Skip to main content

ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงปัจจุบัน

ฉันไปอยู่บ้านนาน 4-5 เดือนในปี 2009 ̣ตอนนั้น  “แทง” กับ “ลิง” ลูกชาวและลูกสะใภ้ของบ้านเพิ่งแต่งงานกัน (จริงๆ ฉันเห็นแทงกับลิง และครอบครัวนี้ตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน ตอนที่ฉันพักอยู่เรือนอื่นในปี 2007) แล้วไม่กี่เดือนแทงก็ท้อง ฉันมาอยู่ตอนแทงท้องอ่อนๆ จนกระทั่งท้องใหญ่มาก ฉันกลับเมืองไทยได้ไม่ถึงเดือนแทงก็คลอด "เตื่องวี" (เด็กเสื้อชมพู ภาพบน)

เมื่อฉันกลับไปเยี่ยมบ้านนี้อีกครั้ง เตื่องวีอายุได้ 4 เดือนกว่าๆ อากาศตอนนั้นหนาวมาก ต้องเอาผ้าโพกหัว ปิดหูตลอดเวลา

เอ๋วี (แทง) กับ เตื่องวี

ปู่วี (อ่งโซย) กับ เตื่องวี

ปีถัดมา ฉันกลับไปใหม่ เตื่องวี เดินได้แล้ว แต่ร้องไห้เก่งและหนักมาก ฉันตื่นกลางดึกเพราะเสี่ยงร้องไห้ของเตื่องวี ก็หลายครี้ง และทุกปี ฉันต้องเป็นพยานในการเติบโตของนาง นางสวยและน่ารักมาก ฉันชอบเรียกนางว่า "ฮว่าโห่ะ เตื่องวี" แปลว่า นางงามเติ่องวี

ปีที่แล้ว ฉันไม่ได้แวะมามายโจว เพราะงบฯ วิจัยปีนั้น ติดลบไปประมาณ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ตั้งใจไว้แล้ว

มาปีนี้ เตื่องวี อายุได้ 6 ขวบแล้ว นางมีน้องอายุ 9 เดือน ที่หน้าเหมือนปู่และพ่อมาก ชื่อ "ตู่เวียน" ตู่เวียนเป็นเด็กขี้เล่น อารมณ์ดี คุย-เล่นคนเดียวก็เป็น

เอ๋ยาวี (เอ้ยลิง) กับ ตู่เวียน และเตื่องวี

ส่วน "ก๊วก" (หรือโม) (เด็กหนุ่มเสื้อสีน้ำเงิน ในภาพแรก) เป็นหลานลุงของบ้านนี้ ฉันเห็นตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ แก้ผ้าเล่นน้ำ ชอบร้องไห้หัวฟัดหัวเหวี่ยงลงไปดิ้นกับพื้น เวลาเขาอ้อนป้าสะใภ้และเอ๋ยา (ย่า) จะต้องเอาให้ได้ดังใจ โดยเฉพาะเวลาที่ป้าสะใภ้บอกใครๆ ว่าเป็นหลาน ก๊วกจะโกรธมาก เพราะเขาอยากเป็นลูกของลุงกับป้าสะใภ้ เขามักจะมากินและนอนที่บ้านนี้กับลุงและป้าสะใภ้ และบางครั้งก็นอนกับเอ๋ยา แต่ก็กลับไปบ้านพ่อ-แม่ที่ห่างออกไปเพียง 300 เมตร ในบางครั้ง

ก๊วกในปี 2010

ตอนก๊วกอายุ 9 ขวบ อาจารย์อานันท์กับอาจารย์ขิมก็มาเยี่ยมฉันที่นี่ พบกับก๊วก ก๊วกเรียกอาจารย์อานันท์ว่า "โองปู่" (ท่านปู่) อาจารย์ยังชมว่าไอ้ก๊วกหน้าตาน่ารัก พอเดินผ่านหน้าบ้านก๊วก ฉันบอกอาจารย์ว่า “นี่ไงบ้านพ่อแม่ก๊วก” อาจารย์เห็นเป็นบ้านหลังเล็ก เลยถึงบางอ้อ... “ไอ้ก๊วกนี่มันฉลาด มันมาอยู่บ้านใหญ่ 55555”

