ไปคุยกับพ่อค้าวัวพม่าข้ามแดนในตลาดแม่สอด...ตลาดลอดรัฐ ข้ามรัฐ ซ้อนรัฐขนาดใหญ่ของคนเบี้ยน้อย

แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแดนมาซื้อขายในตลาดนัดวัวที่โพธิ์ทอง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในสภาพที่เป็นวัวโตเต็มวัย (ตลาดนี้เป็นตลาดค้าโค-กระบือที่พ่อค้าว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย)  จากนั้นมีผู้ที่เป็นทั้งเกษตรกรและเป็นพ่อค้าในคนๆ เดียวกันนำไป “ขุน” ต่ออีกประมาณ 3 เดือนเพื่อขายให้แก่พ่อค้าคนกลางอีกทอดหนึ่งเพื่อส่งออกต่าง ประเทศ เช่น จีน เวียดนาม มาเลเซีย และเพื่อขายบริโภคในประเทศไทย 

แหม...วัวนี่ช่างเป็นสินค้าอาเซียนเสียจริงๆ คิดดูสิว่าพวกเขาเกิดและโตที่พม่า เดินทางข้ามแดนเพื่อมาถูกขุนให้อ้วนที่กลางประเทศไทย (เช่น ที่แม่สอด ตาก สุโขทัย อยุธยา สระบุรี) เป็นเวลา 3 เดือน ด้วยคนไทย ม้ง กระเหรี่ยง พม่า จากนั้นก็เดินทางข้ามชาติ ผ่านไปทางอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งต่อที่ประเทศจีน บางส่วนถูกส่งออกไปทางมุกดาหาร ข้ามลาวทางสะวันนะเขต ไปภาคกลางของเวียดนาม บางส่วนถูกนำลงใต้ไปยังมาเลเซีย เพื่อนำไปฆ่าขายเนื้อ หรือไม่ก็เอาไปขุนต่อ

ตลาดวัวโพธิ์ทอง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

...นั่นไงหล่ะ เดินทางตัดขวางเหนือ-ใต้ ออก-ตก พาดผ่านแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถมเส้นทางการค้านี้เกิดก่อนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอีกซะด้วย

และก็...โดยบังเอิญอีกแล้วครัซท่านที่ travelling ethnographer นางนี้ไปเจอตลาดนัดวัวเมื่อสองสัปดาห์ก่อน (เพราะตั้งใจจะไปดูกีฬาวัวชนกับนิสิตที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องวัวชนแม่สอด ซึ่งสนามชนวัวกับตลาดวัวนั้นอยู่บริเวณเดียวกัน) เลยได้ไปนั่งๆ เดินๆ คุยกับพ่อค้าวัวที่มาจากพม่า พ่อค้าม้ง พ่อค้าไทย ที่เอาวัวมาซื้อ-ขาย ณ ตลาดแห่งนี้ ทำให้ผู้เขียนซึ่งไม่เคยมีความรู้และสนใจเรื่องการค้าขายวัว หรือแม้แต่กีฬาวัวชนมาก่อน ได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรใหม่ๆ  ในตลาดชายแดนแบบนี้มากมายหลายประเด็น แต่จะทะยอยเล่าตอนละประเด็น

ในตอนนี้ผู้เขียนจะบันทึกเรื่องราวการเดินทางค้าวัวจากพม่า ถึงคอกกักกันสัตว์ที่ชายแดนริมแม่น้ำเมย ฝั่งไทย ก่อนจะส่งไปขายยังตลาดนัดโค-กระบือที่โพธิ์ทอง อำเภอแม่สอด (อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลบางอย่างที่ “คันไม้คันมือ” อยากเขียน แต่ก็เขียนไม่ได้ เพราะถูกขอร้องว่าไม่ให้เขียนโดยพ่อค้าวัวชาวพม่า เพราะพวกเขากลัวเดือดร้อน)

วัวพม่าที่ค้าขายในตลาดแม่สอด ส่วนมากมาจากตอนเหนือของพม่า และบริเวณที่ราบลุ่มอิรวดี บริเวณรัฐมอญ รวมทั้งรัฐกระเหรี่ยง ซึ่งอยู่บริเวณภาคกลางของพม่า มีบ้างเหมือนกันที่มาจากชายแดนแถบประเทศบังคลาเทศ ถ้าวัวมาจากทางเหนือ วัวเหล่านี้จะถูกขนย้ายด้วยการเดินเท้า หลายทิวา-ราตรี หากมาจากที่ราบลุ่มอิรวดี วัวจะถูกขนมาทางเรือเพื่อมาขึ้นท่าที่พะอาน รัฐกระเหรี่ยง หรือมะละแหม่ง รัฐมอญ จากนั้นก็จะใช้เวลา 5 - 7 วัน-คืน เพื่อเดินทางมายังชายแดนแม่สอด พวกเขาเดินทางในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันนอนพัก (ด้วยเหตุผลที่บอกไม่ได้ เพราะรับปากพ่อค้าเอาไว้ว่าจะไม่เขียน)

ณ คอกกักกันสัตว์แห่งหนึง ริมแม่น้ำเมย ชายแดนแม่สอด-เมียวดี 

ผู้เขียนถามว่า เหตุใดวัวที่อยู่ทางเหนือของพม่า ไม่ถูกส่งไปขายที่ชายแดนท่าขี้เหล็ก-แม่สาย ซึ่งใกล้กว่า เขาบอกว่า เพราะว่าไม่มีการอนุญาตให้มีการค้าวัวข้ามแดนที่นั่น (อืมมม...เนอะ ประเทศ ก็ประเทศเดิม พม่า-ไทย แต่เปิดการค้าได้เฉพาะด่านนี้ )

การเดินทางต้อนฝูงวัวเพื่อมาขายบริเวณชายแดนเมียวดี-แม่สอดจะต้องใช้คนในการต้อน 1 คน ต่อวัว 2 ตัว ถ้านำมาขายครั้งละ 40 ตัว ต้องใช้คน 20 คน ค่าใช้จ่ายในการจ้างคนต่อวัว 1 คู่ จากเมืองพะอาน รัฐกระเหรี่ยง ใช้เวลา 5 วัน 5 คืน ประมาณ 1,500 บาท หากวัวเจ็บเท้า ไม่สามารถเดินได้ ต้องจ้างรถกระบะขับมาส่งชายแดนอีก นอกจากนี้ยังมีค่าอาหารวัว (ฟาง) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ที่บอกไม่ได้อีกแล้วครัซ)  เพื่อที่จะนำวัวมาให้ถึงชายแดนฝั่งไทย อีกถึงตัวละประมาณ 4,500 บาท เมื่อมาถึงคอกในชายแดนไทย พ่อค้าวัวจะต้องจ่ายค่าเช่าคอก 100 บาท/วัว 1 ตัว/สัปดาห์

วัวที่มาถึงชายแดนเมียวดี ไม่ได้ถูกนำข้ามมาตรงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ซึ่งเป็นช่องทางการค้าชายแดนปกติ (เพราะอะไร ก็บอกไม่ได้อีกแล้วครัซท่าน) แต่ลอดรัฐพม่าข้ามแม่น้ำเมยมายังท่าขึ้นวัวที่บ้านวังแก้ว ท่าทราย แม่สลิด วังตะเคียน แม่โกนเกน (และยังมีที่ข้ามมาทางอำเภออุ้มผางซึ่งอยู่ไกลจากแม่สอดไปประมาณ 130 กิโลเมตร ด้วยเส้นทางบนเขาอันทุลักทุเลอีกด้วย)

แม่น้ำเมย พรมแดนพม่า-ไทย จุดที่นำวัว-ควายข้ามมาที่คอกกักกันสัตว์

บริเวณท่าขึ้นวัวเหล่านี้มีคอกกักกันสัตว์ของเอกชนที่ให้วัวพม่าได้มาพักเพื่อรอการตรวจโรคและขึ้นทะเบียนจากปศุสัตว์อำเภอ ซึ่งหากไม่เป็นโรคอะไร ก็จะใช้เวลาประมาณ 7 วัน จากนั้นก็จะมีพ่อค้าคนกลางชาวพม่าที่อาศัยอยู่แม่สอดมารับซื้อวัว-ควายถึงคอกเหล่านี้ จากนั้นวัว-ควายเหล่านี้จะถูกส่งไปขายยังตลาดโพธิ์ทอง แม่สอด ซึ่งมีการซื้อขายกันทุกสุดสัปดาห์

พ่อค้าวัวเดินเท้าเหล่านี้ก็กินนอนอยู่ในคอกพร้อมกับวัวของตัวเอง เพื่อรอตรวจโรค และรอตลาดเปิดทุกวันศุกร์ (ดังภาพ)

บันทึกนี้ทำท่าจะจบลงตรงนี้ ถ้าไม่เพราะอยู่ดีดีพ่อค้าวัวชาวพม่าคนหนึ่งในตลาดโพธิ์ทองได้พูดโพล่งขึ้นมาระหว่างพาผู้เขียนเดินดูวัวว่าตอนนี้มันเป็นห่าอะไรไม่รู้ วัวทุกตัวถูกกักไว้ที่ชายแดน 21 วัน เลยแทบไม่มีวัวมาขายในนัดนี้เลย ตอนแรกผู้เขียนก็ตกใจ กับคำว่า เป็นห่าแต่ก็นึกว่าพ่อค้าพม่าคนนี้คงใช้ภาษาไทยไม่แข็งแรง แล้วไปจำคำว่าเป็นห่า มาใช้อย่างผิดๆ แต่ที่ไหนได้ คุยไปคุยมา ภาษาไทยแกแข็งแรงมาก เนื่องจากอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กๆ ก่อนจะกลับไปเป็นวัยรุ่นที่มะละแหม่ง แล้วมามาเป็นหนุ่มที่แม่สอดประมาณ 6 ปี

ปัญหา (เป็นห่า) หนักหนาเรื่องการค้าวัวข้ามแดนในเวลานี้ก็คือว่า ตั้งแต่หลังสงกรานต์ที่ผ่านมา วัวที่นำเข้าจากพม่าต้องถูกกักไว้ในคอกบริเวณชายแดน เป็นเวลา 21 วัน บางครั้งเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้ว ไม่สามารถนำออกไปซื้อขายในตลาดโพธิ์ทองได้ จากปกติที่เคยกักไว้ประมาณ  7 วันเพื่อตรวจโรคและขึ้นทะเบียน แล้วได้ “เบอร์หู” (ดังภาพ) จึงจะเคลื่อนย้ายสัตว์ได้

สัปดาห์ก่อนผู้เขียนถามพ่อค้าแม่ค้าวัวที่ตลาดโพธิ์ทอง และตามไปดูวัวที่ถูกกักไว้ที่คอกกักกันสัตว์ บริเวณท่าข้ามริมแม่น้ำเมยในสัปดาห์ถัดมา พวกเขาเดือดร้อนกับมาตรการนี้มาก แต่ไม่มีใครทราบว่าเหตุผลที่กักไว้เพราะอะไร จะว่าเป็นเพราะโรคระบาด พวกเขาก็บอกว่าไม่เห็นมีวี่แวว อีกทั้งวัวก็ได้เบอร์หูและตีตรากันไปแล้วเจ้าของรถเช่าบรรทุกวัวชาวพม่าคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าตามระเบียบของกรมปศุสัตว์แล้ว การจะกักได้ 21 วัน คือวัวต้องติดโรค คือมีอาการที่แสดงว่ามีโรค หรืออยู่ในฝูงที่มีโรค พวกเขาต่างรู้สึกว่าคงมีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐของไทยฝ่ายต่างๆ ที่ยังคุยเรื่อง จุด จุด จุด ไม่ลงตัว

หรือ...เรื่องนี้เป็นไปได้ว่าอาจจะมีโรคระบาดร้ายแรง (ซึ่งเป็นข่าววงการปศุสัตว์ ไม่พบในข่าวทั่วไป) ทางกรมปศุสัตว์เลยต้องป้องกันการระบาดของโรคไว้ก่อน ผู้เขียนค้นหาออนไลน์ในเวปของกรมฯ และข่าวต่างๆ  ไม่เจอข้อมูล แต่ก็ได้พบเฟสบุ๊คของ “คอกกักกันสัตว์ชายแดน บ้านวังแก้ว” (อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) ที่ระบุว่า “หลังจากติดเบอร์หูและตีตราแล้ว จะทำการกักโรค 21 วัน ถึงออกจากคอกกักสัตว์นี้ไปได้ เป็นระบบการกักกันโรคจากต่างประเทศเข้าสู่ไทย

นอกจากนี้ พ่อค้าวัวข้ามแดนยังบ่นเรื่องค่าเบอร์หู ว่าแพงมากมาย และพร้อมๆ กันกับการกักวัวไว้ 21 วันค่าธรรมเนียมเบอร์หูก็ขึ้นราคาอีก 100 บาท อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ เบอร์หูมีค่าใช้จ่าย 950 บาท/ตัว แต่เมื่อไม่นานมานี้ ราคา 1,200 บาท/ตัว และตอนนี้ขึ้นราคาเป็น 1,300 บาท/ตัว ผู้เขียนถามว่า พ่อค้ายอมจ่ายเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เขาบอกว่าบางคนไม่ยอมจ่าย บางคนยอมจ่าย แต่แม้ว่าจะยอมจ่าย วัว “ทุกตัว” ก็ยังต้องถูกกักไว้ 21 วันอยู่ดี ก็ไม่รู้จะจ่ายทำไม เพราะสุดท้ายพ่อค้าวัวก็มีแต่ "(เดือดร้อน) ตายกับตาย" มาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายต่อวัว 1 ตัว จากพะอาน/มะละแหม่ง มาจนถึงชายแดนไทยรวมแล้ว ประมาณ 6,000 บาทแล้ว

แล้วทำไม 21 วัน มันจึงเป็นปัญหาหนักหนา ผู้เขียนสงสัย จึงติดตามไปถามพ่อค้าวัวหลายคน ทั้งในตลาดโพธิ์ทอง และในคอกฯ ที่ชายแดน 2 แห่ง

จากการคุยกับพ่อค้าวัวข้ามแดนชาวพม่าหลายคน พบว่า การอยู่นานกว่า 7 วันทำให้เขามีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงวัวสูงมาก พ่อค้าคนหนึ่งบอกว่าเขามีวัวมา 48 ตัว ค่าใช้จ่ายในการให้วัวอยู่ท่าข้ามชายแดนไทย (เพื่อรอเข้าตลาดโพธิ์ทอง แม่สอด) ตกวันละหลายพันบาท ค่าใช้จ่ายที่สำคัญคือ ค่าอาหารวัว (ฟาง) ก้อนละ 65 บาท วัวหนึ่งตัวต้องใช้ฟางเลี้ยง 1 ก้อน/วัน 48 ตัว ก็ 3,120 บาท ไหนจะค่าอาหารพ่อค้าและผู้ติดตามอีก 1 คน ยิ่งอยู่นาน ยิ่งตาย เขาบอก ...มันก็น่าจะตายอยู่หรอก เพราะตอนนี้ค่าอาหารวัว 48 ตัวเพิ่มขึ้น 900 บาท/วันแล้ว รวมแล้วค่าใช้จ่ายในการเคลื่อน-รอย้ายตกตัวละ 6,900 บาท 

อาหารวัว ฟางอัด ก้อนละ 65 บาท

นอกจากนี้ การกักวัวอยู่นาน ยังกระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจการค้าวัว ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือ หนึ่ง กระทบเจ้าของวัวที่ภาคกลางพม่า และ/หรือพ่อค้าวัวที่เอาวัวมาจากภาคเหนือของพม่า บริเวณที่ราบลุ่มอิรวดี ซึ่งการซื้อ-ขายนี้ทำผ่านระบบ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” หรือบางคนใช้เงินมัดจำ (ขึ้นอยู่กับการต่อรองกัน) แต่ไม่มีใครจ่ายสด 100 % เนื่องจากพ่อค้าวัวพม่าต่างก็ไม่มีทุนรอน จากจุดนี้ จะเห็นได้ว่า ในสภาพที่ไม่มีทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมกลับทำหน้าที่ให้การค้าดำเนินไปได้

สอง ลูกจ้างที่ช่วยต้อนวัวจากพะอาน/มะละแหม่งมาถึงชายแดนไทย รวมทั้งเจ้าของรถเช่า (ในกรณีที่วัวเท้าเจ็บเดินไม่ได้) และสาม คือพ่อค้าวัวชาวพม่าที่แบกรับต้นทุนค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการรอเหนื่อย สี่ คือพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในแม่สอด ที่นำวัวจากคอกกักกันฯ ไปยังตลาดโพธิ์ทอง ห้า คือผู้ที่มาซื้อวัวเพื่อไปขุน หก คือพ่อค้าคนกลางที่นำวัวขุนไปขายต่อยังชายแดนจีน เวียดนาม มาเลเซีย และในไทย เจ็ด คือพ่อค้าชายแดน จีน เวียดนาม มาเลย์เซีย และผู้บริโภคในประเทศไทย

ที่ต้องกระทบกันหนักหนาคือ (1) เจ้าของวัวต้นทาง และ/หรือพ่อค้าวัวภาคเหนือ/ที่ราบลุ่มอิรวดีของพม่า (เป็นต้น) (2) คนจูงวัว/เจ้าของรถบรรทุกวัว (3) พ่อค้าข้ามแดน (4) พ่อค้าที่นำวัวจากคอกกักกันฯ ชายแดนไปยังตลาดโพธิ์ทอง เพราะต่างคนต่างรอเงินการขายวัวให้พ่อค้าคนที่ 4 ที่ตลาดโพธิ์ทอง ทั้งนี้ ก่อนจะถึงคนที่ 4 นั้น อย่างที่กล่าวไปแล้ว พ่อค้าคนที่ 1 - 3 ไม่ได้ลงทุนด้วยเงินสดหรือลงทุนเงินสดบางส่วน แต่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันว่า เมื่อคนที่ 3 ได้เงินจากคนที่ 4 แล้ว จะนำเงินนั้นมาจ่ายให้คนที่ 1 และ 2

พ่อค้าวัวข้ามแดนชาวพม่านั่งๆ นอนๆ รอให้ครบ 21 วัน ทั้งๆ ที่ขาดทุนไปแล้ว

จะเห็นได้ว่า ตลาดวัวข้ามแดนขนาดใหญ่อายุกว่า 30 ปีที่สร้างเม็ดเงินหลายร้อยล้านต่อเดือนแห่งนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาได้ไม่ใช่เพราะพ่อค้าฝั่งพม่าและแม่สอดแต่ละคนมีทุนทางเศรษฐกิจสูง มีระบบ/ข้อตกลงทางการค้าที่รัดกุม ไม่ใช่เพราะทั้งสองประเทศมีมาตรการสนับสนุนทางการค้าที่ดี และไม่ใช่การมีโครงสร้างการคมนาคมขนส่งที่ดี 

ทว่า...ท่ามกลางมาตรการควบคุม ปิดกั้นของรัฐ ตลาดค้าวัวชายแดนเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ก็เพราะคนเบี้ยน้อย หอยน้อยเหล่านี้ได้นำเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจไปฝังตรีง (embedded) ไว้กับความเชื่อไว้เนื้อเชื่อใจ และน้ำอดน้ำทนต่อการเดินทางข้ามแดนด้วยความยากลำบากในหลายต่อหลายทิวาราตรี แม้ถูกสะกัดดาวรุ่งจากผู้มีอำนาจตลอดเส้นทางการค้า

กลับไปที่คอกกักกันสัตว์ชายแดนอีกสักหน่อย ที่นั่นพ่อค้าพม่าถามผู้เขียนว่าเป็นนักข่าวหรือไม่ เมื่อผู้เขียนบอกว่าไม่ใช่นักข่าว แต่เป็นครู เขาดู “เงิบ” เล็กน้อย (คงนึกสงสัย...”แล้วแกมาเผือกอัลไลแถวนี้”) เขาถามต่อว่าเป็นครูแล้วไปบอกทางการไทยได้มั้ย ผู้เขียนบอกว่าได้สิ  เขาจึงฝากมาบอกว่า มีทางหรือไม่ที่ทางการไทยจะผ่อนปรนมาตรการนี้ คือใช้แบบเดิม คือ 7 วัน ส่วนสัตว์ใดป่วย หรือสงสัยว่าจะป่วย ก็กัก 21 วัน โดยไม่กักทั้งหมด ส่วนจะเอาค่าเบอร์หูเพิ่มอีก 100 บาท สิริรวม 1,300 บาท ก็ได้ แต่ขอให้ปล่อยสัตว์เขาเข้าตลาดทุกสัปดาห์

จากนั้น ผู้เขียนถามต่อไปว่า อ้าววว แล้วเจ้าของคอกฯ คนไทย ไปเจรจากับทางการไทยไม่ได้หรือ เขาบอกว่า ไปเจรจาแล้ว เขาไม่ยอม ผู้เขียนฟังแล้วก็สะอึก ดูเหมือนว่าผู้เขียนจะเป็นความหวังในการส่งเสียงของเขาไม่น้อยเหมือนกัน เขาจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า อะไรที่ผู้เขียนพูดได้ อะไรที่พูดไม่ได้

จะเห็นได้ว่าพ่อค้าวัวชาวพม่าแทบไม่สามารถส่งเสียงถึงทางการไทยถึงความเดือดร้อนของพวกเขาได้เลย สิ่งที่เขาทำคือการส่งสารถึงรัฐบาลชนกลุ่มน้อยกระเหรี่ยงคือ KNU (Karen National Union) ทาง KNU  ได้ควบคุมด่านการค้าชายแดนจุดนี้อยู่แล้ว ก็ออกมาตรการตอบโต้ทางการไทย หลังจากการประชุมกับพ่อค้าวัวชาวพม่า แล้ว KNU ได้ออกประกาศลงวันที่ 4 พฤษภาคม ศกนี้ มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ หนึ่ง การค้าปศุสัตว์ข้ามแดนในเวลานี้เผชิญกับความยุ่งยาก ปศุสัตว์เหล่านี้ ตอนนี้กำลังผอมเพราะไม่มีฟางเพียงพอ ไม่มีพื้นที่อยู่ เพราะต้องมารอเข้าตลาดค้าวัวถึง 3 สัปดาห์ สอง ตอนนี้มีโรคปาก-เท้าเปื่อย และเราก็กลัวว่าปศุสัตว์ของเราจะติดโรคนี้ สาม ผู้ค้าวัวจึงขอให้ปิดการค้าปศุสัตว์ข้ามแดนในการประชุมกันที่ด่าน Mae Tha Yay ฝั่งรัฐกระเหรี่ยง และ ข้อสี่ ดังนั้น ทาง KNU จึงขอปิดการค้าปศุสัตว์ข้ามพรมแดนที่ด่าน Khalel Day (Mae Tha Yay, Noe Boe), Htee Wah Ka Lae (Shwe Kok Ko, Thae Pon, Wom Sa Kin) ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2015 เป็นต้นไป โดยออกประกาศโดย KNU ที่เมืองพะอาน รัฐกระเหรี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้วัวจากในประเทศพม่าดินทางมาถึงเมียวดี (ชายแดนพม่า-แม่สอด) แล้วมาประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายจนขาดทุนย่อยยับเช่นนี้

ประกาศของ KNU ในการปิดการค้าปศุสัตว์ข้ามพรมแดน

เป็นอันว่านับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม นี้ คง (แทบ) จะไม่มีวัวพม่า มาให้พ่อค้าไทยไปขุน 3 เดือนแล้วส่งออกในนาม “วัวไทย” อีกต่อไป ส่วนผู้บริโภคไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ก็ตามระเบียบ...ซื้อเนื้อวัวแพงขึ้น ...นานเท่าไรก็ไม่รู้

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือว่า ทำไมพ่อค้าวัวชาวพม่าแทนที่จะร้องเรียนรัฐบาลแห่งชาติพม่า แต่กลับไปร้องเรียนกับ KNU เรื่องนี้ผู้เขียนก็เล่าไม่ได้อีกเช่นกัน  ได้แต่ทิ้ง "ปริศนาฟ้าแลบ" ให้เดาเอามันแล้วกัน

แต่ที่ไม่ต้องเดา เพราะเห็นจะจะคือ แม้ว่ารัฐบาลพม่าจะควบคุมด่านการค้าชายแดน ณ สะพานมิตรภาพไทย-พม่า และด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่ด่านพรมแดนชั่วคราวหลายจุดริมแม่น่าเมย (ไม่เฉพาะการค้าวัว-ควาย) กลับถูกควบคุมโดย KNU แสดงให้เห็นการทับซ้อนของอำนาจอธิปไตยในรัฐกระเหรี่ยง ประเทศพม่าแห่งนี้

และไม่เพียงเท่านี้...ใครว่าพื้นที่นี้มีคู่ชกแค่ "รัฐบาลพม่ากับ KNU" ก็แสดงว่าไม่รู้จักชายแดนเมียวดี-แม่สอด ซะแล้ว....อิอิ

ด่านชายแดนแม่สอด-รัฐกระเหรี่ยง

ตอนต่อไป ว่าด้วยชุมชนและชีวิตพ่อค้าวัวข้ามแดนชาวพม่ามุสลิมในฝั่งไทย

บันทึกการเดินทางเมื่อวันที่ 8, 16-17 พฤษภาคม 2558

อัพโหลดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

ไปเยี่ยมไผ่ ดาวดินในเรือนจำ...แล้วมันได้อะไรขึ้นมา (วะ)?

อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ

บันทึกภาคสนามในเวียดนาม 4/2559: ฟังเรื่องเล่า “ตือม้าฮายด่าว” วีรบุรุษไทเมืองเซีย ในศึกชิงดินแดนเวียด-ลาว ในศตวรรษที่ 14

ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เ

บันทึกภาคสนามในเวียดนามหน้า 2/2559: มื้อแรกในรอบ 2 ปีกับครอบครัวไทขาวที่มายโจว (เมืองมุน)

ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงปัจจุบ