Skip to main content

สิ่งหนึ่งที่ชวนสะดุดใจเมื่ออ่านนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (One Hundred Years of Solitude)[1] ผลงานเลื่องชื่อของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียนาม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)  คือ แผลที่รักแร้ของตัวละครพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา

ที่สะดุดใจ อาจเป็นเพราะรู้สึกว่า  มาร์เกซได้เน้นอาการของแผลดังกล่าวอยู่หลายครั้ง เริ่มจากตอนแรกที่แผลนั้นได้ปรากฏในเนื้อเรื่อง  เป็นตอนค่ำที่อูร์ซูลาไปเยี่ยมพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาในห้องขัง เนื่องจากเธอคิดว่าลูกชายของตนจะถูกยิงเป้าในวันรุ่งขึ้น แม้จะมีคำสั่งห้ามเยี่ยมนักโทษประหาร แต่ทหารที่เฝ้าห้องขังกลับอนุญาตให้เธอเข้าเยี่ยมได้สิบห้านาที ภาพของลูกชายที่อูร์ซูลามองเห็นผ่านเข้าไปในลูกกรงคือ 

“เขานอนอยู่บนเตียง กางแขนทั้งสองออกจากตัว เพราะรักแร้ทั้งสองข้างเต็มไปด้วยบาดแผล” (หน้า 205)

เมื่อเห็นอาการดังกล่าว อูร์ซูลาได้แนะนำให้ลูกชาย “เอาหินร้อนๆมาวางทับแผลพวกนั้น (หน้า 207)

หลังอูร์ซูลากลับไป  พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาต้องตื่นขึ้นตลอดคืน ด้วยความทรมานอยู่กับบาดแผล แม้กระทั่งวันต่อมาเขาก็ยัง “เดือดดาลกับบาดแผลที่รักแร้” (หน้า 209)

แผลที่รักแร้ยังมีปรากฏอีกในวันอังคารตอนตีห้า เมื่อโฆเซ อาร์คาดิโอมองออกไปนอกหน้าต่าง แล้วเห็นพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยายืนตัวสั่นอยู่ในแสงสว่างยามรุ่งสาง นั่นเป็นตอนทหารนำตัวเขาไปยิงเป้าประหารชีวิต (แต่แล้วที่สุด เขาก็รอดมาได้) ภาพของนายพันเอกที่โฆเซ อาร์คาดิโอเห็นคือ

“เขายืนเอาหลังพิงกำแพง วางมือสองข้างไว้ที่สะโพกเพราะบาดแผลแสบร้อนที่รักแร้ทำให้เขาเอาแขนลงต่ำกว่านั้นไม่ได้”  (หน้า 212)

การกล่าวถึงซอกรักแร้ของตัวละครตัวนี้ยังมีในตอนที่พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา กลับมาบ้านอีกครั้งหลังเซ็นสัญญาสงบศึกยอมแพ้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์โคลอมเบียแล้ว คือ สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยม ในช่วงปี ค.ศ. 1899-1902 หรือที่เรียกว่าสงครามหนึ่งพันวัน (The War of a Thousand Days) โดยพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาเข้าร่วมต่อสู้แบบสงครามกองโจรในฝ่ายเสรีนิยม และตามเนื้อเรื่องเขายังเป็น “...ผู้ที่สร้างความหวาดกลัวให้แก่รัฐบาลมากที่สุด” (หน้า 173)

และในตอนที่เขากลับมาบ้านครั้งนี้ “เขาตัวสั่นเพราะพิษไข้และความเหน็บหนาว และที่รักแร้ของเขาก็เกิดเป็นตุ่มแผลขึ้นอีก” (หน้า 280)

จนกระทั่งตอนที่พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาใกล้จะสิ้นชีพ  เขาเก็บตัวอยู่ในห้องที่บ้านอย่างโดดเดี่ยว วันอังคารที่สิบเอ็ดตุลาคม ตอนที่เขานอนในเปลญวนแล้วม่อยหลับไปพร้อมฝัน จนมีช่างตัดผมมาเคาะที่ประตูห้อง พันเอกออเรลิยาโนตื่นขึ้นมาพร้อมกับมีอาการที่รักแร้อีกหน ดังความในเนื้อเรื่องว่า

“เหงื่อเหนียวเหนอะที่ไม่ปรารถนาจากการนอนกลางวันกระตุ้นแผลเป็นที่รักแร้ของเขา” (หน้า 427)

จากถ้อยความในเนื้อเรื่องที่ยกมาแสดงให้เห็นทั้งหมดนั้น คือสิ่งที่ชวนให้สะดุดใจกับแผลในซอกรักแร้ของพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา

เป็นไปได้ว่า แผลดังกล่าวเกิดมาจากการสู้รบในสงคราม  แต่ทำไมต้องเป็นแผลที่ซอกรักแร้ ไม่ใช่แผลที่อวัยวะส่วนอื่น นั่นนำไปสู่ข้อสงสัยว่า แผลดังกล่าวเป็นเรื่องบังเอิญหรือเจตนาของมาร์เกซผู้ประพันธ์ที่จะให้เป็นเช่นนั้น

ก่อนจะไปสืบความเกี่ยวกับเรื่องซอกรักแร้ของพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา  จะกล่าวถึงเบื้องหลังในการเขียนนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (One Hundred Years of Solitude) สักพอประมาณ

กล่าวได้ว่า  สำหรับนวนิยายเรื่องนี้  กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซได้ทุ่มแรงกายแรงใจอย่างมากเพื่อเขียนผลงานดังกล่าวให้สำเร็จ จากคำสัมภาษณ์ของมาร์เกซ ช่วงที่เริ่มต้นเขียนนวนิยายชิ้นเอก เขาต้องลาออกจากงานและขายรถ  มาร์เกซกะว่า จะใช้เวลา 9 เดือนในการเขียน แต่แล้วมันกลับยืดออกไปถึง 17 เดือน

อีกเรื่องหนึ่งอันน่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างที่มาร์เกซกำลังเขียนนวนิยาย "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" และเป็นสิ่งนำไปสู่คำตอบของประเด็นที่ว่า เหตุใดพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาจึงมีบาดแผลในซอกรักแร้ นั่นคือ อาการเจ็บป่วยของมาร์เกซ  ดังที่มาร์เกซเคยให้สัมภาษณ์คราวหนึ่งว่า

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมต้องเขียนหนังสือทั้งๆยังที่ป่วย มันคือช่วงระหว่างที่เขียนหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ผมเป็นแผลหนองที่รักแร้ซึ่งเจ็บปวดมาก  ปวดอยู่เรื่อยๆ เมื่อรักษาหายแล้ว มันก็กลับมาปวดอีก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกแย่มาก แต่ผมก็ทนเขียนหนังสือต่อไป และมันก็ยิ่งทวีความเจ็บปวด ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมในภาษาสเปนจึงเรียกแผลหนองนี้ว่า golondrinos (โกลอนดรีนอส แปลว่า นกนางแอ่น )  เพราะคุณจะต้องไปไหนมาไหนโดยยกแขนตลอดเวลาอย่างกับนกนางแอ่น  แผลหนองดังกล่าวเจ็บปวดที่สุดในช่วงที่ผมกำลังสร้างตัวละครชื่อพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา  นายพันเอกผู้นี้ชนะสงครามเสมอมา  ผมเลยคิดว่าจะต้องให้เขาพบอุปสรรคร้ายแรงเสียบ้าง ชีวิตจะได้ไม่สบายจนเกินไป  จึงตัดสินใจให้เขาเป็นแผลหนองที่รักแร้ ผมรู้จักความเจ็บปวดแบบนี้ดีกว่าใครอื่น  ทรมานกับมันมา 3-4 เดือน ผมเลยให้บูเอนดิยาเป็น golondrinos ที่มีอาการหนักกว่าผมเสียอีก เหตุที่ผมบอกคุณในเรื่องนี้ ก็เพราะว่า เมื่อผมเขียนให้แผลที่รักแร้ของพันเอกนั่นบวมขึ้นแล้ว แผลที่รักแร้ของผมพลันกลับหายดี”

แน่ล่ะ ด้วยความที่มาร์เกซต้องกลายเป็นนกนางแอ่นในระหว่างที่เขากำลังเขียน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เขาจึงทำให้พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาเป็นนกนางแอ่นไปด้วยอีกคนหนึ่ง ดังเราจะเห็นได้จากตอนที่ปรากฏในเนื้อหาว่า

“เขายืนเอาหลังพิงกำแพง วางมือสองข้างไว้ที่สะโพกเพราะบาดแผลแสบร้อนที่รักแร้ทำให้เขาเอาแขนลงต่ำกว่านั้นไม่ได้” (หน้า 212)

นั่นคือ อากัปกิริยาที่ไม่ผิดแผกจากนกนางแอ่น หรือ Golondrinos

ดังนั้น ข้อสงสัยที่ว่า ทำไมตัวละครพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาต้องเป็นแผลในซอกรักแร้ ?  ก็คงปรากฏคำตอบแล้ว

นายพันเอกกลายเป็นเครื่องสะท้อนความเจ็บปวดของตัวผู้เขียน คือ มาร์เกซเอง  ช่างเป็นความทรมานแสนสาหัส อันมีเพียงผู้ที่เผชิญเท่านั้นที่จะล่วงรู้ถึงพิษสงของมัน และมันยังบังเกิดขึ้นกับนักเขียนที่ต้องสู้ทนเพื่อเขียนผลงานชิ้นสำคัญให้สำเร็จ อย่างที่รู้กัน นักเขียนคือผู้ต่อสู้กับหน้ากระดาษอย่างโดดเดี่ยว

แผลในซอกรักแร้ของมาร์เกซ จึงราวกับการเผชิญรสชาติความเจ็บปวดในภาวะของความโดดเดี่ยวดุจดังชื่อของนวนิยาย !



[1] กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดียว, ปณิธาณ-ร.จันเสน แปล, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2547) โดยจะใช้ในการอ้างอิงทั้งหมดในบทความนี้

 

บล็อกของ อุชญาสิตาส แคราสสิเม่

อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ความยิ่งใหญ่ของพญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่มีนามว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์สำหรับนักอ่านชาวไทยมาจวบจนทุกวันนี้  
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงบทบาทและผลงานสำคัญในด้านต่างๆมากมายหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นในฐานะมันสมองของคณะราษฎร, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ผู้นำขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโ
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อวันอังคารของสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่าน"หนังสือปกขาว" ที่พิมพ์ออกมาในช่วงทศวรรษ 2510 เล่มหนึ่ง และแทบไม่น่าเชื่อว่า จะเจอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในนั้นหนังสือปกขาว คือหนังสืออะไรกัน?
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อกล่าวถึงเรื่องบทเพลงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดูเหมือนว่า จะมีความเชื่อมโยงกับบทเพลงที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาและชีวิตชีวาภายในสถาบันการศึกษา  อย่างเช่น เพลงประจำมหาวิทยาลัย หรือเพลงแม่โดมทั้งหลายของวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นต้น
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อเอ่ยถึงประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ดูเหมือนว่าชื่อของ ฆวน เปรอง (Juan Perón) จะเป็นชื่อสำคัญที่ผุดขึ้นมาในความคิดของผู้คน โดยมักจะปรากฏขึ้นมาพร้อมกับชื่อของภรรยาสาวสวยนาม เอวา เปรอง (Eva Perón) หรือ เอวิต้า (Evita) รวมถึงสิ่งหนึ่งที่ราวกับว่าเป็นเงาของเขา นั่นคือ นโยบายประชานิยม
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
สิ่งหนึ่งที่ชวนสะดุดใจเมื่ออ่านนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (One Hundred Years of Solitude)[1] ผลงานเลื่องชื่อของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียนาม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)  คือ แผลที่รักแร้ของตัวละครพันเอกอ