Skip to main content

ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเรื่อง “ตือม้าฮายด่าว” (Tư Mã Hai Đào) วีรบุรุษชายแดนเวียดนาม-ลาว ชาวไท ในฐานะที่เป็นบทเรียนการเขียนและอ่านภาษาไทเมืองคอง

ภาพ 1  ในศาลตือม้าฮายด่าว

ภาพ 2 หน้าศาลตือม้าฮายด่าว

ต่อมาเขาสรุปความเล่าเรื่องให้ผู้เขียนฟังตั้งแต่ต้นจนจบ[2] อันมาจากความเข้าใจเรื่องนี้จาก 3 แหล่งข้อมูลคือจากจารึกภาษาไท จากเรื่องเล่าปากต่อปาก และจากลำนำของไท เขาเล่าว่าในยุคของราชวงศ์เล (Triệu Lê) (ผู้เขียนตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายแล้ว พบว่าไม่ใช่ราชวงศ์เล แต่เป็นราชวงศ์เจิ่น ที่ร่วมสมัยกับเจ้าฟ้างุ่ม ของลาวหลวงพระบาง ในคริสตศตวรรษที่ 14) [3] ในเวลานั้นอาณาจักรได่เหวียด (เวียดนาม) มีความบาดหมางกับอาณาจักรล้านช้าง หลวงพระบาง อาณาจักรหลวงพระบางมีความเข้มแข็งมาก กษัตริย์ลาว โดยความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ฮ่อ ลื้อ ยวน[4] และส่าขาลาย ยกทัพมาทางชายแดนของแทงหวาเพื่อโจมตีอาณาจักรได่เหวียด (เวียดนาม)

ในเวลานั้นกองทัพแกว (เวียด)[5] ไม่ได้เตรียมพร้อม และประมาทเพราะดูถูกศักยภาพของกองทัพลาวว่าเป็นกองทัพที่ไม่เข้มแข็ง แต่กองทัพลาวมีแม่ทัพที่เข้มแข็งมาก ที่สำคัญคือมีคาถาอาคมที่ทำให้ทหารแกว เข้าไม่ถึงตัว อาคมที่ว่านั้นถูกลงไว้ที่กลอง เมื่อตีกลอง กองทัพแกวก็อ่อนแอลง ในขณะที่กองทัพลาวก็แข็งแกร่ง ในที่สุดกองทัพแกวที่รบกันที่กวานเซิน (อำเภอชายแดน ในจังหวัดแทงหวา) ก็แพ้ ลาวบุกเข้ามาจนเกือบถึงเมืองหลวง ทังลอง (Thăng Long) (ฮานอย) กษัตริย์ราชวงศ์เล (น่าจะเป็นราชวงศ์เจิ่น - ดูเชิงอรรถ) ขอเจรจาสงบศึก โดยต้องยกแผ่นดินให้ลาวเป็นระยะเวลา 3 ปี

แผ่นดินที่ยกให้คือตั้งแต่บริเวณที่บรรจบกันของ 3 แม่น้ำ คือ แม่น้ำหมา (Sông Mã) กับแม่น้ำอีกสองสาขาของแม่น้ำหมาที่อยู่ห่างจากสะพานห่ามส่ง (Hàm Rồng) ประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กับตัวจังหวัดแทงหวา ไปจนถึงอำเภอกวานเซิน อำเภอชายแดนได่เหวียด-ลาว เมื่อได้ดินแดนแล้วลาวเอาคนมาปกครอง และเอาประชาชนลาวมาอยู่ เมื่อครบ 3 ปี ลาวผิดสัญญา กษัตริย์ ราชวงศ์เลจึงเปิดศึกรบเอาแผ่นดินคืน แต่ก็แพ้เพราะเสียงกลองของลาวที่ลงอาคม