เมื่อสองปีก่อนฉันเห็นก๊วก ก็ยังรู้สึกว่าก๊วกเด็กอยู่ มาคราวนี้ฉันเลยซื้อเครื่องบินประกอบจากเมืองไทยมาฝาก  2 ลำ พอมาถึง... "ต๊กกะใจ ไก่กา" ก๊วกเป็นหนุ่มแล้ว หล่อซะด้วย แทงบอกว่าก๊วกเป็นวัยรุ่น อายุ 14 แล้ว นั่นสิ...พอตอนกินข้าว ฉันถึงเห็นเตื่องวีนั่งต่อเครื่องบิน โดยมีก๊วกผู้เป็นอาคอยช่วยด้วย ว่าแล้ว...ของฝากก๊วกก็กลายเป็นของเตื่องวี เหมือนที่เคยซื้อกางเกงยืนส์ก๊วก เมื่อ 3-4 ปีก่อน ได้กลายเป็นของแม่ก๊วก ซึ่งเอาไปใส่แทนก๊วก

จริงๆ แล้ว ก๊วกต้องเรียกฉันว่า "เอ๋ป้า" เพราะฉันอายุแก่กว่าพ่อเขา แต่เขาไม่ยอมเรียก เรียกฉันว่า "เอ้ยเลิม” (พี่เลิม) ตลอดจนกระทั่งถึงบัดนี้ เวลาที่ฉันแก่ลงไปมาก ก๊วกก็ยังเรียกพี่อยู่อีก (อิอิ)

ก๊วกกับเตื่องวี ในวันที่ 20 เมษายน 2016

ส่วนเอ๋ยา (ย่า) อ่งโซย (พี่โซย) และ "เอ้ยลิง" (พี่ลิง) เจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นย่า และ พ่อ แม่ของลิง (ตามลำดับ) หน้าตาใส ผิวขาวขึ้นมาก ฉันถามเอ๋ยาว่า ทำไมเอ๋ยาขาวขึ้นมาก เอ๋ยาบอกว่าเพราะไม่ค่อยได้ไปทำนาแล้ว ฉันเลยถามว่า ใครทำ แกบอกว่าก็ให้ “ปู่-เอ๋ยาวี” (ปู่ย่าของเตื่องวี) กับ “อ้ายเอ๋วี” (พ่อแม่ของเตื่องวี) ไปทำ เพราะเอ๋ยาได้อายุที่ต้องพักแล้ว

เอ๋ยาในชุดไทขาว (อาจารย์อานันท์บอกว่าเป็นชุด "ปิ้นจะลิ่น" เพราะตืนซิ่นกลายมาเป็นหัวซิ่น)

เรื่องนี้ทำให้คิดถึงตอนที่ฉันไปช่วยเอ๋ยาดำนา ตอนนั้น ต้องดำตั้งแต่เช้าจนเกือบๆ เที่ยง ประมาณ 3 ช.ม.กว่าๆ เพราะกลัวเขาดูถูกเอาว่าทำแค่เล่น สร้างภาพ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เลยทำเอาฉันปวดหลังปวดเอวเวลานอน แต่ก็ได้ความรู้ “ยูเรก้า” จากการดำนาเลยว่าทำไมคนดำนากว่าร้อยละ 90 เป็นผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายไปทำอย่างอื่น เช่น ไถนา ฉันเคยคิดตำหนิผู้ชายว่า ทำไมเอาเปรียบผู้หญิง แต่พอมาดำนาแล้วถึงรู้ว่า การดำนานั้น ต้องอาศัย “เรือนร่างเล็ก สะโอดสะอง” สำหรับเรือนร่างของฉัน ชาวบ้านบอกว่าเป็นคน “โตเติ่บ” คือร่างใหญ่ ทำให้ดำนาได้ช้า เพราะกว่าจะโยกหลัง โยกซ้าย โยกขวา ก็ไม่ทันกินเอ๋ยาที่โตน้อยกว่า คนโตเติ่บอย่างฉันและผู้ชายส่วนใหญ่นั้นจึงดำนาได้ช้า และเจ็บปวดเรือนร่างได้มากกว่าคน “โตน้อย”  

มันจึงเป็นเรื่อง “ทอล์คออฟเดอะวิลเลจ” ในวันนั้น ว่าฉันสามารถดำนาได้ตลอดช่วงเช้า ทั้งๆ ที่ “โตเติ่บ” และก็ไม่เคยดำนามาก่อน ตอนที่ฉันเดินไปไหน มาไหน มีแต่ชาวบ้านแซวว่า พรุ่งนี้ให้มาช่วยบ้านเขาดำนาหน่อยนะ ดำได้แรงดีขนาดนี้

แหม่ะ...อย่างนี้ก็ไม่ขัดศรัทธา พอตกบ่าย ฉันก็ไปช่วยพี่สาวของเอ้ยลิงดำนา คราวนี้เป็นที่โจทก์ขานไปอีกหลายวัน ว่าฉันดำนาได้เก่ง อิอิ

อีกเรื่องที่อยากจะนอกเรื่องนิดหน่อย คือคำเรียกชื่อของคนที่นี่ ชาวบ้านที่่นี่จะไม่เรียกชื่อจริงของคนๆ นั้น เมื่อเขามีลูก-มีหลาน-เหลนแล้ว เช่น บ้านนี้ เอ๋ยาแกชื่อ “เหยิ่ด” แต่จะไม่มีใครที่เป็นคนไทเรียกแกว่าเหยิ่ด อีกต่อไป เมื่อแกคลอดลูกคนแรก แล้วชื่อว่า “โซย” แกก็จะถูกคนอื่นๆ เรียกว่า “เอ้ยโซย” (พี่โซย) “เอ๋โซย” (แม่โซย) หรืออะไรก็ตามที่ลงท้ายด้วยชื่อลูกชาย เมื่อโซย แต่งงานมีลูกชายชื่อ “ลิง” เอ๋โซยก็จะเปลี่ยนชื่อเป็น “เอ๋ยาลิง” ส่วนโซย ก็จะชื่อ อ้ายลิง (พ่อลิง) อ่งลิง (พี่ลิง) แล้วแต่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคนเรียก แต่ชื่อคือ “ลิง” ต่อมา ลิงแต่งงาน แล้วมีลูกชื่อ “เตื่องวี” เอ๋ยาลิง ก็จะกลายเป็น “เอ๋เอื้อวี” “อ้ายลิง” ก็จะเป็น “ปู่วี” ส่วนลิง ก็จะชื่อว่า “อ้ายวี” เป็นต้น  

ดังนั้น หากคุณรู้จักชื่อหลานคนแรกของบ้านนี้ แค่คนเดียว คุณก็จะเรียกคนบ้านนี้ได้ทุกคน ทั้งนี้ เพราะอัตลักษณ์ของคนนั้นเปลี่ยนไปตามลูก-หลาน เขาจึงให้ความสำคัญกับการสืบทอดมรดกของตัวเองสู่ลูกหลาน มรดกที่ว่านี้ เป็นได้ตั้งแต่ นิสัย ความรู้ และทุนต่างๆ ที่มีอยู่

ขอตัดกลับมาที่ครอบครัวนี้ ที่บ้านปู่-อ้ายวีทำธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยการให้บริการโฮมสเตย์และขายของที่ระลึก พวกเขาการหาลูกค้าด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 1995 แล้ว เช่นเดียวกับโฮมสเตย์กว่า 40 หลังของหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งเริ่มกันตั้งแต่ปี 1992 ด้วยการทำธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้กลไกการแข่งขันในตลาดเสรี ทำให้แต่ละปี พวกเขาสามารถสะสมทุนต่างๆ โดยเฉพาะทุนทางเศรษฐกิจ พวกเขาจึงมีเงินทุนในการปรับปรุงห้องน้ำ โฮมสเตย์และเพิ่งปลูกบ้านใหม่หลังใหญ่เพิ่มอีกหลังหนึ่ง เพื่อเอาชั้นบนไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยไม่ต้องง้อเงินสนับสนุนจากรัฐหรือจากเอ็นจีโอแม้แต่ด่องเดียว

เอ๋ยาและฉันหน้าโฮมสเตย์หลังเก่าของปู่วี (องโซย) ที่ยังใช้รับแขกจนถึงทุกวันนี้

f

โฮมสเตย์หลังใหม่ (ชั้น 2) ของปู่วี (องโซย) โดยที่ชั้นล่างเอาไว้เป็นห้องนอนของครอบครัวและเป็นห้องครัว

แปลกแต่จริง เมืองไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเสรีมาก่อน แต่เมื่อส่งเสริมชาวบ้านทำธุรกิจการท่องเที่ยว กลับให้รวมกลุ่มทำคล้ายระบบสังคมนิยม ผิดกับที่มายโจว ที่การทำธุรกิจ ดำเนินโดยแต่ละครัวเรือน โดยไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากรัฐและเอ็นจีโอเลย ยกเว้นประตูทางเข้าหมู่บ้านที่ทางอำเภอสร้างให้ ทั้งๆ ที่เวียดนาม เคยอยู่ในระบบสังคมนิยมมาก่อน เมื่อเปิดเข้าสู่ระบบตลาดเสรี ชาวบ้านก็เริ่มสะสมทุนต่างๆ โดยเฉพาะการแปลงทุนทางวัฒนธรรม (การต้อนรับขับสู้และวัฒนธรรมเชิงวัตถุ) ให้เป็นสินค้าการท่องเที่ยว และแข่งขันกันทางธุรกิจ

ดังนั้น เงินทุนในการทำธุรกิจฯ จึงมาจากชาวบ้านเอง พึ่งตนเอง ไม่ใช่เอะอะอะไร ก็ต้องมารวมกลุ่มขอความช่วยเหลือจากรัฐและเอ็นจีโอเหมือนบ้านเรา  (เรื่องการท่องเที่ยวมายโจวนี้ เอาไว้วันหลังฉันจะค่อยๆ เล่าให้ฟัง เพราะมันคือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก + งานภาคสนามหลังปริญญาเอกอีก 4 ปีกว่า)

ขณะที่ฉัน กำลังนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่บนบ้านปู่-อ้ายวี ก็ได้ยินเสียงเพลงแปลกๆ ไม่คุ้นหูเลย ดังอยู่ข้างบ้าน ฉันจึงเดินลงไปดู เห็นกลุ่มนักแสดงทางวัฒนธรรม (โด่ะวันเหงะ) กำลังซ้อมเต้นเพลงใหม่อยู่ ที่นี่ ไม่ใช่เพียงธุรกิจของโฮมสเตย์ กับร้านขายของที่ระลึกเท่านั้น แต่โด่ะวันเหงะ หรืออะไรต่อมิอะไรที่นี่ ก็สะสมทุนต่างๆ เพื่อลงแข่งขันกันอย่างเสรีในตลาดการท่องเที่ยวแห่งนี้ ฉันแทบไม่เห็นการผูกขาด/ครอบงำ

ดังนั้น ฉันจึงเห็นสิ่งใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นทุกปีที่มาเยือน ทำให้มายโจว สำหรับฉัน น่าค้นหาอยู่เสมอ เช่น ตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้มีรถสนามกอล์ฟนำเที่ยว เกิดขึ้นประมาณ 30 คัน มีโฮมสเตย์เพิ่มขึ้นหลายสิบหลังคาเรือน จากเดิมในปี 2007 มีประมาณ 40 เรือน ตอนนี้มีประมาณ 80 เรือน โด่ะวันเหงะ เดิมปี 2007 มี 4 กลุ่ม ตอนนี้มี 8 กลุ่ม รวมทั้งมีของที่ระลึกแปลๆ เช่น ตอนนี้ที่เอ๋ยาฝึกทำสายรัดข้อมือจากหลานสะใภ้ (ซึ่งฉันจะทะยอยเล่าให้ฟังเรื่อยๆ)

แต่ตอนนี้ดึกแล้ว ฉันขอนอนภายใต้บรรยากาศสบายๆ อุณภูมิ 22 องศา ในปลายเดือนเมษาฯ กับความดีใจที่ได้กลับมามายโจวอีกครั้งหนึ่ง

...ถ้าไม่ได้มาปีนี้ ฉันต้องลงแดงเพราะคิดถึงคนที่นี่ เป็นแน่แท้ (อิอิ)

"โด่ะวันเหงะ" ข้างบ้านกำลังซ้อมเพลงใหม่

เอ๋ยากำลังถักสายรัดข้อมือของที่ระลึกใหม่ขายแก่นักท่องเที่ยว

ของที่ระลึกขายให้แก่นักท่องเที่ยวอันใหม่ ฝีมือเอ๋ยา เรียนจากหลานสะใภ้ ที่เรียนมาจากคนอื่นอีกทีหนึ่ง

 

บันทึกการเดินทางมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559

อัพโหลดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559

ณ หมู่บ้านไทขาว บ้านหลาก อ.มายโจว (เมืองมุน) จ.ฮว่าบิ่ง เวียดนาม

เก๋ อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด