Skip to main content

มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมที ลุงนิงว่าจะขี่มอร์เตอร์ไซด์ไปคนเดียว ระยะทางประมาณ 100 ก.ม. พอทราบว่าผู้เขียนต้องการไปด้วย แกถามว่าไปมอร์เตอร์ไซด์กับแกได้มั้ย ผู้เขียนบอกว่าได้

ต่อมา แกคงคิดว่าผู้เขียนคงเป็นภาระแก หากต้องแว้นมอร์เตอร์ไซด์ไปเป็น 100 ก.ม. และต้องแว้น-ซ่อกแซ่กไปต่อตามหมู่บ้านต่างๆ แกจึงเปลี่ยนใจ แล้วใช้วิธีโบกรถไปเรื่อยๆ เมื่อไปถึงเถื่องซวนแล้วค่อยหาเช่ารถไปตามหมู่บ้านต่างๆ นอกอำเภอ (โถ...ถ้าเป็นคนอื่น เขาคงหาข้ออ้างปฏิเสธไม่ให้ผู้เขียนไปด้วยแล้ว...รักลุงนิง จุงเบย)

เช้าวันนั้น ลุงนิงนัดผู้เขียนให้ออกมารอที่บ้านห่ากงโหม่ว เวลา 5.30 แต่แกเล่นมาตอน 6.00 น. ผู้เขียนก็เลยไปกินบุ๋นจ๋า อาหารเวียดนามรอ สักพัก แกมา แกบอกว่าเดี๋ยวเราไปรถเมล์กัน แล้วไปลงที่ “หง่อกหลาก” (Ngọc Lạc - ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เหมื่อง หมายถึง ต้นน้ำ) เพื่อไปพบ เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) แห่งมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก ที่เป็นผู้ร่วมทำงานวิจัยกับลุงนิง เดิมทีก็ไม่ได้นัดกัน แต่อย่างไรไม่รู้ ลุงนิงโทรไปตอนกลางคืน บอกว่าจะลงพื้นที่ เถ่ยซาวว่างพอดี เลยอาสาขับรถไปส่งที่เถื่องซวน

ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าคนที่รอพวกเราอยู่ที่หง่อกหลากนั้นคือเถ่ยซาว เพราะก่อนหน้านี้เคยอ่านเอกสารด้านไทศึกษาที่ลุงนิงรวบรวมเอาไว้ ด้วยการสนับสนุนจากเถ่ยซาว ผู้เขียนจึงคิดว่าต้องการที่จะพบหน้าเถ่ยซาวซักวัน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของไทที่แทงฮว๋า แต่ไม่นึกว่าจะโชคดีขนาดนี้ แกเป็นสารถีให้โดยไม่คิดค่าน้ำมั้น ทั้งๆ ที่ลุงนิงและเรายืนยันที่จะเช่ารถลงหมู่บ้านต่างๆ ด้วยกันเมื่อไปถึงแทงฮว๋า

เมื่อเรามาถึงเถื่อนซวนแล้ว สิ่งแรกที่นักวิจัยท้องถิ่นต้องทำ ไม่ใช่การไปหาแหล่งข้อมูล แต่เป็นการไปเยี่ยมไปยามคนรู้จักก่อน เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนที่ 1 ว่างานวิจัยของนักวิจัยท้องถิ่นที่นี่ถูกฝังตรึงไว้กับความสัมพันธ์ทางสังคม 

อย่างไรก็ดี ก่อนลงพื้นที่ทำวิจัย แม้แต่คนเวียดนาม ก็ต้องไปบอกกล่าวอย่างเป็นทางการกับทางอำเภอก่อน ลุงนิงให้ผู้เขียนนั่งคอย เพื่อไม่ให้ทางอำเภอรู้ว่ามีคนต่างชาติติดตามมาด้วย เพราะจะเป็นปัญหากับลุงนิง เถ่ยซาว และผู้เขียนเอง

เมื่อเสร็จแล้ว  เถ่ยซาวจึงพาไปหาคนรู้จัก เพราะการวิจัยที่นี่ต้องเก็บข้อมูลกับคนที่รู้จัก ถ้าไม่รู้จัก ต้องให้คนรู้จักพาไปพบคนในเครือข่ายเขา มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่ตัวนักวิจัยกับผู้ให้ข้อมูลจะไม่มีเครือข่ายโยงใยถึงกัน เป็นคนแปลกหน้ากันในการสัมภาษณ์ ซึ่งสำหรับคนแถวนี้แล้ว การสัมภาษณ์-ให้สัมภาษณ์กับคนไม่รู้จัก คงต้องมีใครอึดอัดลิ้นจุกปาก ตายกันไปข้างหนึ่ง (อิอิ) ซึ่งต่างจากเมืองไทย แค่เหมารถไปในหมู่บ้าน จ้างคนกลุ่มหนึ่งเดินไปลงเก็บข้อมูล โดยที่นักวิจัยและผู้รับจ้างเก็บข้อมูลไม่รู้จักกันเลยก็ยังทำได้

คนรู้จักของเถ่ยซาวคือเจ้าหน้าที่ 3 คน ของตำบลเยินเซิน พอไปถึงก็ได้เวลาเที่ยงเลยต้องนัดเขามาดื่ม-กินด้วยกันเสียก่อนตามธรรมเนียม เมื่อดื่ม-กินได้ที่แล้ว งานถึงจะตามมา

 

ในวงดื่ม-กินพวกเขาคุยกันถึงวัตถุประสงค์ของการวิจัย จากนั้นก็ช่วยกันวางแผนการวิจัยว่าจะไปเก็บข้อมูลกับใครที่ใด ช่วงนั้นผู้เขียนได้ยินไม่ถนัด ประมาณว่าจะไปอ่านภาษาไทโบราณที่ป้ายหิน 

เมื่อดื่มกินจนได้เวลาอันเป็น “มงคลเลิก” แล้ว พี่-น้องชาย 2 คนพาทีมของเราไปที่หมู่บ้าน ไปถึงหมู่บ้านแล้วน้องชายคนหนึ่งบอกให้เรานั่งรอ แล้วจะพาลุงนิงกับเถ่ยซาวไป ผู้เขียนบอกว่าทำไมผู้เขียนไปด้วยไม่ได้ แกบอกว่าเดินไกล เดินลำบาก และไปที่นั่นไม่กลัวหรือ กินน้ำ นั่งรอตรงนี้สบายกว่า ผู้เขียนบอกว่ายังไงก็จะไป รวมทั้งลุงนิงก็ต้องการให้ผู้เขียนไปด้วย ผู้เขียนก็เลยได้ไป

ในการเดินไปนั้น เดินไม่ไกลเท่าไร แต่ร้อน เลยทำให้เหนื่อย ที่สำคัญคือต้องเดินเข้าป่าละเมาะ และเดินข้ามห้วยไป 2 ห้วย

พอพ้นห้วยที่ 2 เดินเข้าไปในป่าละเมาะ ผู้เขียนถึงได้ถึงบางอ้อ...รู้เลยว่าทำไมน้องชายคนนั้นถึงไม่ให้ผู้เขียนไปด้วย เพราะนั่นมันเป็นสุสานของเมืองโ(ซ)ยนที่มีอายุนานแล้ว ในสุสานมีตั้งแต่ป้ายเสาหินแบบโบราณไปจนถึงป้ายสมัยใหม่ ผู้เขียนเดินไปเหยีบบนหลุมฝังศพบางคนโดยไม่รู้ตัว ลุงนิง เถ่ยซาว และน้องชายคนนั้นเดินในสุสานที่มีลักษณะคล้ายป่าละเมาะเร็วมาก ทำเอาผู้เขียนรู้สึก “บรื๋อส์” แล้วต้องรีบจ้ำเท้าให้ทัน

น้องชายคนนั้นก็ไปจุดธูปบอกกล่าวผี ได้ยินด้วยว่าพูดถึงผู้เขียนว่าขออนุญาตให้ผู้เขียนมาที่นี่ด้วย

ลุงนิง พยายามไปดูป้ายหลุมฝังศพแบบเก่า ที่จารึกอักษร ในที่สุดก็พบ แต่อ่านไม่ถนัด เพราะหญ้าบดบัง ลุงนิงได้เอากล้องถ่ายรูปยื่นเข้าไปถ่ายรูป แล้วเอามาอ่าน ก็อ่านไม่ชัด ตัวหนังสือพร่าเลือน จากนั้นแกก็เลยไปหาใบไม้มาถูๆ กัน แล้วเอื้อมมือเข้าไปเช็ดป้ายหลุมฝังศพ จากนั้นก็ถ่ายรูปออกมาแล้วอ่านออกว่า...

“เซ๋เด๋ โองฮาย ต่าวเมืองโ(ซ)ยน ตายมื้อสิบเก้า เบือนโหมด ปัวบาวดาย ปีที่สอง 12-12-27”

แปลว่า "ท่าน (ชื่อ)ฮาย เจ้าเมืองโ(ซ)ยน ตายวันที่ 19 เดือน 1 รัชกาลบ่าวด่าย ปีที่สอง วันที่ 12-12-1927 (ปฏิทินจันทรคติ)" ผู้เขียนก็เลยรู้ว่านี่เป็นหลุมฝังศพของเจ้าเมืองในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส หลุมฝังศพนี้ไม่ได้แยกฝังตามยศถาบรรดาศักดิ์ และไม่ได้แยกหญิง-ชาย มีมานานแล้วตั้งแต่ป้ายหลุมฝังศพยังเป็นหินสูงๆ ไม่มีอักษรจารึก หลุมศพเจ้าเมือง และหลุมศพชาวบ้าน

การเก็บข้อมูลงานวิจัยที่ฝังตรึงกับความสัมพันธ์ทางสังคม ในระยะเวลาอันสั้น โดยที่นักวิจัยอย่างลุงนิงและเถ่ยซาวไม่มีเวลาไปฝังตัวกับชุมชนนี้ เป็นอะไรที่นอกจากนักมานุษยวิทยาบางคนแล้ว เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้เห็นในเมืองไทย เพราะนักวิชาการ ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและปัญญาชนท้องถิ่นของไทยเราไม่ชอบสร้างขัอผูกมัดทางสังคม (Social Obligation) กับชาวบ้านรึเปล่า (?) งานเรา ข้อมูลเราจึงหลุดๆ ลอยๆ ไปจากสังคม แม้มันจะ sig แต่ผู้เขียนเห็นหลายงานแล้วที่อธิบายความสลับซ้บซ้อนของสังคมแทบไม่ได้ (อิอิ) 

เพราะความผูกมัดแบบนี้ต้องอยู่บนความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ เช่น ฉันคือ "เถ่ยซาว" นะ เป็นอาจารย์มหาลัย ฉัน "ห่านามนิง" เป็นอดีตรองคณะกรรมการบริหารอำเภอนะ เพราะทั้งเขาและเราต่างต้องพึ่งพากัน (reciporcal relationship) เป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนาน

เสร็จจากการวิจัยหลุมศพ จากนั้นพี่ชายอีกคนหนึ่งก็มารับไม้ต่อ เขาพาพวกเราไปที่บ้านเขา จึงได้รู้ว่าเขาและผู้เฒ่าในหมู่บ้านที่เขาคิดว่ารู้ข้อมูลดีที่สุดนั่นแหละเป็นแหล่งข้อมูลให้เอง เขาได้สั่งเมียให้เตรียมเหล้ายาปลาปิ้งต้อนรับเรา กิน-ดื่มไปก็คุยกันไป สบายใจ สบายพุงแฮ...ไม่มีจด ไม่มีแบบสอบถาม ไม่ใช้การสัมภาษณ์ มีแต่คุยกันและถกกันล้วนๆ โดยใช้หัวใจกับสมองฟังและจำ 

และแล้ว...ก็ห้าโมงเย็นกว่าๆ พระอาทิตย์จะลับโลกไป พระจันทร์จะโผล่ขึ้นมา ได้เวลาที่เถ่ยซาวจะต้องขับรถกลับตัวจังหวัดแทงฮว๋าไปหาลูก-เมีย แกไปหย่อนลุงนิงกับผู้วิจัยไว้ที่โรงแรมในตัวอำเภอเถื่องซวน และทิ้งโจทย์ให้ลุงนิงคิดต่อว่าพรุ่งนี้ จะใช้เครือข่ายใด เพื่อทำงานวิจัยต่อที่เถื่องซวน

โปรดติดตามต่อในตอนที่ 3

บันทึกการเดินทางเมื่อ 17 มิถุนายน 2558 ณ อำเภอเถื่องซวน จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

อัพโหลดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 ณ อำเภอฮว่างมาย ฮานอย เวียดนาม

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
เหมือนประเทศทั้งหลาย ตลาดเสรีโลกาภิวัตน์ของการแปลงที่ดินเป็นสินค้า กำลังดุเดือดเลือดพล่านอยู่ในเวียดนาม ในขณะนี้ เห็นได้จากตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีความตึงเครียดและการประท้วงของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศ การประท้วงการ privatization ที่ดิน และการสร้างเขื่อนเซินลา เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน
เก๋ อัจฉริยา
หลังจากกลับมาถึงเมืองไทยได้หนึ่งสัปดาห์ เสียงโทรศัพท์ทางไกลจากที่ราบกลางหุบเขา แห่งเมืองมายโจว ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ก็ดังกรี๊งกร๊าง ขึ้นมา “...อาโล้…ถุกเลิมอ่า...ขันบ่าวล้า” (ฮัลโหล...”ถุกเลิม” (ชื่อภาษาเวียดของผู้เขียน) เหรอ สบายดีมั้ย) แล้วตามมาด้วยเสียงแ
เก๋ อัจฉริยา
พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปิดประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การทะยอยสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย การเปิดเสรีด้านแรงงานและเศรษฐกิจอาเซียน การลงทุนเมกาโปรเจคที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย (ที่เขาว่าขนาดของอุตสาหกรรมน่าจะใหญ่กว่ามาบตาพุด 10 – 15 เท่า) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และอื่นๆ แรงงานชาวพม่
เก๋ อัจฉริยา
ใครว่าสาวบริการทางเพศนั้นไม่มีสิทธิ “เลือก” ลูกค้า ทว่าเป็นแค่ “วัตถุ” ที่รอให้ผู้ชายมาหยิบไป “เสพสม” ใครว่าสาวไม่มีทางเลือกในการทำให้ตัวเองปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลูกค้าเหนือกว่า ทั้งโดยความเป็น “ชาย” และความเป็น “ผู้ซื้อ”
เก๋ อัจฉริยา
กาลครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว ณ เมืองหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่บนภาพตัวแทนของการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้มาก  เช่น ภาพอันวิจิตรอลังการของวัดวาอารามต่างๆ ที่มีถึง 37 แห่ง ภาพพระสงฆ์เดินเป็นแถวมารับบิณฑบาตรยาม
เก๋ อัจฉริยา
  วันหนึ่งในหน้าร้อน กลางปี 2556 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้