Skip to main content

แรงงานชาวเมียนม่าร์ (พม่า มอญ ทวาย อารกัน ฉาน กระเหรี่ยง ฯลฯ) ที่สมุทรสาคร แม้มียอดลงทะเบียนทั้งเก่าและใหม่ถึง 387,510 คน แต่จากการประมาณการของ NGOs ทั้งไทยและเมียนม่าร์ น่าจะมีประมาณ 600,000 – 700,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 15,000 คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เด็กเหล่านี้เพียงร้อยละ 7.6 ที่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ (ทั้งที่ได้รับรองมาตรฐานการศึกษาจากรัฐไทยหรือเมียนมาร์ และไม่ได้รับการรับรอง) และเพียงร้อยละ 3.3 ที่ได้เรียนในโรงเรียนของรัฐบาลไทย

ประเด็นเรื่องการศึกษาของลูกหลานแรงงานเมียนมาร์นี้ เมื่อดูเผินๆ แล้ว คล้ายกับจะเป็นปัญหาการกีดกันเด็กๆ ลูกหลานแรงงานต่างชาติ แต่มันไม่ใช่เสียทีเดียว

แม้ว่ารัฐบาลไทย โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 โอกาสแก่เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฏร์ทุกคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนไทย (เช่น ในสมุทรสาคร มีโรงเรียนวัดศิริมงคล โรงเรียนวัดกำพร้า) ประกอบกับการที่สมุทรสาครมีโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ของทั้งชาวพม่า มอญ และทวาย รวมกันประมาณ 9 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามของทั้งรัฐ เอ็นจีโอ และชุมชนของชาวไทย พม่า มอญ และทวาย รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ในการจัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานแรงงานเมียนมาร์ (แม้มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก็ตาม)

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ พ่อแม่เด็กชาวเมียนมาร์จำนวนมาก ไม่ต้องการ และ/หรือ ไม่มีความพยายาม ให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนไทย บางคนให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ทางการเมียนมาร์รับรองมาตรฐานหลักสูตร บางคนให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ทางการเมียนมาร์ไม่รับรอง แต่โรงเรียนในรัฐมอญ (ในเมียนมาร์) รับรอง บางคนไม่ส่งลูกเรียนในโรงเรียน แต่ส่งไปศูนย์การเรียนรู้ บางคนส่งลูกกลับไปเรียนต่อที่ประเทศเมียนมาร์ บางคนไม่ส่งไปไหนเลยทั้งโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้

ทำไมจึงเป็นแบบนั้น...

ตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงเดี๋ยวนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูและพูดคุยแบบขำขำ-ชิลชิล (ไม่ได้ทำวิจัยใดแม้แต่น้อย) กับแรงงานชาวเมียนมาร์แถวสมุทรสาคร-กาญจนบุรี อยู่ 3-4 ครั้งตามประสา travelling ethnographer ที่พาทั้งพ่อและนิสิตไปเที่ยว(ศึกษาดูงาน) ที่โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่จัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานแรงงานเมียนม่าร์ ทำให้ได้ครุ่นคิดคำนึงถึงเพื่อนร่วมแผ่นดินชาวเมียนม่าร์และอนาคตของพวกเขาและลูกหลานของเขาทั้งในแผ่นดินไทยและแผ่นดินเมียนมาร์

ปัญหามันหลายอย่าง และสลับซับซ้อน  แต่ถ้ามองในระดับผิวหน้า ก็คงจะให้ภาพได้ว่าแต่ละกลุ่มมีเหตุผล การให้ความหมาย และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนี้

หนึ่ง กลุ่มไม่เรียนในที่ใดเลย เหตุผลที่มองเห็นชัดๆ ระดับผิวหน้าคือ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของครอบครัว ได้แก่

  • มีการเคลื่อนย้ายแรงงานสูง แรงงานชาวเมียนมาร์มักไม่ได้ทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน เมื่อย้าย ลูกต้องย้าย และเป็นการยากที่จะให้เรียนต่
  • โรงเรียน/ศูนย์อยู่ไกลบ้าน การไปรับ-ส่ง ในตอนเช้า-เย็นเป็นปัญหา

สอง กลุ่มที่ไม่ส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนไทย แต่ส่งไปเรียนหลักสูตรทางการของรัฐบาลเมียนมาร์ในประเทศไทย

เรื่องนี้เพราะพ่อแม่กลัวเด็กไม่สามารถอ่าน-เขียน-มีความรู้ภาษาและวัฒนธรรมเมียนมาร์ได้ เมื่อกลับไปเมียนมาร์แล้วจะมีปัญหาการปรับตัวและการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ พวกเขายังมีความหวังในอนาคตที่จะกลับไปอยู่เมียนมาร์ และต้องการให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อที่เมียนมาร์ในระดับที่สูงขึ้น

อีกทั้ง การเป็นคนอื่น ในแผ่นดินอื่น จึงทำให้เขาพยายามสร้างเส้นเขตแดนทางวัฒนธรรมในด้านการศึกษา ไว้กับความเป็นชาตินิยม (nationalism) ความมีอะไร “ร่วมกัน” (collectiveness) และความเป็นเจ้าของ (belonging)

ภาพ 1 ในห้องเรียน (ศาลาวัดชั้น 2) โรงเรียนวัดเทพนรรัตน์ อำเภอเมือง สมุทรสาคร  เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรทางการรัฐบาลเมียนมาร์

 

ภาพ 2-3 โรงเรียนที่ชุมชน Bya Ma So อำเภอกระทุ่มแบน  สมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้หลักสูตรได้มาตรฐานทางการเมียนมาร์

สาม กลุ่มที่เรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ของมอญ

แม้ว่าชาวมอญ(เมียนมาร์) ในสมุทรสาคร จะตระหนักว่า การเรียนการสอนในศูนย์การเรียนรู้ของพวกเขา ไม่ทำให้เด็กๆ ที่จบไปสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ไม่ว่าจะทั้งจากหลักสูตรรัฐบาลไทยหรือหลักสูตรรัฐบาลเมียนมาร์ แต่เขาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเชื่อมต่อการศึกษาที่ศูนย์การเรียนรู้ของพวกเขาให้เข้ากับโรงเรียนในรัฐมอญ (ในประเทศเมียนมาร์) ด้วยการเห็นช่องทางอันน้อยนิดว่า เด็กที่จบจากโรงเรียนในรัฐมอญ จะไปเรียนต่อในโรงเรียนหลักสูตรทางการรัฐบาลเมียนมาร์ได้

เรื่องของมอญในสมุทรสาครนี้ ทำให้ผู้เขียนเดาว่า สำนึกการเป็น “พลเมืองรัฐชาติเมียนมาร์” (ซึ่งถูกสร้างผ่านอะไร ไม่แน่ใจ) ดูจะสำคัญน้อยกว่าสำนึก “ความเป็นมอญ” ซึ่งเป็นสิ่งถูกประกอบสร้างทางวัฒนธรรม มากมายนัก และนี่ทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะหาคำตอบต่อไป

ภาพ 4-5 โรงเรียนของชาวมอญ (เมียนมาร์) ที่วัดโคก (วัดศรีบูรณาวาส) อำเภอเมือง สมุทรสาคร ที่ใช้หลักสูตรการศึกษาของมอญ

สี่ กลุ่มที่ให้ลูกหลานเรียนในศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้จัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานหลักสูตรทั้งไทยและเมียนมาร์ เด็กๆ ที่เรียนจบไปไม่สามารถเรียนในระดับการศึกษาที่สูงได้ 

ศูนย์นี้ถูกจัดการโดยเอ็นจีโอไทย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ของมูลนิธิรักษ์ไทย จัดการโดยผู้ประกอบการไทย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ในโรงงานของบริษัท โกลเดนไพรซ์ แคนนิ่ง จำกัด  หรือแม้แต่ศูนย์การเรียนรู้ที่จัดการโดยวัดนักบุญอันนาลัย (ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน  3 แห่ง) พ่อแม่เด็กหลายคนส่งลูกมาเรียนเพื่อต้องการให้ใครซักคนดูแลลูกๆ เวลาพวกเขาไปทำงาน อีกทั้ง...เป็นผลพลอยได้ หากเด็กๆ จะอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทย และ/หรือภาษาเมียนมาร์ และ/หรือมอญ และ/หรืออังกฤษ

ภาพ 6-7 นิสิตสาขาวิชารัฐศาสตร์ ปีที่ 2 ม.นเรศวร กับน้องๆ ณ ศูนย์เรียนรู้วัดนักบุญอันนาลัย อำเภอเมือง สมุทรสาคร

ภาพ 8 ศูนย์การเรียนรู้ในโรงงานของบริษัทโกลเด้นไพรซ์ แคนนี่ง จำกัด อำเภอเมือง สมุทรสาคร

และ ห้า กลุ่มที่ให้ลูกหลานเรียนในโรงเรียนหลักสูตรทางการไทย

แม้บางคนมองว่าให้เรียนอะไรก็ได้ ดีกว่าให้เด็กอยู่เปล่าๆ แต่หลายคนที่ส่งลูกเรียน ร.ร. ไทย เช่น ที่โรงเรียนวัดศิริมงคล โรงเรียนวัดกำพร้า ก็เพราะว่า พวกเขามีอนาคตอยู่ที่ประเทศไทย พวกเขาประสบความสำเร็จจากการประกอบอาชีพในประเทศไทยในระดับหนึ่ง เช่น เป็นหัวหน้าคนงาน เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นเจ้าของร้านขายของชำ รถเข็น-แผงค้าขาย หรือแม้แต่เป็นแรงงานที่ได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท รวมโอทีวันละ 2 ชม.ๆ ละ 56 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กที่เรียนโรงเรียนไทยส่วนใหญ่ต่างก็เกิดในเมืองไทย

ภาพ 9  โรงเรียนวัดศิริมงคล อำเภอเมือง สมุทรสาคร โรงเรียนของรัฐบาลไทย ที่มีลูกหลานแรงงานเมียนมาร์มาเรียนด้วย

อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยก็มีข้อจำกัดมากมาย (ยังไม่นับรวมเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียน ทั้งโรงเรียน/ศูนย์การเรียนรู้ของไทย เมียนมาร์ และมอญ) เท่าที่คุยกับทาง Labor Rights Promotion Network (LPN) พบว่า พ่อแม่เด็กทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง เคลื่อนตัวตลอดเวลา ซึ่งดูเป็นเรื่องที่แก้ได้ลำบาก

แต่อีกปัญหาที่สำคัญคือการ ไม่มี “คนกลาง” ไป “เชื่อม” ประสานงานกับพ่อแม่ของเด็ก เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนไทย

เรื่องนี้คือสิ่งที่ LPN เข้าไปทำงานอย่าง active กว่าพ่อแม่เด็ก ส่วนเรื่องที่เด็กพูดภาษาไทยไม่แข็งแรง ก็แก้ไขได้ด้วยการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระบบ และการที่ทางโรงเรียน (เช่นโรงเรียนวัดศิริมงคล) ใช้การเรียนรู้แบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ก็ทำให้เด็กเมียนมาร์พอเอาตัวรอดและพัฒนาภาษาไทยต่อไปได้

เสียดาย ที่ “ในสมุทรสาคร” นอกจาก LPN แล้ว ยังไม่เห็นใครทำงานในฐานะ “ตัวเชื่อม” อีก

ภาพ 10 ชั้นเรียนเตรียมความพร้อมด้านภาษาและวัฒนธรรมไทยของ LPN ก่อนที่เด็กๆ จะเข้าเรียนโรงเรียนไทย

และเป็นที่น่าเศร้าใจอยู่ไม่น้อยเมื่อเห็นคนกลุ่มเล็กๆ หยิบมือเดียว ใน movement ของ MEII (Migrant Education Integration Initiatives) (ที่มีแกนนำอยู่เชียงใหม่) กับความพยายามอันมากมายในการ “เชื่อมโยง” กิจกรรมการศึกษาที่มีอยู่ตามศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ให้เข้าสู่หลักสูตรมาตรฐาน ของทั้งทางการไทยและเมียนมาร์ (โดยของไทยคือการเชื่อมโยงเข้ากับ กศน.) 

รัฐบาลไทยน่าจะเข้ามา “รุก” ในฐานะ “ตัวเชื่อม” กับเรื่องนี้ เพราะการลงทุนลงแรงด้านการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าพวกคุณมองเด็กเหล่านี้เป็นใครใน(การพัฒนา) ประเทศของคุณ

การไม่ลงทุนกับการศึกษาก็เท่ากับเป็นการผลักให้พวกเขาไม่มีทางเลือก เป็นได้แค่แรงงาน 3Ds (dirty, dangerous, disregarding) ที่อยู่ในภาคเกษตรอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการบริการ ที่ไร้อำนาจต่อรอง ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ภายใต้เศรษฐกิจของการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น (labor intensive economy)  (แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกผู้ประกอบการที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบ เพราะนานาชาติ เช่น UN หรือ EU เขาก็จ้องเล่นงานเราในเรื่องแรงงานอยู่)

การพูดไทยไม่ได้ ไม่รู้หนังสือไทย ไม่รู้ถึงสิทธิแรงงานและกฎหมาย รวมทั้งการไม่มีใบอนุญาตทำงาน เท่ากับทำให้เขาไร้อำนาจต่อรองเพื่อเข้าถึงสิทธิแรงงาน

เจอแบบนี้เข้าหนักเข้า เขาจะกลับประเทศไปมิใช่น้อย ผู้เขียนได้ยินเสียงบ่นจากแรงงานเมียนมาร์ว่าพวกเขาทำงานที่ไทยก็แค่อยู่ได้ไปวันๆ แทบจะเก็บเงินกลับไปสร้างฐานะไม่ได้เลย อยู่ต่อไปก็ไม่มีอนาคต หากเศรษฐกิจ-การเมืองเมียนมาร์ดีขึ้น พอมีงานทำ กลับบ้านได้ ก็จะกลับ

และในขณะนี้นั้น แรงงานมีฝีมือและปัญญาชนชาวเมียนมาร์ได้ทะยอยกันกลับประเทศแล้ว ด้วยความหวังที่จะกลับไป “สร้างชาติ”

จากการพูดคุยกับนายหน้าผู้ทำพาสปอร์ตชั่วคราวให้แรงงานชาวเมียนมาร์ที่สมุทรสาคร พบว่า แรงงานชาวเมียนมาร์ลดลงไปประมาณ ร้อยละ 5 แม้ไม่มาก แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

เรื่องแบบนี้ รัฐบาลที่ฉลาดๆ มองการณ์ไกล จะต้องไม่ทำแค่การ “ควบคุม” แรงงานภายใต้แนวคิดเรื่อง “ความมั่นของของชาติ” เท่านั้น แต่จะ “จัดการแรงงาน” ให้พวกเขามีสิทธิ มีคุณภาพชีวิตที่ดี  เช่น ใช้กฎหมายแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำอย่างเสมอภาค มีการประกันสังคม ไม่ควรเก็บค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนแรงงาน รวมทั้งการเปลี่ยนงานเปลี่ยนนายจ้างที่สูงเหยียบพัน (ซึ่งเมื่อรวมกับค่านายหน้าที่เขาต้องไปจัดการให้ แรงงานเหล่านี้ย่อมต้องเสียเท่าตัว)

ทั้งนี้ โดยมองเขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยไม่ไปแบ่งแยกว่าเขาเป็นใคร ฝรั่ง จีน ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา

...ก็เพราะเราเตรียมที่จะกลายเป็น “พลเมืองอาเซียน” กันอยู่แล้วมิใช่หรือ

และการที่ จนท. รัฐจะร่วมด้วยช่วย LPN เข้ามาทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในส่งต่อให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงการศึกษาในระบบของไทย หรือแม้แต่ช่วย MEII ส่งต่อเด็กๆ ที่เรียนหลักสูตรทางการเมียนมาร์ และมอญ เข้าสู่ระบบ กศน. และ/หรือเข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐบาลเมียนมาร์อย่างจริงๆ จังๆ ก็จะเป็นการตอบโจทย์นี้อีกแรง

เพราะถ้าเขาได้เรียนหนังสือทั้งไทย เมียนมาร์ และ/หรือมอญ เขาจะมีทั้งความสามารถพิเศษ และมีอำนาจต่อรอง (ด้านสิทธิแรงงาน) กับนายจ้าง เหมือนกับที่แรงงานฝรั่ง ญี่ปุ่น ฯลฯ มีอำนาจต่อรอง (ด้วยกลไก/เครื่องมืออื่น)

ถึงแม้ว่ามันยังคงเป็นงาน 3Ds ถ้าเขารู้สึกว่ามัน “เป็นธรรม” เขาก็จะอยู่ต่อ ... และเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาแรงงานอย่างเข้มข้น ก็ยังคงเดินได้หน้าต่อไป อย่างสร้างสรรค์ (สร้างสรรค์เพราะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม)

คิดเอาแล้วกัน...อีก 10-20 ปี สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในภาคอุตสาหกรรม เกษตร ก่อสร้าง และบริการ จะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก (เท่าที่คุยกับผู้ประกอบการ ทุกวันนี้ การขาดแคลนแรงงานก็เป็นปัญหาหนักหนาอยู่แล้ว)  

...ถ้าเราไม่ทำ อนาคตข้างหน้า จะมีใครมาเป็นแรงงานพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เรากดขี่ เอารัดเอาเปรียบแทนชาวเมียนมาร์ได้อีก... ไม่ทราบ!!!

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
ครบปีแล้วสินะที่เราเดินตามก้นอาจารย์อานันท์ไปสำรวจซิดนี่ย์... เมื่อเอารูปเก่าๆ มาดู...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วันนั้น อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ในวัย ๖๘ ปี นอกจากจะสอนหนังสือมาราธอน สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า ๙ ชม.
เก๋ อัจฉริยา
มอญในเมียนมาร์ ไม่ว่าจะอยู่ที่เมียนมาร์แลนด์หรือไทยแลนด์ ต่างก็ได้ชื่อว่า เป็น “คนอื่น” ในแผ่นดินที่ (เคย) เป็นของตัวเอง ถ้าเรามองภายใต้กระบวนทัศน์ที่แบบมองอะไรแบบ “เชิงเดี่ยว”  
เก๋ อัจฉริยา
แรงงานชาวเมียนม่าร์ (พม่า มอญ ทวาย อารกัน ฉาน กระเหรี่ยง ฯลฯ) ที่สมุทรสาคร แม้มียอดลงทะเบียนทั้งเก่าและใหม่ถึง 387,510 คน แต่จากการประมาณการของ NGOs ทั้งไทยและเมียนม่าร์ น่าจะมีประมาณ 600,000 – 700,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 15,000 คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เด็กเหล่านี้เพียงร้อยละ 7.6 ที
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปนิเทศน์นิสิตที่ฝึกงานที่บ้านพักเด็กและครอบครัว แห่งหนึ่งของทางราชการ และได้พบกับเด็กชายชาวพม่า ๒ คนที่ถูกตำรวจจับและส่งให้บ้านพักเด็กแห่งนี้ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก เด็กคนแรกอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบ คนที่สองเป็นน้องอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
เก๋ อัจฉริยา
ในฐานะนักมานุษยวิทยาการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะรู้สึกฟินฝุดๆ เมื่อพบว่าพื้นที่ท่องเที่ยวใดเปิดโอกาส เปิดที่ เปิดทางให้คนเล็กคนน้อยได้ทำมาหากิน และเปิดที่ เปิดทาง เปิดโอกาส ให้คนเล็กคนน้อยได้เที่ยวในราคาถูกแบบบ้านๆ เช่นกัน
เก๋ อัจฉริยา
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายชั่วอายุคนแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่ที่น่าสนใจเพราะมันเพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ผู้เขียนใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย 3 ปี พ่อเล่าให้ฟังว่ามีบั้งไฟขึ้นกลางลำน้ำโขงตอนออกพรรษา แต่ไม่มีใครในบ้านสนใจไปดูแ
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อมีคนรู้ว่าผู้เขียนพานิสิตจำนวน 16 คนไปถ่ายทำสารคดีบั้งไฟพญานาค ส่วนใหญ่ต่างก็ถามว่า มา “พิสูจน์” บั้งไฟพญานาคหรือ?
เก๋ อัจฉริยา
เมื่อพูดถึงเจดีย์ไชทียู หรือที่คนไทยรู้จักในนามพระธาตุอินทร์แขวน ก็ขอให้ลืมเป็นการชั่วคราวเรื่องตำนานพระฤาษี และความศักดิ์สิทธิ์ แต่สิ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือชีวิตของคนเล็กคนน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาสร้างการดำรงชีพในพื้นที่ท่องเที่ยว ณ ที่แห่งนี้
เก๋ อัจฉริยา
            เหตุเกิดเมื่อกลางปี 2008 นักมานุษยวิทยาสมัครเล่นนางหนึ่งได้ใช้เวลา 3 วันโดดเรียนไปเที่ยวที่ Sa Pa (ซาปา) เมืองในหมอกบนพื้นที่สูงของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ภูเขาที่นี่สูงเสียดฟ้าสลับซับซ้อนกันหลายลูกจริงๆ จนภูเขาบ้านเราสมควรถูกเรียกว่า “hill” มากกว
เก๋ อัจฉริยา
ณ วัดเทพฯ มหาชัย สมุทรสาคร ในวันสงกรานต์ มีแรงงานพม่ามาทำกิจกรรมทางศาสนาไม่ต่ำกว่าหมื่นคน เมื่อดูจากผู้คนที่มาทำกิจกรรมฯ ที่วัดในวันนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แรงงานพม่าที่มหาชัย มีเชื้อชาติพม่า-พม่า มีน้อยมาก ทว่าส่วนใหญ่เป็นมอญ-พม่า ทวาย-พม่า และอารกัน-พม่า (จากรัฐยะไข่) (ตามลำดับ) พวกเขา แม้อย