Skip to main content

การขับถ่ายถือเป็นกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แต่สิ่งที่มนุษย์ขับถ่ายออกมานั้นหากไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมก็จะกลายเป็นแหล่งกระจายของเชื้อโรคได้เช่นกัน ดังนั้น “ส้วม” จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิต ทำให้ที่ผ่านมาหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มักเน้นไปที่การรณรงค์เพื่อจัดให้มีส้วมอย่างเพียงพอและทั่วถึงเท่านั้น แต่มิได้ให้ความสำคัญกับระบบบำบัดที่ติดตั้งกับส้วมซึ่งมีหน้าที่บำบัดของเสีย หรือที่เราเรียกว่า “สิ่งปฏิกูล” เท่าที่ควร หากเราพิจารณาถึงประชากรในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารยิ่งเป็นเรื่องยากมากขึ้นไปอีกในอันที่จะมีส้วมและระบบบำบัดที่เหมาะสม เนื่องจากข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณและเทคโนโลยี ทำให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อโรคระบาดทางเดินอาหารในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลให้คณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านสุขาภิบาลที่เกิดจากสิ่งปฏิกูลขึ้น เพื่อเผยแพร่ไปยังพื้นที่ทุรกันดารทั่วโลก

หลังจากการทำงานต่อเนื่องมาระยะเวลาหนึ่ง คณะนักวิจัยภายใต้ชื่อ NATS ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ได้ทำการเปิดตัวนวัตกรรมระบบบำบัดของเสียจากส้วม ซึ่งมุ่งเน้นให้มีการบำบัดตั้งแต่ต้นทาง เพื่อทดแทนการกำจัดกากปฏิกูลแบบดั้งเดิมคือ ลดการขนส่งกากสิ่งปฏิกูลจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่ที่มีระบบบำบัด และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วย โดยนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย

1. ระบบ “Zyclone cube” เป็นระบบที่ใช้หลักแรงโน้มถ่วงและหลักการหมุนเหวี่ยงในการแยกสิ่งปฏิกูลที่เป็นของเหลวและของแข็งออกจากกัน รวมทั้งมีการฆ่าเชื้อโรคโดยการใช้ความร้อน ซึ่งผลพลอยได้ คือกากสิ่งปฏิกูลที่ฆ่าเชื้อแล้วสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยที่ปลอดเชื้อโรค ที่นำไปใช้ในการเกษตรได้อย่างปลอดภัย

2. ระบบ “ Cess to Fit System”  เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปติดตั้งในบ่อเกรอะเดิมซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว โดยระบบนี้จะทำการเก็บกักและบำบัดสิ่งปฏิกูล ผ่านกระบวนการย่อยสลายที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในการป้องกันไม่ให้น้ำจากภายนอกไหลผ่านเข้าไปในระบบได้อีกด้วย

3. ถังบำบัดสิ่งปฏิกูลพลังแสงอาทิตย์ มีจุดเด้นในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มอุณหภูมิในถังบำบัด ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายทางชีวภาพของสารอินทรีย์ ทำให้ของเสียที่อยู่ในบ่อบำบัดมีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งสามารถฆ่าเชื้อโรค ให้มีอีโคไลเหลือน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และลดกากปฏิกูลที่สะสมจะลดลง 50% เมื่อเทียบกับบ่อบำบัดแบบดั้งเดิม

4. รถดูดส้วมอัจฉริยะ ซึ่งจะทำระบบการรวบรวมและขนส่งสิ่งปฏิกูลเปลี่ยนไปจากเดิม โดยรถดังกล่าวจะรวมเอานวัตกรรมการแยกสิ่งปฏิกูลและของเหลว และการฆ่าเชื้อโรค เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้สามารถระบายของเหลวที่ทำการฆ่าเชื้อโรคแล้วออกไปได้ ซึ่งส่งผลให้สามารถรองรับของเสียไปบำบัดได้เพิ่มขึ้น เป็นการลดต้นทุนการบำบัดได้อีกทางหนึ่ง ในกรณีที่ต้องขนส่งสิ่งปฏิกูลไปบำบัดยังระบบบำบัดรวม

 

ในการแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมดังกล่าว รศ.ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ ผู้เชี่ยวชาญของคณะนักวิจัย กล่าวว่า “นวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยยกระดับการจัดการด้านสุขาภิบาล ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้จะได้มีการนำผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไปเผยแพร่ในประเทศกลุ่มเอเชียและทวีปแอฟริกา โดยขณะนี้ได้มีการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเวียดนาม และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับประเทศอินเดียเพื่อใช้รณรงค์ในโครงการคลีนอินเดีย ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ”

 

นอกจากนี้ ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า “วัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือการกำจัดของเสีย ณ แหล่งกำเนิด เพื่อลดภาระในการขนส่งสิ่งปฏิกูลไปยังสถานบำบัดน้ำเสีย “แนวคิดในการบำบัดสิ่งปฏิกูล ณ แหล่งกำเนิด เป็นการกระจายการบำบัดสิ่งปฏิกูล ออกจากศูนย์กลาง เพื่อหลีกเลี่ยงการขนส่งสิ่งปฏิกูลในระยะไกล”

 

ดร.ดูไล โคเน่ (Dr.Doulay Kone) รองผู้อำนวยการของ Water, Sanitation and Hygiene (WASH) มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ กล่าวว่า “สถาบันเอไอทีเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิฯ เมื่อปี พ.ศ. 2554” “ทันทีที่เทคโนโลยีเหล่านี้มีความพร้อม เราจะนำไปใช้ในทั้งทวีปเอเชียและแอฟริกา” ดร.โคเน่ กล่าว

 

ดร. ธรรมรัตน์ กล่าวในงานแถลงข่าวว่า นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ผู้นำในด้านเทคโนโลยีสำหรับระบบสุขาภิบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น “เราได้เริ่มขั้นตอนสำหรับการผลิตนวัตกรรมเหล่านี้เพื่อใช้ในประเทศเวียดนาม และเรากำลังเจรจากับทางอินเดียเพื่อใช้รณรงค์ในโครงการคลีนอินเดีย”

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ดร.ธรรมรัตน์ได้ให้ข้อมูลว่า แม้ประเทศไทยจะมีตัวเลขการเข้าถึงบริการด้านสุขาภิบาลในระดับที่น่าพอใจ มีห้องสุขาใช้ค่อนข้างทั่วถึง แต่ตัวเลขของการบำบัดสิ่งปฏิกูลยังเป็นที่น่าวิตก เพราะในประเทศไทยมีการปล่อยของเสียสิ่งปฏิกูลจำนวน 60,000 ตันต่อวัน แต่ได้กลับรับการบำบัดอย่างถูกวิธีเพียง 4,500 ตันต่อวันเท่านั้น (คิดเป็นจำนวนน้อยกว่า 10%)  นวัตกรรมทั้งหมดที่นำมาเปิดตัว จึงมีเป้าหมายในการแก้ไขสถานการณ์นี้  โดยการมุ่งเน้นไปที่การบำบัดของเสีย ณ แหล่งกำเนิด แทนการขนส่งในระยะไกล ซึ่งมีต้นทุนสูง 

 

โครงการนี้เริ่มอย่างเป็นทางการในงานเปิดตัว ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 ที่กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ “การจัดการน้ำเสียอย่างยั่งยืนแบบกระจายศูนย์” โดยมีภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการของ สำนักวิชาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและการพัฒนาของสถาบันเอไอทีเป็นผู้ดำเนินโครงการงานวิจัยภาคสนาม  ซึ่งมีระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2560 มีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 คนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ยุโรป แอฟริกาและอเมริกาใต้ มีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว

 

รายละเอียดเกี่ยวกับ Naturally Acceptable and Technological Sustainable (NATS) Toilet สามารถดูได้ที่ลิงค์ http://natstoilet.com/

สนใจรายละเอียด โปรดติดต่อ ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ Email: thamarat@ait.ac.th โทร. 02-524-6188

บล็อกของ ลีลา สัตยมาศ

ลีลา สัตยมาศ
การขับถ่ายถือเป็นกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แต่สิ่งที่มนุษย์ขับถ่ายออกมานั้นหากไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมก็จะกลายเป็นแหล่งกระจายของเชื้อโรคได้เช่นกัน ดังนั้น “ส้วม” จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิต ทำให้ที่ผ่านมาหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มักเน้นไปที่การรณรงค์เ