพญานาคที่อันเชิญมา

อีกอารมณ์หนึ่ง ก็รู้สึกว่าพิธีหลวง อุดมการณ์ของหลวง กำลังกระแซะ กระแซะ เขยิ๊บ เขยิ้บ เข้ามาเบียดพิธีราษฎร์ อุดมการณ์ราษฎร์เรื่องนี้ไม่รู้ชาวบ้านคิดยังไง หายใจกันทั่วท้องรึเปล่า เสียดาย อยู่แค่อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะกลับ เลยไม่ได้ถาม

วันรุ่งขึ้นผู้เขียนกับนิสิต 16 คน ทีมถ่ายทำสารคดี ไปที่วัดสิริสุทโธ คำชะโนด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประตูทางเข้าเมืองบาดาล พบว่ามีพิธีการเข้าทรงพญานาค การฟ้อนบูชาพญานาค งานนี้ไม่มีทางราชการมาจัดการให้ เป็นพิธีแบบบ้านๆ ล้วนๆ นางรำบางคนก็เป็นกระเทย ฟ้อนเพลงอีสานแบบบ้านๆ เหนื่อยก็พัก หนักก็หยุด หมุนเวียนเปลี่ยนกันรำ ทั้งหมดนี้ ไม่มีการเอาพระมาสวด ต่างกับงานที่ทางเทศบาลฯ จัด

เก้าอี้ ที่ทาง ใครมานั่งก็ได้ ไม่มีการปิดล้อมสำหรับ VIP เพราะบ้านๆ หน่ะ ทุกคนมันเท่ากันอยู่แล้ว ...ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครมาก่อน ก็นั่งก่อน ใครมาที่หลังก็ตีตั๋วยืน ผู้คนเดินไปเดินมา “สลึงลุกขึ้นบังบาท” ส่วนบาท เมื่อถูกสลึงบัง ก็เดินออกไปบังสลึงมั่ง หรือไปดูพิธีในจุดอื่นมั่ง

ส่วนพิธีพุทธ ก็คนละส่วนกับการบวงสรวงพญานาค ชาวพุทธก็ไปทำบุญใส่บาตรพระ แล้วก็ลอยกระทง แข่งเรือยาวตามประเพณีดั้งเดิม

บ้านๆ เรา พุทธกับพราหมณ์ ก็อยู่ด้วยกันแบบ addition แบบนี้แหละ

และนี่คือความฟินอิ๊หรี๋ คัก คัก กับพิธีที่คำชะโนดแห่งนี้ ....เพราะมันเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง ทั้งนาคเมืองบาดาล และนาคคน รวมทั้งคนคน ต่างก็ไม่มีใครกลายไปเป็นชายขอบ

บันทึกการเดินทางในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พุทธศักราช 2557

 

โปรดติดตามต่อตอนที่ 3 ไปคุยกับขอทานในงานบั้งไฟพญานาค

ที่นี่ เร็วๆ นี้

[1] Cohen, Erik. 2007. "The "Postmodernization" of a Mythical Event: Naga Fireballs on the Mekong River." Tourism, Culture & Communication 7:169-181.

 

[2] อ้างแล้ว

 

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
เหมือนประเทศทั้งหลาย ตลาดเสรีโลกาภิวัตน์ของการแปลงที่ดินเป็นสินค้า กำลังดุเดือดเลือดพล่านอยู่ในเวียดนาม ในขณะนี้ เห็นได้จากตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีความตึงเครียดและการประท้วงของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศ การประท้วงการ privatization ที่ดิน และการสร้างเขื่อนเซินลา เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน
เก๋ อัจฉริยา
หลังจากกลับมาถึงเมืองไทยได้หนึ่งสัปดาห์ เสียงโทรศัพท์ทางไกลจากที่ราบกลางหุบเขา แห่งเมืองมายโจว ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ก็ดังกรี๊งกร๊าง ขึ้นมา “...อาโล้…ถุกเลิมอ่า...ขันบ่าวล้า” (ฮัลโหล...”ถุกเลิม” (ชื่อภาษาเวียดของผู้เขียน) เหรอ สบายดีมั้ย) แล้วตามมาด้วยเสียงแ
เก๋ อัจฉริยา
พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปิดประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การทะยอยสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย การเปิดเสรีด้านแรงงานและเศรษฐกิจอาเซียน การลงทุนเมกาโปรเจคที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย (ที่เขาว่าขนาดของอุตสาหกรรมน่าจะใหญ่กว่ามาบตาพุด 10 – 15 เท่า) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และอื่นๆ แรงงานชาวพม่
เก๋ อัจฉริยา
ใครว่าสาวบริการทางเพศนั้นไม่มีสิทธิ “เลือก” ลูกค้า ทว่าเป็นแค่ “วัตถุ” ที่รอให้ผู้ชายมาหยิบไป “เสพสม” ใครว่าสาวไม่มีทางเลือกในการทำให้ตัวเองปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลูกค้าเหนือกว่า ทั้งโดยความเป็น “ชาย” และความเป็น “ผู้ซื้อ”
เก๋ อัจฉริยา
กาลครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว ณ เมืองหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่บนภาพตัวแทนของการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้มาก  เช่น ภาพอันวิจิตรอลังการของวัดวาอารามต่างๆ ที่มีถึง 37 แห่ง ภาพพระสงฆ์เดินเป็นแถวมารับบิณฑบาตรยาม
เก๋ อัจฉริยา
  วันหนึ่งในหน้าร้อน กลางปี 2556 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้