Skip to main content

พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปิดประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การทะยอยสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย การเปิดเสรีด้านแรงงานและเศรษฐกิจอาเซียน การลงทุนเมกาโปรเจคที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย (ที่เขาว่าขนาดของอุตสาหกรรมน่าจะใหญ่กว่ามาบตาพุด 10 – 15 เท่า) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และอื่นๆ แรงงานชาวพม่าที่มหาชัย สมุทรสาครหลายคนที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทวายและมอญ ที่ผู้เขียนรู้จัก ได้มองเห็นโอกาสและช่องทางเลือกในการกลับไปทำงานบ้านเกิด  (รวมทั้งการอยู่เมืองไทยต่อชนิดไม่ใช่แค่ “อยู่รอด” แต่ต้อง “อยู่ดี” – เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีอำนาจต่อรอง และไม่ถูกกดขี่ กดค่าแรง) ...ทิ้งความทรงจำและสภาพอันขมขื่นของการทำงาน 3Ds (dirty, dangerous, difficult/disregarding) ที่คนไทยไม่ทำ ค่าแรงที่ต่ำ การรีดไถจากตำรวจ (แม้จะอยู่อย่างถูกกฎหมาย) การที่ผู้หญิงเขาถูกข่มขืน และการถูกดูถูกดูแคลนจากสังคมไทยไว้เบื้องหลัง (แม้ว่าบางคนบอกว่า ทวายเจริญเมื่อไร ถ้าแรงงานไทยมาทำงาน จะให้บทเรียนแบบเดียวกับที่คนไทยทำไว้กับพวกเขาที่มหาชัย)

แรงงานพม่าที่มหาชัยมีประมาณ 300,000 คน จากทั้งหมดในประเทศไทย ที่มีถึง 3 ล้านคน โดยการประมาณการของเอ็นจีโอชาวพม่า ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมห้องเย็น-อาหารแช่แข็ง

จากการประมาณการของเอ็นจีโอชาวพม่าที่มหาชัย เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานพวกเขามีประมาณ 18,000 คน ทั้งหมดนี้ประมาณ 2,000 คนได้เรียนหนังสือระดับประถม ในโรงเรียนที่สอนกันเองเป็นภาษาพม่า (ซึ่งไม่ได้รับรองหลักสูตรทั้งจากรัฐบาลไทยและพม่า)  15 แห่ง บางแห่งจัดที่วัด บางแห่งเป็นของเอ็นจีโอ บางแห่งอยู่ในห้องแคบๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมแล้วมีเด็กประมาณ 2,000 คน ในนี้ ประมาณ 600 - 700 คน เข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาไทย เพราะพ่อ-แม่ต้องการให้ลูกของพวกเขาอ่านและเขียนภาษาไทยได้ เพื่อจะได้มีอำนาจในการต่อรองกับสังคมไทย โรงเรียนที่เด็กๆ เข้าเรียนเป็นภาษาไทยมีด้วยกัน 7 แห่ง ส่วนใหญ่ โรงเรียนเหล่านั้นจัดการเรียนการสอนโดยเอ็นจีโอไทย มีนักเรียนน้อยมากที่เข้าเรียนโรงเรียนของรัฐบาลไทย

แล้วเหลืออีก 16,000 คนที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนนั้น ทำอะไร อยู่ที่ไหน   ...บางคนไม่มีอะไรทำก็เร่ร่อนอยู่ข้างถนน บางคนก็ช่วยพ่อแม่ทำงานเก็บกุ้งตัวเล็กๆ ที่เขาทิ้งแล้วไปขาย เด็กส่วนมากจะออกเรือประมง มีส่วนน้อยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะว่าไม่มีพาสปอร์ตสำหรับแรงงาน ถือว่าผิดกฎหมายและต้องถูกจับ คนที่ทำงานได้ ต้องปิดบังสถานะและโกหกอายุตัวว่าเป็นวัยผู้ใหญ่

โรงเรียน ในที่นี้จึงน่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าเรามองเด็กๆ เหล่านั้น “เป็นอะไรในชาติเรา”  เพราะโรงเรียนคือเครื่องมือที่สำคัญของการสร้างรัฐสมัยใหม่ ในฐานะสถาบันที่จะผลิตพลเมืองและแรงงานของชาติ แต่ระบบการศึกษาไทยกลับไม่ได้ตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง เอาเข้าจริงๆ แล้วกลับเพิกเฉยต่อปัญหาด้านการศึกษาและสิทธิของเด็ก เช่นนี้แล้วจะหวังความรักและทุ่มเทจากแรงงานพม่าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคงเป็นไปไม่ได้ (รวมทั้งหวังว่าอุตสาหกรรมของเราจะพัฒนาเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมที่ไปให้พ้นความบาปของการกดขี่แรงงาน และการกดค่าแรง คงยาก)

บนความรู้สึกไม่เป็นมิตรเช่นนี้ กลับพม่าได้ก็ต้องกลับ... หากยังอยู่เมืองไทยต่อ ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคน และการอยู่ดีกินดีด้วย

ในฤดูหนาวที่ไม่หนาวในปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พานิสิตปริญญาตรี 45 ที่เรียนวิชาคนชายขอบกับการพัฒนาไปลงพื้นที่กิน-อยู่-หลับ-นอน กับแรงงานพม่าที่ห้องพักแคบๆ ของพวกเขาที่มหาชัยเป็นเวลา 2 คืน ตอนกลางวันพวกเราและไปคุยกันกับพี่ๆ ลุงๆ ชาวพม่าที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ทำบุญของพวกเขา เนื่องจากแรงงานพม่าที่นี่มาทำบุญและบริจาคให้กับวัดนี้เป็นจำนวนมากในทุกๆวันสำคัญทางพุทธศาสนา วัดนี้ จึงมีอีกพื้นที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ที่แรงงานพม่ามักมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุญๆ (นอกเหนือไปจากพื้นที่ที่คนไทยมาทำบุญแล้ว) และที่วัดแห่งนี้ก็มีพระพม่าแวะเวียนมาจำวัดอยู่เสมอ มิได้ขาด

ขึ้นไปชั้นสองของศาลาการเปรียญ ที่กว้างประมาณ 6 และยาวประมาณ 12 เมตร ศาลาการเปรียญ ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นห้องเรียนสำหรับลูกหลานแรงงานพม่า ซึ่งมีประมาณ 140 คน มีครูซึ่งเป็นชาวพม่าด้วยกัน 4 คน แบ่งการเรียนออกเป็น 5 ชั้นเรียน คือ ป.1 – 5 อีก สภาพห้องเรียนคือไม่มีอะไรกั้นปิด แต่มีกระดานไวท์บอร์ดแสดงอาณาเขตของแต่ละชั้น ซึ่งเสียงของการเรียนการสอนก็จะรบกวนกัน เพื่อนชาวพม่าของผู้เขียนบอกว่านี่เป็นห้องเรียนที่นี่ดีที่สุดแล้วในบรรดาโรงเรียนที่สอนแรงงานพม่าทั้งหมดที่มีอยู่เพราะได้รับการสนับสนุนจากสถานฑูตพม่า (นอกเหนือจากเงินบริจาคจากแรงงานพม่าที่ให้แก่วัด และค่าลงทะเบียนเรียน จ่ายครั้งแรก ครั้งเดียว  เรียนตลอดปี คนละ 500 บาท)

ทำไมไม่เรียนโรงเรียนไทยในระบบ ทั้งๆ ที่ลูกหลานแรงงานที่นี่ก็มีสิทธิเรียน

พวกเขาบอกว่า เพราะโรงเรียนสอนเป็นภาษาไทย หลักสูตรไทย เหมาะกันคนไทย ในฐานะคนพม่า เด็กๆ เหล่านี้ต้องพูด-อ่าน-เขียน ภาษาพม่าได้ และเมื่อสังคมไทยไม่เคยมองเห็นพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย วันหนึ่ง พวกเขาก็ต้องกลับไป แต่เมื่อกลับไปแล้วกลับอ่าน-เขียนภาษาพม่าไม่ได้ ไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ซ้ำร้ายคือไม่สามารถเรียนต่อในระดับสูงได้ ทำให้พวกเขาทำอะไรไม่ได้ที่พม่า (ส่วนนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนไทยส่วนใหญ่คือคนที่ไม่สามารถกลับพม่าได้เพราะพ่อและแม่เขาไม่มีบัตรประชาชนพม่า อีกเหตุผลหนึ่งคือพวกได้รับการสนับสนุนเสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ จากโรงเรียน) นั่นแปลว่าเด็กที่ได้เข้ารับการศึกษา 2 ใน 3 ถูกเตรียมให้กลับไปพม่า

โรงเรียนที่วัดแห่งนี้ใช้หลักสูตรและโครงสร้างการศึกษาของพม่าเป็นพื้นฐาน สอนเป็นภาษาพม่า ก่อนเข้าห้องเรียนเด็กๆ ต้องร้องเพลงชาติทั้งพม่าและไทย แต่สวดมนต์เป็นภาษาบาลีสำเนียงพม่า นั่งสมาธิก่อนเริ่มเรียน วิชาที่พวกเขาเรียนล้วนแล้วแต่เป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กๆ ประถมในประเทศไทยก็เรียน เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ทักษะชีวิต วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และทุกวันศุกร์ ต้องเรียนวิชาพุทธศาสนากับพระชาวพม่า (แม้ที่เสาและผนัง เต็มไปด้วยโปสเตอร์การสอนพยัญชนะ ตัวเลข ฯลฯ ภาษาไทย ก็เป็นแค่การปรับปรนกับสังคมไทยในระดับภาพลักษณ์)

แม้จะได้เรียนระดับประถม แต่ปัญหาที่สำคัญด้านการศึกษาของลูกหลานคือพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาในระบบไม่ว่าจะที่ไทย หรือที่พม่า นั่นหมายถึงว่าเขาต้องกลับเข้าไปเป็นแรงงานเด็กในอุตสาหกรรม

เพื่อนพม่าของผู้เขียนถามเด็กๆ ถึงอนาคตของพวกเขาว่าหลังจากเรียนจบแล้วเขาจะทำอะไรต่อ ร้อยทั้งร้อยบอกว่าจะไปทำงานในโรงงานบ้าง ในเรือประมงบ้าง ฟังแล้วอึ้งกิมกี่ เพราะเขาจินตนาการอนาคตเขาได้แค่นี้จริงๆ นั่นแปลว่า นอกจากในแง่ปัจเจก ที่แรงงานเหล่านี้จะต้องกลายเป็นแรงงานระดับล่างเผชิญความทุกข์ยากจากการกดขี่แรงงาน ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านค่าแรง-สวัสดิการ เพราะไร้อำนาจต่อรอง (หรือเราเห็นดีเห็นงามไปกับสภาพแบบนี้) ในแง่อุตสาหกรรมไทย เอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่ต้องการผู้มีทักษะฝีมือแรงงาน เนื่องเพราะเราไม่เคยมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่นอกเหนือจากการผลิตบนการใช้ทักษะฝีมือแรงงานขั้นต่ำ แข่งขันและหาข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจบนค่าแรงราคาถูก ...แทนที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานบนฐานการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เราจึงไม่สนใจที่จะลงทุนทั้งด้านคุณภาพชีวิตและการศึกษากับแรงงานที่ช่วยเป็นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของเราเลย

ถ้ามองการศึกษาในฐานะกลไกของการปลูกสร้างอุดมการณ์และจิตสำนึกทางสังคม หากลูกหลานแรงงานพม่าได้เรียนในระบบของไทย ที่สอนทั้งภาษาพม่าและภาษาไทย ทั้งวัฒนธรรมไทย และพม่า เด็กๆ เหล่านั้นเมื่อเติบโตขึ้นก็จะชื่นชมในสังคมและวัฒนธรรมไทยมากกว่าที่จะมองไทยเป็นพื้นที่ที่เขาได้รับความขมขื่น กับการถูกกระทำจากนายจ้างไทย ตำรวจไทย และการดูถูกของคนไทยโดยภาพรวม ในขณะที่แรงงานชาติอื่นๆ เช่น ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ กลับไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างดูแคลนและเหยียดหยามเช่นนี้ทั้งๆ ที่ก็เป็นต่างชาติเหมือนกัน นั่นก็เป็นเพราะอคติทางชาติพันธุ์และเป็นภาคปฏิบัติของวาทกรรม “พม่า”

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ไทยไม่มีนโยบายเชิงรุกด้านการศึกษากับลูกหลานแรงงานต่างด้าว เอ็นจีโอด้านการศึกษาของแรงงานพม่ากำลังแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างขมักเขม้น พวกเขาทำการฝึกอบรมแรงงานแหล่านั้นให้มีทักษะฝีมือในระดับสูงมากขึ้นเพื่อเลื่อนระดับฝีมือแรงงานอันเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง

จากการประชุมและพูดคุยกับพวกเขา ในอนาคตอันใกล้ พวกเขามองและมุ่งไปยังการเปิดเสรีอาเซียนที่แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี (แม้ว่าการเปิดเสรีอาชีพในปี 2558 จะเปิดเสรีบางอาชีพเท่านั้น แต่แนวโน้มเป็นเรื่องของการเปิดกว้างมากขึ้น) และปัญหาการรีดไถจากนายหน้าด้านแรงงานและตำรวจจะเบาบางลงไปมาก ขณะเดียวกันทักษะด้านภาษาอังกฤษและการยกระดับฝีแรงงานจะทำให้พวกปรับตัวและมีอำนาจต่อรองในบริบทอาเซี่ยนได้ดีขึ้น

สำหรับอนาคตในระยะยาว คือความพยายามในการเอาการเรียนการสอนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปรับปรุงแล้วไป “เชื่อมต่อ” กับการศึกษาอย่างเป็นทางการ “ในระบบ” ในระดับที่สูงขึ้นทั้งของไทยและพม่า

แต่ให้ตายเหอะโรบิ้น ...หนทางมันไม่ได้ง่ายเลย

มูฟเม้นท์ของคนกลุ่มหนึ่งหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า Migrant Education Integration Initiative (MEII) กำลังทำวิจัยและกิจกรรมทางสังคมอย่างเข้มข้นในการ “ต่อรอง และปรับปรน” กับหลักสูตรไทยและพม่าที่เรียนไม่เหมือนกัน

ในขณะที่พม่า ซึ่งไม่ได้ปรับปรุงหลักสูตรในประเทศของตัวเองมากว่า 40 ปี ก็ประสบกับภาวะยุ่งยากและถกเถียงกันหลายรอบว่าจะปรับหลักสูตรอย่างไรให้มีความหลากหลายเหมาะสมกับท้องถิ่น แต่ละรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีทั้งหมด 7 รัฐ พวกเขายังถกเถียงกันเรื่องการสอนภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ การศึกษาเพื่อสันติภาพ เพื่อลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้มีมาตรฐานกลางของประเทศ

ที่สำคัญคือ จะเอาหลักสูตรสำหรับแรงงานพม่าที่นี่ ที่ต้องเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับบริบทของอุตสาหกรรม สังคม และวัฒนธรรมไทย ไปเชื่อมต่อกับหลักสูตรพม่าอย่างไร

ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า หากบางคนยังเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย (ซึ่งอีกกีปี่ก็ไม่รู้) ด้วยเหตุนี้หลักสูตรที่พัฒนา ก็จะต้องใช้ “เชื่อมต่อ” กับการระบบการศึกษาในประเทศไทยได้ด้วย

นี่เป็นความยุ่งยากของการพัฒนาหลักสูตรที่จะทำให้แรงงานอยู่รอดและอยู่ดีใน 2  โลก ที่มีความแตกต่างทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม เพราะหลักสูตร ในด้านหนึ่งต้องการความเป็นมาตรฐานของประเทศ นั้นๆ (bounded) แต่อีกด้านหนึ่งคือการต้องการความยืดหยุ่น/เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมนั้นๆ (unbounded) สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการมองการพัฒนาหลักสูตรในฐานะที่ก็เป็น “กระบวนการ” ที่ต้องต่อรองและปรับปรนกันไป (dynamic negotiation)

จะเสียดายก็แต่สังคมไทย ที่จะขาดโอกาสที่จะได้ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าเขาจะเรียนจบมาแล้วทำงานในไทย แม้ทำงานในพม่าก็ตาม ด้วยการมองเขาเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันผ่านการให้โอกาสด้านการศึกษาที่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ แม้กลับพม่า พวกเขาย่อมคิดถึงและมองประเทศไทยในแง่ดี มุมมองของการเป็นศัตรู แข่งขัน ล้างแค้น ก็จะได้เปลี่ยนมาเป็นเพื่อนบ้านที่ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน (แต่เพราะอคติทางชาติพันธุ์และวาทกรรม “พม่า” แท้ๆ ที่ทำให้เราข้ามไม่พ้น...)

....สุดท้าย ก็นึกไม่ออกว่า ในบริบทอาเซี่ยน นอกจากจะพัฒนาอุตสาหกรรมบนการกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และกดค่าแรงให้ราคาถูกแล้ว เราจะพัฒนาบนฐานของ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ที่เคารพสิทธิและศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้อย่างไร

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด