ครบปีแล้วสินะที่เราเดินตามก้นอาจารย์อานันท์ไปสำรวจซิดนี่ย์... เมื่อเอารูปเก่าๆ มาดู...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วันนั้น อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ในวัย ๖๘ ปี นอกจากจะสอนหนังสือมาราธอน สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า ๙ ชม. แล้ว ยังมีเรี่ยวแรงมหาศาล แบกเป้เดินเที่ยวฉับๆๆๆๆ ชนิดที่ลูกศิษย์เดินตามแทบไม่ทันอีกด้วย
หลังจากเครื่องบินลงที่สนามบินซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียในเวลา ๗.๑๕ น. (หรือเวลาตี ๔.๑๕ น. บ้านเรา) แล้ว อาจารย์ก็เข้าไปฝากกระเป๋าที่โรงแรม แต่ด้วยกฎ ต้องเช็คอินเข้าพักหลัง ๑๔.๐๐ น. เราต้องรอเวลาอีกตั้ง ๖ ช.ม. กว่าๆ ตอนนั้น ผู้เขียนกับเพื่อนก็ปรึกษากันก่อนเครื่องจะลงแล้วว่า คงจะนั่งๆ นอนๆ อยู่แถวลอบบี้โรงแรม เพราะทั้งคืน บนเครื่องบิน แปดชั่วโมงครึ่ง เราแทบไม่ได้นอนเลย เราเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก อีกทั้งผู้เขียนเคยมาซิดนี่ย์ ๔ ครั้งเมื่อไม่นานมานี้ คือปี ๒๐๐๗ หรือเมื่อ ๗ ปีก่อน จึงไม่รู้สึกตื่นเต้นที่จะ “ค้นหา” และ “ตามหา” ความทรงจำที่นี่...ซิดนีย์
แม้ว่าผู้เขียนชอบซิดนีย์ เพราะนอกจากจะอากาศไม่หนาวมาก ฟ้าใส แสงแดดสาดส่องดี พิพิธภัณฑ์ศิลปะเป็นสถานที่ที่น่าสนใจมาก รองๆ ไปจากโอเปร่าเฮ้าส์ ฮาเบอร์บริดจ์ ดาลิ่งฮาเบอร์ และไชน่าทาวน์ ซิดนีย์ยังเป็นเมืองที่เราเดินดูอะไรๆ ได้ถึง ๑๐ กิโลเมตร ต่อวัน และที่สำคัญคือแม้มีถนนสายชอปปิ้งให้เดินชม แต่ก็ไม่สามารถดูดเงินในกระเป๋าผู้เขียนได้มาก เพราะของแพงได้ใจจริงๆ (อิอิ)
อาจารย์อานันท์เคยมาซิดนี่ย์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๗ และ ๑๙๙๗ ตอนนี้ปี ๒๐๑๔ นี่ก็ ๑๗ ปีแล้วสินะที่ไม่ได้มา ซิดนีย์...สำหรับอาจารย์คงเปลี่ยนไปมาก
เช่น การมีไทยทาวน์เกิดขึ้นมา
แต่สิ่งมีไม่เปลี่ยนคือ “ความทรงจำ” ของอาจารย์ต่อซิดนีย์ที่ ในฐานะเมืองแห่ง “หอยเป๋าฮื้อ” ของแท้ อารีดอย และราคาถูก (แต่ขนาดถูกมาก ยังกระป๋องละ ๙๙ เหรียญ หรือประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าบาท ในหนึ่งกระป๋องมีหอยขนาดเท่ากำปั้นเด็ก ๑ ขวบ ๓ ตัว ตกตัวละ ๑,๐๐๐ บาท โอ้ว มายก๊อดดดดด) รวมทั้งมีหลากหลายจริงๆ ทั้งขนาด ราคา คุณภาพ รสชาติ ฯลฯ
...และแน่นอนว่ามาคราวนี้อาจารย์จะต้องแหวกว่ายสายธารความ “หลากหลาย” แล้ว differentiate (แยกแยะ) สิ่งหล่านั้นออกมา เพื่อบริโภค “ความทรงจำ” ผ่านการปฏิบัติการออก “ล่า” หอยฯ ที่เหมาะเหม๋งที่สุดมาครอบครองให้ได้... (นี่เป็นวิธีจัดการกับเชิงซ้อน (complexity) ชัดๆ อิอิ)
การปฏิบัติการบริโภคความทรงจำต่อซิดนีย์ของนักมานุษยวิทยาระดับตำนานท่านนี้ เริ่มจากเทคโนโลยีอันทันสมัย อาจารย์มี google map ที่ดาวน์โหลดจากเชียงใหม่มาพร้อมมือ เพราะอาจารย์บอกว่าแผนที่ที่แจกฟรีตามสนามบินและโรงแรมนั้น “ไม่ได้เรื่อง” อาจารย์รู้ว่าจากจุดนั้นไปจุดนี้มันกี่กิโลเมตร เราต้องเดิน หรือควรจะขึ้นรถเมล์ และร้านค้าแบบไหน ตรงไหน ขายตั๋วรถเมล์ ทุกอย่างดู “เป๊ะเวอร์” เหมือนใช้เทคโนโลยี มาจัดการแยกแยะความเป็น “เชิงซ้อน” ให้เห็นเด่นชัด ดังนั้น อาจารย์ไปซื้อตั๋วรถเมล์ และไปถึงที่หมายหลายที่ได้เหมือนจับวาง (ไม่หลงทางในหลายๆ สถานที่เหมือนลูกศิษย์คนนี้)
การตามล่าหาซื้อหอยฯ เป็นเป้าหมายแรกของอาจารย์ และอาจารย์ขิม (ภรรยาอาจารย์) โดยมีผู้เขียนและเพื่อนอีก ๒ คน เป็นผู้ร่วมทาง โดยมีไชน่าทาวน์แหล่งขายหอยฯ เป็นจุดหมายหลัก
ไชน่าทาวน์เปลี่ยนไปมาก สำหรับอาจารย์อานันท์ โดยเฉพาะจากเมื่อปี ๑๙๘๗ หรือเมือ ๒๗ ปีก่อนอาจารย์เล่าว่าไชน่าทาวน์ในเวลานั้น เป็นห้องแถวสองชั้นเล็กๆ และมีร้านแผงลอย สองฝากฝั่งเต็มไปด้วยร้านอาหาร อาจารย์รู้สึกว่ามันมีสีสัน มีชีวิตชีวาของจีนๆ และวัฒนธรรมแบบ “ไชน่าทาวน์” ที่ผู้คนต้องต่อสู้ดิ้นรนค้าขายในกิจการแผงลอยเล็กๆ ข้างถนน แต่วันนี้ไชนาทาวร์มีห้างฯ และตึกสูง เวลาจะกินอาหารต้องเข้าไปในห้างฯ และแลกคูปอง นอกจากนี้ อาจารย์สังเกตว่าร้านอาหารหลายร้านเปลี่ยนเป็นร้านขายของที่ระลึก โดยเฉพาะครีมรกแกะมีขายให้เกลื่อนที่นี่...
ไชน่าทาวน์ในวันนี้ จึงไม่มีอะไรที่ตื่นเต้น ไม่น่าค้นหา แบบ “เชิงซ้อน” เพราะชีวิตผู้คนต่างถูกจัดวางอย่างเป็นระบบระเบียบ แบบ “เชิงเดี่ยว” มองไม่ค่อยเห็นการ “ต่อรอง” และการ “ดิ้น” ของคนเล็กคนน้อยแล้ว ภายใต้โครงสร้างที่เหมือน “ถูกฟิกซ์” ของเมืองที่เจริญขึ้น แห่งนี้
ทำเอาอาจารย์หมดความตื่นเต้นในการค้นหาร้านหอย อย่างที่อาจารย์ตั้งใจ เพราะนักมานุษยวิทยาที่มี “แบรนด์” diversity (หลากหลาย) และ complexity (เชิงซ้อน) อย่างอาจารย์ ...การค้นหา ไม่ใช่การดุ่ยๆ มองหาเฉพาะร้านหอย แต่มองมันทุกร้าน แล้วสอดส่ายสายตาหาหอยบนความ “หลากหลาย” และความเป็น “เชิงซ้อน” ของร้านรวงและสินค้าต่างๆ
เพราะ ๑๗ ปีก่อน มันมีแผงลอย ร้านน้อย-ใหญ่ที่หลากหลาย ดูไร้ระเบียบกว่าตอนนี้ จึงทำให้ไชนาทาวน์ซิดนีย์ ชีวิตชีวา น่าตื่นเต้น แต่ตอนนี้ เมื่อมันไม่น่าตื่นเต้น การค้นหาเฉพาะร้านหอยฯ จึงเป็นแบบ “เชิงเดี่ยว” ...เป็นเรื่องไม่สนุก ดังนั้น ตอนท้ายๆ อาจารย์จึงวานให้ผู้เขียนซึ่งเป็นลูกศิษย์ไปถามหาร้านขายหอยฯ เพื่อบอกพิกัด(ซอย) แล้วให้อาจารย์ เดินดุ่ยๆ (เชิงเดี่ยว) ไปในซอย ไปเฉพาะร้านนั้น
เสร็จจากเดินวนเช็คราคาหอยจากร้านต่างๆ แล้ว อาจารย์ก็ได้หอยมา ๓ กระป๋อง เมื่อภารกิจซื้อหอย สำเร็จลงแล้ว จึงเป็นอันต้องหาข้าวเที่ยงกิน
ซึ่งข้าวเที่ยงที่ไชนาทาวน์ ต้องเป็นอาหารจีน อาจารย์เป็นคนชอบกินอาหารท้องถิ่นที่เลื่องชื่อ สำหรับนักมานุษยวิทยาอย่างอาจารย์แล้ว การได้กินร้านแบบบ้านๆ ข้างถนน ได้มองเห็นชีวิตอัน “หลากหลาย” และ “การต่อรอง” ของคนเล็กคนน้อย ที่มีสีสัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ฟิน” กว่าไปกินที่ร้านที่หรูหรา
ว่าไปแล้ว อาจารย์ก็แสวงหาอะไรที่ของแท้ๆ (authenticity) เหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ของ “แท้ แช่แช็งมาโชว์” ทว่าเป็นของแท้ที่ผ่าน “การต่อรอง” ในชีวิตประจำวันอัน “หลากหลาย” จนเป็นรสชาติท้องถิ่น ณ ที่แห่งนั้น
ส่วนอาหารในภัตตาคารใหญ่ แม้จะเป็นอาหารจีนแท้ๆ แต่แพง (อิอิ) และไม่สีสันอันหลากหลายของชิวิต “ข้างถนน” อันเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคอาหารท้องถิ่นแท้ๆ ส่วนฟู๊ดคอร์ทในห้างฯ ลืมไปได้เลย... อาจารย์ไม่เข้าแน่นอน เพราะมันเป็น fast food ที่ถูกเซ็ตอะไรๆ แบบ “เชิงเดี่ยว” ที่ซึ่งอาจารย์จะไม่ได้ละเลียดรสชาติที่อร่อยต่อยคาง และจังหวะชีวิตอันละเมียดละไม หลากหลายของผู้คน ที่มีให้เห็นมากกว่าใน slow food
อาจารย์บอกว่า วิธีเลือกร้านอาหารของอาจารย์มีหลักง่ายๆ คือ หนึ่ง ดูว่ามีคนเข้าร้านเยอะรึเปล่า หากไม่ค่อยมี แสดงว่าไม่อร่อย สอง ดูราคาว่าแพงไปหรือไม่ (แพงไป ไม่อร่อย อิอิ)
หมดจากร้านอาหารจีนแล้ว อาจารย์พาเดินต่อไปยัง “เดอะร๊อค” ทำไมต้องเดอะร๊อค... “อาจารย์บอกว่า หากไม่ได้ไปเดอะร๊อค ก็เหมือนกับว่าเราไม่ได้มาถึงซิดนี่ย์ จุดนี้เป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์การสร้างชาติออสเตรเลีย รวมทั้งยังเป็นแลนด์มาร์คที่ทำให้เรามองเห็น “โอเปร่าเฮ้าส์” อีกด้วย”
“มันจะมองซิดนีย์แบบเชิงเดี่ยวไปมั้ย’ จารย์” (อิอิ ผู้เขียนคิดในใจ)
แต่...นั่นสินะ เราจะคิดถึงซิดนีย์ (ในฐานะสถานที่) อย่างไร ถ้าไม่มี “สิ่ง” เหล่านี้ และถ้าไม่มี “สิ่ง” นี้ ก็คงไม่มีซิดนีย์ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวในแบบนี้
สถานที่ กับ สิ่งละอันพันละน้อย ต่างเติมเต็มกันและกัน แล้วสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความทรงจำ” ขึ้นมา
แม้ว่า “เมืองซิดนีย์” (จริงๆ) นั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเปลี่ยนไปทุกวัน บนความหลากหลาย ซึ่งต้องใช้วิธีการ “เชิงซ้อน” ในการค้นหา แต่...“ซิดนีย์ในแบบเดอะร๊อค” ก็ยังยึดพื้นที่ในความทรงจำ (แบบงามๆ) ในหัวใจของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ได้เสมอ
เหมือนหอยฯและไชน่าทาวน์เมื่อ ๑๗ ปีก่อน ...ที่ยังอยู่ใน “ความทรงจำ” ของอาจารย์
แม้ว่าอาจารย์จะตระหนักว่าอะไรๆ ก็เปลี่ยนไป ซึ่งมันทำให้การ “ปฏิบัติการ” ตามหาความทรงจำของอาจารย์ “ไม่ฟิน” ...และดูทุลักทุเลไปนิดส์นุง
...แต่เพราะทำใจ “ดีล” กับ “เชิงเดี่ยว” ได้ อาจารย์ก็เลยไม่สูญเสีย “ความทรงจำ” ต่อซิดนีย์...เมืองที่มี “หอยเป๋าฮื้อแท้ๆ ราคาถูก ในไชน่าทาวน์”
....นี่ไง....ผมได้มาแล้ว ๓ กระป๋อง ตัวใหญ่ ถูกมาก... และคุณเอ๋ย...เวลากินหอยเป๋าฮื้อเนี่ยนะจะต้อง... บลา บลา บลา....มันถึงจะได้รสชาติ...ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า
บันทึกด้วยความรักเคารพและคิดถึง “เชิงเดี่ยว-เชิงซ้อน” คำสอนของอาจารย์...เสมอ
บันทึกการเดินทางเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 อัพโลด วันเดียวกัน ในปี 2558