เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปนิเทศน์นิสิตที่ฝึกงานที่บ้านพักเด็กและครอบครัว แห่งหนึ่งของทางราชการ และได้พบกับเด็กชายชาวพม่า ๒ คนที่ถูกตำรวจจับและส่งให้บ้านพักเด็กแห่งนี้ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก เด็กคนแรกอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบ คนที่สองเป็นน้องอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
ในจังหวะแรกที่พบเด็กชายผู้พี่ ผู้เขียนทราบว่าเป็นชาวพม่า ก็เลยทักทายเป็นภาษาพม่า ถามชื่อ ถามโน่น นี่ นั่น อีกนิดหน่อย แล้วถามว่าพูดไทยได้หรือไม่ เด็กตอบว่าได้ และต่อมาบทสนทนาก็เป็นภาษาไทย เนื้อหาในการสนทนาไม่ได้มีอะไรน่าสนใจไปกว่า “ท่าที” ของการสนทนา ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเด็กคนนี้มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ สุภาพ พูดจาฉะฉาน ราวกับเป็นคนมีความคิด เมื่อผู้เขียนไปคุยกับน้องชายของเขาก็บพบว่าเป็นเด็กที่มีบุคลิกลักษณะที่โตเกินตัวเหมือนพี่ชาย
สิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนสนใจ ใคร่เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของสองพี่น้องนี้กับนิสิตที่ฝึกงานและเจ้าหน้าที่ของบ้านพักฯ
เด็กทั้ง ๒ เป็นลูกของแม่ที่มีลูกประมาณ ๕-๖ คน (จำชัดๆ ไม่ได้) ซึ่งอยู่ในชุมชนสลัมพม่าในอำเภอชายแดนแห่งหนึ่ง พ่อแม่เด็กแยกทางกัน แม่เด็กมีพฤติกรรมกินเหล้าเมายา ไม่ค่อยทำมาหากิน แล้วให้ลูก ๒ คนนี้ช่วยเหลือในการทำมาหากิน ด้วยการคุ้ยขยะขายและช่วยเลี้ยงน้องๆ
วันที่เด็ก ๒ คนนี้ถูกจับคือวันที่ตำรวจวิ่งไล่กวดเด็กกลุ่มขอทานชาวพม่าแล้วเด็กขอทานกลุ่มนั้นก็วิ่งมาจนมุมในจุดที่เด็ก ๒ คนนี้กำลังคุ้ยขยะ ตำรวจเลยรวบตัวไปทั้งหมด ทั้งเด็กขอทานและเด็กคุ้ยขยะ
แน่นอนว่าขอทานเด็กมีความผิดตาม พรบ. ควบคุมขอทาน พ.ศ. ๒๔๘๔ ส่วนเด็กคุ้ยขยะ ผิดอะไร ผู้เขียนสงสัย เจ้าหน้าที่ตอบว่า “ถ้าพ่อแม่แค่ให้เด็ก “ช่วย” คุ้ยขยะหาเลี้ยงครอบครัว โดยที่พ่อแม่เป็นแรงงานหลักมันคงไม่ผิดเรื่องการใช้แรงงานเด็ก แต่นี่เด็กเป็นแรงงานหลัก มันเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก ๒๕๔๖"
เราถามว่า “เด็กรู้สึกหรือไม่ว่าการช่วยงาน (เป็นหลัก) ให้แม่และน้องๆ หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการคุ้ยขยะแบบนี้เป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่เขาโดนละเมิด” เจ้าหน้าที่ตอบว่า “เด็กไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น เด็กรู้สึกปกติและเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อช่วยแม่และน้อง เด็กสองคนนี้รักแม่มาก...”
“โอ้วซซซ...นี่มันวันเฉลิมกับลำยอง ทองเนื้อเก้า ชัดๆ” เราอุทาน เจ้าหน้าที่และนิสิตฝึกงานยิ้ม และนิสิตตอบว่า “พวกหนูยังคุยกันเลยว่า นี่คือเรื่อง “ทองเนื้อเก้า เวอร์ชั่นพม่า (อิอิ)”
เมื่อเด็กมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ เขาคิดถึงแม่ และอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เขาร้องไห้ โหยหาแม่ เมื่อพาเขากลับไปเยี่ยมแม่ เขาก็อาลัยอาวรณ์ ไม่อยากมาอยู่ที่บ้านพักฯ แห่งนี้
เดือนหน้าแล้วสินะที่เด็กสองคนนี้จะอยู่ครบที่นี่ ๓ เดือน ซึ่งตามระเบียบจะอยู่เกินจากนี้ไม่ได้ เด็กจะต้องถูกส่งไปสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กฯ ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าเด็กไม่อยากจะถูกส่งตัวไปที่นั่น แต่ก็ไม่ได้แสดงอาการต่อต้านแต่อย่างใด
ผู้เขียนถามต่อว่า “เมื่อเด็กถูกส่งต่อไปยังสถานคุ้มครองฯ แล้วปัญหาแบบนี้จะคลี่คลายไปในทิศทางใด” ได้รับคำตอบว่า “ถ้าเราไม่แยกเอาลูกออกมา แม่เขาก็จะไม่รู้จักทำมาหากิน และยังคงต้องใช้แรงงานเด็ก (ลูก) ให้ไปหากินเป็นหลักอยู่ดี ส่วนเด็ก ก็จะได้รับการฝึกอาชีพใหม่ๆ”
เราถามอีกว่า “แบบนี้ ทั้งแม่และเด็กเขาจะเข้าใจเรื่อง “สิทธิเด็ก” ซึ่งเป็นวาทกรรมของนักสิทธิมนุษยชนและนักพัฒนาหรือ? หรือเขามองว่าเจ้าหน้าที่รัฐมาคุกคามชีวิตอันเป็นปกติของเขา” ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า “ตอนแรกไม่เข้าใจ โวยวายด่าทออย่างเดียว ส่วนเด็กก็ร้องจะกลับบ้าน แต่หลังๆ มานี้เราไปชี้แจง แม่เด็กเริ่มสงบและเข้าใจ”
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ทั้งแม่และเด็กเข้าใจประเด็นดังกล่าวจริงๆ แต่คงจะได้เรียนรู้ว่าการโวยวายด่าทอ และร้องไห้กลับบ้าน เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ผลกับทางราชการซึ่งมีอำนาจทั้งในเชิงวาทกรรมและกลไกมากมายที่จะมาจัดการกับชีวิตของพวกเขาตามนโยบายของกระทรวงฯ
เจ้าหน้าที่อธิบายต่อว่า “เพราะแม่มีเด็ก ๒ คนนี้ จึงทำให้แม่ขี้เกียจทำมาหากิน และหากแม่เริ่มทำงานจริงๆ จังๆ ได้เมื่อไร จึงจะส่งเด็กกลับ” (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร และจะนิยามอย่างไร จึงจะเรียกว่า “แม่ได้ทำมาหากินได้จริงๆ จังๆ แล้ว” ที่สำคัญคือ ใครนิยาม)
ผู้เขียนนึกในใจต่อว่า... “อ้าว หากไม่เป็นไปตามที่เราคาดคิด (unintended consequences) (คือเอาเด็กออกมาจากแม่ แม่จะเริ่มทำมาหากินเอง) แต่กลายเป็นว่ายิ่งผลักแม่ให้ไปหาผัวใหม่มาเลี้ยง แล้วมีลูกเพิ่มขึ้นอีก แล้วก็กดดันให้น้องๆ ของเขาทั้งสอง ต้องทำแบบที่เขาทั้งสองเคยทำ คือคุ้ยขยะหาเลี้ยงแม่และน้อง หรือตัวแม่เองไปฉกชิง ลักขโมย หรือ บลา บลา บลา แล้วมันจะยังไงต่อละเนี่ย"
...เราไม่รู้ลึกซึ้งหรอกว่าแม่ของเด็กวันเฉลิมมีเงื่อนไขและข้อจำกัดในชีวิตอะไร ที่ทำให้นางต้องกินเหล้าเมายาไม่ทำมาหากินจริงๆ จังๆ ทั้งในเงื่อนไขด้านสุขภาพใจ-กาย สวัสดิภาพ หรือแม้กระทั่งต้องเลี้ยงดูลูกอ่อนจนไปทำงานได้ลำบาก (เรื่องนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะตามเข้าไปในอำเภอชายแดนเพื่อไปพบกับแม่ของเด็กทั้ง ๒ นั้น และก็ได้ไปแล้ว แต่ก็เป็นเวลาพลบค่ำพอดี ทำให้ไม่สามารถเข้าไปได้ด้วยสาเหตุที่ตัวเองเป็นคนแปลกหน้าเข้าไปในยามวิกาล ส่วนวันรุ่งขึ้นก็มีภารกิจอื่นๆ ที่ต้องกระทำ เลยได้แต่เสียดายที่ไม่ได้เรียนรู้ชีวิตของเขาเพิ่มขึ้น)
และเจ้าหน้าที่รัฐจะทำอย่างไรต่อไป ในเมื่อ ถ้าหลังจาก A กลับทะลึ่งไม่เป็น B แต่อาจจะเป็น C หรือ D หรือ Z ...นอกจากจะจบแบบไม่สวยงามตามคิดแล้ว อาจจะเพิ่มปัญหาหนักหนาลงไปอีก ก็เป็นได้
แล้วเด็กวันเฉลิมสองพี่น้องซึ่งมีศีลธรรมและวุฒิภาวะที่โตเกินตัว จะได้รับการพัฒนาศีลธรรมและวุฒิภาวะให้เจริญยิ่งขึ้นไป แบบวันเฉลิมเวอร์ชั่นภาษาไทย ที่ทำให้เขากลายเป็นคนที่มีความหมายต่อการพัฒนาสังคมไทย อีกหรือไม่ ถ้าเด็กยังได้อยู่กับแม่และน้องในชุมชน... หรือการได้อยู่กับแม่-น้องทำให้เขาหมดเงื่อนไขในการพัฒนาตัวเอง?
คำถามเหล่านี้ ก็ไม่มีใครตอบแบบ "ฟันธง" ได้นะจุ๊
...และนี่แหละที่ travelling ethnographer เกิดอาการอาการกระอักกระอ่วนใจ เมื่อต้องเจอการ “ปะทะ” กันระหว่างการให้ความหมายของการพัฒนาระดับ macro และ micro ความลักลั่นระหว่างศีลธรรมระดับ “วาทกรรม” สิทธิเด็กและวาทกรรมการพัฒนา กับ ศีลธรรมทางศาสนา ที่เด็กต้องรับผิดชอบช่วยเหลืองานในครอบครัว (ไม่ว่าพ่อแม่จะเป็นอะไร จัน อังคาร หรือพุธไร ในสายตาของนักพัฒนา ...แต่พ่อแม่คืออรหันต์ของลูกเสมอ)
ศึกนี้...เราต้องยกให้วาทกรรมและกลไกการพัฒนาระดับบนของรัฐ ชนะไปก่อน
แต่มันก็บ่แน่ดอกนาย... สงครามยังไม่จบ ถ้าเราคิดว่าคนเล็กคนน้อย "ไร้พลัง" ที่จะ “ดิ้น” เพื่อหลุดรอดวาทกรรมการพัฒนา และการควบคุมชีวิตของพวกเขาโดยรัฐ ก็ออกจะดูเบาชาวบ้านร้านถิ่นไปหน่อยนะจุ๊
และนี่ก็คือประเด็นเดียวกันกับที่ผู้เขียนเคยเห็นมากหลายต่อหลายครั้ง ...เด็กหญิงที่ถูกพ่อ/ลุง/น้า/ปู่/ตา ทั้งแท้และไม่แท้ ข่มขืนมาเป็นเวลาหลายปีดีดัก ...ซึ่งเรา เหล่านักพัฒนาต่างชี้ประเด็นไปว่า “ละเมิดสิทธิเด็ก/ใช้ความรุนแรงกับเด็ก”
และต่อมาต้องเกิดอาการ “เงิบ” เมื่อพบว่า...เด็กหญิงที่เข้าไปอยู่ในบ้านพักเหล่านี้ ต่างดิ้นรนทุกวิถีทางทั้งเปิดเผยและดื้อเงียบ เช่นออกไปยืนตากแดดเพื่อประท้วงนานนับชั่วโมงๆ เพื่อที่จะกลับไปอยู่ที่บ้าน แล้วไปโดน “เอา” (หรือภาษาทางการเรียกว่า “โดนล่วงละเมิดทางเพศ)
...ภายใต้คำอธิบายของเด็ก (บางคน) ที่ว่า “นี่คือการแสดงความรักของพ่อ/ลุง/น้า/ปู่/ตาของพวกหล่อน”
และคนอย่างเราๆ แทบจะไม่ได้ยินว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นปัญหาสังคมเลย ถ้าเด็กไม่ท้อง และแม่/ยาย/ย่า เด็กออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ชายหัวหงอก-ดำเหล่านั้นจนเป็นคดีความและเป็นข่าว
ก็ในเมื่อไม่มีใคร “ฟันธง” ทิศทางการแก้ปัญหาได้ และมีอะไรอีกหลายสิ่งอันที่สลับซับซ้อน ไม่เป็นไปตามคาด ก็ไม่ควรมีวาทกรรมใดวาทกรรมหนึ่ง ศีลธรรมใดศีลธรรมหนึ่ง และการพัฒนาจากระดับใดระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะจากรัฐหรือครอบครัว เข้ามาครอบงำและควบคุมการพัฒนาชีวิตมนุษย์
ฤามิใช่...