Skip to main content

มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมที ลุงนิงว่าจะขี่มอร์เตอร์ไซด์ไปคนเดียว ระยะทางประมาณ 100 ก.ม. พอทราบว่าผู้เขียนต้องการไปด้วย แกถามว่าไปมอร์เตอร์ไซด์กับแกได้มั้ย ผู้เขียนบอกว่าได้

ต่อมา แกคงคิดว่าผู้เขียนคงเป็นภาระแก หากต้องแว้นมอร์เตอร์ไซด์ไปเป็น 100 ก.ม. และต้องแว้น-ซ่อกแซ่กไปต่อตามหมู่บ้านต่างๆ แกจึงเปลี่ยนใจ แล้วใช้วิธีโบกรถไปเรื่อยๆ เมื่อไปถึงเถื่องซวนแล้วค่อยหาเช่ารถไปตามหมู่บ้านต่างๆ นอกอำเภอ (โถ...ถ้าเป็นคนอื่น เขาคงหาข้ออ้างปฏิเสธไม่ให้ผู้เขียนไปด้วยแล้ว...รักลุงนิง จุงเบย)

เช้าวันนั้น ลุงนิงนัดผู้เขียนให้ออกมารอที่บ้านห่ากงโหม่ว เวลา 5.30 แต่แกเล่นมาตอน 6.00 น. ผู้เขียนก็เลยไปกินบุ๋นจ๋า อาหารเวียดนามรอ สักพัก แกมา แกบอกว่าเดี๋ยวเราไปรถเมล์กัน แล้วไปลงที่ “หง่อกหลาก” (Ngọc Lạc - ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เหมื่อง หมายถึง ต้นน้ำ) เพื่อไปพบ เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) แห่งมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก ที่เป็นผู้ร่วมทำงานวิจัยกับลุงนิง เดิมทีก็ไม่ได้นัดกัน แต่อย่างไรไม่รู้ ลุงนิงโทรไปตอนกลางคืน บอกว่าจะลงพื้นที่ เถ่ยซาวว่างพอดี เลยอาสาขับรถไปส่งที่เถื่องซวน

ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าคนที่รอพวกเราอยู่ที่หง่อกหลากนั้นคือเถ่ยซาว เพราะก่อนหน้านี้เคยอ่านเอกสารด้านไทศึกษาที่ลุงนิงรวบรวมเอาไว้ ด้วยการสนับสนุนจากเถ่ยซาว ผู้เขียนจึงคิดว่าต้องการที่จะพบหน้าเถ่ยซาวซักวัน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของไทที่แทงฮว๋า แต่ไม่นึกว่าจะโชคดีขนาดนี้ แกเป็นสารถีให้โดยไม่คิดค่าน้ำมั้น ทั้งๆ ที่ลุงนิงและเรายืนยันที่จะเช่ารถลงหมู่บ้านต่างๆ ด้วยกันเมื่อไปถึงแทงฮว๋า

เมื่อเรามาถึงเถื่อนซวนแล้ว สิ่งแรกที่นักวิจัยท้องถิ่นต้องทำ ไม่ใช่การไปหาแหล่งข้อมูล แต่เป็นการไปเยี่ยมไปยามคนรู้จักก่อน เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนที่ 1 ว่างานวิจัยของนักวิจัยท้องถิ่นที่นี่ถูกฝังตรึงไว้กับความสัมพันธ์ทางสังคม 

อย่างไรก็ดี ก่อนลงพื้นที่ทำวิจัย แม้แต่คนเวียดนาม ก็ต้องไปบอกกล่าวอย่างเป็นทางการกับทางอำเภอก่อน ลุงนิงให้ผู้เขียนนั่งคอย เพื่อไม่ให้ทางอำเภอรู้ว่ามีคนต่างชาติติดตามมาด้วย เพราะจะเป็นปัญหากับลุงนิง เถ่ยซาว และผู้เขียนเอง

เมื่อเสร็จแล้ว  เถ่ยซาวจึงพาไปหาคนรู้จัก เพราะการวิจัยที่นี่ต้องเก็บข้อมูลกับคนที่รู้จัก ถ้าไม่รู้จัก ต้องให้คนรู้จักพาไปพบคนในเครือข่ายเขา มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่ตัวนักวิจัยกับผู้ให้ข้อมูลจะไม่มีเครือข่ายโยงใยถึงกัน เป็นคนแปลกหน้ากันในการสัมภาษณ์ ซึ่งสำหรับคนแถวนี้แล้ว การสัมภาษณ์-ให้สัมภาษณ์กับคนไม่รู้จัก คงต้องมีใครอึดอัดลิ้นจุกปาก ตายกันไปข้างหนึ่ง (อิอิ) ซึ่งต่างจากเมืองไทย แค่เหมารถไปในหมู่บ้าน จ้างคนกลุ่มหนึ่งเดินไปลงเก็บข้อมูล โดยที่นักวิจัยและผู้รับจ้างเก็บข้อมูลไม่รู้จักกันเลยก็ยังทำได้

คนรู้จักของเถ่ยซาวคือเจ้าหน้าที่ 3 คน ของตำบลเยินเซิน พอไปถึงก็ได้เวลาเที่ยงเลยต้องนัดเขามาดื่ม-กินด้วยกันเสียก่อนตามธรรมเนียม เมื่อดื่ม-กินได้ที่แล้ว งานถึงจะตามมา

 

ในวงดื่ม-กินพวกเขาคุยกันถึงวัตถุประสงค์ของการวิจัย จากนั้นก็ช่วยกันวางแผนการวิจัยว่าจะไปเก็บข้อมูลกับใครที่ใด ช่วงนั้นผู้เขียนได้ยินไม่ถนัด ประมาณว่าจะไปอ่านภาษาไทโบราณที่ป้ายหิน 

เมื่อดื่มกินจนได้เวลาอันเป็น “มงคลเลิก” แล้ว พี่-น้องชาย 2 คนพาทีมของเราไปที่หมู่บ้าน ไปถึงหมู่บ้านแล้วน้องชายคนหนึ่งบอกให้เรานั่งรอ แล้วจะพาลุงนิงกับเถ่ยซาวไป ผู้เขียนบอกว่าทำไมผู้เขียนไปด้วยไม่ได้ แกบอกว่าเดินไกล เดินลำบาก และไปที่นั่นไม่กลัวหรือ กินน้ำ นั่งรอตรงนี้สบายกว่า ผู้เขียนบอกว่ายังไงก็จะไป รวมทั้งลุงนิงก็ต้องการให้ผู้เขียนไปด้วย ผู้เขียนก็เลยได้ไป

ในการเดินไปนั้น เดินไม่ไกลเท่าไร แต่ร้อน เลยทำให้เหนื่อย ที่สำคัญคือต้องเดินเข้าป่าละเมาะ และเดินข้ามห้วยไป 2 ห้วย

พอพ้นห้วยที่ 2 เดินเข้าไปในป่าละเมาะ ผู้เขียนถึงได้ถึงบางอ้อ...รู้เลยว่าทำไมน้องชายคนนั้นถึงไม่ให้ผู้เขียนไปด้วย เพราะนั่นมันเป็นสุสานของเมืองโ(ซ)ยนที่มีอายุนานแล้ว ในสุสานมีตั้งแต่ป้ายเสาหินแบบโบราณไปจนถึงป้ายสมัยใหม่ ผู้เขียนเดินไปเหยีบบนหลุมฝังศพบางคนโดยไม่รู้ตัว ลุงนิง เถ่ยซาว และน้องชายคนนั้นเดินในสุสานที่มีลักษณะคล้ายป่าละเมาะเร็วมาก ทำเอาผู้เขียนรู้สึก “บรื๋อส์” แล้วต้องรีบจ้ำเท้าให้ทัน

น้องชายคนนั้นก็ไปจุดธูปบอกกล่าวผี ได้ยินด้วยว่าพูดถึงผู้เขียนว่าขออนุญาตให้ผู้เขียนมาที่นี่ด้วย

ลุงนิง พยายามไปดูป้ายหลุมฝังศพแบบเก่า ที่จารึกอักษร ในที่สุดก็พบ แต่อ่านไม่ถนัด เพราะหญ้าบดบัง ลุงนิงได้เอากล้องถ่ายรูปยื่นเข้าไปถ่ายรูป แล้วเอามาอ่าน ก็อ่านไม่ชัด ตัวหนังสือพร่าเลือน จากนั้นแกก็เลยไปหาใบไม้มาถูๆ กัน แล้วเอื้อมมือเข้าไปเช็ดป้ายหลุมฝังศพ จากนั้นก็ถ่ายรูปออกมาแล้วอ่านออกว่า...

“เซ๋เด๋ โองฮาย ต่าวเมืองโ(ซ)ยน ตายมื้อสิบเก้า เบือนโหมด ปัวบาวดาย ปีที่สอง 12-12-27”

แปลว่า "ท่าน (ชื่อ)ฮาย เจ้าเมืองโ(ซ)ยน ตายวันที่ 19 เดือน 1 รัชกาลบ่าวด่าย ปีที่สอง วันที่ 12-12-1927 (ปฏิทินจันทรคติ)" ผู้เขียนก็เลยรู้ว่านี่เป็นหลุมฝังศพของเจ้าเมืองในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส หลุมฝังศพนี้ไม่ได้แยกฝังตามยศถาบรรดาศักดิ์ และไม่ได้แยกหญิง-ชาย มีมานานแล้วตั้งแต่ป้ายหลุมฝังศพยังเป็นหินสูงๆ ไม่มีอักษรจารึก หลุมศพเจ้าเมือง และหลุมศพชาวบ้าน

การเก็บข้อมูลงานวิจัยที่ฝังตรึงกับความสัมพันธ์ทางสังคม ในระยะเวลาอันสั้น โดยที่นักวิจัยอย่างลุงนิงและเถ่ยซาวไม่มีเวลาไปฝังตัวกับชุมชนนี้ เป็นอะไรที่นอกจากนักมานุษยวิทยาบางคนแล้ว เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้เห็นในเมืองไทย เพราะนักวิชาการ ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและปัญญาชนท้องถิ่นของไทยเราไม่ชอบสร้างขัอผูกมัดทางสังคม (Social Obligation) กับชาวบ้านรึเปล่า (?) งานเรา ข้อมูลเราจึงหลุดๆ ลอยๆ ไปจากสังคม แม้มันจะ sig แต่ผู้เขียนเห็นหลายงานแล้วที่อธิบายความสลับซ้บซ้อนของสังคมแทบไม่ได้ (อิอิ) 

เพราะความผูกมัดแบบนี้ต้องอยู่บนความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ เช่น ฉันคือ "เถ่ยซาว" นะ เป็นอาจารย์มหาลัย ฉัน "ห่านามนิง" เป็นอดีตรองคณะกรรมการบริหารอำเภอนะ เพราะทั้งเขาและเราต่างต้องพึ่งพากัน (reciporcal relationship) เป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนาน

เสร็จจากการวิจัยหลุมศพ จากนั้นพี่ชายอีกคนหนึ่งก็มารับไม้ต่อ เขาพาพวกเราไปที่บ้านเขา จึงได้รู้ว่าเขาและผู้เฒ่าในหมู่บ้านที่เขาคิดว่ารู้ข้อมูลดีที่สุดนั่นแหละเป็นแหล่งข้อมูลให้เอง เขาได้สั่งเมียให้เตรียมเหล้ายาปลาปิ้งต้อนรับเรา กิน-ดื่มไปก็คุยกันไป สบายใจ สบายพุงแฮ...ไม่มีจด ไม่มีแบบสอบถาม ไม่ใช้การสัมภาษณ์ มีแต่คุยกันและถกกันล้วนๆ โดยใช้หัวใจกับสมองฟังและจำ 

และแล้ว...ก็ห้าโมงเย็นกว่าๆ พระอาทิตย์จะลับโลกไป พระจันทร์จะโผล่ขึ้นมา ได้เวลาที่เถ่ยซาวจะต้องขับรถกลับตัวจังหวัดแทงฮว๋าไปหาลูก-เมีย แกไปหย่อนลุงนิงกับผู้วิจัยไว้ที่โรงแรมในตัวอำเภอเถื่องซวน และทิ้งโจทย์ให้ลุงนิงคิดต่อว่าพรุ่งนี้ จะใช้เครือข่ายใด เพื่อทำงานวิจัยต่อที่เถื่องซวน

โปรดติดตามต่อในตอนที่ 3

บันทึกการเดินทางเมื่อ 17 มิถุนายน 2558 ณ อำเภอเถื่องซวน จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

อัพโหลดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 ณ อำเภอฮว่างมาย ฮานอย เวียดนาม

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด