Skip to main content

เมื่อเอ่ยถึงประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ดูเหมือนว่าชื่อของ ฆวน เปรอง (Juan Perón) จะเป็นชื่อสำคัญที่ผุดขึ้นมาในความคิดของผู้คน โดยมักจะปรากฏขึ้นมาพร้อมกับชื่อของภรรยาสาวสวยนาม เอวา เปรอง (Eva Perón) หรือ เอวิต้า (Evita) รวมถึงสิ่งหนึ่งที่ราวกับว่าเป็นเงาของเขา นั่นคือ นโยบายประชานิยม

ฆวน เปรองได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1946 และกลายเป็นที่รักของประชาชนชาวอาร์เจนตินา เนื่องจากอาศัยนโยบายประชานิยมเป็นฐานทางการเมือง  เขาและเอวิต้าได้ทุ่มงบประมาณเพื่อช่วยเหลือคนยากจนอย่างมากมาย ทว่านั่นกลับนำมาสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประชาชนนิยมชมชอบฆวน เปรอง  เขาจึงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งใน ปี ค.ศ. 1952 

ครั้นเมื่อดำรงตำแหน่งมาได้จนถึง ปี ค.ศ. 1955  ในวันที่ 16 กันยายน  ฆวน เปรองก็ถูกทหารยึดอำนาจ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลของเขาคอรัปชั่นอย่างมาก จนก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในปี ค.ศ. 1955 นั้นเอง นักการทูตชาวไทยชื่อ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์  ได้เดินทางไปรับราชการที่ประเทศอาร์เจนตินาด้วยเช่นกัน[1]

สำหรับนักอ่านวรรณกรรมไทย ย่อมต้องคุ้นบ้างว่า ศักดิ์ชัย ก็คือผู้ใช้นามปากกาในการเขียนหนังสือว่า  “เสนีย์ เสาวพงศ์”  และเป็นเจ้าของผลงานเลื่องชื่ออย่างนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ที่ทำให้ตัวละครอย่าง “สาย สีมา” และ “รัชนี” โลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพ รวมถึงไพรัชนิยาย[2]ที่ทำให้นักอ่านดื่มด่ำไปกับฉากของกรุงปารีสอย่าง “ความรักของวัลยา”

ที่สำคัญคือ  ประสบการณ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ขณะเป็นนักการทูตอยู่ในอาร์เจนตินา ยังได้ถูกนำมาถ่ายทอดและสร้างสรรค์เป็นนวนิยายเรื่อง “ไฟเย็น” และนวนิยายเรื่อง “บัวบานในอะเมซอน” 

บัดนี้ จะพาคุณผู้อ่านไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "เสนีย์ เสาวพงศ์"  ในช่วงเวลาที่รัฐบาลฆวน เปรองถูกรัฐประหารยึดอำนาจ  สิ่งที่ ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ต้องเผชิญ ถูกบอกเล่าผ่านบทสัมภาษณ์ไว้ว่า

"ตอนนั้นมีการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีเปรอง ทหารก็ตรึงกำลังอยู่ทุกจุด ตึงเครียดหมด แต่ผมกับเพื่อนต้องเดินไปส่งโทรเลข ทีนี้บริษัทโทรเลขเป็นบริษัทอเมริกา ซึ่งอยู่ในซอยเล็กๆ พอไปถึงก็เจอทหารรักษาการณ์อยู่ ทหารพอเห็นพวกเราปุ๊บก็ยกปืนชี้หน้าแล้วตวาด หยุด! เราก็ชะงักกึกเลย แล้วทหารก็ถามเราว่า "มีบุหรี่หรือเปล่า" โอ้โฮ! ตอนนั้นผมใจหายหมดเลย ผมเลยควักบุหรี่อังกฤษให้ไป พวกเอาไปสูบควันโขมง เราก็เลยเข้าไปส่งโทรเลข แล้ววันรุ่งขึ้น เราถึงรู้ว่าตอนที่ผมผ่านไป พวกทหารกำลังเตรียมจะยิงถล่มร้านกาแฟนั่น เพราะเป็นที่ชุมนุมหน่วยกล้าตายของเปรอง เราไปก่อนนาทีนั้นอย่างเฉียดฉิว เลยรอดตายหวุดหวิด"[3]

นับได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของเสนีย์ เสาวพงศ์อย่างมาก ในช่วงเวลาที่ฆวน เปรองถูกยึดอำนาจในอาร์เจนตินา

และนี่คือเรื่องราวทำนอง “ผมบังเอิญอยู่ที่นั่นด้วย”[4] อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจของผู้เขียนนวนิยายเรื่อง ปีศาจ



[1] ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ รับราชการอยู่ที่ประเทศอาร์เจนตินาในช่วงปี ค.ศ. 1955-1960

[2] ไพรัชนิยาย คือ นิยายที่มีฉากและเรื่องเล่าเกิดขึ้นในต่างแดน

[3]  “บันทึกจากต่างแดนของเสนีย์ เสาวพงศ์”  ใน ตำนานนักเดินทาง, (กรุงเทพฯ : บริษัทเอเซีย แปซิฟิค พับบลิชชิ่งกรุ๊ป จำกัด, 2538)  หน้า 146

[4]  “ผมบังเอิญอยู่ที่นั่นด้วย”  เป็นชื่อบทความที่เขียนโดย ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก “ชุมนุมชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร” ปี พ.ศ. 2516 ล่าสุด ภายหลังการถึงแก่กรรมของเสนีย์ เสาวพงศ์ ได้มีการนำบทความดังกล่าวมาลงพิมพ์อีกครั้งในมติชนสุดสัปดาห์เพื่อระลึกถึงนักเขียนท่านนี้

 

บล็อกของ อุชญาสิตาส แคราสสิเม่

อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ความยิ่งใหญ่ของพญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่มีนามว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์สำหรับนักอ่านชาวไทยมาจวบจนทุกวันนี้  
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงบทบาทและผลงานสำคัญในด้านต่างๆมากมายหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นในฐานะมันสมองของคณะราษฎร, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ผู้นำขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโ
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อวันอังคารของสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่าน"หนังสือปกขาว" ที่พิมพ์ออกมาในช่วงทศวรรษ 2510 เล่มหนึ่ง และแทบไม่น่าเชื่อว่า จะเจอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในนั้นหนังสือปกขาว คือหนังสืออะไรกัน?
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อกล่าวถึงเรื่องบทเพลงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดูเหมือนว่า จะมีความเชื่อมโยงกับบทเพลงที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาและชีวิตชีวาภายในสถาบันการศึกษา  อย่างเช่น เพลงประจำมหาวิทยาลัย หรือเพลงแม่โดมทั้งหลายของวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นต้น
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
เมื่อเอ่ยถึงประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ดูเหมือนว่าชื่อของ ฆวน เปรอง (Juan Perón) จะเป็นชื่อสำคัญที่ผุดขึ้นมาในความคิดของผู้คน โดยมักจะปรากฏขึ้นมาพร้อมกับชื่อของภรรยาสาวสวยนาม เอวา เปรอง (Eva Perón) หรือ เอวิต้า (Evita) รวมถึงสิ่งหนึ่งที่ราวกับว่าเป็นเงาของเขา นั่นคือ นโยบายประชานิยม
อุชญาสิตาส แคราสสิเม่
สิ่งหนึ่งที่ชวนสะดุดใจเมื่ออ่านนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (One Hundred Years of Solitude)[1] ผลงานเลื่องชื่อของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียนาม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)  คือ แผลที่รักแร้ของตัวละครพันเอกอ