ทำไมลูกหลานแรงงานเมียนมาร์ที่สมุทรสาครเรียน/ไม่เรียนในโรงเรียนไทย?

แรงงานชาวเมียนม่าร์ (พม่า มอญ ทวาย อารกัน ฉาน กระเหรี่ยง ฯลฯ) ที่สมุทรสาคร แม้มียอดลงทะเบียนทั้งเก่าและใหม่ถึง 387,510 คน แต่จากการประมาณการของ NGOs ทั้งไทยและเมียนม่าร์ น่าจะมีประมาณ 600,000 – 700,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 15,000 คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เด็กเหล่านี้เพียงร้อยละ 7.6 ที่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ (ทั้งที่ได้รับรองมาตรฐานการศึกษาจากรัฐไทยหรือเมียนมาร์ และไม่ได้รับการรับรอง) และเพียงร้อยละ 3.3 ที่ได้เรียนในโรงเรียนของรัฐบาลไทย

ประเด็นเรื่องการศึกษาของลูกหลานแรงงานเมียนมาร์นี้ เมื่อดูเผินๆ แล้ว คล้ายกับจะเป็นปัญหาการกีดกันเด็กๆ ลูกหลานแรงงานต่างชาติ แต่มันไม่ใช่เสียทีเดียว

แม้ว่ารัฐบาลไทย โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 โอกาสแก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฏร์ทุกคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนไทย (เช่น ในสมุทรสาคร มีโรงเรียนวัดศิริมงคล โรงเรียนวัดกำพร้า) ประกอบกับการที่สมุทรสาครมีโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ของทั้งชาวพม่า มอญ และทวาย รวมกันประมาณ 9 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามของทั้งรัฐ เอ็นจีโอ และชุมชนของชาวไทย พม่า มอญ และทวาย รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ในการจัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานแรงงานเมียนมาร์ (แม้มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก็ตาม)

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ พ่อแม่เด็กชาวเมียนมาร์จำนวนมาก ไม่ต้องการ และ/หรือ ไม่มีความพยายาม ให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนไทย บางคนให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ทางการเมียนมาร์รับรองมาตรฐานหลักสูตร บางคนให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ทางการเมียนมาร์ไม่รับรอง แต่โรงเรียนในรัฐมอญ (ในเมียนมาร์) รับรอง บางคนไม่ส่งลูกเรียนในโรงเรียน แต่ส่งไปศูนย์การเรียนรู้ บางคนส่งลูกกลับไปเรียนต่อที่ประเทศเมียนมาร์ บางคนไม่ส่งไปไหนเลยทั้งโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้

ทำไมจึงเป็นแบบนั้น...

ตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงเดี๋ยวนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูและพูดคุยแบบขำขำ-ชิลชิล (ไม่ได้ทำวิจัยใดแม้แต่น้อย) กับแรงงานชาวเมียนมาร์แถวสมุทรสาคร-กาญจนบุรี อยู่ 3-4 ครั้งตามประสา travelling ethnographer ที่พาทั้งพ่อและนิสิตไปเที่ยว(ศึกษาดูงาน) ที่โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่จัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานแรงงานเมียนม่าร์ ทำให้ได้ครุ่นคิดคำนึงถึงเพื่อนร่วมแผ่นดินชาวเมียนม่าร์และอนาคตของพวกเขาและลูกหลานของเขาทั้งในแผ่นดินไทยและแผ่นดินเมียนมาร์

ปัญหามันหลายอย่าง และสลับซับซ้อน  แต่ถ้ามองในระดับผิวหน้า ก็คงจะให้ภาพได้ว่าแต่ละกลุ่มมีเหตุผล การให้ความหมาย และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนี้

หนึ่ง กลุ่มไม่เรียนในที่ใดเลย เหตุผลที่มองเห็นชัดๆ ระดับผิวหน้าคือ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของครอบครัว ได้แก่

  • มีการเคลื่อนย้ายแรงงานสูง แรงงานชาวเมียนมาร์มักไม่ได้ทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน เมื่อย้าย ลูกต้องย้าย และเป็นการยากที่จะให้เรียนต่
  • โรงเรียน/ศูนย์อยู่ไกลบ้าน การไปรับ-ส่ง ในตอนเช้า-เย็นเป็นปัญหา

สอง กลุ่มที่ไม่ส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนไทย แต่ส่งไปเรียนหลักสูตรทางการของรัฐบาลเมียนมาร์ในประเทศไทย

เรื่องนี้เพราะพ่อแม่กลัวเด็กไม่สามารถอ่าน-เขียน-มีความรู้ภาษาและวัฒนธรรมเมียนมาร์ได้ เมื่อกลับไปเมียนมาร์แล้วจะมีปัญหาการปรับตัวและการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ พวกเขายังมีความหวังในอนาคตที่จะกลับไปอยู่เมียนมาร์ และต้องการให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อที่เมียนมาร์ในระดับที่สูงขึ้น

อีกทั้ง การเป็นคนอื่น ในแผ่นดินอื่น จึงทำให้เขาพยายามสร้างเส้นเขตแดนทางวัฒนธรรมในด้านการศึกษา ไว้กับความเป็นชาตินิยม (nationalism) ความมีอะไร “ร่วมกัน” (collectiveness) และความเป็นเจ้าของ (belonging)

ภาพ 1 ในห้องเรียน (ศาลาวัดชั้น 2) โรงเรียนวัดเทพนรรัตน์ อำเภอเมือง สมุทรสาคร  เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรทางการรัฐบาลเมียนมาร์

 

ภาพ 2-3 โรงเรียนที่ชุมชน Bya Ma So อำเภอกระทุ่มแบน  สมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้หลักสูตรได้มาตรฐานทางการเมียนมาร์

สาม กลุ่มที่เรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ของมอญ

แม้ว่าชาวมอญ(เมียนมาร์) ในสมุทรสาคร จะตระหนักว่า การเรียนการสอนในศูนย์การเรียนรู้ของพวกเขา ไม่ทำให้เด็กๆ ที่จบไปสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ไม่ว่าจะทั้งจากหลักสูตรรัฐบาลไทยหรือหลักสูตรรัฐบาลเมียนมาร์ แต่เขาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเชื่อมต่อการศึกษาที่ศูนย์การเรียนรู้ของพวกเขาให้เข้ากับโรงเรียนในรัฐมอญ (ในประเทศเมียนมาร์) ด้วยการเห็นช่องทางอันน้อยนิดว่า เด็กที่จบจากโรงเรียนในรัฐมอญ จะไปเรียนต่อในโรงเรียนหลักสูตรทางการรัฐบาลเมียนมาร์ได้

เรื่องของมอญในสมุทรสาครนี้ ทำให้ผู้เขียนเดาว่า สำนึกการเป็น “พลเมืองรัฐชาติเมียนมาร์” (ซึ่งถูกสร้างผ่านอะไร ไม่แน่ใจ) ดูจะสำคัญน้อยกว่าสำนึก “ความเป็นมอญ” ซึ่งเป็นสิ่งถูกประกอบสร้างทางวัฒนธรรม มากมายนัก และนี่ทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะหาคำตอบต่อไป

ภาพ 4-5 โรงเรียนของชาวมอญ (เมียนมาร์) ที่วัดโคก (วัดศรีบูรณาวาส) อำเภอเมือง สมุทรสาคร ที่ใช้หลักสูตรการศึกษาของมอญ

สี่ กลุ่มที่ให้ลูกหลานเรียนในศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้จัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานหลักสูตรทั้งไทยและเมียนมาร์ เด็กๆ ที่เรียนจบไปไม่สามารถเรียนในระดับการศึกษาที่สูงได้ 

ศูนย์นี้ถูกจัดการโดยเอ็นจีโอไทย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ของมูลนิธิรักษ์ไทย จัดการโดยผู้ประกอบการไทย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ในโรงงานของบริษัท โกลเดนไพรซ์ แคนนิ่ง จำกัด  หรือแม้แต่ศูนย์การเรียนรู้ที่จัดการโดยวัดนักบุญอันนาลัย (ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน  3 แห่ง) พ่อแม่เด็กหลายคนส่งลูกมาเรียนเพื่อต้องการให้ใครซักคนดูแลลูกๆ เวลาพวกเขาไปทำงาน อีกทั้ง...เป็นผลพลอยได้ หากเด็กๆ จะอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทย และ/หรือภาษาเมียนมาร์ และ/หรือมอญ และ/หรืออังกฤษ

ภาพ 6-7 นิสิตสาขาวิชารัฐศาสตร์ ปีที่ 2 ม.นเรศวร กับน้องๆ ณ ศูนย์เรียนรู้วัดนักบุญอันนาลัย อำเภอเมือง สมุทรสาคร

ภาพ 8 ศูนย์การเรียนรู้ในโรงงานของบริษัทโกลเด้นไพรซ์ แคนนี่ง จำกัด อำเภอเมือง สมุทรสาคร

และ ห้า กลุ่มที่ให้ลูกหลานเรียนในโรงเรียนหลักสูตรทางการไทย

แม้บางคนมองว่าให้เรียนอะไรก็ได้ ดีกว่าให้เด็กอยู่เปล่าๆ แต่หลายคนที่ส่งลูกเรียน ร.ร. ไทย เช่น ที่โรงเรียนวัดศิริมงคล โรงเรียนวัดกำพร้า ก็เพราะว่า พวกเขามีอนาคตอยู่ที่ประเทศไทย พวกเขาประสบความสำเร็จจากการประกอบอาชีพในประเทศไทยในระดับหนึ่ง เช่น เป็นหัวหน้าคนงาน เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นเจ้าของร้านขายของชำ รถเข็น-แผงค้าขาย หรือแม้แต่เป็นแรงงานที่ได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท รวมโอทีวันละ 2 ชม.ๆ ละ 56 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กที่เรียนโรงเรียนไทยส่วนใหญ่ต่างก็เกิดในเมืองไทย

ภาพ 9  โรงเรียนวัดศิริมงคล อำเภอเมือง สมุทรสาคร โรงเรียนของรัฐบาลไทย ที่มีลูกหลานแรงงานเมียนมาร์มาเรียนด้วย

อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยก็มีข้อจำกัดมากมาย (ยังไม่นับรวมเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียน ทั้งโรงเรียน/ศูนย์การเรียนรู้ของไทย เมียนมาร์ และมอญ) เท่าที่คุยกับทาง Labor Rights Promotion Network (LPN) พบว่า พ่อแม่เด็กทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง เคลื่อนตัวตลอดเวลา ซึ่งดูเป็นเรื่องที่แก้ได้ลำบาก

แต่อีกปัญหาที่สำคัญคือการ ไม่มี “คนกลาง” ไป “เชื่อม” ประสานงานกับพ่อแม่ของเด็ก เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนไทย

เรื่องนี้คือสิ่งที่ LPN เข้าไปทำงานอย่าง active กว่าพ่อแม่เด็ก ส่วนเรื่องที่เด็กพูดภาษาไทยไม่แข็งแรง ก็แก้ไขได้ด้วยการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระบบ และการที่ทางโรงเรียน (เช่นโรงเรียนวัดศิริมงคล) ใช้การเรียนรู้แบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ก็ทำให้เด็กเมียนมาร์พอเอาตัวรอดและพัฒนาภาษาไทยต่อไปได้

เสียดาย ที่ “ในสมุทรสาคร” นอกจาก LPN แล้ว ยังไม่เห็นใครทำงานในฐานะ “ตัวเชื่อม” อีก

ภาพ 10 ชั้นเรียนเตรียมความพร้อมด้านภาษาและวัฒนธรรมไทยของ LPN ก่อนที่เด็กๆ จะเข้าเรียนโรงเรียนไทย

และเป็นที่น่าเศร้าใจอยู่ไม่น้อยเมื่อเห็นคนกลุ่มเล็กๆ หยิบมือเดียว ใน movement ของ MEII (Migrant Education Integration Initiatives) (ที่มีแกนนำอยู่เชียงใหม่) กับความพยายามอันมากมายในการ “เชื่อมโยง” กิจกรรมการศึกษาที่มีอยู่ตามศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ให้เข้าสู่หลักสูตรมาตรฐาน ของทั้งทางการไทยและเมียนมาร์ (โดยของไทยคือการเชื่อมโยงเข้ากับ กศน.) 

รัฐบาลไทยน่าจะเข้ามา “รุก” ในฐานะ “ตัวเชื่อม” กับเรื่องนี้ เพราะการลงทุนลงแรงด้านการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าพวกคุณมองเด็กเหล่านี้เป็นใครใน(การพัฒนา) ประเทศของคุณ

การไม่ลงทุนกับการศึกษาก็เท่ากับเป็นการผลักให้พวกเขาไม่มีทางเลือก เป็นได้แค่แรงงาน 3Ds (dirty, dangerous, disregarding) ที่อยู่ในภาคเกษตรอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการบริการ ที่ไร้อำนาจต่อรอง ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ภายใต้เศรษฐกิจของการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น (labor intensive economy)  (แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกผู้ประกอบการที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบ เพราะนานาชาติ เช่น UN หรือ EU เขาก็จ้องเล่นงานเราในเรื่องแรงงานอยู่)

การพูดไทยไม่ได้ ไม่รู้หนังสือไทย ไม่รู้ถึงสิทธิแรงงานและกฎหมาย รวมทั้งการไม่มีใบอนุญาตทำงาน เท่ากับทำให้เขาไร้อำนาจต่อรองเพื่อเข้าถึงสิทธิแรงงาน

เจอแบบนี้เข้าหนักเข้า เขาจะกลับประเทศไปมิใช่น้อย ผู้เขียนได้ยินเสียงบ่นจากแรงงานเมียนมาร์ว่าพวกเขาทำงานที่ไทยก็แค่อยู่ได้ไปวันๆ แทบจะเก็บเงินกลับไปสร้างฐานะไม่ได้เลย อยู่ต่อไปก็ไม่มีอนาคต หากเศรษฐกิจ-การเมืองเมียนมาร์ดีขึ้น พอมีงานทำ กลับบ้านได้ ก็จะกลับ

และในขณะนี้นั้น แรงงานมีฝีมือและปัญญาชนชาวเมียนมาร์ได้ทะยอยกันกลับประเทศแล้ว ด้วยความหวังที่จะกลับไป “สร้างชาติ”

จากการพูดคุยกับนายหน้าผู้ทำพาสปอร์ตชั่วคราวให้แรงงานชาวเมียนมาร์ที่สมุทรสาคร พบว่า แรงงานชาวเมียนมาร์ลดลงไปประมาณ ร้อยละ 5 แม้ไม่มาก แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

เรื่องแบบนี้ รัฐบาลที่ฉลาดๆ มองการณ์ไกล จะต้องไม่ทำแค่การ “ควบคุม” แรงงานภายใต้แนวคิดเรื่อง “ความมั่นของของชาติ” เท่านั้น แต่จะ “จัดการแรงงาน” ให้พวกเขามีสิทธิ มีคุณภาพชีวิตที่ดี  เช่น ใช้กฎหมายแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำอย่างเสมอภาค มีการประกันสังคม ไม่ควรเก็บค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนแรงงาน รวมทั้งการเปลี่ยนงานเปลี่ยนนายจ้างที่สูงเหยียบพัน (ซึ่งเมื่อรวมกับค่านายหน้าที่เขาต้องไปจัดการให้ แรงงานเหล่านี้ย่อมต้องเสียเท่าตัว)

ทั้งนี้ โดยมองเขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยไม่ไปแบ่งแยกว่าเขาเป็นใคร ฝรั่ง จีน ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา

...ก็เพราะเราเตรียมที่จะกลายเป็น “พลเมืองอาเซียน” กันอยู่แล้วมิใช่หรือ

และการที่ จนท. รัฐจะร่วมด้วยช่วย LPN เข้ามาทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในส่งต่อให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงการศึกษาในระบบของไทย หรือแม้แต่ช่วย MEII ส่งต่อเด็กๆ ที่เรียนหลักสูตรทางการเมียนมาร์ และมอญ เข้าสู่ระบบ กศน. และ/หรือเข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐบาลเมียนมาร์อย่างจริงๆ จังๆ ก็จะเป็นการตอบโจทย์นี้อีกแรง

เพราะถ้าเขาได้เรียนหนังสือทั้งไทย เมียนมาร์ และ/หรือมอญ เขาจะมีทั้งความสามารถพิเศษ และมีอำนาจต่อรอง (ด้านสิทธิแรงงาน) กับนายจ้าง เหมือนกับที่แรงงานฝรั่ง ญี่ปุ่น ฯลฯ มีอำนาจต่อรอง (ด้วยกลไก/เครื่องมืออื่น)

ถึงแม้ว่ามันยังคงเป็นงาน 3Ds ถ้าเขารู้สึกว่ามัน “เป็นธรรม” เขาก็จะอยู่ต่อ ... และเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาแรงงานอย่างเข้มข้น ก็ยังคงเดินได้หน้าต่อไป อย่างสร้างสรรค์ (สร้างสรรค์เพราะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม)

คิดเอาแล้วกัน...อีก 10-20 ปี สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในภาคอุตสาหกรรม เกษตร ก่อสร้าง และบริการ จะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก (เท่าที่คุยกับผู้ประกอบการ ทุกวันนี้ การขาดแคลนแรงงานก็เป็นปัญหาหนักหนาอยู่แล้ว)  

...ถ้าเราไม่ทำ อนาคตข้างหน้า จะมีใครมาเป็นแรงงานพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เรากดขี่ เอารัดเอาเปรียบแทนชาวเมียนมาร์ได้อีก... ไม่ทราบ!!!

ไปเยี่ยมไผ่ ดาวดินในเรือนจำ...แล้วมันได้อะไรขึ้นมา (วะ)?

อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ

บันทึกภาคสนามในเวียดนาม 4/2559: ฟังเรื่องเล่า “ตือม้าฮายด่าว” วีรบุรุษไทเมืองเซีย ในศึกชิงดินแดนเวียด-ลาว ในศตวรรษที่ 14

ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เ

บันทึกภาคสนามในเวียดนามหน้า 2/2559: มื้อแรกในรอบ 2 ปีกับครอบครัวไทขาวที่มายโจว (เมืองมุน)

ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงปัจจุบ