Skip to main content

วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแดงแทงฮว๋าแก่ผู้เขียน เมื่อปีก่อน ในวันนั้นผู้เขียนสนทนาเรื่องที่ยังเป็นควันหลงของปีที่แล้ว คือเรื่องชื่อที่ถูกเรียกว่า “ไทแดง” ของผู้ไทแถบนี้ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร (เป็นไปได้หรือไม่ที่มาจากชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ชื่อเมืองแดง (อำเภอลานแจ๋ง จังหวัดแทงฮว๋า ในปัจจุบัน) เสื้อผ้าสีแดงที่ลูกสะใภ้แต่งในงานศพ หรือแม้แต่เป็นชื่อที่คนลาวเรียกคนไทบริเวณนี้เพราะใส่ซิ่นตีนแดง ซึ่งผู้เขียนคิดว่าจะเอามาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป)  

เมื่อสนทนาได้ที่แล้ว ผู้เขียนก็เลยลองชวนครูผู้เฒ่าวัย 70 กว่า ทั้งสองคนไปเที่ยวเมืองไท ที่ไปไกลจากบาเทื๊อก โดยให้ครูทั้งสองเลือกว่าจะไปเยี่ยมใคร ที่เมืองใด โดยผู้เขียนจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อดูว่าผู้เฒ่าทั้งสอง ผู้ซึ่งสนใจและค้นคว้าเรื่อง “ไทศึกษา คนไทในแทงฮว่า” มาเกือบตลอดชีวิตการทำงานจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คิดและต้องการจะรู้อะไร อีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนก็ต้องการไปรู้จักและเรียนรู้จากไทเมืองอื่นๆ และคนอื่นๆ ด้วย

ห่ากงโหม่วเลือกไปเมืองล้าด (Mường Lát) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนแทงฮว๋า-ลาว ไกลจากบาเทื๊อกกว่า 120 กิโลเมตร หนทางลำบากและต้องค้างคืน ส่วนห่านามนิง ต้องการไปอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) ไกลจากอำเภอบาเทื๊อกไปก็เกือบๆ 100 กิโลเมตรเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ตกลงไปเถื่องซวน เพราะห่านามนิง ไม่ใช่แค่ต้องการไปเยี่ยมคนรู้จัก แต่ต้องการไปเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัย “ไทเหยาะ” หรือ “ไทหยอ” (ไทเสาะ (Thaí Dọ) ในภาษาเวียดนาม) การวิจัยชิ้นนี้ ห่านามนิงได้รับทุนอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย ห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đực) จังหวัดแทงฮว๋า (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยห่งดึ๊กได้ทุนมาจากกลุ่มนักวิชาการ “ไทศึกษาเวียดนาม” ที่ได้รับทุนมาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกามาหรือไม่)

อะไรจะโชคดีขนาดนี้ เป็นโอกาสที่ผู้เขียนจะได้ตามห่านามนิงไปทำวิจัยวัฒนธรรมไทเหยาะ และเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้คือวิธีการทำวิจัยภาคสนามของห่านามนิง

ผู้เขียนได้เช่ารถไปพร้อมกับห่ากงโหม่ว ส่วนเจ้าของรถซึ่งเป็นคนขับนั้นเป็นเพื่อนกับห่ากงโหม่วซึ่งผู้เขียนคุ้นเคยเป็นอย่างดี จึงจะขอเรียกว่า “บ๊ากวิง” (ลุงวิง) เมื่อสมาชิกในรถเป็นกันเองแบบนี้ ห่านามนิง ตลอดการเดินทางเล่าประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญ เช่น เกิ่มบาเทื๊อก กษัตริย์เลเหล่ย และวัฒนธรรมผู้ไท ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พวกเราผ่านไปได้อย่างไม่รู้เบื่อ ด้วยความที่ผู้เขียนฟังภาษาเวียดนามปนไทแดง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง รวมทั้งง่วงนอนเป็นระยะๆ เนื่องจากออกเดินทางตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ จึงทำให้จับใจความได้ครึ่งๆ กลางๆ

เมื่อพวกเราไปถึงตำบลวานซวน (Vạn Xuân) อำเภอเถื่องซวน ห่านามนิงได้พาพวกเราไปที่บ้านของลูกศิษย์ผู้ซึ่งเคยเรียนภาษาไทแดงแทงฮว๋ากับเขา ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “แองเติน” เนื่องจากพ่อของเขาเป็นรองประธานคณะกรรมการประชาชนระดับอำเภอ ทุกคนเลยรู้สึกโล่งใจที่ไม่ต้องพาผู้เขียนซึ่งเป็นชาวต่างชาติไปรายงานตัวกับตำรวจอำเภอฯ

ในขณะที่ห่านามนิงมาซึ่งบ้านหลังนี้เพื่อเก็บข้อมูลเรื่อง “ไทเหยาะ” แต่ “แองเติน” วัย 30 ต้นๆ ลูกศิษย์ห่านามนิง ซึ่งเป็นทั้งหลานชายของบ้านและเป็นครูโรงเรียนมัธยมของอำเภอ ที่เพิ่งเข้ามาถึงหลังจากการมาของพวกเราสักครู่ ได้ยิ้มทักทาย จับมือ และกล่าวแก่ผู้เขียนว่า ปู่ เอ๋ยา พ่อ แม่และตัวเขาเองเป็น “ไทด่อน” (ไทขาว) ส่วนญาติเขา (อาสะใภ้) ที่ยืนอยู่ข้างๆ นี้ เป็นไทดำ (อ้าววว...งง แล้วมั้ยหล่ะ! เจ้าของบ้านกลับแนะนำตัวว่าเป็นไทขาว ไทดำ ไม่ใช่ไทเหยอะ)

ต่อมา ในช่วงเดินทางกลับบาเทื๊อก ผู้เขียนถามห่านามนิงว่า ทำไมแองเตินถึงกล่าวว่าพวกเขาเป็นไทขาว แต่ห่านามนิงก็ยืนยันว่าพวกเขาเป็นไทเหยาะ ที่มีความแตกต่างจากไทขาวและไทดำที่อยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ห่านามนิงคิดเช่นนั้น ผู้เขียนมาถามต่อ เขาตอบว่า เพราะไทเหยาะมีรากมาจากไทดำ ห่านามนิงวิเคราะห์จากผ้าซิ่นนั้นสีดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานศพ ที่ไทเหยอะแต่งดำ และการมี “คันเปียว” (ผ้าโพกผม) ซึ่งเป็นลักษณะของไทดำ (ดังภาพ)

ภาพ1 การแต่งกายผู้หญิงไทเหยอะ ตำบลวานซวน อำเภอเถื่องซวน จังหวัดแทงฮว๋า

เขากล่าวต่อว่า ไทเหยาะ คือไทดำที่มาจากเมืองไล (จังหวัดลายโจว ในปัจจุบัน) ที่อพยพมาอยู่ที่นี่ แต่การอพยพนั้นไม่ได้มุ่งหน้าตรงมาจากลายโจวเพื่อมาที่นี่ ทว่าพวกเขาวกขวาไปยังเมืองพงสาลี หลวงน้ำทา ห้วยไซ ของลาว (ตามลำดับ) ก่อน บางกลุ่มเดินทางจากห้วยไซไปยังเชียงขวาง และอพยพลงมาที่จังหวัดแหงะอาน (ในเวียดนาม) ซึ่งห่านามนิงสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มไทเมือย ส่วนกลุ่มไทเหยาะที่อยู่เถื่องซวนนี้ไม่ได้ไปที่เชียงขวาง แต่มุ่งมาที่เถื่องซวน

นอกจากนี้ ห่านามนิงยังกล่าวว่าไทเหยอะยังผสมผสานทางวัฒนธรรมกับคนลาว คนเหมื่อง (Mường) คนกิง (Kinh) (เวียด) และคนไทในแทงฮว๋าตลอดระยะเวลาของการอาศัยอยู่ที่เถื่องซวน โดยเฉพาะภาษาที่มีการผสมผสานทั้งคำและสำเนียง

ในคำนำของหนังสือเรื่อง “ความส้อนโกน ความขับฟู่ไตแทงฮว๋า” (ความสอนคน ความขับผู้ไทแทงฮว๋า) ที่เขียนโดยห่านามนิง เมื่อปี ค.ศ. 2013 ก็เป็นการยืนยันสิ่งที่เขาอธิบายว่า ไทเหยาะเป็นไทดำที่อพยพลงมาจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือเมื่อประมาณ 300 กว่าปีก่อน ผู้เขียนถามห่านามนิงว่า ใครเป็นคนเรียกพวกเขาว่าไทเหยาะ ห่านามนิงตอบว่าเป็นชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งอาจจะเป็นคนไทเมือยเรียก ส่วนชื่อไทเมือยก็เป็นชื่อที่คนไทเหยอะเรียก

ว่าแล้วห่านามนิงก็เลียนแบบคำพูดของไทเหยาะให้ผู้เขียนฟังว่า “สูหล่าไตเมือย” (มึงคือไทเมีอย) ส่วนไทเมือย ก็เรียกคนไทดำอีกกลุ่มว่า “สูหล่าไตหยอ” (มึงคือไทเหยาะ) บางครั้ง ไทเหยาะก็กล่าวแก่ไทเมือยว่า “ตูไตด่อน สูหล่าไตดำ” (กูเป็นไทขาว มึงเป็นไทดำ) ห่านามนิงกล่าวแก่ผู้เขียนว่าไทเมือยยอมรับซื่อ “ไทเมือย” แต่ไทเหยาะไม่ยอมรับชื่อ “ไทเหยาะ” แต่ทั้งคู่ คือไทเมือยและไทเหยาะ รวมทั้งห่านามนิงต่างก็ไม่รู้ความหมายของชื่อ ว่าจริงๆ แล้วหมายถึงอะไร

“เถ่ยซาว” อาจารย์มหาวิทยาลัยห่งดึ๊กซึ่งผู้เขียนได้รู้จักในเวลาต่อมากล่าวแก่ผู้เขียนว่า มีคนตั้งข้อสงสัยเหมือนกันว่า “ไทเมือย” อาจจะเป็นกลุ่มไทดำที่มาจาก “เมืองหม้วย” จึงถูกเรียกว่า “ไทหม้วย” ด้วยสำเนียงท้องถิ่นว่า “ไทเมือย”

ตัดกลับมาที่บ้านของแองเติน อีกครั้งหนึ่ง ห่านามนิงเริ่มต้นเก็บข้อมูลวิจัยด้วยการถามเรื่องการแต่งกายและผ้าโบราณของไทเหยาะ เขาทั้งถ่ายรูปและจดบันทึกชื่อของลวดลายผ้า เพื่อเอาไปวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับของคนไทกลุ่มอื่นๆ โดย “เอ๋ยา” (ย่า) เจ้าของผ้า และผู้เขียนช่วยกางผ้า ดังภาพ

ภาพ 2 ห่านามนิงกำลังถ่ายรูปและบันทึกลายผ้าไทเหยอะ

 

ภาพ 3 ผู้เขียนและเอ๋ยาเจ้าของผ้าช่วยกางผ้าให้ห่านามนิงถ่ายรูปและจดบันทึก

ต่อมาเขาถามถึงพิธีการจัดงานศพ นอกจากผ้าและงานศพแล้ว ห่านามนิงยังต้องการวิเคราะห์เปรียบเทียบคำศัพท์และสำเนียงการพูดของผู้ไทกลุ่มต่างๆ ด้วย เขามีแบบฟอร์มมาถามว่าคำแต่ละคำเหล่านี้ ไทเหยาะ ที่วานซวน ออกเสียงเช่นไร ในแบบฟอร์มนั้นมีคำทั้งหมด 110 คำ เขาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ไทในจังหวัดแทงฮว๋า 4 กลุ่ม คือ ไทแดง ไทเหยาะ ไทดำ ไทขาว ดังภาพ

ภาพ 4 แบบฟอร์มเปรียบเทียบคำและสำเนียงของไท 4 กลุ่มในจังหวัดแทงฮว๋า

เป็นที่น่าสังเกตว่า จากแบบฟอร์มเทียบคำและเสียงในภาษาเรียกของไททั้ง 4 กลุ่ม แม้ทุกกลุ่มจะอยู่ที่จังหวัดแทงฮว๋า ห่านามนิงก็ไม่ได้เรียกทุกกลุ่มว่า “ไทแดง”

และเขายังขอดูและอ่านเอกสารโบราณของไทเหยาะอีกด้วย

ภาพ 5 ห่านามนิงและห่ากงโหม่วกำลังอ่านเอกสารโบราณไทเหยอะกับปู่เจ้าของบ้าน

อย่างไรก็ดี หลังจากเก็บข้อมูลลายผ้าเสร็จแล้ว ห่านามนิงได้ไปนั่งคุยกับปู่และพ่อของบ้านถึงพิธีกรรมหลายๆ อย่าง ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีโอกาสไปนั่งฟังมากนัก เพราะยังคงสาละวนกับการคุยกับเอ๋ยา แม่ และลูกชายของบ้าน รวมทั้งกำลังหลงไหลกับผ้าซิ่นฝีมือการทอของเอ๋ยา ว่าแล้วผู้วิจัยก็ขอซื้อผ้าซิ่นและผ้าโพกหัวไปหลายผืน แต่เอ๋ยาแกไม่ยอมขาย แกยกให้ 1 ชุด คือ ผ้าซิ่น ผ้าซับใน และผ้าโพกหัว ทำเอาสะใภ้อีกคนของแก ซึ่งภายหลังมานั่งร่วมวงกินข้าว สะกิดผู้เขียนแล้วพูดด้วยน้ำเสียงน้อยใจว่า เป็นสะใภ้เอ๋ยามาหลายสิบปี เอ๋ยาไม่เคยให้ผ้าซิ่นสวยๆ แบบนี้เลย นี่ผู้เขียนเพิ่งมาแท้ๆ ทำไมได้ผ้าซิ่น เอ๋ยาก็หันมามองตาปริบๆ สักพัก สะใภ้ก็พูดต่อ อีก 2-3 รอบ ด้วยอาการน้อยใจ

ตัดกลับไปที่การวิจัยของห่านามนิง ผู้เขียนถามห่านามนิงว่า เมื่อได้ข้อมูลความแตกต่างระหว่างไทเหยอะ ไทแดง ไทดำ (ไทเมือย) และไทขาวแล้ว จะเอาไปทำอะไร (นัยคือต้องการทราบว่าแกจะเอาไปวิเคราะห์อะไร) ห่านามนิงตอบว่า เพื่อวิเคราะห์ว่ามันมีวัฒนธรรมอะไรที่เหมือนและ/หรือแตกต่างกัน ในแง่ของ “วันฮว๋า เหวิ่ดเถ่” (văn hoá vật thể, วัฒนธรรมเชิงวัตถุ) และเพื่อเป้าหมายลึกๆ คือการหาสิ่งที่มี “ร่วมกัน”

ห่านามนิงคิดว่า ชุมชนไทที่แทงฮว๋า (และจังหวัดแหงะอาน ซึ่งอยู่ติดกันทางใต้ลงไป) นั้นมีความเข้มแข็งและมีความเป็นปึกแผ่นท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่ไม่ได้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากไทที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เพราะไทที่นั่นพยายามแบ่งแยกตัวเองเป็นไทดำและไทขาว แต่ผู้ไทที่แทงฮว๋าและแหงะอาน โดยภาพรวมไม่สนใจที่จะแบ่งแยกตัวเองอย่างเป็นระบบ แม้แต่การแบ่งแยกตัวเองออกจากคนเหมื่อง (Mường) ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจนัก และนี่คือสิ่งที่ห่านามนิงพยายามบอกแก่ผู้เขียน

มันเป็นการเมืองของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่เรื่องของสารัตถะนิยม (essentialism) ที่ใช้ลักษณะทางวัฒนธรรมมาแบ่ง ชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นหน่วยทางสังคม แกยังพูดต่อว่า เดิมนั้น คนไม่ได้แบ่งแยกอย่างเป็นระบบว่าแต่ละคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนโดยเจ้าอาณานิคม

อย่างไรก็ดี การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วิทยาของห่านานามนิง แม้ดูผิวเผินจากเอกสารที่ใช้ในการเก็บข้อมูลแล้วเป็นการมุ่งศึกษาแค่ลักษณะทางวัฒนธรรม (cultural features) ของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยของผู้ไท ภายใต้กรอบแนวคิดทางการเมืองของชาตินิยมของการพยายามหาแก่นสารทางวัฒนธรรมและความ “ร่วมกัน” เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และแม้ดูเหมือนว่าจะเป็นการแช่แข็งทางวัฒนธรรมไว้กับสารัตถะทางชาติพันธุ์ดั้งเดิม แต่ถ้าดูจากงานเขียนและการสนทนากับเขา (ดังที่กล่าวไปข้างต้น) ห่านามนิงสนใจเรื่องการผสมผสานทางวัฒนธรรม การข้ามพรมแดนและการหยิบยืมทางวัฒนธรรมของผู้คนกลุ่มต่างๆ

เขาเคยถามผู้เขียนว่าทำไมถึงสนใจศึกษาคนไทในแทงฮว๋า ทั้งๆ ที่คนไทที่นี่ไม่ได้เป็นชนกลุ่มใหญ่ของจังหวัด มาแต่ไหนแต่ไร ไม่มีวัฒนธรรมที่เป็นของดั้งเดิมเหมือนคนไทดำและไทขาวในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เขาบอกว่ามาทำวิจัยที่นี่อาจจะผิดหวังที่ไม่ได้เห็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นของคนไทที่นี่

เขายังพูดอยู่บ่อยๆ ว่า วัฒนธรรมไทที่นี่ผสมผสานกับของกิง (เวียด) และเหมื่องมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็น่าสนใจที่ยังมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากอัตลักษณ์ที่อยู่บนการแบ่งแยกพรมแดนทางชาติพันธุ์ เช่นของผู้ไทดำและไทขาวในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ สำหรับผู้เขียนแล้ว สิ่งนี้อาจตีความในเบื้องต้นว่า อัตลักษณ์ของผู้ไทที่นี่อาจจะเป็นอัตลักษณ์เชิงซ้อน (multiple identity) ที่มีลักษณะลูกผสมทางวัฒนธรรม (cultural hybridity) อย่างมาก

ตัดกลับไปที่บ้านแองเตินอีกครั้ง เมื่อห่านามนิงเก็บข้อมูลเสร็จแล้ว ทางบ้านของแองเตินได้เชิญพวกเราทานอาหารกลางวันและดื่มเหล้าฉลองร่วมกัน หลังจากนั้น พวกเราก็ร่วมกันเชียร์ฟุตบอลซีเกมส์ เวียดนาม-เมียนม่าร์ ตั้งแต่ต้นจนจบ

ภาพ 6 บรรยาการการร่ำสุราและทานอาหารเที่ยงร่วมกัน

บรรยากาศในการทำวิจัยของนักวิชาการท้องถิ่นเวียดนามในครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทความของนักวิจัยชาวตะวันตก 3 คน ที่เคยทำวิจัยเชิงมานุษยวิทยาทีเวียดนาม[1] พวกเขากล่าวถึงการวิจัยที่เวียดนามว่าได้ถูกทำให้เป็นสินค้า (commodification of research) เพราะในการทำวิจัยร่วมชาวต่างชาติที่เวียดนามนั้น ทั้งนักวิชาการและชาวบ้านเวียดนามมักมองเป็นค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินก่อนอื่นใด เช่น การไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น นักวิจัย หรือแม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยคนนั้นจะต้องจ่ายค่าเสียเวลาเพื่อให้ได้รับบริการ นักวิจัยต่างชาติ 3 คนนั้นจึงเห็นว่า บุคคลที่กล่าวข้างต้น มักจะพิจารณาว่าค่าตอบแทนที่นักวิจัยชาวต่างชาติให้เขานั้นคุ้มค่ากับเวลาและคำแนะนำแหล่งข้อมูลให้ไปค้นคว้าหรือไม่

ภาพ 7 บรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลเวียดนาม-เมียนมาร์

จริงๆ แล้ว เรื่องจ่ายค่าตอบแทนผู้เขียนก็เคย “โดน” มากับตัวเหมือนกัน แต่ก็ครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ ว่ามันถูกอธิบายง่ายๆ ด้วยแนวคิด “การแปลงการวิจัยให้เป็นสินค้า” กระนั้นหรือ จนครั้งนี้ วันที่ผู้เขียนตามห่านามนิงไปทำวิจัยไทเหยอะที่วานซวน ทำให้เรียนรู้ว่า งานวิจัยที่นักวิชาการท้องถิ่นทำ มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้จักและจากเพื่อนบ้าน ที่ “ไม่ถูกทำให้แปลกแยก” ไปจากความสัมพันธ์ทางสังคมเลย เว้นแต่นักวิจัยจะเห็นการวิจัยเป็นอย่างอื่น เป็น “สิ่ง” ที่แปลกแยกไปจากตัวเขาและเพื่อนของเขา (คนที่เขาไปศึกษา)

จะเห็นได้ว่าปู่และเอ๋ยา  แม้เพิ่งพบห่านามนิง ห่ากงโหม่ว บ๊ากวิง และผู้เขียนเป็นครั้งแรก แต่เขาก็นั่งพูดคุยเพื่อให้ข้อมูลการวิจัยด้วยความเป็นเพื่อน แถมยังเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้ง ให้ผ้าซิ่น ผ้าซับใน และผ้าโพกหัวแก่ผู้เขียนมาอีก และถ้าหากห่านามนิงและทีมงานเห็นการวิจัยเป็นสิ่งที่แปลกแยกไปจากความสัมพันธ์ทางสังคมของพวกเขาแล้ว พวกเราก็คงไม่เสียเวลานั่งก้งเหล้า กินข้าว และเชียร์ฟุตบอลเวียดนาม-เมียนม่าร์ อย่างสนุกสนานกับครอบครัวแองเติน เป็นแน่แท้

มันเป็นงานวิจัยแบบท้องถิ่น แบบบ้านๆ ที่ถูกฝังตรึง (embedded) ไว้กับความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่น และนี่คือสิ่งที่จะทำให้งานวิจัยไม่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า ทั้งต่อตัวนักวิจัยและต่อตัวผู้ให้ข้อมูล  

ว่าแล้ว...ก่อนกลับ ผู้เขียนได้เข้าไปขอบคุณและลาปู่และเอ๋ยา ทันใดนั้นปู่คว้ามือของผู้เขียนมาจับแล้วแนบแก้ม และกล่าวว่า “มาเยี่ยมมายามปู่อีกเน้อ” ...ดราม่าไปมั้ย...ถ้าจะบอกว่าฉากนี้มันเหมือนในหนัง เรื่อง “กลับบ้านเกิด” ตอนที่หลานสาวผู้เป็นที่รักจากไปอยู่เมืองนอกเสียนานหลายปี เพิ่งได้กลับไปเยี่ยมปู่กะเอ๋ยาที่วานซวน...

ภาพ 8 ปู่เอามือผู้เขียนไปแนบแก้ม

โปรดติดตามต่อตอนที่ 2 ...เมื่ออีก 4 วันต่อมา ผู้วิจัยตามห่านามนิงไปทำวิจัยที่ตำบลอื่นในอำเภอเถื่องซวนอีกครั้ง คราวนี้ใช้เวลาการวิจัย 3 วัน 2 คืน พร้อมกับข้าม 2 ห้วย เดินลุยเข้าไปในป่าช้าเพื่อไปอ่านคำจารึกบนหลุมฝังศพ

บันทึกการเดินทางเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2558

อัพโหลดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558



[1] Scott, Steffanie, Flona Miller, and Kate Lloyd. 2006. "Doing Fieldwork in Development Geography: Research Culture and Research Spaces in Vietnam." Geographical Research 44:28-40.

 

 

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด