Skip to main content

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2557 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปคุยกับผู้อาวุโสชาวไทที่เมืองคอง (ปัจจุบันคืออำเภอบาเทือก (Ba Tước) จังหวัดแทงฮว๋า (Thanh Hoá)) ทางภาคกลางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งท่านเป็นข้าราชการครูเกษียณอายุแล้ว ชื่อ ลุง “ห่านามนิง” (ซึ่งในที่นี่ผู้เขียนจะเรียกว่า บ๊ากนิง (ลุงนิง)) บ๊ากนิง รวมทั้งเพื่อนลุง คือบ๊าก “ห่ากงโหม่ว” (บ๊ากโหม่ว) เรียกตัวเขาเองและผู้ไทแถบเมืองคองนี้ว่า “ไทแดง” อีกชื่อที่เขายอมให้คนอื่นเรียกคือ “ไทเมืองคอง” แม้ไทเมืองคองมีภาษาและวัฒนธรรมเชิงวัตถุคล้าย “ไทขาว” เมืองมุน(มาย) ที่อยู่อำเภอมายโจว จังหวัดฮว่าบิ่ง ซึ่งห่างจากอำเภอบาเทื๊อกไปประมาณ 70 กว่ากิโลเมตร รวมทั้งมีประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมกับเมืองมุนที่ว่า “เมืองหมกเป็นอ้าย เมืองมายเป็นน้อง เมืองคองเป็นอ๊อด” (เมืองหมกเป็นพี่ เมืองมายเป็นน้อง และเมืองคองเป็นน้องคนสุดท้อง) ก็ตามที

แผนที่บริเวณอำเภอหมกโจว จังหวัดเซินลา จนถึง เถื่องซวน จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

ทั้ง 2 เมืองคือเมืองมาย และเมืองคอง ต่างบอกตัวเองแก่โลกต่างกัน เมืองหมกและเมืองมาย บอกแก่โลกว่า เขาคือ “ไทขาว” ส่วนเมืองคองบอกว่า พวกเขาเป็น “ไทแดง” แล้วยังบอกอีกว่า มายโจวนั้นก็เมืองผู้ไทแดง บ่แม่นผู้ไทขาวกะเล้อ  ทำเอา “อง(ปู่)ห่ากงติ๋น” ข้าราชการตำรวจเกษียณอายุ ผู้สอนภาษาไทขาวแก่เจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านเมืองมายโจว ที่มาเยี่ยมลบ๊ากนิงพร้อมกับผู้เขียนหันขวับไปมองหน้าบ๊ากนิง แล้วออกอาการ “เงิบ” ไปพักหนึ่ง

ดูเหมือนว่าคนไทบริเวณนี้จะมีความเกี่ยวพันกับลาว บ๊ากนิงกล่าว ชื่อเรียกไทแดงนั้นมาจากการที่คนลาวเรียก ทั้งนี้เพราะคนแถวนี้ใส่เสื้อผ้าแดง งานศพก็ใส่สีแดง กวานต่าย (โลงศพ) ก็สีแดง เป็นชื่อที่ลาวเรียก ไม่ใช่เพราะเราเป็นคนไทที่อยู่ลุ่มแม่น้ำแดงดอก ซึ่งดูเผินๆ แล้ว เห็นจะจริงว่าแถวนี้ “ไม่ใช่ลุ่มแม่น้ำแดง” เนื่องจากจังหวัดแทงฮว๋าและจังหวัดแหงะอาน (Nghẹ An) ซึ่งคนไทแดงซึ่งส่วนใหญ่อยู่นั้นคือพื้นที่ลุ่มน้ำม๋า (Mã)

บรรดาสะใภ้ไทขาว/แดง ยืนเป็นเจ้าภาพส่งศพไปฝัง

ถ่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ณ อำเภอมายโจว จังหวัดฮว่าบิ่ง เวียดนาม

ส่วนลุ่มน้ำแดงนั้นอยู่บริเวณจังหวัดหล่าวกาย (Lào Cai) ฮานอย (Hà Nội) ฝู๋เถอะ (Phú Thọ) เอียนบ๋าย (Yên Bái) หวิ๋งฟุ๊ก (Vĩnh Phúc), เฮืองเอียน (Hưng Yên), ห่านาม (Hà Nam) , ถ๋ายบิ่ง (Thái Bình), นามดิ่ง (Nam Định) และที่  ยูนนาน (Vân Nam - Yunnan) ประเทศจีน, อันเป็นถิ่นที่อยู่ของเวียด ต่าย (Tày) และนุง (Nung) แต่ก็เป็นไปได้ ในความคิดของผู้เขียน หากพิจารณาจากถิ่นฐานดั้งเดิมของคนไทบางกลุ่มเช่น ไทเมืองมุน และไทเมืองคอง ที่มีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำแดงตอนบน ที่ลาวก๊าย

อย่างไรก็ดี ปราญช์/ผู้นำท้องถิ่นไทแดงเกือบทุกคนที่ผู้เขียนคุยด้วย ต่างไม่รู้ว่าชื่อไทแดงนี้มาจากไหน เรียกว่าไทแดงก็ไทแดง จะว่าเรียกว่าไทแดงเพราะนุ่งซิ่นสีแดงใช่หรือไม่ ชาวบ้านต่างตอบว่าไม่ใช่เพราะนุ่งซิ่นสีแดง

การแต่งกายผู้ไทแดงเมืองคอง ณ ตลาดวัดอาทิตย์ อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

การแต่งกายของผู้ไทขาว และบ้านไทขาว ณ อำเภอมายโจว จังหวัดฮว่าบิ่ง เวียดนาม

เอาหล่ะ ทิ้งไว้ก่อน กลับเมืองไทยไปก่อน แล้วเดือนกรกฎาคม ตอนปิดเทอม ค่อยมาใหม่

5 เดือนผ่านไป ในเดือนกรกฎาคม ผู้เขียนกลับมาคุยกับบ๊ากนิง และบ๊ากโหม่วอีกครั้ง คราวนี้มีอาจารย์ฝั่บเจิ่นทังลอง จากมหาวิทยาลัยทังลอง มาร่วมคุยด้วย ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การแบ่งว่าเป็นคนไทขาว-แดง หรือไทแทงฮว๋า แหงะอ่านนั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่เป๊ะเว่อร์”  บางครั้งเขาก็ถูกเรียกว่า โน่น นี่ นั่น ขึ้นอยู่ว่าใครเรียกเขา และเขายอมรับหรือไม่รับชื่อที่เรียกนั้น

คราวนี้ทั้งสองบ๊ากบอกแก่ผู้เขียนว่าเขาไม่ควรถูกเรียกว่าไทขาวหรือไทแดง  บ๊ากนิงบอกว่าที่ถูกต้องที่สุดควรเรียกว่า ไทแทงฮว๋า แต่ถ้ายังเรียกว่าไทแดงนั้น ก็ยังยอมรับได้ ส่วนการเรียกพวกเขาว่าไทขาวนั้น เป็นคำที่เขายอมรับไม่ได้ 

บ๊ากนิงยังบอกอีกว่า เขาเชื่อว่าคนไทที่มีรากเหง้าเดียวกันกับไทเมืองคอง คือคนไทที่หมกโจว (จังหวัดเซินลา) – จังหวัดแหงะอาน ไม่ใช่ “ไทดำ” ที่ “เตยบั๊ก” (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม) เพราะมีวัฒนธรรมและภาษาพูดคล้ายๆ กัน สิ่งนี้เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับคนไทดำ แม้พูดภาษาในตระกูลไทก็ตาม เห็นได้จากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองมุน(เมืองมาย) และประวัติศาสตร์เมืองคองกับราชสำนักดงโด (ฮานอย) ค่อนข้างแตกต่างจากประวัติศาสตร์นิพนธ์ของ “สิบสองจุไท” โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของเมืองแถง (Mương Thanh) (ปัจจุบันคือจังหวัด เดียนเบียนฝู๋ (Địên Biên Phủ)) ของชาวไทดำ เพราะเมืองผู้ไทแถบนี้ ไม่ใช่เมืองที่ราชสำนักฯ นับรวมว่าอยู่ในเขตสิบสองจุไท (“เถิ่บหลุกโจว” หรือ สิบหกจุไท ในอดีต)

ผู้เขียนเคยคุยกับ “อง (ปู่) ข่าเตี๋ยน” (ปู่เตี๋ยน) อดีตหัวหน้าแผนกวัฒนธรรม อำเภอมายโจว จังหวัดฮว่าบิ่ง ปู่เตี๋ยนเห็นว่าไทแดงกับไทขาวเมืองมุนเป็นคนละกลุ่มกัน ไทแดงที่อยู่แทงฮว๋าอพยพมาจากจึน ระหว่างเส้นทางการอพยพ มีกลุ่มหนึ่ง “หยุด” อยู่ที่เมืองมุน (อำเภอมายโจว) อีกกลุ่มหนึ่งเดินทางลงใต้ต่อมาแล้วหยุดที่เมืองต่างๆ ในแทงฮว๋า หลายกลุ่มอพยพไปทางตะวันออก ต่อไปยังซำเหนือ สปป.ลาว ส่วนไทขาวนั้นมีเฉพาะที่เมืองหมก เมืองมุน และเมืองคอง ที่เหลือนั้นเป็นไทกลุ่มอื่นๆ เหล่านี้คือกลุ่มผู้ไทขาว

แต่สำหรับบ๊ากนิงแล้ว แม้เขาจะเป็นลูกหลานไทเมืองคอง ซึ่งมีบรรพบุรุษคนเดียวกันกับ “ไทขาว” ที่เมืองมุน มีบ้านเรือน ภาษาพูด ตัวอักษร การแต่งกายคล้ายเมืองมุน แต่เขาเรียกตัวเองว่า “ไทแดง” เขายังยืนยันอีกด้วยว่าไทเมืองมุนคือไทแดง ไม่ใช่ไทขาว ซึ่งเรื่องนี้ไทเมืองมุน อย่างน้อยก็ปู่ติ๋น ไม่อาจยอมรับได้

อักษรไทโบราณ ของเมืองมุน

อักษรไทโบราณ ของเมืองคอง

เห็นหรือไม่ท่านผู้อ่าน ว่าความเป็นไท ความเป็นพวกเดียวกัน เป็นเรื่องของการ “ประกอบสร้าง” (construction) ล้วนๆ ทั้งๆ ที่ก็มีประวัติความทรงจำว่าเป็นพี่เป็นน้องมาเหมือนกัน ภาษา การแต่งกาย บ้านเรื่อน โน่น นี่ นั่น เหมือนกัน เมืองก็อยู่ติดกัน แต่สุดท้ายก็เรียกตัวเองให้ "ต่างกัน" เป็นคนละกลุ่มกัน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง รึเปล่า ไม่ทราบได้ เพราะยังทำวิจัยไม่เสร็จ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือยังมีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ไทขาว” อีกกลุ่มที่อยู่แถบเมืองไล (จังหวัดลายโจว) และเมืองเติ๊ก อำเภอฟู่เอียน จังหวัดเซินลา แต่สำหรับชาวบ้านไทขาวเมืองมุน เมืองหมก และเมืองคอง นั้นบอกว่าพวกผู้ไทเมืองไล และที่เชินลานั้นเป็นคนละพวกกับตัวเองแน่นอน (ทั้งๆ ที่ต่างก็เรียกตัวเองว่า “ไทขาว” เหมือนกัน) เรื่องนี้ ศาสตราจารย์เกิ่มจ่อง ผู้เชี่ยวชาญด้านไทศึกษาในเวียดนาม ก็เห็นว่าเป็นคนละกลุ่มกัน ในหนังสือ “The Thai Ethnic Community in Viet Nam” (2007) อาจารย์เกิ่มจ่อง กล่าวว่า กลุ่มไทขาวที่เมืองหมก (หมกโจว) เมืองมุน (มายโจว) รวมทั้งไทที่เมืองเติ๊ก เมืองสาง เมืองเจียงกี๋ เป็นกลุ่มไทขาวกลุ่มที่สอง ที่อพยพมาจากแม่น้ำแดงตอนบน ลงมาทางใต้ของแม่น้ำแดง ต่อมายังแม้น้ำดำ (น้ำแต้) ผ่านหมกโจว บางส่วนอยู่ที่นั้น แต่บางส่วนล่องแม่น้ำดำจนมาถึงที่เมืองมุน ส่วนไทขาวกลุ่มที่สามอยู่แถวภาคตะวันตกของจังหวัดแทงฮว๋าและแหงะอาน นั้นอาจจะมาจากกลุ่มคนไทที่อยู่เมืองมุน และเมืองหะ (เมืองเล็กๆ ในเมืองมุน)

เรื่องไทแดง ไทขาวแถบมายโจว-แทงฮว๋า ยังไม่หายฝุ่นตลบ ก็มีเรื่องที่ต้องให้ได้ “เงิบ” อีก เมื่อผู้เขียนไปเที่ยวที่ “บ้านคอเมือง” (Kho Mường) อำเภอบาเทื๊อก แทงฮว๋า เจ้าบ้านที่ผู้เขียนไปพักบอกว่าตัวเองเป็นคน “ไทดำ” ทว่าภาษาพูด การแต่งกาย และวัตถุวัฒนธรรม กลับเหมือนไทแดงเมืองคอง และเหมือนไทขาวที่มายโจวมว๊าก ผู้เขียนจึงถามว่าอพพยพมาจาก “เดียนเบียน เซินลา” หรือจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือหรือเปล่า เขาบอกว่าเปล่า เขาอยู่ที่นี่แต่ไหนแต่ไรแล้ว เล่นทำเอาผู้เขียนร้อง ฮ่วย! ก่อนจะตั้งสติได้ว่า ช่างมันเต๊อะ เด๋วเดือนพฤษภาคม (ที่จะถึงนี้) จะกลับไปหาคำตอบ

บ้านคอเมือง อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

บ้านผู้ไท (แดง) ที่บ้านฮาง อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

เสน่ห์ของไทศึกษาในเวียดนามก็อยู่ตรงนี้แหละ... ทำวิจัยไป ฝุ่นตลบไป ชัดๆ เบลอๆ เอ๋อๆ เงิบๆ วับๆ แวมๆ สามารถทำให้นักวิจัยเกิดอาการของขึ้น ใคร่อยากรู้ อยากลอง เป็นระยะๆ

เมื่อกลับมาอ่านงานของอาจารย์เกิ่มจ่อง ก็พบว่าเห็นว่าคนไทแถบนี้ก็มีบ้างที่เป็น ไทดำ อาจารย์เกิ่มจ่องเห็นว่าวัฒนธรรมของคนไทกลุ่มนี้มีความใกล้เคียงเป็นอย่างมากกับไทดำกลุ่มที่อพยพจากเมืองม่วย (อำเภอถ่วนโจว จังหวัดเซินลา ในปัจจุบัน) มาอยู่ที่จังหวัดแหงะอาน ในศตวรรษที่ 15 สมัยราชวงศ์เลตอนท้าย

กลับมาเรื่องที่มาของชื่อของไทแดงอีกนะครัช ชื่อไทแดงมายังไงนั้น จนบัดนาว ก็ยังเป็นที่เถียงกันอยู่ มีนักวิชาการชาวไท-เวียดนามท่านหนึ่ง บอกแก่ผู้เขียนว่า ที่ชื่อว่าไทแดงนั้นก็เพราะอำเภอลานแจ๋ง จังหวัดแทงฮว๋า (ใกล้เมืองคอง (บาเทื๊อก)) อันเป็นถิ่นที่มีไทแดงดกดื่น ในอดีตที่ถูกเรียกว่า “เมืองแดง” ดังนั้น นักวิชาการหลายคนจึงเรียกไทในเมืองนี้ว่า ไทแดง แต่อาจารย์เกิ่มจ่องกล่าวในงานเขียนของท่านว่า ที่มีนักวิชาการหลายคนเรียกผู้ไทแถบนี้ว่า ไทแดง เพราะการแต่งกายสีแดงในพิธีศพนั้นไม่น่าจะใช่ เพราะทั้งไทดำและไทขาว (ผู้เป็นสะใภ้ซึ่งถือเป็นเจ้าเรือน – ผู้เขียน) ก็ล้วนแต่แต่งกายด้วยชุดแดง

แต่ผู้เขียนเห็นต่าง เพราะจากการอ่านงานของอาจารย์เกิ่มจ่องเกี่ยวกับการอพยพ และเอกสารไทโบราณฉบับที่ถูกคัดลอกต่อๆ กันมา แล้วแปลเป็นภาษาเวียดนามที่ยังไม่ได้พิมพ์โดยปู่เตี๋ยน ชื่อไทแดงน่าจะมาจากการที่พวกเขา (ตระกูลขุนนางไทเมืองหมก เมืองมุน และเมืองคอง) มีบรรพบุรุษอพยพมาจาก “ลุ่มแม่น้ำแดง” ตอนบน คือเมือง “เกื๊อกเปือกข่า” (Kước Pươc Khà) ปัจจุบันคือเมืองบั๊กห่า (Bắc Hà) จังหวัดล่าวกาย เกือบติดพรมแดนจีน ในศริสศตวรรษที่ 13 เส้นทางการอพยพนั้น คือเส้นที่ลงมาทางใต้มาทางแม่น้ำแดง จากนั้นจึงย้อนขึ้นไปทางแม่น้ำดำ (แม่น้ำแต้ ในภาษาไทดำ) จากนั้นก็มีกลุ่มไทผู้พี่ลงหลักปักฐานที่เมืองหมก ไทผู้น้องลงมาทางใต้อีกนิดหน่อย แล้วลงหลักปักฐานที่เมืองมุน ส่วนน้องคนสุดท้องนำผู้คนเดินทางลงไปทางใต้จนถึงเมืองคอง กลุ่มแม่น้ำม๋า

แม่น้ำม๋า ณ อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋า เวียดนาม

แต่จนถึงบัดนี้ เรื่องชื่อและชีวิตร่วมสมัยของผู้ไทแดง สำหรับผู้เขียน ก็ยังเป็นเรื่องที่ช่างน่า “หื่นกระหาย” มีเสน่ห์ น่าค้นหาอีกต่อไปจนกว่าชีวิตทางวิชาการจะหาไม่ หรือจนกว่าจะพบ “ความพอเพียง” ในคำตอบ

ว่าแล้วนางก็เตรียมตัวเดินทางจากอำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋า ข้ามด่านนาแหม่ว ไปยังเวียงไซ-ซำเหนือ  สปป. ลาว เพื่อไปค้นหาพบหน้าพูดคุยกับไทแดงที่นั่น สักครั้งหนึ่งก็ยังดี

โปรดติดตามการเดินทางของ travelling ethnographer และการตามหาไทแดงของนางต่อไป ในตอนหน้า... สบายดี

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด