Skip to main content

มอญในเมียนมาร์ ไม่ว่าจะอยู่ที่เมียนมาร์แลนด์หรือไทยแลนด์ ต่างก็ได้ชื่อว่า เป็น “คนอื่น” ในแผ่นดินที่ (เคย) เป็นของตัวเอง ถ้าเรามองภายใต้กระบวนทัศน์ที่แบบมองอะไรแบบ “เชิงเดี่ยว”  

จริงๆ ก็ไม่ใช่ "คนอื่น" ซะทีเดียว เพราะผู้เขียนได้ไปพบสิ่งมหัศจรรย์ในรอบปีที่ผ่านมา คือได้เห็นโรงเรียนมอญ ชักธงชาติมอญ ในรัฐกระเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์ ราวกับว่าได้ประกาศอำนาจอธิปไตย(อย่างน้อยก็ทางการศึกษา) บนแผ่นดินที่ตัวเองเคยถูกทำให้เป็นอื่น ...และนี่คือเรื่องราวของโรงเรียนมอญ ชาวมอญ ตั้งแต่สมุทรสาครไปจนถึงเจดีย์สามองค์ ฝั่งเมียนมาร์ จากบันทึกการเดินทางของ travelling ethnographer นางนี้

ความเดิมจากตอนที่แล้ว...

“....แม้ว่าชาวมอญ(เมียนมาร์) ในสมุทรสาคร จะตระหนักว่า การเรียนการสอนในศูนย์การเรียนรู้ของพวกเขา ไม่ทำให้เด็กๆ ที่จบไปสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ไม่ว่าจะทั้งจากหลักสูตรรัฐบาลไทยหรือหลักสูตรรัฐบาลเมียนมาร์ แต่เขาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเชื่อมต่อการศึกษาที่ศูนย์การเรียนรู้ของพวกเขา ให้เข้ากับโรงเรียนในรัฐมอญ (ในประเทศเมียนมาร์) ด้วยความหวังอันน้อยนิดว่า เด็กที่จบจากโรงเรียนในรัฐมอญ จะไปเรียนต่อในโรงเรียนหลักสูตรทางการรัฐบาลเมียนมาร์ได้ (เพราะมีสัญญาต่อกันว่าจะส่งนักเรียนจาก ร.ร.มอญ จากรัฐมอญ ไปเรียนต่อหลักสูตรของเมียนมาร์ได้)

เรื่องของมอญในสมุทรสาครนี้ ทำให้ผู้เขียนเดาว่า สำนึกการเป็น “พลเมืองรัฐชาติเมียนมาร์” (ซึ่งถูกสร้างผ่านอะไร ไม่แน่ใจ) ดูจะสำคัญน้อยกว่า “ความเป็นมอญ” ซึ่งเป็นสิ่งถูกประกอบสร้างทางวัฒนธรรม มากมายนักและทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะหาคำตอบต่อไป”

กลับมาที่โรงเรียนวัดโคก โรงเรียนวัดโคกเป็นโรงเรียนที่นักเรียนเกือบ 100% เป็นมอญ และไม่น่าแปลกใจถ้าเราจะเห็นมอญ แยกตัว สร้างพื้นที่ กั้นเขตแดนทางวัฒนธรรมกับพม่า แม้จะมีทำบุญวัดเดียวกัน เช่นที่วัดเทพนรรัตน์ แต่ก็ขอตัวไปอยู่อีกมุม มีกิจกรรมคนละแบบ

โรงเรียนมอญที่วัดโคก อำเภอเมือง สมุทรสาคร

มอญกับพม่าไม่ถูกกันตั้งแต่ประวัติศาสตร์ครั้งการสร้างรัฐจารีตของพม่า เมื่อพระเจ้าอโนรธาทำการปราบมอญลงแล้วสถาปนาอาณาจักรพุกามขึ้นในปี พ.ศ. 1587 หรือเมื่อเกือบพันปีก่อน แต่การรบระหว่างมอญ-พม่าก็ยังยืดเยื้อ ยาวนาน ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ สงครามที่เรารู้จักเช่น การยึดกรุงหงสาวดีของพระเจ้าตะเบงชะเวที มาจนกระทั่งสมัยพระเจ้าอลองพญา (ร่วมสมัยกับพระเจ้าอุทุมพร-เอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา) แห่งราชวงศ์คองบอง พม่าจึงปราบมอญได้อย่างราบคาบ และอาณาจักรมอญก็ล่มสลายลงมานับแต่บัดนั้น

ภายใต้สนธิสัญญาปางโหลง ที่กระทำระหว่างรัฐบาลพม่าของนายพลอองซานกับอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1947 มอญและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในเมียนมาร์ ต่างก็รอวันที่ครบ 10 ปี ที่จะแยกตัวเป็นเอกราชจากการปกครองของพม่า แต่หลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ กลุ่มชาตินิยมพม่า (โดยการสนับสนุนลับๆ จากอังกฤษ) ได้ลอบสังหารนายพลอองซาน และฉีกสนธิสัญญาปางโหลงทิ้ง ทำให้ความหวังของมอญและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่รอวันแยกตัวเป็นเอกราชจากพม่าดับสลาย ดังนั้น การจับอาวุธ จัดตั้งกองกำลังขึ้นสู้เพื่อความเป็นเอกราชจากรัฐชาติพม่าจึงเป็นความหวังเดียวที่มีอยู่

จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้มีการเจรจาหยุดยิง แต่กองกำลังบางส่วนของคะฉิ่น กระเหรี่ยง DKBA โกกั้ง และยะไข่ ก็ยังสู้รบกับกองทหารพม่าอยู่

ผู้อาวุโสที่เป็นที่นับถือของแรงงานชาวพม่าในสมุทรสาครเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า มอญเป็นชาติพันธุ์ที่หยิ่งในศักดิ์ศรีมาก เขาถือว่าเขาสูงกว่าและมีอารยะกว่าพม่า ยิ่งในปัจจุบัน มอญไทยก็ประสบความสำเร็จในทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย มอญในเมียนมาร์ก็เคลมว่าพวกเขาเหนือกว่าพม่า

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่มอญ แม้อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันกับพม่า เช่น แผ่นดินสมุทรสาคร ก็จะต้องสร้างสำนึกความเป็นมอญ สร้างอัตลักษณ์ อันเป็นเส้นเขตแดนทางวัฒนธรรม (cultural boundary) ของตนเองขึ้นมาแยกต่างหากจากพม่า

พระมอญ และชาวมอญในการเทศนาวันสงกรานต์ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557) ณ วัดเทพนรรัตน์ อำเภอเมือง สมุทรสาคร

โรงเรียนวัดโคก ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ล้อมรอบด้วยเส้นเขตแดนทางวัฒนธรรม ของการสร้างความทรงจำร่วม สำนึกร่วม และอัตลักษณ์ของมอญ

ผู้เขียนได้คุยกับครูหนุ่มคนหนึ่ง เขาเกิดที่เมืองไทย แต่ไปเติบโตและจบเกรด 6 (ป.6) ที่เมียนมาร์ แต่เขาใช้ชื่อญาติเป็นคนเรียนหนังสือ เนื่องจากเขาอยู่ในกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลทหารพม่า เมื่อจบมาแล้วต้องหนีมาอยู่เมืองไทย ตอนนี้เขาพูดภาษาไทยได้คล่องกว่าภาษาพม่า และเขาก็ได้สัญชาติไทยแล้ว

และได้คุยกับครูอีกคนหนึ่ง น่าจะอายุสี่ซ้าห้าสิบแล้ว เกิดที่พม่า เรียนจบเกรด 6 (ป.6) และได้บวชพระ ตอนหลักสึกออกมาแล้วก็มาทำงานที่สมุทรสาครเมื่ออายุ 25 ปี และฝึกหัดพูดภาษาไทย จนพูดได้คล่อง

เลยได้รู้ว่าโรงเรียนลูกหลานมอญเมียนมาร์แห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากการระดมทุนผ่านการทอดผ้าป่าวัดโคก โดยมีพระมอญ(ไทย) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ส่วนพระมอญ(เมียนมาร์) มีมาเทศน์ที่นี่บ่อย ปีละประมาณ 20 ครั้ง มาแต่ละครั้ง นอกจากจะทำหน้าที่ปลูกจิตสำนึกความเป็นพุทธแบบมอญแล้ว ได้สามารถระดมเงินบริจาคให้กับโรงเรียนแห่งนี้ได้มาก

เงินติดกัณฑ์เทศน์บางส่วนถูกนำมาบริจาคให้โรงเรียนนี้ รวมทั้งมีการทอดผ้าป่าประมาณ 7 ครั้ง เพื่อให้ได้เงินประมาณ 500,000 มาสร้างอาหารหลังใหม่ของโรงเรียนแห่งนี้

อาคารหลังใหม่ที่กำลังสร้างอยู่นี้ ราคาประมาณ 500,000 บาท ได้จากการทอดผ้าป่าถึง 7 ครั้ง ครูมอญคนหนึ่งเม้าท์ให้ผู้เขียนฟัง

สงกรานต์ที่แล้วก็มีคอนเสริตวงร๊อคชื่อดัง มาจากรัฐมอญมาเล่นให้ชาวมอญที่สมุทรสาครดู เพื่อระดมเงินบริจาค

คอนเสิร์ตมอญ จากรัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ แสดงที่วัดโคก อำเภอเมือง สมุทรสาคร

โรงเรียน แม้จะสอนโดยผสมผสานวิชาการของพม่า-มอญ-ไทย ปนๆ กันไป แต่ก็มีครูเป็นมอญ(เมียนมาร์) ทั้งหมด 4 คน สอนโดยใช้ภาษามอญ ชั้นเรียนมีทั้งหมด 6 เกรด คือ เกรด 1-6

แต่จะว่าไปแล้วความสนใจที่จะให้เด็กที่เรียนจบจากที่นี่จะไปต่อขั้นสูงที่โรงเรียนในเมียนมาร์ กลับเป็นเรื่อง "รอง" หากเด็กๆ มอญไม่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษามอญ และไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมมอญ

เห็นแบบนี้แล้วทำให้คิดถึงตอนที่พ่อเล่าว่า ในเวลาที่เราอยู่พระประแดงนั้น (ตอนนั้นผู้เขียนมีอายุประมาณ 6 ขวบ) บรรดาลูกน้องและเพื่อนร่วมงานของพ่อซึ่งส่วนใหญ่เป็นมอญต่างเรี่ยไรเงินไปช่วยมอญที่เมียนมาร์กู้ชาติ ...แหม...เรื่องมอญนี่มันก็น่าสนใจจริงๆ... พ่อบอก

ผู้เขียนถามครูมอญวัยกลางคนว่า เรื่องการกู้ชาติยังสำคัญหรือไม่ในเวลานี้ เขาบอกว่าสำคัญ แต่ไม่ได้สำคัญตรงที่ต้องการการรบกันเพื่อเอาแผ่นดินคืน เพราะแผ่นดินมอญคือแผ่นดินมอญ มันชัดเจนในตัวแล้ว แต่มันสำคัญตรงที่ยังมีทหารรักษาการอยู่ (แม้ตอนนี้จะอ่อนแอลงไปมากแล้ว)  

ฟังดูราวกับว่ามอญนั้นสร้างเส้นเขตแดนทางแผ่นดินและวัฒนธรรมอย่างแน่นหนา ทว่า หลังจากสนทนาไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้เขียนพบว่าเขตแดนทางวัฒนธรรมของมอญก็ไม่ได้ปิดตายติดแน่นหนากับความเป็นชาตินิยมมอญ ทว่าก็พวกเขาก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นพม่าเหมือนกัน (โดยเฉพาะในบางเวลาที่ตัวเองต้องเจอมอญไทย)

ตามที่ได้คุยกับครูมอญวัยกลางคนนั้น เขาบอกว่าสิ่งที่ทำให้มอญเมียนมาร์รู้สึกว่าตัวเองเป็นเมียนมาร์ เพราะ หนึ่ง ภาษา ภาษามอญเมียนมาร์กับมอญไทยนั้นต่างกันมาก คุยกันไม่รู้เรื่องเท่าไร เพราะภาษามอญไทย ผสมผสานกับภาษาไทยไปมากแล้ว โดยเฉพาะภาษาที่เรียกสิ่งของสมัยใหม่ เช่น รถยนต์ ทีวี พัดลม เป็นต้น (แม้ใช้คำภาษาพม่า แต่ก็ใช้ในสำเนียงและโทนที่ต่างกัน ทำให้คนพม่าก็ฟังไม่รู้เรื่อง) เรื่องราวที่พอจะคุยกันระหว่างมอญไทยและพม่าได้ก็มีแค่เรื่องประเพณีวัฒนธรรม

เรื่องที่สอง คือ อาหาร เมื่อมอญพม่าเห็นอาหารพม่า พวกเขารู้สึกว่านี่เป็นอาหาร “ของเรา” แม้อาหารมอญจะมีรสเปรี้ยวกว่า ส่วนมอญไทยเห็นอาหารไทยว่าเป็นอาหารของเขา เรื่องที่สาม... (อะไรไม่รู้ จำไม่ได้แล้ว)

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวมอญ “ในโลก” หรือเป็นชาวมอญ “ในเมียนมาร์” ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ “ถูกสร้างขึ้น”(constructed) ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ “ผูกมัด” ไว้ในพื้นที่ของความเป็นมอญ ชาตินิยม ชาติพันธุ์นิยม ความเป็นเรา ความเป็นปึกแผ่น (bounded) หรือ “ไม่ผูกมัด” (unbounded) ก็ตาม เช่นที่ผู้อาวุโสชาวพม่าในสมุทรสาครสังเกตว่ามอญ (ทั้งไทยและเมียนมาร์) ที่สังขละบุรี กาญจนบุรี (ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์) ต่างช่วยเหลือกันมาก แต่ไม่ใช่ที่สมุทรสาคร (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าคนร่วมรุ่นพ่อหรือรุ่นเดียวกันไม่เคยไป-มาๆ หาสู่ แลกเปลี่ยนโน่นนี่นั่นกัน)

ผู้เขียนจึงตามต่อไปคุยกับชาวมอญที่สังขละบุรี แม้มีแผนการเดินทางท่องเที่ยว ก็เพื่อจะไปคุยกับชาวมอญแค่ที่อำเมือง และอำเภอท่าเรือที่กาญจนบุรีเท่านั้น แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเลยต้องขับรถไปอีกว่า 160 กว่า ก.ม. เพื่อไปให้ถึงด่านเจดีย์สามองค์

ไปถึงด่านฯ แล้วรู้สึกว่าคุ้มค่าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย คนแถวด่านฯ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตไทยหรือเมียนมาร์ ต่างพูดได้อย่างน้อย 3-4 ภาษาคือ มอญ ไทย พม่า และกระเหรี่ยง  เพราะพื้นที่นี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก คือมี 5 ชาติพันธุ์ คือ มอญ พม่า ไทย กระเหรี่ยง ลาว และไทยใหญ่ และที่สำคัญคือเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนโน่นนี่นั่นกันบนความสัมพันธ์เชิงราบ (แบบบ้านๆ) เขาถึงพูดภาษาของกันและกันได้ ไม่เหมือนกัพม่า มอญ ไทยในสมุทรสาคร แม้จะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่แทบพูดภาษาของกันและกันไม่ได้ (เว้นแต่มอญที่เรียนหนังสือพม่าก็พูดพม่าได้ แต่ไม่คล่อง) ก็เพราะมันแยกพื้นที่ แยกเขตแดน จนเกือบไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน

ด่านเจดีย์สามองค์ ฝั่งไทย

และด่านฯ นี้ก็ข้ามไป-มาแบบไม่ต้องใช้เอกสารได้ง่ายมาก ผู้เขียนยังข้ามกลับไป-มาหลายครั้งภายในวันเดียว เพียงแค่เดินเข้าทางหน้าบ้านในฝั่งไทยแล้ว ออกทางหลังบ้านก็กลายเป็นฝั่งพม่า หรือไม่ก็แค่ก้มตัวลอดรั้วลวดหนามเท่านั้น

ณ พรมแดนไทย-เมียนมาร์ ด่านเจดีย์สามองค์ ขาขวาอยู่ฝั่งไทย ขาซ้ายอยู่ฝั่งเมียนมาร์ 

อำเภอเจดีย์สามองค์ฝั่งเมียนมาร์ (พญาโตงสู่เมี่ยว – ในภาษาเมียนมาร์) เป็นเมืองที่รับรู้กันทั่วไปว่าเป็น “เมืองมอญ” แต่ดันอยู่ในรัฐกระเหรี่ยง และประชากรส่วนใหญ่เป็นพม่า เคยเป็นพื้นที่ที่สู้รบกันอย่างหนักระหว่างกระเหรี่ยงกับมอญ มอญกับพม่า และกระเหรี่ยงกับพม่า แต่ในที่สุดรัฐบาลพม่าก็เข้าควบคุมพื้นที่นี้ได้ (อย่างน้อยก็ตรงด่านผ่านแดน 2 ประเทศ) แต่ก็ไม่ 100%  การสู้รบก็ได้ยุติลงชั่วคราวเพราะสัญญาสงบศึก

ที่น่าสนใจคือในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานบริเวณนี้ ใช้แรงงานและทารุณชาวบ้านเยี่ยงทาสเพื่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ชาวบ้านแถวนี้ยังรู้สึกเจ็บใจ และอยากให้ญี่ปุ่นไถ่บาป

เมื่อเดินทางเข้าไปลึกจากด่านฯ ประมาณ 20 กิโลเมตร ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ผู้เขียนก็ได้พบโรงเรียนที่สอนถึงระดับมัธยมต้น (เกรด 9) เด็กๆ นักเรียนเกือบทั้งหมดเป็นคนมอญ (มีบ้างที่เป็นพม่าและกระเหรี่ยง) ในเวลาที่ผู้เขียนไปถึงนั้น เขากำลังแข่งกีฬาสามัคคี ระหว่างโรงเรียนมอญหลายโรงฯ ในบริเวณนี้ ครูจากหลายโรงเรียนพาเด็กๆ มาแข่งกีฬาสีและนอนค้างคืนในโรงเรียน งบประมาณในการแข่งกีฬามาจากการบริจาคของชาวบ้านมอญ

 

โรงเรียนในหมู่บ้านมอญ บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอพญาโตงสู่ รัฐกระเหรียง ประเทศเมียนมาร์

เมื่อเข้าไปคุยกับคุณครู พบว่าโรงเรียนนี้ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของเมียนมาร์ แต่สอนวิชาเพิ่มในวิชาประวัติศาสตร์และภาษามอญ ที่น่าสนใจคือเขาสอนภาษาไทยด้วย (ดังภาพ)

โปสต์เตอร์การสอนภาษาไทย ในโรงเรียนหมู่บ้านมอญ ใกล้ด่านเจดีสามองค์ อำเภอพญาโตงสู่ รัฐกระเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์

ตำราเรียนประวัติศาสตร์มอญ ชั้นประถม 3

เด็กๆ บางคนพูดภาษาพม่าไม่ได้ ครูบอกว่าเด็กอ่านภาษาพม่าได้ แต่เป็นแบบคาราโอเกะ  แล้วมีครูมอญเป็นผู้แปลภาษาให้

เมื่อไปคุยกับคุณครูมอญ 3 คนจากถิ่นอื่นๆ ที่พาเด็กๆ มาแข่งกีฬา ก็พบว่า พวกหล่อนมาจากโรงเรียนประถม พวกหล่อนอายุ 20 และ 21 ปี เป็นครูมาตั้งแต่อายุ 17 ปีแล้ว พวกหล่อนไม่ได้จบระดับปริญญาตรี เนื่องจากแถวนี้หาคนที่จบปริญญาตรียาก ส่วนคนที่จบปริญญาตรี ก็จะไม่มาเป็นครูบ้านนอก

ที่น่าแปลกใจมากมายคือ โรงเรียนนี้ใช้ธงชาติมอญ ร้องเพลงชาติมอญหน้าเสาธง แทนที่จะเป็นธงชาติเมียนมาร์

ธงชาติมอญ ในโรงเรียนหมู่บ้านมอญ อำเภอพญาโตงสู่ รัฐกระเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์

เมื่อผู้เขียนออกไปดูเขาเชียร์กีฬาฟุตบอลหญิง ก็ได้ยินพวกเขาก็ตะโกนว่า “สู้ สู้” เป็นภาษาไทยตลอดเวลา ฟังแล้วผู้เขียนก็แปลกใจ เมื่อถามพี่ๆ น้าๆ ซึ่งเป็นคนมอญที่พูดไทยได้ เขาบอกว่า เพราะว่าคนแถวนี้ดูทีวีไทย มากว่าทีวีเมียนมาร์ เงินก็ใช้เงินไทย เพราะคนแถวนี้ข้ามไปทำงานในโรงงานในฝั่งไทยทุกวัน

การแข่งขันกีฬาฟุตบอลหญิงของโรงเรียนหมู่บ้านมอญ อำเภอพญาโตงสู่ รัฐกระเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์

เมื่อถามว่าทำไมใช้ธงชาติและร้องเพลงชาติมอญ ครูตอบว่า ก็นี่มันโรงเรียนมอญ ไม่ใช่โรงเรียนพม่า แล้วไม่กลัวทหารพม่าหรือ ผู้เขียนถาม เขาบอกว่าไม่กลัว เพราะตอนนี้มีสัญญาเจรจาหยุดยิง

อิอิ...เลยมโนนึกไปถึงแนวคิดเรื่องอธิปไตย “เชิงซ้อน” (complex sovereignty) ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (ethnic diversity) และอำนาจเชิงซ้อน (complexity of power) ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และรัฐบาลกลาง

ว่าแล้วก็ให้คิดถึงข้อถกเถียงเรื่องการออกแบบการจัดการรัฐในเมียนมาร์ (ประเทศที่ประกอบไปด้วยรัฐ 7 รัฐ และ 135 ชาติพันธุ์) ว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะเป็นรัฐเดี่ยว (unitary state) แต่น่าจะเป็นสหพันธรัฐ (federal state) อีกเช่นกัน

...และแล้ว หน้า อจ.อานันท์ ที่เคารพรัก ก็ลอยมาพร้อมคำ “การจัดการเชิงซ้อน” ...เพราะนี่คือการเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนและอำนาจอันหลากหลาย ให้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนออกแบบ ต่อรองโน่นนี่นั่นกันอย่างสันติ (อัลไลกัน...นี่เรามัน “อานันท์เนี่ยน” (Ananian) ชัดๆ เบย...อิอิ)

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้รัฐบาลกลางเมียนมาร์จะพยายามใช้กำลังควบคุมชนกลุ่มน้อยมากซักเพียงใด วัฒนธรรมและอำนาจของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ (เช่น การศึกษา คอนเสิร์ต ทำบุญ ฯลฯ) ซึ่งอ่อนและลื่นไหลยิ่งกว่าสายน้ำ ก็สามารถหลุดรอดการควบคุมได้อย่างไม่มีข้อสงสัย...

และยิ่งเชื่อเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อผู้เขียนไปกินข้าวในตลาดเจดีย์สามองค์ฝั่งเมียนมาร์ แล้วดันไปเจอหนุ่มมอญใส่เสื้อที่เขียนว่า.... Mon Never Die”

โอ้วซซซซซซซ มายก๊อดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด

 

บันทึกการเดินทางเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด