พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปิดประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การทะยอยสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย การเปิดเสรีด้านแรงงานและเศรษฐกิจอาเซียน การลงทุนเมกาโปรเจคที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย (ที่เขาว่าขนาดของอุตสาหกรรมน่าจะใหญ่กว่ามาบตาพุด 10 – 15 เท่า) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และอื่นๆ แรงงานชาวพม่าที่มหาชัย สมุทรสาครหลายคนที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทวายและมอญ ที่ผู้เขียนรู้จัก ได้มองเห็นโอกาสและช่องทางเลือกในการกลับไปทำงานบ้านเกิด (รวมทั้งการอยู่เมืองไทยต่อชนิดไม่ใช่แค่ “อยู่รอด” แต่ต้อง “อยู่ดี” – เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีอำนาจต่อรอง และไม่ถูกกดขี่ กดค่าแรง) ...ทิ้งความทรงจำและสภาพอันขมขื่นของการทำงาน 3Ds (dirty, dangerous, difficult/disregarding) ที่คนไทยไม่ทำ ค่าแรงที่ต่ำ การรีดไถจากตำรวจ (แม้จะอยู่อย่างถูกกฎหมาย) การที่ผู้หญิงเขาถูกข่มขืน และการถูกดูถูกดูแคลนจากสังคมไทยไว้เบื้องหลัง (แม้ว่าบางคนบอกว่า ทวายเจริญเมื่อไร ถ้าแรงงานไทยมาทำงาน จะให้บทเรียนแบบเดียวกับที่คนไทยทำไว้กับพวกเขาที่มหาชัย)
แรงงานพม่าที่มหาชัยมีประมาณ 300,000 คน จากทั้งหมดในประเทศไทย ที่มีถึง 3 ล้านคน โดยการประมาณการของเอ็นจีโอชาวพม่า ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมห้องเย็น-อาหารแช่แข็ง
จากการประมาณการของเอ็นจีโอชาวพม่าที่มหาชัย เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานพวกเขามีประมาณ 18,000 คน ทั้งหมดนี้ประมาณ 2,000 คนได้เรียนหนังสือระดับประถม ในโรงเรียนที่สอนกันเองเป็นภาษาพม่า (ซึ่งไม่ได้รับรองหลักสูตรทั้งจากรัฐบาลไทยและพม่า) 15 แห่ง บางแห่งจัดที่วัด บางแห่งเป็นของเอ็นจีโอ บางแห่งอยู่ในห้องแคบๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมแล้วมีเด็กประมาณ 2,000 คน ในนี้ ประมาณ 600 - 700 คน เข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาไทย เพราะพ่อ-แม่ต้องการให้ลูกของพวกเขาอ่านและเขียนภาษาไทยได้ เพื่อจะได้มีอำนาจในการต่อรองกับสังคมไทย โรงเรียนที่เด็กๆ เข้าเรียนเป็นภาษาไทยมีด้วยกัน 7 แห่ง ส่วนใหญ่ โรงเรียนเหล่านั้นจัดการเรียนการสอนโดยเอ็นจีโอไทย มีนักเรียนน้อยมากที่เข้าเรียนโรงเรียนของรัฐบาลไทย
แล้วเหลืออีก 16,000 คนที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนนั้น ทำอะไร อยู่ที่ไหน ...บางคนไม่มีอะไรทำก็เร่ร่อนอยู่ข้างถนน บางคนก็ช่วยพ่อแม่ทำงานเก็บกุ้งตัวเล็กๆ ที่เขาทิ้งแล้วไปขาย เด็กส่วนมากจะออกเรือประมง มีส่วนน้อยที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะว่าไม่มีพาสปอร์ตสำหรับแรงงาน ถือว่าผิดกฎหมายและต้องถูกจับ คนที่ทำงานได้ ต้องปิดบังสถานะและโกหกอายุตัวว่าเป็นวัยผู้ใหญ่
โรงเรียน ในที่นี้จึงน่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าเรามองเด็กๆ เหล่านั้น “เป็นอะไรในชาติเรา” เพราะโรงเรียนคือเครื่องมือที่สำคัญของการสร้างรัฐสมัยใหม่ ในฐานะสถาบันที่จะผลิตพลเมืองและแรงงานของชาติ แต่ระบบการศึกษาไทยกลับไม่ได้ตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง เอาเข้าจริงๆ แล้วกลับเพิกเฉยต่อปัญหาด้านการศึกษาและสิทธิของเด็ก เช่นนี้แล้วจะหวังความรักและทุ่มเทจากแรงงานพม่าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคงเป็นไปไม่ได้ (รวมทั้งหวังว่าอุตสาหกรรมของเราจะพัฒนาเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมที่ไปให้พ้นความบาปของการกดขี่แรงงาน และการกดค่าแรง คงยาก)
บนความรู้สึกไม่เป็นมิตรเช่นนี้ กลับพม่าได้ก็ต้องกลับ... หากยังอยู่เมืองไทยต่อ ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคน และการอยู่ดีกินดีด้วย
ในฤดูหนาวที่ไม่หนาวในปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พานิสิตปริญญาตรี 45 ที่เรียนวิชาคนชายขอบกับการพัฒนาไปลงพื้นที่กิน-อยู่-หลับ-นอน กับแรงงานพม่าที่ห้องพักแคบๆ ของพวกเขาที่มหาชัยเป็นเวลา 2 คืน ตอนกลางวันพวกเราและไปคุยกันกับพี่ๆ ลุงๆ ชาวพม่าที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ทำบุญของพวกเขา เนื่องจากแรงงานพม่าที่นี่มาทำบุญและบริจาคให้กับวัดนี้เป็นจำนวนมากในทุกๆวันสำคัญทางพุทธศาสนา วัดนี้ จึงมีอีกพื้นที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ที่แรงงานพม่ามักมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุญๆ (นอกเหนือไปจากพื้นที่ที่คนไทยมาทำบุญแล้ว) และที่วัดแห่งนี้ก็มีพระพม่าแวะเวียนมาจำวัดอยู่เสมอ มิได้ขาด
ขึ้นไปชั้นสองของศาลาการเปรียญ ที่กว้างประมาณ 6 และยาวประมาณ 12 เมตร ศาลาการเปรียญ ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นห้องเรียนสำหรับลูกหลานแรงงานพม่า ซึ่งมีประมาณ 140 คน มีครูซึ่งเป็นชาวพม่าด้วยกัน 4 คน แบ่งการเรียนออกเป็น 5 ชั้นเรียน คือ ป.1 – 5 อีก สภาพห้องเรียนคือไม่มีอะไรกั้นปิด แต่มีกระดานไวท์บอร์ดแสดงอาณาเขตของแต่ละชั้น ซึ่งเสียงของการเรียนการสอนก็จะรบกวนกัน เพื่อนชาวพม่าของผู้เขียนบอกว่านี่เป็นห้องเรียนที่นี่ดีที่สุดแล้วในบรรดาโรงเรียนที่สอนแรงงานพม่าทั้งหมดที่มีอยู่เพราะได้รับการสนับสนุนจากสถานฑูตพม่า (นอกเหนือจากเงินบริจาคจากแรงงานพม่าที่ให้แก่วัด และค่าลงทะเบียนเรียน จ่ายครั้งแรก ครั้งเดียว เรียนตลอดปี คนละ 500 บาท)
ทำไมไม่เรียนโรงเรียนไทยในระบบ ทั้งๆ ที่ลูกหลานแรงงานที่นี่ก็มีสิทธิเรียน
พวกเขาบอกว่า เพราะโรงเรียนสอนเป็นภาษาไทย หลักสูตรไทย เหมาะกันคนไทย ในฐานะคนพม่า เด็กๆ เหล่านี้ต้องพูด-อ่าน-เขียน ภาษาพม่าได้ และเมื่อสังคมไทยไม่เคยมองเห็นพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย วันหนึ่ง พวกเขาก็ต้องกลับไป แต่เมื่อกลับไปแล้วกลับอ่าน-เขียนภาษาพม่าไม่ได้ ไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ซ้ำร้ายคือไม่สามารถเรียนต่อในระดับสูงได้ ทำให้พวกเขาทำอะไรไม่ได้ที่พม่า (ส่วนนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนไทยส่วนใหญ่คือคนที่ไม่สามารถกลับพม่าได้เพราะพ่อและแม่เขาไม่มีบัตรประชาชนพม่า อีกเหตุผลหนึ่งคือพวกได้รับการสนับสนุนเสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ จากโรงเรียน) นั่นแปลว่าเด็กที่ได้เข้ารับการศึกษา 2 ใน 3 ถูกเตรียมให้กลับไปพม่า
โรงเรียนที่วัดแห่งนี้ใช้หลักสูตรและโครงสร้างการศึกษาของพม่าเป็นพื้นฐาน สอนเป็นภาษาพม่า ก่อนเข้าห้องเรียนเด็กๆ ต้องร้องเพลงชาติทั้งพม่าและไทย แต่สวดมนต์เป็นภาษาบาลีสำเนียงพม่า นั่งสมาธิก่อนเริ่มเรียน วิชาที่พวกเขาเรียนล้วนแล้วแต่เป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กๆ ประถมในประเทศไทยก็เรียน เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ทักษะชีวิต วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และทุกวันศุกร์ ต้องเรียนวิชาพุทธศาสนากับพระชาวพม่า (แม้ที่เสาและผนัง เต็มไปด้วยโปสเตอร์การสอนพยัญชนะ ตัวเลข ฯลฯ ภาษาไทย ก็เป็นแค่การปรับปรนกับสังคมไทยในระดับภาพลักษณ์)
แม้จะได้เรียนระดับประถม แต่ปัญหาที่สำคัญด้านการศึกษาของลูกหลานคือพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาในระบบไม่ว่าจะที่ไทย หรือที่พม่า นั่นหมายถึงว่าเขาต้องกลับเข้าไปเป็นแรงงานเด็กในอุตสาหกรรม
เพื่อนพม่าของผู้เขียนถามเด็กๆ ถึงอนาคตของพวกเขาว่าหลังจากเรียนจบแล้วเขาจะทำอะไรต่อ ร้อยทั้งร้อยบอกว่าจะไปทำงานในโรงงานบ้าง ในเรือประมงบ้าง ฟังแล้วอึ้งกิมกี่ เพราะเขาจินตนาการอนาคตเขาได้แค่นี้จริงๆ นั่นแปลว่า นอกจากในแง่ปัจเจก ที่แรงงานเหล่านี้จะต้องกลายเป็นแรงงานระดับล่างเผชิญความทุกข์ยากจากการกดขี่แรงงาน ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านค่าแรง-สวัสดิการ เพราะไร้อำนาจต่อรอง (หรือเราเห็นดีเห็นงามไปกับสภาพแบบนี้) ในแง่อุตสาหกรรมไทย เอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่ต้องการผู้มีทักษะฝีมือแรงงาน เนื่องเพราะเราไม่เคยมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่นอกเหนือจากการผลิตบนการใช้ทักษะฝีมือแรงงานขั้นต่ำ แข่งขันและหาข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจบนค่าแรงราคาถูก ...แทนที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานบนฐานการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เราจึงไม่สนใจที่จะลงทุนทั้งด้านคุณภาพชีวิตและการศึกษากับแรงงานที่ช่วยเป็นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของเราเลย
ถ้ามองการศึกษาในฐานะกลไกของการปลูกสร้างอุดมการณ์และจิตสำนึกทางสังคม หากลูกหลานแรงงานพม่าได้เรียนในระบบของไทย ที่สอนทั้งภาษาพม่าและภาษาไทย ทั้งวัฒนธรรมไทย และพม่า เด็กๆ เหล่านั้นเมื่อเติบโตขึ้นก็จะชื่นชมในสังคมและวัฒนธรรมไทยมากกว่าที่จะมองไทยเป็นพื้นที่ที่เขาได้รับความขมขื่น กับการถูกกระทำจากนายจ้างไทย ตำรวจไทย และการดูถูกของคนไทยโดยภาพรวม ในขณะที่แรงงานชาติอื่นๆ เช่น ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ กลับไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างดูแคลนและเหยียดหยามเช่นนี้ทั้งๆ ที่ก็เป็นต่างชาติเหมือนกัน นั่นก็เป็นเพราะอคติทางชาติพันธุ์และเป็นภาคปฏิบัติของวาทกรรม “พม่า”
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ไทยไม่มีนโยบายเชิงรุกด้านการศึกษากับลูกหลานแรงงานต่างด้าว เอ็นจีโอด้านการศึกษาของแรงงานพม่ากำลังแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างขมักเขม้น พวกเขาทำการฝึกอบรมแรงงานแหล่านั้นให้มีทักษะฝีมือในระดับสูงมากขึ้นเพื่อเลื่อนระดับฝีมือแรงงานอันเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง
จากการประชุมและพูดคุยกับพวกเขา ในอนาคตอันใกล้ พวกเขามองและมุ่งไปยังการเปิดเสรีอาเซียนที่แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี (แม้ว่าการเปิดเสรีอาชีพในปี 2558 จะเปิดเสรีบางอาชีพเท่านั้น แต่แนวโน้มเป็นเรื่องของการเปิดกว้างมากขึ้น) และปัญหาการรีดไถจากนายหน้าด้านแรงงานและตำรวจจะเบาบางลงไปมาก ขณะเดียวกันทักษะด้านภาษาอังกฤษและการยกระดับฝีแรงงานจะทำให้พวกปรับตัวและมีอำนาจต่อรองในบริบทอาเซี่ยนได้ดีขึ้น
สำหรับอนาคตในระยะยาว คือความพยายามในการเอาการเรียนการสอนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปรับปรุงแล้วไป “เชื่อมต่อ” กับการศึกษาอย่างเป็นทางการ “ในระบบ” ในระดับที่สูงขึ้นทั้งของไทยและพม่า
แต่ให้ตายเหอะโรบิ้น ...หนทางมันไม่ได้ง่ายเลย
มูฟเม้นท์ของคนกลุ่มหนึ่งหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า Migrant Education Integration Initiative (MEII) กำลังทำวิจัยและกิจกรรมทางสังคมอย่างเข้มข้นในการ “ต่อรอง และปรับปรน” กับหลักสูตรไทยและพม่าที่เรียนไม่เหมือนกัน
ในขณะที่พม่า ซึ่งไม่ได้ปรับปรุงหลักสูตรในประเทศของตัวเองมากว่า 40 ปี ก็ประสบกับภาวะยุ่งยากและถกเถียงกันหลายรอบว่าจะปรับหลักสูตรอย่างไรให้มีความหลากหลายเหมาะสมกับท้องถิ่น แต่ละรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีทั้งหมด 7 รัฐ พวกเขายังถกเถียงกันเรื่องการสอนภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ การศึกษาเพื่อสันติภาพ เพื่อลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้มีมาตรฐานกลางของประเทศ
ที่สำคัญคือ จะเอาหลักสูตรสำหรับแรงงานพม่าที่นี่ ที่ต้องเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับบริบทของอุตสาหกรรม สังคม และวัฒนธรรมไทย ไปเชื่อมต่อกับหลักสูตรพม่าอย่างไร
ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า หากบางคนยังเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย (ซึ่งอีกกีปี่ก็ไม่รู้) ด้วยเหตุนี้หลักสูตรที่พัฒนา ก็จะต้องใช้ “เชื่อมต่อ” กับการระบบการศึกษาในประเทศไทยได้ด้วย
นี่เป็นความยุ่งยากของการพัฒนาหลักสูตรที่จะทำให้แรงงานอยู่รอดและอยู่ดีใน 2 โลก ที่มีความแตกต่างทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม เพราะหลักสูตร ในด้านหนึ่งต้องการความเป็นมาตรฐานของประเทศ นั้นๆ (bounded) แต่อีกด้านหนึ่งคือการต้องการความยืดหยุ่น/เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมนั้นๆ (unbounded) สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการมองการพัฒนาหลักสูตรในฐานะที่ก็เป็น “กระบวนการ” ที่ต้องต่อรองและปรับปรนกันไป (dynamic negotiation)
จะเสียดายก็แต่สังคมไทย ที่จะขาดโอกาสที่จะได้ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าเขาจะเรียนจบมาแล้วทำงานในไทย แม้ทำงานในพม่าก็ตาม ด้วยการมองเขาเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันผ่านการให้โอกาสด้านการศึกษาที่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ แม้กลับพม่า พวกเขาย่อมคิดถึงและมองประเทศไทยในแง่ดี มุมมองของการเป็นศัตรู แข่งขัน ล้างแค้น ก็จะได้เปลี่ยนมาเป็นเพื่อนบ้านที่ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน (แต่เพราะอคติทางชาติพันธุ์และวาทกรรม “พม่า” แท้ๆ ที่ทำให้เราข้ามไม่พ้น...)
....สุดท้าย ก็นึกไม่ออกว่า ในบริบทอาเซี่ยน นอกจากจะพัฒนาอุตสาหกรรมบนการกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และกดค่าแรงให้ราคาถูกแล้ว เราจะพัฒนาบนฐานของ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ที่เคารพสิทธิและศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้อย่างไร