ในเวลานั้น ฮายด่าวยังเป็นคนใช้ของต่าว (ท้าว) ลางโค (Lang Khô) เมื่อต่าวลางโคไปที่เมืองหลวง ทังลอง ฮายด่าวก็ไปด้วยในฐานะผู้ติดตาม ฮายด่าวนั้นรูปร่างหน้าตาดี และมีความว่องไว ในเวลานั้นที่ทังลองมีการแข่งขันการต่อสู้แบบกังฟู ฮายด่าวเข้าร่วมการแข่งขันและชนะ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น “จางเหวียนหว๋อ” (trang nguyên võ)[6] (หรือ จอหงวนฝ่ายบู๊ ที่คนไทยคุ้นมาจากภาพยนต์จีน) เรื่องคล้ายดั่งนิยายจีน องค์หญิงหลงรักจางเหวียนหว๋อคนใหม่ที่ทั้งหล่อและเก่ง แล้วก็ขอกษัตริย์เลแต่งงานกับเขา เมื่อแต่งงานแล้ว ฮายด่าวก็เรียนหนังสือ แล้วเขาก็สอบได้เป็น “จางเหวียนวัน” (trang nguyên văn) (จอหงวนฝ่ายบุ๋น) ในเวลานั้น กองทัพลาวก็เข้าตีได่เหวียดอีกครั้ง ฮายด่าวจึงขันอาสากษัตริย์ไปรบกับลาว นัยหนึ่งก็เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของตัวเองคือเมืองแทง (หรือแทงหวาในปัจจุบัน) กษัตริย์โยนอาวุธแก่เขา เขาแข็งแรงมาก เขาสามารถเอาแขนโอบรับอาวุธต่างๆ ได้ภายใน 1 แขน

ฮายด่าวออกรบ แต่ก็แพ้ในศึกแรกเพราะทหารได้ยินกลองลงอาคมจากกองทัพลาว เขาต้องแก้กลศึกนี้ เขาจึงส่งอ๊อดม๊อด (คนเมืองม้อด ปัจจุบันคืออำเภอเถื่องซวน) และอ๊อดแดง (คนเมืองแดง ปัจจุบันคืออำภอลานแจ๋ง) ซึ่งเป็นคนที่ภักดีต่อฮายด่าว ไปเป็นสายลับไปที่กองทัพลาว กลอุบายคือการทำเป็นว่าถูกฮายด่าวเฆี่ยน โดยเอายางจากต้นไม้มาทำเป็นเลือด แล้วหนีออกไปจากค่ายทหารในเวลากลางคืน ไปบอกทหารลาวว่าฮายด่าวจะฆ่าพวกตน กองทัพลาวหลงเชื่อจึงรับเอาไว้ จากนั้นก็ให้ทำงานเล็กๆ ต่อมา ก็ให้ทำงานที่ใหญ่ขึ้น

จนกระทั่งสองคนนั้นรู้ความลับของกลองลงอาคมแล้ว กล่าวคือ กลองนั้นมีขนาด 2 เมตร ฝ่ายที่ตีกลองจะเป็นฝ่ายเข้มแข็ง ส่วนฝ่ายตรงกันข้ามจะอ่อนแอเมื่อได้ยินเสียงกลอง[7]  อ๊อดม้อดและอ๊อดแดงเล่าให้ฮายด่าวฟังถึงความลับดังกล่าว จึงออกอุบายชิงกลอง สองคนนั้นขันอาสากองทัพลาวนำกลองไปล้างที่แม่น้ำเพื่อขจัดความสกปรก เมื่อไปถึงลำน้ำก็ปล่อยกลองไปตามลำน้ำ เมื่อกองทัพลาวรู้ข่าวก็พยายามชิงกลองกลับ สองกองทัพสู้กันเพื่อชิงกลอง สุดท้ายฮายด่าวก็ชิงกลองมาได้

ในเวลานั้น กองทัพลาวได้เคลื่อนทัพลงมาที่บริเวณที่ปัจจุบันคือตำบลแต๋นตั่น อำเภอกวานเซิน ที่ซึ่งปัจจุบันคือตำบลที่เป็นด่านชายแดนเวียดนาม-ลาว ฮายด่าวได้ตีกลอง เมื่อกองทัพลาวได้ยินเสียงกลองก็อ่อนแอและแพ้ต่อฮายด่าว ฮายด่าวไล่ต้อนกองทัพลาวไปจึงถึงหลวงพระบาง เมื่อเข้าตาจนเช่นนั้น ทางลาวขอเจรจาสงบศึกและให้กษัตริย์จัดการเรือนแผ่นดินใหม่ โดยเอาทิศทางของต้นไม้ที่อยู่บนภูเขาแต๋นตัน (Tén Tằn) (ในตำบลแต๋นตัน อำเภอกวานเซิน ในปัจจุบัน) เป็นเส้นเขตแดน เพราะภูเขานั้นมีลักษณะเหมือนกับกระดูกสันหลัง และต้นไม้ที่ขึ้นบนภูเขานั้น ด้านหนึ่งชี้ไปทางล้านช้าง อีกด้านหนึ่งชี้มาทางได่เหวียด เมื่อเจรจาแบ่งเขตแดนได้แล้วจึงทำเสาทองแดง เพื่อเป็นหลักเขตแดน ต่อมาฮายด่าวเป็นเจ้าเมืองที่ทำหน้าที่ควบคุมประตูเมือง การเข้า-ออกนอกราชอาณาจักรได่เหวียด

ท่านได้รับพระราชทานยศเป็น “ตือม้า” ซึ่งน่าจะเทียบเท่ากับเจ้าเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง[8] แต่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกท่านว่า “ราชบุตรเชยแต๋นตั่น” หน้าที่เขาคือการรักษาชายแดน และรับบรรณาการจากล้านช้างและเมืองบริวารอื่นๆ เพื่อส่งไปยังราชสำนักทังลอง (ฮานอย) ด้วยเหตุที่ภูเขาแต๋นตั่นนั้นไม่ใช่ที่ราบ ฮายด่าวจึงพยายามหาที่ราบที่เหมาะแก่การสร้างบ้านแปงเมือง และพบว่าที่ราบแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาฮายด่าวตั้งชื่อว่า เมืองจูซาน (Chu San) (กินพื้นที่กว้างใหญ่ทั้งอำเภอกวานฮว๋าและอำเภอกวานเซิน จนถึงเมืองจื่อบริเวณพื้นที่ทางใต้ของแม่น้ำหมา จังหวัดแทงหวา ในปัจจุบัน) นั้นมีที่ราบกว้างเหมาะสม อีกทั้งอยู่ห่างจากเส้นเขตแดนไม่ไกลนัก (ประมาณ 20 กิโลเมตร) เขาได้สร้างวังเล็กๆ (villa) ขึ้นมา ด้วยเหตุที่เมืองจูซานนั้นมีผู้ไทอาศัยอยู่มาก ตือม้าฮายด่าวจึงเปลี่ยนตัวเองจากคน "เหมื่อง" (Mường) เป็นคนไท ลูกหลานเขาก็เป็นคนไท ต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังบอกตัวตนของตนเองว่าเป็นคนไท[9]

อย่างไรก็ดี เรื่องตือม้าฮายด่าว สำหรับห่านามนิงนั้น จบไม่ค่อยสวย และยังมีความคลุมเคลืออีกมาก ภายหลังจากที่เขาได้ครองเมืองชายแดนของอาณาจักรได่เหวียดแล้ว เขาได้ชื่อว่าเป็นกบฏต่อราชสำนักฯ เรื่องการเป็นกบฏของเขาไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่มีลำนำกล่าวถึงเรื่องนี้ ทว่ามีความเล่าต่อๆ กันมาหลายรุ่น การได้ชื่อว่าเป็นกบฏของเขามี 2 สมมติฐาน คือ หนึ่ง เขาถูกเพ็ดทูลว่าตนเองต้องการให้เมืองจูซาน (เมืองเซีย) เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อราชสำนักฯ และเขาก็รับเอาบรรณาการแทนกษัตริย์ สอง คือเขาทำจริงๆ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งหรือสอง การมีอำนาจมาก และอยู่ห่างจากศูนย์กลางของอำนาจ รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็น “ราชบุตรเชยแต๋นตัน” ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นภัยต่อราชสำนักฯ อย่างยิ่ง ดังนั้น กษัตริย์จึงยกกองทัพมาและฆ่าฮายด่าวเสีย แต่ก็ไม่มีใครยืนยันเหตุการณ์นี้ได้ สำหรับห่านามนิงแล้ว เขาคิดว่าการที่ฮายด่าวถูกฆ่าโดยกษัตริย์นั้นน่าจะจริง แต่ไม่มีการบันทึกเรื่องราวของคนทรยศ จึงไม่อาจหาหลักฐานยืนยันได้ นอกจากความเล่าสืบต่อกันมา

นอกจากนี้ เมืองจูซาน เมื่อสิ้นฮายด่าวแล้ว ลูกหลานไม่สามารถรักษาเมืองเอาไว้ได้ จึงได้เรียกเมืองดังกล่าวว่า “เมืองเสีย” หรือ การเสียเมือง (ในสำเนียงคนไทแถบเมืองเสีย-เมืองคอง คือเมือง “เซีย”) ดังนั้น เมืองหลักของจูซานจึงได้ชื่อว่าเป็น “เมืองเซีย” นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนลูกหลานของตือม้าฮายด่าว ก็กลับไปอยู่เมืองคอง (อำเภอบ๊าเทื๊อก จังหวัดแทงหวา ในปัจจุบัน) อันเป็นบ้านเกิดของตือม้าฮายด่าว (เสียดายวันนั้น ที่ลุงวิง (คนที่จะขับรถพาผู้เขียนไปบ้านลูกหลานฮายด่าว) กลับมาไม่ทัน ผู้เขียนจึงไม่ได้ไป และต้องรีบกลับฮานอย เนื่องจากมีนัดอื่นรออยู่ แต่คิดว่าปลายปีนี้ ต้องไปพบลูกหลานตือม้าฮายด่าวให้ได้)

ภาพ 3 สมาชิกผู้ร่วมเดินทางและเจ้าบ้านเมืองเซีย

ภาพ 4 บ้านไท หน้าศาลตือม้าฮายด่าว

จบเรื่องเล่าของห่านามนิง แต่เรื่องเล่าของผู้เขียนยังไม่จบ เพราะผู้เขียนได้อุทิศเรื่องนี้เป็น 1 บทของงานวิจัย ซึ่งตรวจสอบกับหลักฐานทั้งทางฝ่ายเวียดนาม ลาว จารึกของท้องถิ่น  เรื่องเล่าจากคนต่างๆ อีกหลายคน

ตือม้าฮายด่าวกำลังถูกผู้เขียนตั้งสมมติฐานในงานวิจัยว่า เขาเป็น “ผีเมืองชายแดน ที่ไม่มีเส้นเขตแดน” (Spirit of the border has no boundary) แม้ในศตวรรษที่ 14 จะมีการปักปันเขตแดนบนภูแต๋นตั่นด้วยเสาทองแดง ยาวตั้งแต่จังหวัดเซินลาจนถึงแหงะอาน แต่เมืองชายแดนนั้นกลับกลายเป็นเมืองที่ไม่ได้แบ่งแยกผู้คนออกเป็นเวียด-ลาว หรือไท-ลาว พุทธ-ผี ตรงกันข้าม เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการค้าขายของคนหลายกลุ่ม หลายเมือง กิจกรรมการเล่นศึก การผสมผสานทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ และที่สำคัญคือการต่อรองอำนาจอธิปไตยได้ด้วย

เพราะแม้แต่ตัวตนของตือม้าฮายด่าวเอง ก็ยังผสมผสานวัฒนธรรมจนมีหลายอัตลักษณ์ เขาเปลี่ยนตัวเองจากคน เหมื่อง (Mường) ที่มีฐานะราชบุตรเขยของกิง (เวียด) มาเป็นคนไท เพื่อปกครองเมืองจูซาน อันเป็นเมืองที่คนมีอำนาจคือไท

เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การฟื้นคืนชีพของตือม้าฮายด่าว ศาลของเขาที่เมืองเซียได้รับการปฏิสังขรณ์ มีการรื้อฟื้นงานเทศกาล “เซ่นเมืองเซีย” ตั้งแต่ปี 2009  และจัดอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานประจำอำเภอ อย่างไรก็ดี 

....เขากลับมาทำหน้าที่ “ผีผู้รักษาชายแดน ที่ส่งเสริมให้คนข้ามแดนและการผสมผสานวัฒนธรรมข้ามแดน” อีกครั้งหนึ่งแล้ว ครัซท่าน  และศาลตือม้าฮายด่าวไม่ได้มีแค่ฝั่งเวียดนาม 3 ศาล เท่านั้น ยังมีที่ฝั่งลาวอีก 3 ศาล

หากมีเวลาจะเล่าเรื่องนี้ผ่านหลักฐานอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเรื่องราวจากการปริวรรตภาษาไทเมืองคองเรื่องตือม้าฮายด่าว โดยผู้เขียนเอง วันนี้ต้องขอตัวไปเขียนบทว่าด้วยตือม้าฮายด่าวกับแนวคิดและการปฏิบัติการเรื่องพรมแดน ในศตวรรษที่ 14 ต่อก่อนเน้อ...

ภาพ 5 ทางไปเมืองเซีย ห่านามนิง แวะเยี่ยมญาติและคนรู้จัก (ซึ่งเป็นธรรมเนียมของการไปทำธุระที่อื่น)

ภาพ 6 ที่เมืองไท ในเวียดนาม ไม่มีเหล้า-ไม่มีเพื่อน ไม่มีเพื่อน-ไม่มีงาน  เก่งปานใดก็ทำงานไม่สำเร็จ

....เอ้า! เอาซัก 3-4 กรึ๊บ กำลังดี อิอิ

คุยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2016 บันทึก 1 วันถัดมา

อัพโหลดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2016 ที่พิษณุโลก

อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ

 

 

 



[1] คุยกับห่านามนิง ที่บ้านของเขา ริมแม่น้ำหมา (Sông Mã) ที่ตำบลแก๋งนาง (Cánh Nàng) อำเภอบาเทื๊อก (Ba Thước) จังหวัดแทงหวา (Thanh Hóa) เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม ค.ศ. 2015

[2] เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2016 ที่เดิม (อ้างแล้ว)

[3] ผู้เขียนค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาตร์จากทั้งของเวียดนามและลาวแล้ว พบว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์เล (ศตวรรษที่ 15) แต่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์เจิ่น (ศตวรรษที่ 14) ซึ่งน่าจะอยู่ร่วมสมัยกับเจ้าฟ้างุ่ม แห่งอาณาจักรล้านช้าง

[4] ตอนที่เล่านั้น ห่านามนิงถามผู้เขียนว่า ยวน คือคำเรียกชื่อของคนไทย ใช่หรือไม่ เพราะจากที่เขาค้นคว้านั้น ยวน คือไทกลุ่มหนึ่ง ผู้เขียนจึงกล่าวไปว่าน่าจะหมายถึงไทยวน ที่อยู่ทางอาณาจักรล้านนา

[5] คนไทที่นั่นเรียกคนเวียดว่า “แกว” โดยไม่มีนัยแห่งการดูถูก (ผู้เขียนคิดว่า คำว่าแกว น่าจะมาจากคำว่า เหงื่อย (คน) “แกวน” (คุ้นเคย) ในภาษาเวียดนาม ซึ่งแปลว่า “คนคุ้นเคย)

[6] เรื่องการคัดเลือกสามัญชนให้รับราชการเป็นจางเหวียน ทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู้นั้น เป็นระบบปกติของการสอบเข้ารับราชการของเวียดนามในยุคก่อนอาณานิคม เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่มีความสามารถได้เลื่อนชนชั้น ดังที่คำอุปมาของเวียดนามที่กล่าวว่า “เคิมอายโซ่วบาเหาะ เคิมอายขอบาเด่ย” (không ai giâu ba họ, không ai khó ba đòi) แปลว่า ไม่มีใครจนและไม่มีใครรวยเกินกว่า 3 ชั่วคนหรอก

[7] สำหรับห่านามนิง เขาเห็นว่ากลองลงอาคมนั้นเป็นแค่ความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง

[8] จากคำอธิบายของฝั่บซวนกือ (Phạm Xuân Cừ) ปัญญาชนท้องถิ่น คนไทผู้สอนภาษาไท และอดีตผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาตินาแหม่ว

[9] เรื่องการเปลี่ยนตัวเองเป็นคนอะไรนั้น ในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปในตอนที่เล่าเรื่อง ตือม้าฮายด่าว ในความทรงจำของฝั่บซวนกื่อ และการใช้แนวคิดของกองโดมินาสในการตีความ

 

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
เหมือนประเทศทั้งหลาย ตลาดเสรีโลกาภิวัตน์ของการแปลงที่ดินเป็นสินค้า กำลังดุเดือดเลือดพล่านอยู่ในเวียดนาม ในขณะนี้ เห็นได้จากตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีความตึงเครียดและการประท้วงของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศ การประท้วงการ privatization ที่ดิน และการสร้างเขื่อนเซินลา เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน
เก๋ อัจฉริยา
หลังจากกลับมาถึงเมืองไทยได้หนึ่งสัปดาห์ เสียงโทรศัพท์ทางไกลจากที่ราบกลางหุบเขา แห่งเมืองมายโจว ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ก็ดังกรี๊งกร๊าง ขึ้นมา “...อาโล้…ถุกเลิมอ่า...ขันบ่าวล้า” (ฮัลโหล...”ถุกเลิม” (ชื่อภาษาเวียดของผู้เขียน) เหรอ สบายดีมั้ย) แล้วตามมาด้วยเสียงแ
เก๋ อัจฉริยา
พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปิดประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การทะยอยสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย การเปิดเสรีด้านแรงงานและเศรษฐกิจอาเซียน การลงทุนเมกาโปรเจคที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย (ที่เขาว่าขนาดของอุตสาหกรรมน่าจะใหญ่กว่ามาบตาพุด 10 – 15 เท่า) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และอื่นๆ แรงงานชาวพม่
เก๋ อัจฉริยา
ใครว่าสาวบริการทางเพศนั้นไม่มีสิทธิ “เลือก” ลูกค้า ทว่าเป็นแค่ “วัตถุ” ที่รอให้ผู้ชายมาหยิบไป “เสพสม” ใครว่าสาวไม่มีทางเลือกในการทำให้ตัวเองปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลูกค้าเหนือกว่า ทั้งโดยความเป็น “ชาย” และความเป็น “ผู้ซื้อ”
เก๋ อัจฉริยา
กาลครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว ณ เมืองหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่บนภาพตัวแทนของการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้มาก  เช่น ภาพอันวิจิตรอลังการของวัดวาอารามต่างๆ ที่มีถึง 37 แห่ง ภาพพระสงฆ์เดินเป็นแถวมารับบิณฑบาตรยาม
เก๋ อัจฉริยา
  วันหนึ่งในหน้าร้อน กลางปี 2556 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้