Skip to main content

บ่ายสองโมงวานนี้ (21 เม.ย. 2016) ฉันเดินจากบ้านปู่-เอ๋ยาวี ครอบครัวที่ฉันพักอาศัย เพื่อไป “อิ้นยาม” (เยี่ยม) ครอบครัว“ปู่-เอ๋เฒ่าเหล๋” (สำเนียงเวียดนาอ่านว่า “เหละ”- Lệ) ฉันรู้จักกับครอบครัวเหล๋มาตั้งแต่ปี 2007 ช่วงนั้น ปลายเดือนตุลาฯ กำลังเข้าหน้าหนาว ฉันมาถึงบ้านหลาก (อำเภอมายโจว จังหวัดฮว่าบิ่ง เวียดนาม) ประมาณบ่าย 3 โมง และเห็นชาวนากำลังเกี่ยวและขนข้าวเต็มท้องทุ่ง ฉันวางกระเป๋าที่บ้านพัก ทักทายเจ้าของบ้านนิดหน่อย แล้วรีบแจ้นออกไปทุ่งนา เห็นครอบครัวหนึ่ง มีแม่เฒ่า ลูกชาย และลูกสะใภ้ “ร่างน้อย” ทุกคน กำลังขนข้าวใส่รถเข็นอย่างขมักเขม้น เพราะเย็นมากแล้ว และฝนก็จะตก ฉันจึงรีบไปช่วยเขาขนข้าวใส่รถเข็น เสร็จแล้วเดินตามพวกเขาไปจนถึงบ้าน คุยกันซักพัก รู้สึกถูกคอ ทั้งๆ ที่ในปี 2007 ภาษาเวียดนามของฉันไม่แข็งแรงเอามากๆ และพูดภาษาไทขาวแทบไม่ได้เลย (เพราะขนาดคำว่า “กินข้าว” ภาษาไทที่นี่ยังพูดว่า “เลาแอ่ง”) รุ่งขึ้นฉันจึงไปช่วยเขานวดข้าว (จริงๆ ไม่ได้ช่วยนวดอะไรเลย มีแต่นั่งมองและคุย อิอิ)

ทุ่งนาบ้านหลาก ตุลาคม 2007

แองห่อกและฉัน เดือนตุลาคม 2007

แองห่อกและแอมแห่ก (น้องสาว) เดือนตุลาคม 2007

เดือนผ่านเดือน ปีผ่านปี ที่ฉันมาทำวิจัยที่นี่ ฉันสนิทกับกับครอบครัวนี้ขึ้นเรื่อยๆ แม้ฉันไม่เคยนอนที่เรือนนี้ เพราะความไม่พร้อมเรื่องห้องอาบน้ำ-ห้องส้วมที่ยังต้องสัมผัสกับธรรมชาติอยู่ (อิอิ) แต่ฉันก็ไปนอนกลางวัน และไปกินข้าวด้วยบ่อยๆ สถานะของฉันคือแขกคนสนิท คู่จิ้นของเอ๋เฒ่า และลูกศิษย์เรียนภาษาไทขาวของปู่เหล๋

ครอบครัวเหละ เดือนตุลาคม 2007

ปู่เหล๋ สอนให้ฉันอ่านภาษาไทขาว (แกคือครูคนที่สองที่สอนภาษาไทขาวแก่ฉัน ครูคนแรกคือห่ากงติ๋น ตำรวจฮว่าบิ่งเกษียณอายุ) ปู่เหล๋สอนคำศัพท์ และสอนการสนทนาถาม-ตอบ บางที ตอนเรียนภาษาไทขาวกับแกใหม่ๆ ฉันหงุดหงิดกับการไม่มีมาตรฐานในการอ่านและเขียนมาก โดยเฉพาะตัว “มอ” กับ “นอ” และ ตัว “ทอ” กับ “ตอ” นั้นแยกยากมากที่สุดในสามโลก

แต่เป็นเพราะฉันเป็นลูกศิษย์ อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ฉันจึงคิดถึงคำสอนของอาจารย์เสมอว่า เรื่องสังคม-วัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ถูกทำให้ตายตัวไมได้หรอก จริงอย่างอ.อานันท์ว่า ฉันจึงตั้งสติอยู่เรื่อยๆ สุดท้าย ฉันต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจคำศัพท์ จนกระทั่งเดาความหมายได้โดยไม่ต้องไปแกะอักษรว่ามันคือตัว “มอ” หรือตัว “นอ” ฉันจึงจะรู้ว่าคำนี้ควรเป็น “มอ” หรือ “นอ” เป็นต้น นั่นแปลว่า ฉันจะต้องเกือบจะเป็นคนในวัฒนธรรมนั้นด้วยซ้ำ

และนี่คือสิ่งที่เรียกร้องให้ฉันต้องมาที่นี่ เพื่อมาอ่านเอกสารโบราณให้บ่อยที่สุด เท่าที่จะบ่อยได้ ไม่ว่าเวลาจะนานนับสิบปี มันก็ต้องเป็นเช่นนี้ จนหมดแรงหรือจนกว่าฉันจะตาย

ต้องบอกท่านผู้อ่านก่อนว่า ตอนนั้น ที่ฉันเรียนภาษาไทขาวเพราะเหตุผลทางการเมืองเรื่องของการวิจัย ซึ่งฉันบอกรายละเอียดแก่สาธารณะไม่ได้ในตอนนี้ ฉันไม่ได้ต้องการเรียนเพราะต้องการรู้ภาษาเขียนไทขาว เนื่องจากในเวลานั้นฉันทำวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องไทศึกษา อะไรทำนองนี้ แต่ในที่สุด ฉันก็หลงรักการอ่านและเขียนภาษาไทขาว เพราะมันนำฉันไปสู่โลกอดีต “ที่ฉันอยากจะรู้ แต่ไม่รู้จัก” เพื่อเข้าใจปัจจุบัน หลังจบปริญญาเอก ฉันจึงทำวิจัยด้าน “ไทศึกษาในภาคกลางตอนเหนือของเวียดนาม” โดยที่เอาเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมาเป็นผลพลอยได้จากการวิจัยไทศึกษาที่มายโจวและไทที่จังหวัดแทงฮว๋า เพราะฉันมักมาอาศัยในหมู่บ้านการท่องเที่ยวทั้งที่มายโจวและที่แทงฮว๋า

นอกจากสอนหนังสือไทขาวแล้ว ปู่เหล๋ยังชอบพาฉันไปเที่ยวรอบๆ หมู่บ้าน โดยเฉพาะขึ้นภู เข้าถ้ำ ข้ามห้วย เดินลัดทุ่ง เป็นต้น

ปู่เหล๋กับฉัน เดือนกุมภาพันธ์  2011

วันนี้เป็นวันที่ต้องฟินไปอีก 3 วัน เพราะทำสำเร็จการอ่านออกเสียงภาษาไทขาว เอกสารไทโบราณฉบับลายมือพู่กัน เมื่อวานบ่ายจนถึงวันนี้ ในการอ่านประวัติศาสตร์ตระกูล "ห่ากง" เจ้าเมืองมุน หม่ก และคอง ที่เขียนเป็นภาษาไทโบราณ ที่ถูกคัดลอกมาในรัชสมัยกษัตริย์บ่าวด่าย ปีที่ 10 (ค.ศ.1935) ถ่ายเอกสารจากห่ากงติ๋นมา อักษรบางตัวก็ไม่ชัด ฉันให้แกช่วยแก้คำและสำเนียงไทขาวของฉัน พร้อมอธิบายคำศัพท์บางคำที่ฉันไม่รู้เรื่อง เมื่อวานอ่านไปได้ 20 หน้า เพราะเย็นแล้ว มีธุระต้องไปเยี่ยมคนอื่น

พอมาวันนี้ แทนที่จะอ่านต่อหน้า 21 ปู่เหล๋ให้ฉันเริ่มอ่านตั้งแต่หน้า 1 ใหม่ แกฟังเสียงอัดเทป แล้วบอกว่าสำเนียงการอ่านของฉันไม่ไพเราะเอาเสียเลย อีกอย่าง แกอยากอธิบายความใหม่เป็นภาษาไท โดยไม่มีคำเวียดผสม เพราะการอ่านครั้งนี้ ผ่านไป 4 ชั่วโมง (รวมเมื่อวานอีก 2 ชม.เป็น 6 ชม.) ฉันจึงอ่านจนจบ 53 หน้า โดยช่วงเช้าตะโกนอ่านแข่งกับเสียงฝนตกฟ้าร้อง

ขอบคุณฟ้าดิน ปู่เหล๋ไม่เบื่อที่ต้องฟัง แก้ภาษา และอธิบายความให้ฉันเลย ตรงกันข้าม แม้เหนื่อยทั้งคู่ แต่เราก็สนุกอ่านกันมาก อ่านไปหัวเราะไป เพราะทั้งฉันและแกต่างก็อ่านผิดๆ ถูกๆ เพราะลายมือหวัดมาก ส่วนฉันนั้นอ่านผิดเยอะกว่าแกมาก ผิดทั้งคำ ผิดทั้งสำเนียง ที่ดูเห่ยๆ แปล่งๆ ตามระเบียบของคนนอกวัฒนธรรม

เอกสารโบราณไทขาว ที่ฉันอ่านกับปู่เหล๋เมื่อ 21-22 เมษายน 2016

งานนี้ไม่มีค่าตอบแทนเลยแม้แต่ด่องเดียว แม้ฉันจะพยายามให้แกอย่างไร แกก็ไม่รับเลย ฉันปริ่มจนน้ำตาจะไหล ไหว้แกไม่รู้กี่ครั้ง เพราะก่อนหน้านั้น แกไม่เคยต้องอดทนกับฉันนานขนาดนี้ เต็มที่ก็ 2 ชั่วโมง (นึกในใจ นี่หรือ...คือคนที่ชาวบ้านบอกว่าขี้เหนียว)

สำหรับเอ๋เฒ่าเหล๋ฉันยิ่งสนิทมาก เอ๋เฒ่เหล๋คุยสนุก “ม่วนโจม” มาก (ภาษาเวียดเรียกว่า "วูยติ๋ง") ฉันชอบแซวแกบ่อยๆ แกไม่ค่อยชอบให้ฉันถ่ายรูปและอัดวีดีโอยามเผลอ แต่ฉันก็ชอบทำ เพราะฉันชอบแกล้งแก แกล้งแกได้เมื่อไร ฉันได้หัวเราะเสียงดังกะแกทุกทีไป 55555

เอ๋เฒ่าเหล๋กับฉัน ในปี 2010

แกเป็นเหมือนคู่จิ้นกับฉัน (นอกจากพี่สาวคนหนึ่งที่ชื่อ “พี่ซ้วน”เอ๋ยาลิง” และ “แองห่อก” แล้ว) เพราะถ้าจะไปตรงไหนในหมู่บ้านที่เปลี่ยวๆ หรือไม่ก็ไม่รู้จักหรือไม่สนิทกับเรือนที่อยากจะไปคุย จะให้แกไปเป็นเพื่อน เจ้าเรือนจะได้คุยกับฉันอย่างสบายใจ

ตอนรู้จักกับแกใหม่ๆ แกมีหมอนไทที่สวยหลายใบ ฉันจะขอซื้อ แกไม่ให้ซื้อ แกให้ฟรี 2 ใบ ส่วนที่เหลือ ถือว่าขาย
ปี 2010 หลังจากที่ฉันอยู่ที่นี่หลายเดือน ฉันจะกลับเมืองไทย เอ๋เฒ่าเหล๋ถอดกำไลเงินแท้โบราณที่อยู่บนแขนแก แล้วใส่ให้ที่ข้อมือฉัน ฉันซึ้งใจมาก ทันใดนั้นฉันก็เลยถอดแหวนเงิน แก้วขนเหล็ก (แก้วโป่งข่าม) ให้แกกลับไป กำไลเงินที่แกให้ฉัน ยังอยู่ที่ข้อมือฉันทุกวันนี้

เอ๋เฒ่าเหล๋กับหมอนของนาง

อีกคนในครอบครัวนี้ ที่ฉันสนิทที่สุด คือลูกชายคนที่ 2 ชื่อ “ห่อก” (คนแรกแต่งงานแยกครอบครัวไปแล้ว) ซึ่งฉันมักเรียกแกว่า “แอง (พี่) ห่อก” ที่สนิทกับแกเพราะรู้สึกดีกับแกตั้งแต่แรกเห็น เนื่องจากเห็นแกเป็นคนขยันมาก และแกทำงานที่พี่ชายและผู้ชายหมู่บ้านนี้ไม่ค่อยทำ เช่น ดำนา ขายของ อีกอย่าง แกเป็นคนสุภาพ แม้พูดเสียงห้วนๆ และเอาอกเอาใจใครไม่เป็น

เวลาฉันจะไปไหนไกลๆ เช่นต่างตำบล ต่างอำเภอ ทั้งไปเที่ยวดู หรือไปคุย (สัมภาษณ์ปัญญาชนท้องถิ่น) ฉันมักชวนแกเป็น "แซโอม" (มอเตอร์ไซด์รับจ้าง) ไปด้วยเสมอ ไม่ใช่เพียงเพราะไว้ใจแกที่แกสุภาพ และเมียแกเห็นดีอยากให้ไปกับฉัน แต่เพราะแกชอบฟังและร่วมวงสนทนาของฉันกับปัญญาชนท้องถิ่น รวมทั้งแกชอบท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบที่ฉันชอบเที่ยว เช่น ไปตลาดม้ง ไปเทศกาลที่ฉุดผู้หญิงไปทำเมียของม้ง (เจอะติ่ง) ตลาดนัดหลายๆ ที่ ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เราก็แว้นมอเตอร์ไซด์ไปกันมาเกือบหมด แกจึงเป็นคู่เที่ยวที่ดีที่สุดของฉันในมายโจว ดีจนกระทั่ง “อ่งโซย” เจ้าของบ้านที่ฉันมาพักด้วยแซวตลอดว่า เมื่อไรจะได้มีโอกาสเป็น “แซโอม” ของฉันบ้าง (อิอิ)

แองห่อกกับฉัน

2 ปี 2 เดือนที่ฉันไม่ได้มาที่มายโจว เพราะมัวไปซ่าส์อยู่แถวแทงฮว๋าจนงบฯ วิจัยติดลบ เมื่อวานฉันกลับมาอีกที แองห่อกและจิเหี่ยน ได้ลูกสาวอีกคนหนึ่ง อายุ 18 เดือน ตอนนี้ลูกชายคนแรกอายุ 13 ปีแล้ว

ครอบครัวนี้มีความฝันว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นเจ้าของธุรกิจโฮมสเตย์ให้ได้ แต่ในเวลานี้ครอบครัวนี้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คือการขายฟืนให้วัยรุ่นที่มาเที่ยวไปทำแค้มป์ไฟ และขายขนม-ผลไม้-น้ำดื่มให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งแองห่อกก็เป็น “แซโอม” ให้แก่นักท่องเที่ยว วันผ่านวัน เดือนผ่านเดือน ปีผ่านปี พวกเขาพยายามสะสมทุนต่างๆ เท่าที่จะดิ้นรนได้ในเงื่อนไขที่ต้องทำมาหากินและเลี้ยงลูกอีก 2 คน

ปู่เหล๋พยายามฝึกภาษาอังกฤษกับฉัน ถามคำศัพท์ แล้วถามเป็นประโยค แกจำได้ แม้เวลาผ่านไปหลายปี และครั้งนี้ก็ไม่พลาด แกยังคอยถามว่าสิ่งนี้-นั้นเรียกว่าอะไร ในภาษาอังกฤษ

แองห่อกและจิเหี่ยน ขยันทำมาหากินมาก เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ โตแล้วเอาไปขายที่ตลาดในอำเภอ ปีที่แล้วเปิดเพิงหน้าบ้านขายของชำแก่นักท่องเที่ยวและชาวบ้าน แองห่อกพยายามทำตัวเป็น “แซโอม” พาฝรั่งนักท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ และบ้านนี้ ส่งลูกชายวัย 13 ปี ไปเรียนพิเศษกับครูชาวอังกฤษที่ตัวอำเภอฯ เพื่อให้ลูกชายพูดภาษาอังกฤษกับแขกให้ได้

จิเหี่ยนขายไก่ในตลาด ในปี 2014

วันนี้ ฉันไปเยี่ยมบ้าน ฉันเห็นแองห่อกเอาเงินเก็บที่มีอยู่เพื่อสร้างห้องน้ำที่ทันสมัย โดยเป็นแรงงานเอง เพราะห้องน้ำที่ทันสมัย มีเครื่องทำน้ำอุ่น คือปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจโฮมสเตย์ (ต้องบอกก่อนว่าธุรกิจโฮมสเตย์ ร้านขายของที่ระลึก รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ล้วนมาจากการสะสมทุนต่างๆ ของชาวบ้าน แต่ละครัวเรือน โดยไม่ต้องมารวมกลุ่มเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือเอ็นจีโอแม้แต่ด่องเดียว แล้วก็ต้องให้รัฐ/เอ็นจีโอคอยประคับประคองจัดกระบวนการเรียนรู้ หาคนมาดูงาน เพื่อไม่ให้ธุรกิจเจ๊ง แต่ที่นี่ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะสะสมทุนและแปลงทุนต่างๆ รวมทั้งก่อตั้งและพัฒนาธุรกิจ บนการแข่งขันกันในตลาดเสรี ด้วยตัวเอง) เพราะตัวบ้านและที่หลับที่นอนก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้สะอาด แล้วกั้นม่านเป็นสัดส่วนให้นักท่องเที่ยว เป็นพอ

แองห่อกสร้างห้องน้ำใหม่ด้วยตัวคนเดียว

เมื่อห้องน้ำพร้อม บ้านพร้อม ที่เหลือคือการรับนักท่องเที่ยว ซึ่งดูไม่ค่อยยากมากนัก กล่าวคือ 1) เขาอาจจะได้แขก “กื่ย” (แขกที่ถูกส่งมาจากบ้านข้างๆ หรือบ้านญาติที่มีแขกเต็มแล้ว) โดยเฉพาะในวันหยุดราชการ นักท่องเที่ยวมีมากจนแต่ละโฮมสเตย์ที่ปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีกว่า 80 หลัง รับแทบไม่ไหว 2) เขาอาจจะ “หล่ามแกวน” (ทำความคุ้นเคย) กับแขก “กื่ย” หรือกับแขกที่มาซื้อของและนั่งกินน้ำอ้อยที่เพิงขายของชำ จนต่อมาแขกแนะนำเพื่อนมาพักที่เรือนนี้ และต่อมาอาจจะกลายเป็นเครือข่ายทางธุรกิจกันในที่สุด ซึ่งมีหลายเรือนที่สร้างเครือข่ายธุรกิจด้วยวิธีนี้จนประสบความสำเร็จ แต่กระนั้น ต้องใช้ระยะเวลาหลายปี และต้องมีความเป็น “เจ้าบ้านที่ดี” ที่มาจากใจในการต้อนรับแขกๆ จึงจะติดใจและแนะนำคนรู้จักมาพักที่เรือนนี้ เรียกได้ว่าเป็นใช้ทุนทางวัฒนธรรม (ฮาบิทุส) ไปพัฒนาธุรกิจในตลาดเสรี

บ้านครอบครัวเหล๋ ถ่ายจากด้านข้าง เดือนเมษายน  2016

เย็นนี้ ฉันได้รับการเชื้อเชิญให้กินข้าวด้วยกันกับครอบครัวเหล๋ พอกินข้าวเสร็จ ตามระเบียบ พวกเราต้องมานั่งจิ้มฟัน และกินน้ำชาเม้าท์มอยกันต่อ การจิ้มฟันที่เวียดนาม สามารถอ้าปาก จิ้ม-ล้วงฟัน กระทำกันอย่างเปิดเผย ไม่ต้องเอามือป้องปาก แถมถุยเศษอาหารที่ติดฟันมีให้เห็นเป็นปกติ ฉันจึงรู้สึกโล่ง โปร่ง สบาย เหมือนถูกปลดปล่อย ทุกครั้งที่ต้องจิ้มฟันที่เวียดนาม มันเป็นโมเม้นที่ฟินเฟอร์มาก ไม่เชื่อต้องมาลอง “อ้า จิ้ม ล้วง แล้วถุย” ดู (อิอิ)

ทานอาหารเย็นกับครอบครัวเหล๋ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2016

ระหว่างจิ้มฟันอยู่นั้น ปู่เหล๋บอกว่าหากมีเงิน ซื้อตั๋วเครื่องบินให้ปู่หน่อย ปู่อยากไปเมืองไทยกับฉัน ฉันแซวกลับว่าไปแล้วไม่ให้กลับนะปู่ เอามั้ย แกบอกว่า เอา แล้วฉันก็หันไปถามเอ๋เฒ่าว่า ให้ไปมั้ย แกบอกว่า ให้ไป

นี่เป็นครั้งที่สิบกว่าแล้วมั้ง ที่ปู่เหล๋ขอตามฉันไปเมืองไทย

แต่จริงๆ นะ... ไม่ต้องตามไปหรอกปู่ เดี๋ยวหนูมาหาทุกปี เอกสารไทขาวเป็นตู้ๆ อ่านคนเดียวหมดภายในไม่กี่ปี...ได้ไง 55555

 

บันทึกการเดินทางเมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2559

อัพโหลดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559

ณ บ้านหลาก มายโจว ฮว่าบิ่ง เวียดนาม

เก๋ อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด