Skip to main content

เมื่อมีคนรู้ว่าผู้เขียนพานิสิตจำนวน 16 คนไปถ่ายทำสารคดีบั้งไฟพญานาค ส่วนใหญ่ต่างก็ถามว่า มา “พิสูจน์” บั้งไฟพญานาคหรือ? ...บ่องตง ออกจะเป็นคำถามที่น่า “นอย” นิดนึง สำหรับผู้เขียน เพราะเราต่างก็รู้ว่าความจริงทางสังคมนั้นมันเป็นเรื่องของ “โลกแห่งความหมาย” และคนเราก็มีชีวิตอยู่ในโลกของความหมายพอๆ กับ หรือมากกว่าโลกของวัตถุที่จับต้องได้ ด้วยซ้ำ (แม้วัตถุขิ้นเดียวกันเหตุการณ์ที่เห็นด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เหมือนๆ กัน คนก็ให้ความหมายในวัตถุที่แตกต่างกันอยู่ดี)

...ไม่สำคัญหรอกว่าตาเนื้อของคุณเคยเห็นผีหรือไม่ แต่เมื่อคุณเชื่อว่าผีมีจริง ผีก็จะมีจริงในโลกของคุณ พิสูจน์ง่ายจะตายไปว่าผีมีจริงหรือไม่ ก็แค่ท้าให้ลองไปนอนโรงแรม ในห้องที่เคยมีแขกผูกคอตายสิ... ไม่กล้าใช่มั้ย ทำไม... ก็เพราะผีมีจริงแล้วในโลกทางความคิดของคุณไง ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยตาเนื้อ ด้วยเหตุนี้ "ความจริงแท้" จึงไม่ได้มีความจริงเดียว มิติเดียว คือความจริงที่ต้องพิสูจน์ด้วยประสาททั้ง 5 หรือแต่ในทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ความจริงมันมีหลากหลายมิติมากกว่านั้น

ดังนั้น จึงเกิดเซ็งๆ นิดๆ เมื่อมีคนถามว่า มาพิสูจน์บั้งไฟพญานาคหรือ? หรือถามว่ามันจริงรึเปล่าบั้งไฟเนี่ย? ...เพราะถ้ามัวแต่จะพิสูจน์ความจริงในแง่มุมเดียว และชี้หน้าว่าชาวบ้านที่เชื่อว่างมงาย ผู้เขียนก็ว่าเสียสมองและหัวใจที่จะได้เรียนรู้ความจริงในมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวอีสาน และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่สัมพันธ์กับพญานาคและพุทธศาสนา ในบริบทของสังคมพหุลักษณ์ พหุวัฒนธรรมไปอย่างน่าเสียดาย

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการไปดูบั้งไฟและไปดูคนดูบั้งไฟพญานาค แม้ว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เคยใช้ชีวิตในวัยรุ่นตอนต้น ไปๆ มาๆ กรุงเทพฯ - หนองคาย เพราะย้ายตามพ่อที่เป็นข้าราชการถึง 3 ปี แต่ทางบ้านไม่มีใครตื่นเต้นที่จะไป “พิสูจน์” และด้วยความที่บ้านผู้เขียนเป็นคนกรุงฯ ที่ไร้ราก ก็เลยไม่ “อิน” กับวันออกพรรษา พญานาค และวิถีชีวิตของชาวอีสาน ...แม้จะอยู่ใกล้แค่เนี้ย! ในขณะที่คนหนองคายในเวลาที่ผู้เขียนเป็นเด็กอยู่นั้น ก็ไม่ได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องไปพิสูจน์ เพราะชีวิตไมได้อยู่แค่ในบริบทของกระบวนการเป็นสมัยใหม่ (process of modernization)

...แต่มันมากกว่านั้น ...พญานาคสำหรับคนอีสานหลายคนแล้ว ไม่ใช่แค่ความเชื่อ (belief) ทว่าเป็นวิถีชีวิต (livelihood) ของพวกเขาต่างหาก

พญานาคแห่งลำน้ำโขง (ศรีสุทโธนาค) ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนอีสานอย่างแหนียวแน่น ไม่ใช่แค่การปรากฏตัวในงานบวช(นาค) แต่เพราะพญานาคแห่งลำน้ำโขงแห่งนี้ ที่ได้ออกไป “สู้” กับเทวดา (พญาแถน) เพื่อปัดเป่าความอดอยากยากเข็ญของมวลมนุษยชาติ เมื่อครั้งที่พญาแถนบันดาลไม่ให้ฝนตกในเมืองมนุษย์เป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน จนศรีสุทโธนาคได้รับบาดเจ็บปางตาย ต้องซมซานมาให้พระโพธิสัตว์คันคาก (ชาติหนึ่งก่อนเกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า) ใช้มนต์รักษาจนหาย เมื่อหายดีแล้วจึงได้ร่วมกับพระโพธิสัตว์คันคาก รบกับพญาแถน จนได้ชัยชนะ พญาแถนจึงให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยมีการยิงบั๊งไฟบอกแถนเป็นการเตือน นาคแห่งลำน้ำโขงจึงมีความผูกผันและศรัทธากับพญาคันคากมาก เมื่อพญาคันคากเสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้วศรีสุทโธนาคก็แปลงกายเป็นมานพ มาขอบวชในพุทธศาสนา แม้ตอนหลังต้องสึกออกไปเพราะถูกจับได้ว่าเป็นนาค เป็นสัตว์เดรัจฉาน (แต่จริงๆ แล้ว ในความเชื่อของคนอีสาน นาคเป็นหลายอย่างทั้งเทพ คน และสัตว์ ไม่ใช่แค่สัตว์เดรัจฉานตามตำนานทางพระพุทธศาสนา) อีกทั้งเป็นนาคที่คอย “ปรก” ป้องคุ้มครอง กันฝน เป็นอาสนะให้พระพุทธเจ้า และเมื่อเมื่อพระพุทธองค์ทรงลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์หลังจากการโปรดพุทธมารดา นาคแห่งลำน้ำโขงที่ผูกพันกับพระพุทธเจ้านี้ก็นาคถวายการต้อนรับกลับเมืองมนุษย์ด้วยบั้งไฟดังที่พวกเราเห็นนั่นแหละ

พญานาคจึงเป็น “หลายสิ่งอัน” ของชาวอีสานลุ่มน้ำโขง (ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องความศรัทธาในพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความ “กล้าหาญเสียสละ” ไป “สู้” กับเทวดาที่ “สูงกว่า” เพื่อชาวบ้านที่อดอยากยากแค้น จนตัวเจ็บปางตายด้วยเช่นกัน)

ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเลยที่เห็นลายผ้าถุงชาวบ้านอีสาน เต็มไปด้วยลายนาค นาค แล้วก็นาค การใส่ผ้าถุงลายนาค ไม่ใช่เพียงเพราะความสวยงาม แต่เพราะยังแสดงถึงนาคบูชาและพุทธบูชาไปด้วยในตัว

ผ้าซิ๋นอีสาน ลายนาค

ผ้าซินอีสาน ลายนาค

ชาวบ้านหนองคาย มองเห็นปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องธรรมดา (ธรรมชาติของสิ่งที่เหนือธรรมชาติ) น้าชาย คนขายข้าวจี่ในงานฯ เล่าว่าเขาเห็นบั้งไฟตั้งแต่เด็ก บางทีตอนโพล้เพล้ กำลังไปรดน้ำผัก ริมโขง ก็เห็นบั้งไฟผุดขึ้นมาจากน้ำ สูงประมาณ 2 เมตรแล้วก็ดับไป ส่วนอาผู้ชาย อายุ 69 ปี ข้าราชการเกษียณอายุ ที่เคยร่วมงานกับพ่อผู้เขียนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน และภรรยาของเขาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า บั้งไฟไม่ได้ขึ้นเฉพาะที่แม่น้ำโขง แต่บริเวณห้วย หนอง คลองบึง รอบๆ แม่น้ำโขง ก็ขึ้น ขึ้นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว เห็นกับตาทุกปี พวกเขาเชื่อว่าเป็นฝีมือของพญานาค

ลุงสองคนชาวโพนพิสัยซึ่งเห็นบั้งไฟมาแต่เด็กไม่พูดว่าบั้งไฟมาจากไหน บอกแต่ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ (พญานาคในความหมายนี้เป็นธรรมชาติ) พวกเขาโกรธนักข่าว iTV (สมัยปี 2002) และนักวิทยาศาสตร์บางคน ที่บอกว่าบั้งไฟเป็นฝีมือของคน ไม่ใช่พญานาค

ผู้เขียนและนิสิต 16 คน มาถึงหน้าวัดไทย อำเภอโพนพิสัย ตั้งแต่ยังไม่เที่ยงวัน ก็เห็นคนปูเสื่อปักร่มจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่พอสมควรแล้ว แต่การปูเสื่อปักร่ม ก็ไม่ได้เพื่อมา “จับจ้อง” (gaze) บั้งไฟเพียงอย่างเดียว พวกเขาเหมือนมาทำบุญที่วัดไทยโพนพิสัย มาชอบปิ้งสินค้าแผงลอยจำนวนมาก และก็นั่งปิคนิคกัน หลายบ้านเอาอาหารมากินเอาครกมาตำส้มตำกินแล้วก็นอนหลับกลางวันแถวริมตลิ่งบ้าง ศาลาบ้าง

...เห็นแบบนี้แล้วรู้สึกฟินมากมาย เพราะพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ไม่ได้มีแค่มิติทางเศรษฐกิจการตลาด แต่ยังมีที่ทางทางสังคมให้แก่เรา เหล่าไทบ้านอีกด้วย

นักท่องเที่ยวที่มาชมบั้งไฟที่อำเภอโพนพิสัยซึ่งเป็นจุดที่บั้งไฟเคยขึ้นมากและเป็นจุดที่จัดงานใหญ่ เท่าที่ถามๆ  และดูทะเบียนรถที่มาจอด พร้อมทั้งดูลักษณะหน้าตานั้น ส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน  ลองสุ่มถามๆ ดูได้ความว่าเป็นคนขอนแก่นก็ไม่น้อย มีกรุงเทพฯ เหนือ ใต้ บ้างเล็กน้อย

ที่ศาลาวัดไทย 2 ศาลา กลายเป็นที่พักที่บรรดานักท่องเที่ยวมากางเต้นท์นอน วัดมีห้องน้ำจำนวนมากพอที่ให้ประชาชนได้มาอาบและถ่ายทุกข์ ส่วนคนที่มานอน ตอนแรกผู้เขียนนึกว่าเป็นคนจนที่อยากจะมาเที่ยว แต่ทีไหนได้เมื่อลองไปนั่งๆ นอนๆ ในศาลานั้น ก็พบว่าพวกเขาเป็นคนชั้นกลาง เพราะมาคิดอีกที เออ...ใช่ คนจนเขาก็คงเอาเป็นเอาตายกับเวลาทำมาหากิน ไม่มีเวลาหยุดพักมาเที่ยวแบบนี้มากมายนักหรอก

นักท่องเที่ยวมาพักค้างคืน ค้างกลางวัน ณ วัดไทย อำเภอโพนพิสัย หนองคาย

นักท่องเที่ยวมาพักค้างคืน ค้างกลางวัน ณ วัดไทย โพนพิสัย หนองคาย

มีป้าคนหนึ่งเช่ารถทัวร์เป็นคณะจากพังงา เคยมาเที่ยวเทศกาลนี้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน ป้าบอกว่าเวลานั้นป้าไม่เห็นบั้งไฟ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเสียดาย เพราะมาทำบุญ คราวนี้มาใหม่ ไม่ใช่เพื่อมาพิสูจน์ แต่มาทำบุญและถือโอกาสไปเที่ยวอีสานให้คุ้ม เป้าหมายต่อไปหลังจากงานนี้คือไปเชียงคาน จังหวัดเลย

จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียน นักท่องเที่ยวเกินกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้สนใจที่จะจับจ้องดูบั้งไฟ ที่ริมโขง พวกเขาต่างเดินไปเดินมา ชอปปิ้งบ้าง ไปทำบุญบ้าง ดูคอนเสริ์ตฮั่น เดอะสตาร์ และคนอื่นๆ บ้าง เขาเป็นแค่ผู้ชม ที่ไม่ได้สนใจจะพิสูจน์อะไรจริงๆ จังๆ ในทางวิทยาศาสตร์ (เช่น มันเป็นปืนที่ยิงมาจากฝั่งลาว ใช่หรือไม่) ที่สำคัญคือ “ได้มาพักผ่อน เที่ยว ทำบุญ และเรียนรู้เรื่องพญานาคเพิ่มขึ้น” จากทั้งนิทรรศการถ้ำพญานาคที่วัดไทย จากการแสดงในเวที และทั้งจากผู้คนรอบๆ ตัว เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว กะอีแค่มาพิสูจน์อะไรเพียงอย่างเดียว มันก็ไม่คุ้มกับค่ารถ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆในการท่องเที่ยวหรอก เพราะมิติของชีวิตมันมีมากกว่านั้น

 

ก็มีอยู่ไม่น้อย นักท่องเที่ยวที่มีความเชื่อในเรื่องบั้งไฟพญานาค เน้นทำบุญจริงๆ  อันนี้ดูไม่ยาก ดูจากการแต่งชุดขาวมาเที่ยว (ชุดขาวเกี่ยวกับนาค เพราะคนจะบวชพระต้องเป็นนาคก่อน คือใส่ชุดขาว) ผู้เขียนได้คุยลุงและป้าที่เป็นข้าราชการเกษียณอายุที่มาจากเชียงราย พวกเขามานอนที่โพนพิสัย 2 คืน ลุงป้าแต่งชุดขาวเพราะต้องการมาเพื่อรับประสบการณ์ผ่านการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอันเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ...สำหรับนักท่องเที่ยวประเภทนี้ การแสวงบุญ และการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่ “เนียน” ไปด้วยกันได้อย่างลงตัว

 

จากปฏิบัติการของชาวท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวอันหลากหลายที่ผู้เขียนได้พบและพูดคุย ทำให้ได้ข้อสมมติฐานว่า ความเป็นของแท้ๆ (authenticity) ของบั้งไฟพญานาค ไม่ใช่ที่เรื่องตายตัว (fixed) ในระบบคิดระบบใดระบบหนึ่ง เช่น ในระบบทางวิทยาศาสตร์ หรือ ระบบความเชื่อท้องถิ่น

....ก็เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นฝีมือของพญานาค คน หรือก๊าซใต้แม่น้ำโขง คนที่มาแสวง/ทำบุญและชาวบ้านหนองคายจึงยังไม่ถูกชี้หน้าด่าว่า "งมงาย" และ/หรือ "เป็นเอามาก" 

ความเบลอๆ ก็ดีอย่างนี้แหละ มันทำพื้นที่การท่องเที่ยวบั้งไฟพญานาคมีเสน่ห์ เนื่องจากมันเป็นพื้นที่ที่ “เปิดกว้างให้คนได้ตีความและถกเถียงกัน” มากกว่าที่จะผูกขาดด้วยกระบวนทัศน์ชุดเดียว แล้วไปชี้ว่าชาวบ้านและนักท่องเที่ยวแสวงบุญว่างมงาย/เป็นเอามาก

ด้วยว่า บั้งไฟพญานาค ไม่ใช่ “สิ่ง” (thing) ที่ลอยโดดๆ ไม่ใช่สินค้าเพื่อการบริโภคในพื้นที่การท่องเที่ยว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้คน ทว่ากระเดียดไปในทาง “ความสัมพันธ์” (relation) ระหว่างพญานาค พระพุทธศาสนา และไทบ้าน (และสมัยนี้ก็พัวพันเพิ่มอีก คือ นักท่องเที่ยว แม่-พ่อค้า ททท. เทศบาลฯ) ซึ่งนัวเนียกับ “วิถีชีวิต” (livelihood) ชาวแม่น้ำโขงหนองคาย-อุดรมาอย่างช้านาน

และเมื่อบั้งไฟพญานาค คือ “ความสัมพันธ์” ...จะมาพิสูจน์ว่าอะไรแท้ อะไรเทียม ด้วยวิทยาศาสตร์ ก็ออกจะดู “เวิ่นเว้อ” ไปนิดนึง...เด้ออออ ...สิบอกไห่

และนี่แหละ...มหัศจรรย์ บั๊งไฟพญานาค  แห่งลุ่มน้ำโขง...หนองคาย

โปรดติดตามตอนที่ 2: เมื่อพญานาคถูกทำให้เป็นชายขอบในพิธีบวงสรวงพญานาค

และตอนที่ 3:  ไปคุยกับขอทานในงานฯ บั๊งไฟพญานาค

ที่นี้ เร็วๆ นี้

อัจฉริยา ณ 15 ค่ำ เดือน 11 ปี พ.ศ. 2557

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด