Skip to main content

ณ วัดเทพฯ มหาชัย สมุทรสาคร ในวันสงกรานต์ มีแรงงานพม่ามาทำกิจกรรมทางศาสนาไม่ต่ำกว่าหมื่นคน เมื่อดูจากผู้คนที่มาทำกิจกรรมฯ ที่วัดในวันนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แรงงานพม่าที่มหาชัย มีเชื้อชาติพม่า-พม่า มีน้อยมาก ทว่าส่วนใหญ่เป็นมอญ-พม่า ทวาย-พม่า และอารกัน-พม่า (จากรัฐยะไข่) (ตามลำดับ) พวกเขา แม้อยู่มหาชัยเหมือนกัน มาทำบุญ ทำกิจกรรมทางศาสนาวัดเดียวกัน แต่ต่างกลุ่มต่างแยกกันทำ บางทีก็ร่วมมือกันทำ ...เที่ยวสงกรานต์พม่า ณ มหาชัยคราวนี้ จึงเหมือนดู งงๆ กับหลายเรื่อง แต่ก็เป็นการเปิดโลกใบใหม่ของ travelling ethnographer อย่างผู้เขียน (ที่เคยหมกมุ่นอยู่กับไทขาวในเวียดนามมานานพอควร) …และนี่คือบันทึกการท่องเที่ยวของผู้เขียนที่ “ความไม่รู้ มีมากกว่า ความรู้”

๗.๓๐ น. ขบวนสงกรานต์ของ “แจมโน่โด่” (หมู่เฮา) ชาวมอญ-พม่า ทวาย-พม่า พม่า-พม่า และ อื่นๆ-พม่า ราวพันกว่าคน นัดรวมพลกันที่วัดเทพฯ มหาชัย แจมโน่โด่ออกเดินทางด้วยรถกะบะ นับสิบๆ คัน รถสองแถวหกล้อกว่า ๑๐ คัน ซึ่งประกอบไปด้วยรถขบวนแห่ธงชาติไทย-พม่า-พุทธศาสนา ขบวนแห่พระ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพฯ นางรำพม่า นาคพม่า (แต่งกายคล้ายเทพ) อุบาสก อุบาสิกา ชาวพม่า ยาวกว่า ๑ ก.ม. โดยมีรถตำรวจมหาชัยนำหน้าขบวน ขบวนของ “แจมโน่โด่” เที่ยวท่องไหลล่องไปทั่วเมืองมหาชัย วัดวา อาราม เอย ท่าฉลอม เอย แล้วกลับมาที่วัดเทพฯ เกือบเวลา ๑๐.๓๐ น. สิริรวมเวลาเที่ยวท่องตัวเมืองมหาชัย ๓ ช.ม.

อัลไลกัน...ทำไมต้องมีขบวนเที่ยวสงกรานต์ยาวเหยียด และยาวนานขนาดนี้ เป็นคำถามที่ travelling ethnographer ผู้ติดตามปิดท้ายขบวนอย่างผู้เขียนสงสัย ไม่กลัวคนไทย “หมั่นไส้” เหรอ เพราะเคยได้ยินเรื่องเล่ามาว่าคนแถวนี้และตำรวจบางคน ไม่ชอบเห็นพม่าใส่โสร่ง เดินโทงๆ ในเมืองของชาวไทย ราวกับมาอยู่บ้านเขาแล้ว ไม่รู้จักอยู่แบบเจียมตัว  ตำรวจ “บางคน” เห็นคนใส่โสร่ง รู้ชัวร์ว่าเป็นพม่าก็หาเรื่องจับ ยัดโพยหวยให้ หรือไม่ก็ปรักปรำว่าเบอร์โทรฯ ที่เขาจดใส่สมุดไว้ เป็นเบอร์หวย รีดไถไปได้ตามระเบียบ (ตามที่เขาเล่ามา) ...ทำเอาพม่าแถวนี้บรื๋อส์ๆ ต้องเหลียวซ้าย แลขวา ก่อนจะใส่โสร่ง ….กำเจงๆ อันนี้เพื่อนพม่าหลายคนสะท้อนความรันทดออกมา

แต่นี่มันอัลไล...วันสงกรานต์ ๑๓ เมษาฯ นอกจากจะไม่ใช่แค่เดินใส่โสร่ง โทงๆ แล้ว ยังจัดขบวนแห่ยาวเหยียดและยาวนาน ที่งามตระการตาด้วยนาคชาย-หญิงกว่า ๑๔๓ ตน ทรงเครื่องเหมือนเทวดา รวมทั้งนางรำ แถมโบกธงชาติไทย-พม่า-ศาสนาพุทธ เป็นที่่น่าหมั่นไส้แก่คนไทยแต้ๆ

เพื่อนชาวพม่าเล่าว่า “ที่พม่าหนอ...หากใครได้มีช้าง มีม้า แล้วแห่เที่ยวชมเมืองไปทั่ว ถือว่าเป็นผู้มีบุญบารมี ดังนั้น ในสมัยนี้ เมื่อเราไม่มีช้าง-ม้า เราก็ใช้รถเป็นพาหนะแทน แล้วแห่ชมเมือง” ดังนั้น ขบวนสงกรานต์คนนับพันๆ ทียาวกว่า ๑ ก.ม. และยาวนานถึง ๓ ช.ม. นี้ จึงเป็นพื้นที่ของการที่ “โชว์บารมี” (ซึ่งน่าจะหมายถึง บุญ ศักดิ์ศรี หน้าตา และสิทธิ) ของพุทธศาสนิกชนชาวพม่า ณ ที่มหาชัย เมืองไทย แห่งนี้ ...เพราะอย่างน้อยที่สุด กลุ่มแรงงานพม่าผู้ซึ่งทำงาน “ต่ำๆ” ที่คนไทยไม่ทำ (ที่เรียกว่างาน3Ds (Dirty, Dangerous/Difficulty, Disregarding) ก็ยังมีพื้นที่ที่ได้แสดงออกซึ่ง “บารมี” ...อันเป็นบุญ สิทธิ และศักดิ์ศรี ชนิดหนึ่งของความเป็น “คน”

เมื่อเรากลับมาถึงวัดเทพฯ แล้ว ก็รู้สึก...โอ้วมายก๊อด ทันที เพราะมีชาวพม่ามาทำกิจกรรมสงกรานต์กว่า ๑๐,๐๐๐ คน จนพื้นที่วัดเทพฯ ที่กว้างใหญ่หลายสิบไร่ ดูแคบถนัดตาไปทีเดียว มุมหนึ่งชาวชาวพม่า-ทวาย พม่า-พม่า ที่เพิ่งกลับมาจากการแห่เที่ยวสงกรานต์รอบเมืองมหาชัย ได้เริ่มทำพิธีแห่นาคชายและนาคหญิง รอบโบสถ์ที่อยู่กลางๆ ของวัด เพื่อเริ่มต้นพิธีบวชพระ ชี สามเณร สามเณรี ๑๔๓ รูป

ขบวนแห่นาคพม่า

 

อีกฝั่งหนึ่ง รถหกล้อกว่า ๓ คัน ซึ่งนำชาวอารกัน-พม่า(รัฐยะไข่) กว่า ๒๐๐ คน มาถึงวัดพอดี พวกเขามุ่งไปอีกมุมหนึ่งของวัด ซึ่งลานโถงโล่ง หลังคาสูง จุคนได้ประมาณกว่า ๔,๐๐๐ คน ส่วนบางคนมุ่งไปยังลานกีฬาเพื่อดูกีฬา “นะพา” ซึ่งคล้ายกับการต่อสู้ซูโม่ ...บางคนมุ่งไปยังเวทีคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่แสดงและดูกันเอง โดยไม่ได้อิมพอร์ตนักร้องดังมาจากไหน กลุ่มที่มาใหม่เมื่อรวมกับชาวอารกัน-พม่าที่มาถึงก่อนแล้ว น่าจะซักประมาณสองพันกว่าคน

กีฬา "นะพา" ของชาวอารกัน-พม่า แข่งกันที่วัดเทพฯ มหาชัย

 

ส่วนอีกด้านหนึ่งของวัด เป็นที่ฝึกสมาธิอย่างเงียบสงบ ของชาวมอญ-พม่า ประมาณ ๑๐๐ คน พระที่ฝึกสมาธิเป็นพระชาวกระเหรี่ยง(กาเยง)-พม่า ซึ่งมีดีกรีระดับด๊อกเตอร์ ฝึกสมาธิใช้เวลาสิริรวม ๕ วัน 

 

ส่วนตรงกลางๆ วัด ก็มีการออกร้านสอยดาว คล้ายๆ งานกาชาด อันนี้ คนจัดงานบอกว่า เงินทั้งหมดที่ได้ เอาไปทำบุญหมด

เป็นอะไรที่ฟินสุดๆ เมื่อผู้เขียนซึ่งแต่งกายเป็นพม่า เดินไป เดินมา ดูกิจกรรมต่างๆ แล้วเห็นความสุขของผู้คน มุมหนึ่ง แม้การเล่น “นะพา” ดูรุนแรง แต่ทว่าคนที่ชนะ จะต้องบริจาคเงินทำบุญ ยิ่งชนะมาก ยิ่งต้องบริจาคมาก พวกเขาเล่นกันจนดึก สามทุ่มกว่าๆ แล้ว ยังไม่เลิก  ส่วนคอนเสิร์ตนั้น แม้ไม่มีเหล้า ไม่มีน้ำให้สาดแบบมึนๆ แต่ก็ดิ้นกันกระจายกลางผงแป้งของสงกรานต์แห้ง  ส่วนหลังเวทีคอนเสิร์ต(ก่อนคอนเสิร์ตเล่น) ก็มีพระชาวอารกันมาเทศน์ภาษาอารกัน แม้พม่า หรือมอญ หรือทวายอยากจะฟังเทศน์ ก็ฟังไม่รู้เรื่อง  

ห่างจากเวทีคอนเสิร์ตไม่ถึง ๑๕ เมตร นางรำ(ผู้ชาย ไม่มีผู้หญิง) ๓ – ๔ คน แต่งหน้า แต่งตัวนางรำเต็มยศ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกวูบแรกว่าคล้าย “กระเทยเฒ่า” กำลังรำอยู่บนรถหกล้อ อันเป็นควันหลงมาจากขบวนแห่ เวทีรำรถหกล้อนี้เมื่อแห่มาจอดที่วัดแล้วก็ไม่ได้รับความสนใจจากพม่าเลย มีแต่ผู้เขียนไปถ่ายรู้ แล้วไป “จ้อง” ดูด้วยความสนใจว่า เขาเป็นกระเทยมารำ หรือว่าเขารำเป็นกระเทย หรือว่าเขาไม่ใช่กระเทย เพื่อนพม่าของผู้เขียนบอกว่า เขาเป็นชายฉกรรจ์ทำงานอยู่ในโรงงาน หาใช่กระเทยไม่ อ้าว...แล้วทำไมวันนี้ถึงแต่งหน้าตัวเหมือนกระเทย...ผู้เขียนถาม เพื่อนพม่าก็ยังยืนยันว่า แม้แต่งตัวเหมือนหญิงก็ยังบ่แม่นกระเทยเหล๋  ผู้เขียนเถียง...ก็เป็นกระเทย ๑ วันไง วันนี้ วันสงกรานต์ ก็เหมือนสงกรานต์ไทย เป็นวัน "ปลดปล่อย" อะไรบางอย่าง ที่วันปกติ ชีวิตปกติ พื้นที่ปกติไม่อนุญาตให้ทำ ...เพื่อนก็ยังยืนยันว่า ...กระเทย ๑ วัน ก็ไม่ใช่ ...เขาเป็นผู้ชายๆๆๆ เข้าใจมั้ย (ฮ่วย!)

ไม่เข้าใจหรอก เพราะฉันถูกกักขังอยู่ในโลกของไทขาวในเวียดนามมานาน...ฉันนี่โลกแคบเจงๆ นึกในใจ ...เฮ้อ...สงสัยต้องลงทุนเวลาในชีวิตครั้งใหญ่เรียนภาษา-วัฒนธรรมพม่า-มอญ ซะแล้ว ว่าแล้วก็เลยเดินไป เดินมา จนมาเห็นรูปเทพมอญ-พม่า ....โอ้วมายก๊อด...เทพเป็นชายหรือไร้เพศ ผู้เขียนถาม เพื่อนบอกว่าเป็นชาย ...นั่นไง...โป๊ะเช๊ะแต่งหน้า ทาปาก แต่งองค์ ทรงเครื่องคล้ายนางรำบนรถหกล้อนั่นเลย ...ท่านคงไม่ใช่กระเทยเทพดอกนะ

 

...นี่เอง ทำให้วูบที่สองของการตี(เดา)ความของผู้เขียน (บนความไม่รู้) คือว่า อาจจะเป็นได้ว่า การรับเอาความรู้สึกแต่งหน้า ทาปาก แต่งองค์ทรงเครื่องอันสวยงาม จะต้องเป็นเรื่องของ “สตรีเพศหรือกระเทยเพศ” เท่านั้น (อันเป็นความคิดของใคร สมัยใหม่ สมัยไหนไม่รู้) ทำให้เราติด “กับดัก” ความคิดดังกล่าว ว่าแล้วก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วคลิกรูปคนที่เราเข้าใจว่าเป็น “กระเทยเฒ่า” มาทำการสัญญาต่อหน้าว่า “เราจะต้องรู้ผ่านวัฒนธรรมของท่านให้ได้ว่าสิ่งที่ท่านทำ มีความหมายอัลไล กันแน่ แม้จะยังไม่รู้ ไม่มีคำตอบ แต่การเดินทางอันแน่วแน่ของคำถามของ travelling ethnographer อย่างผู้เขียนก็เริ่มขึ้นอีกแล้ว...

ตัดกลับไปหลังฉากของสงกรานต์นี้สักหน่อยหนึ่ง...วัดนี้เป็นวัดไทย เจ้าอาวาสเป็นคนไทย (แม้มีแม่เป็นมอญเกิดในไทย แต่ก็พูดมอญได้นิดหน่อย พูดพม่าไม่ได้เลย) มีพระไทยอยู่ในวัดประมาณ ๒๐ รูป พระพม่า ๓ รูป อยู่ในกุฎิเล็กๆ ที่มีประมาณ ๓ ห้อง  (ห้องครัว ห้องสอนคอมฯ แก่แรงงานพม่า และห้องจำวัด) จะว่าไปแล้ววันธรรมดา ผู้เขียนก็เห็นว่าวัดนี้ก็มีคนไทยมาทำบุญไม่น้อย แต่วันนี้เงียบเชียบ หรือผู้เขียนมองข้ามไปก็ไม่รู้ เพราะทั้งวันมีพม่าไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ คน

แล้วพระไทยเล่าทำอะไรในวันนี้...ถามหลวงพ่อไทยรูปหนึ่งท่านบอกว่า เหนื่อยโยม...ไปช่วยงานพม่า ถามเพื่อนพม่าว่าหลวงพ่อไทยไม่น้อยใจหรือ เพราะวันนี้ชูหลวงพ่อพม่าเป็นหลัก ทั้งงานบวช งานเทศน์ งานนั่งสมาธิ ...เพื่อนบอกว่า เจ้าอาวาสใจกว้างมากปล่อยให้พม่าได้ใช้ ได้แสดงออก  ...ถ้าเราจะตีความในแง่ดี (บนความไม่รู้อีกแล้ว) บนพื้นที่ทางศาสนา การแบ่งแยกทางชาตินิยมและชาติพันธุ์น่าจะบรรเทาเบาบางกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่การเมืองเชิงเศรษฐกิจ หรือการใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และถ้าจะตีความแบบโลกียะหน่อย ก็คือว่า เมื่อพม่ามาทำบุญมากมายขนาดนี้ วัดต้องต้อนรับ เพราะจะได้มีเงินมาบูรณะวัดให้ทันสมัยมากขึ้น

งานสงกรานต์พม่าที่มหาชัยไม่ใช่มีแค่วัดเทพฯ เท่านั้น ยังมีที่วัดอื่นๆ อีก เช่นที่วัดราษฎร์ฯ และวัดโคกฯ ผู้เขียนได้ยินมาว่า ที่วัดราษฎร์ฯ มีการจัดเทศนา ได้เงินบริจาคจากชาวมอญ-พม่า และชาวอื่นๆ-พม่า เพียงวันเดียว ๒๐๐,๐๐๐ กว่าบาท

ส่วนวัดโคกฯ ซึ่งชาวมอญ-พม่ามักจะไปทำบุญก็จัดงานวัดเสียใหญ่โต แล้วเอาจัดคอนเสิร์ต อิมพอร์ตนักร้องชาวมอญ จากรัฐมอญ ในพม่ามา ๓ คืน ป้ายประกาศประกาศคอนเสิร์ตเป็นภาษามอญ ผู้เขียนถามเพื่อนพม่าว่า ก็ไหนประเทศพม่าห้ามคนมอญเรียนภาษามอญไง แล้วมาเขียนป่ายคอนเสิร์ต (หรือแม้ป้ายประชาสัมพันธ์การเทศนา การ literature talk หรืออื่นๆ) เป็นภาษามอญ แล้วแมว เอ๊ย! มอญที่ไหนจะมาอ่านออก เพื่อนบอกว่า อ่านออกม๋า...คิดว่ามอญที่นี่กว่าร้อยละ ๖๐ อ่านภาษามอญออก  เรื่องนี้ช้ให้เห็นว่า อำนาจรัฐ แม้จะดูยิ่งใหญ่ แต่ก็ปิดกั้นการปฏิบัติการทางวัฒนธรรม (แอบเรียนภาษา) ไม่ได้

 

ในเวทีคอนเสิร์ตที่จัดใหญ่คืนแรก บัตรราคา ๒๐๐ บาท มีคนมาฟังนับพันๆ คน นักร้องๆ ภาษามอญ ที่พม่าก็ฟังไม่รู้เรื่องเลยแม้แต่คำเดียว คำกล่าวกับผู้ชมของนักร้อง แม้แต่คำว่าสวัสดี หรือ อะไรก็ตาม ก็ไม่มีหลุดภาษาพม่า หรือไม่ผสมภาษาพม่าเลย อุต๊ะ!...ให้ตายเหอะโรบิ้น รัฐมอญอยู่กับพม่ามานานหลายร้อยปีแล้ว ทำไมไม่มีผสมผสานภาษาพม่าเลย ไม่เหมือนไทขาวในเวียดนามที่คำศัพท์ผสมผสานภาษาเวียดกว่าร้อยละ ๔๐  (แม้พูดเป็นสำเนียงไทยขาว) จังหวะดนตรี ทำนองเพลง ไม่ได้เอาเนื้อเพลงพม่ามาดัดแปลงเลย นุ่งโสร่งก็โสร่งมอญ  แถมพอเดินๆ เข้าไปในวัดโคกฯ ก็ดันเจอโรงเรียนสอนภาษามอญอีก...

 

ตัดกลับไปที่วัดเทพฯ ตอนนี้เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. การเทศนาของพระมอญ ที่มีชาวมอญกว่า ๓,๐๐๐ คน มานั่งฟัง คงใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว กัณฑ์เทศน์คงได้ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท และส่วนหนึ่งของเงินบริจาค ก็คงเหมือนที่ทำกันบ่อยๆ คือ กว่าครึ่งหนึ่งคงเอาไปบำรุงการศึกษาของชาวบ้าน-พระพม่า ในประเทศพม่า อันเป็นการย้ายทุนทางเศรษฐกิจ จากแรงงานพม่าในไทยกลับไปพัฒนาพุทธศาสนา-การศึกษาในประเทศพม่า ผ่านกลไกทางวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง

 

อีกมุมหนึ่งของวัดเทพฯ...โยคี – โยคีนี ผู้นั่งสมาธิมาตั้งแต่ตี ๔ คงเข้านอนแล้วตั้งแต่ ๓ ทุ่ม ส่วนพระ ชี สามเณร สามเณรี ที่บวชใหม่ ก็สลบไสล ทอดตัวหลับเรียงรายเหมือนปลาตากแห้ง ทั้งชั้นบนและชั้นล่างของศาลาวัดเทพฯ ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ วันจันทร์ – ศุกร์ คือโรงเรียนประถมสอนลูกหลานแรงงานพม่ากว่า ๑๔๐ คน

 

และแล้ว....คืนนี้ นี่ก็เกือบเทียงคืนของ๑๓ เมษายน ๒๕๕๗ สินะ ได้เวลานอนของ travelling ethnographer แล้ว ..พรุ่งนี้ฉันต้องไปนั่งสมาธิกับชาวมอญ-พม่า ตามที่สัญญาไว้กับพระกาเยง-พม่า อีกอย่างน้อยครึ่งวัน

ก่อนจะนอน ก็ทอดถอนใจ เฮ้อ...สงกรานต์ ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน เมื่อกลับบ้านพม่าไม่ได้ แจมโน่โด่ ก็ต้องเปลี่ยนมหาชัย ให้เป็นบ้าน .....วันนี้แจมโน่โด่จึงเต็มทีกับการใส่ผ้าซิ่น “โลนตะยา” ซิ่นมอญ โสร่ง เครื่องทรงเทพ ทรงนาค บวช ร้อง เต้น เล่นนะพา นั่งสมาธิ และ ฯลฯ ...”เป็นพม่าให้สุดโค่ย” เพราะวันอื่นๆ ถ้าแจมโน่โด่จะทำแบบนี้ ก็ต้องเหลียวซ้าย แลขวา แล้วบรื๋อส์ๆ ...ก็เรามันเป็น "คนอื่น" เป็น "ชายขอบ" บนแผ่นดินนี้...นี่นา...

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด