Skip to main content

บทที่ 12 เสรีนิยมและอรรถประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)

 

ต่างจากต็อกเกอวีลย์ มิลล์เป็นทั้งนักเสรีนิยมและนักประชาธิปไตย เขามองว่าประชาธิปไตยและรัฐบาลแบบตัวแทน (ที่เขาเรียกว่า รัฐบาล "ประชาชน") เป็นทั้งพัฒนาการและผลลัพธ์ตามธรรมชาติของหลักการเสรีนิยม แน่นอน เขาตระหนักถึงความป่วยไข้ของการปกครองแบบประชาธิปไตย ทว่าเพื่อหาทางเยียวยาความป่วยไข้ดังกล่าว เขาแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมันอย่างแรงกล้าในอนาคต การมองไปข้างหน้าสู่ความก้าวหน้าที่ค่อยเป็นค่อยไปและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในงานเขียนยุคหลัง ๆ เขาถึงกับมองว่าเสรีนิยมกับสังคมนิยมไม่ได้ขัดแย้งกันด้วยซ้ำไป งานเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองชิ้นสำคัญของเขาสองชิ้น (จริง ๆ แล้ว มิลล์เป็นนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์) คือ On Liberty (1859) และ Representative Government (1863) ขณะที่ต็อกเกอวีลย์เป็นนักเขียนด้านประวัติศาสตร์และการเมือง มิลล์นั้นเป็นนักทฤษฎีการเมืองด้วย นอกจากนี้ เขายังมีความสามารถและลักษณะนิสัยของนักปฏิรูปสูงกว่าเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่เขาเคารพมากนัก

 

อาจารย์ด้านทฤษฎีคนสำคัญของมิลล์คือเจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham, 1748-1832) ผู้ที่ปลูกฝังปรัชญาอรรถประโยชน์นิยมจนกลายเป็นรากฐานของข้อถกเถียงแบบเสรีนิยมของมิลล์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในคนเขียนคนไหน จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นมิลล์นี่เองที่เป็นต้นกำเนิด หรือได้มอบความเชี่ยวชาญให้กับสิ่งที่ต่อมาได้ก่อตัวเป็นกระแสที่สำคัญที่สุดของเสรีนิยม ทฤษฎีของเขาในช่วงแรกนั้นวางตัวอยู่บนข้อถกเถียงที่ว่า รัฐบาลมีหน้าที่จำกัดการใช้อำนาจสาธารณะเหนือการดำรงอยู่ของสิทธิตามธรรมชาติที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ของปัจเจกชน ในบทความเรื่อง "Anarchical Falacies" ที่เขียนขึ้นในปี 1795 เบนแธมได้เริ่มโจมตีคำประกาศสิทธิของมนุษย์ของฝรั่งเศสอย่างรุนแรง เขาประณามความอ่อนด้อยเชิงปรัชญา ตรรกะที่ไม่สอดคล้องกัน ภาษาที่คลุมเครือ และการกล่าวถึงสิ่งที่ไร้ผลในเชิงปฏิบัติ ไว้อย่างย้อนแย้งและเหยียดยาม เขาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของคำประกาศฉบับนี้ที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาอย่างเสรี และชี้ว่าทั้งหมดเป็นเรื่องไร้แก่นสารและโง่เขลาทั้งสิ้น เขาเสนอว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิตามธรรมชาติ หรือสิทธิที่มีอยู่ก่อนการก่อตัวของรัฐบาล หรือสิทธิที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งกับกฎหมาย[1] เบนแธมแทนที่ขนบเรื่องสิทธิตามธรรมชาติที่เชื่อถือกันมายาวนาน ด้วย "หลักอรรถประโยชน์" ซึ่งมองว่า ผู้บัญญัติกฎหมายที่ดีนั้นควรได้รับแรงดลใจจากหลักเกณฑ์ประการเดียว นั่นคือ กฎหมายควรสนับสนับสนุนความสุขที่มากที่สุดเพื่อคนจำนวนมากที่สุด นี่หมายความว่า ข้อจำกัดใด ๆ ที่อาจมีต่ออำนาจของผู้ปกครองนั้นไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลยกับภาพฝันเรื่องสิทธิตามธรรมชาติที่ไม่ได้มีอยู่จริงและไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริง ทว่าข้อจำกัดเหล่านั้นต้องมาจากข้อพิจารณาหลักที่ว่า มนุษย์นั้นแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด และสังคมที่ดีที่สุดนั้นก็คือสังคมที่สามารถสร้างความสุขมากที่สุดให้กับสมาชิกจำนวนมากที่สุดได้นั่นเอง สำหรับขนบทางภูมิปัญญาแบบอังโกล-แซกซอน ซึ่งสร้างคุณูปการที่มีเหตุผลและยืนยงให้กับพัฒนาการของเสรีนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย อรรถประโยชน์นิยมและเสรีนิยมต่างก็เริ่มพัฒนาคู่ขนานกันนับจากยุคของเบนแธมเป็นต้นมา โดยที่อรรถประโยชน์นิยมได้กลายเป็นพันธมิตรสำคัญทางทฤษฎีของรัฐแบบเสรีนิยม การเปลี่ยนผ่านจากทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาติสู่อรรถประโยชน์นิยม ทำให้ความคิดแบบเสรีนิยมต้องเผชิญกับวิกฤตขึ้นมูลฐาน ซึ่งทิ้งผลกระทบที่ยังคับพบเห็นได้ในการถกเถียงครั้งใหม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเมื่อไม่นานมานี้

 

มิลล์นั้นเป็นนักอรรถประโยชน์นิยมที่ชัดเจนและเชื่อมั่น เมื่อเขากล่าวว่า

 

ความเชื่อที่ยอมรับกันว่าเป็นรากฐานของศีลธรรม อรรถประโยชน์ หรือหลักการความสุขที่มากที่สุดนั้น เสนอว่า การกระทำจะถูกต้องตามสัดส่วนที่ทำให้ความสุขเพิ่มมากขึ้น และผิดตามสัดส่วนที่ทำให้ความสุขลดน้อยลง[2]

 

เขาตีความคำว่า "ความสุข" ของเบนแธมว่าคือความพึงใจ (pleasure) หรือการไม่มีความเจ็บปวด (pain) ขณะที่คำว่า "ความทุกข์" คือความเจ็บปวดหรือการสูญเสียความพึงใจ อย่างไรก็ตาม ในฐานะทฤษฎีทางศีลธรรมและทฤษฎีที่วิพากษ์รวมทั้งปฏิเสธข้อจำกัดทางศีลธรรมขั้นมูลฐานในทุกรูปแบบ เว้นแต่เป็นข้อจำกัดที่ย้อนกลับไปสู่คำถามเรื่องความเจ็บปวดและความพึงใจ มิลล์โต้แย้งว่า อรรถประโยชน์นิยมนั้นไม่ได้สนใจกับอรรถประโยชน์ที่เกิดกับปัจเจกคนใดคนหนึ่งในความสัมพันธ์กับอรรถประโยชน์ที่ปัจเจกชนคนอื่น ๆ ได้รับ แต่สนใจอรรถประโยชน์ของสังคมโดยรวม พูดอีกอย่างคือ ไม่ได้สนใจความสุขส่วนตัวของ "ผู้กระทำการคนใดคนหนึ่ง แต่สนใจความสุขของคนทุกคน" อันเป็นสิ่งที่จะต้องพิเคราะห์ด้วยความเป็นกลางของ "ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียและมีใจเป็นกุศล"[3] เช่นนี้เอง มิลล์จึงปฏิเสธความยวนใจให้หันกลับไปถือเอาว่ามทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาติเป็นรากฐานและข้อแก้ต่างให้กับความคิดที่ว่าอำนาจของรัฐจำต้องถูกจำกัด (จุดยืนของเขาในเรื่องนี้สอดคล้องกับข้อวิจารณ์เกี่ยวกับสิทธิตามธรรมชาติของเบนแธม) เขาเสนอประเด็นนี้ไว้ในบทนำของ On Liberty หนังสือที่วางรากฐานให้กับทฤษฎีของเขาว่า

 

เป็นเรื่องเหมาะควรที่จะกล่าวว่า ข้าพเจ้ายอมสละคุณประโยชน์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดแก่ข้อถกเถียงของข้าพเจ้า หากมันมีที่มาจากความคิดเรื่องสิทธินามธรรม อันเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับอรรถประโยชน์ ข้าพเจ้าเห็นว่าอรรถประโยชน์นั้นเป็นข้อเรียกร้องขั้นสุดท้ายต่อคำถามเชิงจริยธรรมทั้งมวล กระนั้น ก็ต้องเป็นอรรถประโยชน์ในความหมายที่กว้างที่สุด ที่มีรากฐานอยู่บนผลประโยชน์อันถาวรของมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เจริญรุดหน้าขึ้นได้[4]

 

มิลล์เดินตามขนบแบบเสรีนิยมในเรื่องเสรีภาพที่จะไม่ถูกกระทำ อันเป็นเสรีภาพที่เข้าใจกันว่าเป็นเงื่อนไขที่ อัตบุคคล (subject) (ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกหรือกลุ่มที่กระทำการอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน) จะไม่ถูกขัดขวางไม่ให้กระทำในสิ่งทีเขาปรารถนา และไม่ได้ตกอยู่ใต้การบังคับขู่เข็ญใด ๆ ให้กระทำในสิ่งที่เขาไม่ได้ปรารถนาจากพลังภายนอก ด้วยเหตุนี้ มิลล์จึงพยายามวางหลักการที่เป็นรากฐานให้กับขีดจำกัดของอำนาจสาธารณะในการจำกัดเสรีภาพของปัจเจกได้อย่างชอบธรรม และตามมาด้วยขีดจำกัดที่ปัจเจกหรือกลุ่มต่าง ๆ สามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ พูดอีกอย่างก็คือ เขาพยายามจะขีดเส้นแบ่งระหว่างอาณาบริเวณส่วนตัวกับอาณาบริเวณสาธารณะ เพื่อการันตีการใช้เสรีภาพของปัจเจกชนอย่างเป็นอิสระจากการรุกล้ำของอำนาจรัฐ และเพื่อให้แน่ใจว่า ขอบเขตของเสรีภาพที่ว่านั้นจะกว้างขวางและสอดคล้องไปกับการสร้างความยินยอมพร้อมใจ อันจำเป็นแก่การเชื่อมโยงผลประโยชน์ของปัจเจกและหมู่คณะเข้าไว้ด้วยกัน เขาเสนอหลักการไว้ ดังนี้

 

จุดหมายปลายทางประการเดียวที่มนุษย์ ไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกหรือหมู่คณะ ได้รับอนุญาตให้แทรกแซงเสรีภาพในการกระทำของคนอื่น ๆ คือเพื่อการปกป้องตนเองเท่านั้น และเป้าหมายเพียงอย่างเดียวสำหรับการบังคับใช้อำนาจอันขัดแย้งกับเจตจำนงเหนือสมาชิกของชุมชนที่เป็นอารยะอย่างชอบธรรม ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นกับคนอื่น ๆ เท่านั้น[5]

 

ต่อจากนั้น เขาเขียนว่า "หากใครก็ตามกระทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้คน นั่นย่อมเป็นหลักฐานที่เพียงพอต่อการลงโทษคนผู้นั้นตามกฎหมาย หรือในที่ที่การลงโทษตามกฎหมายไม่อาจปรับใช้ได้อย่างปลอดภัย ก็อาจลงโทษด้วยการประณามทั่ว ๆ ไปแทนได้"[6]

 

ด้วยการประกาศหลักการที่ว่านี้ มิลล์วางเป้าหมายที่จะจำกัดสิทธิ์ของรัฐในการควบคุมอาณาบริเวณของเสรีภาพของปัจเจกชน อันเป็นอาณาบริเวณที่ปัจเจกชนเป็นเสรีที่จะเลือกระหว่างทางเลือกต่าง ๆ พร้อมทั้งจำกัดสิทธิ์ในการโน้มน้าวพลเมืองให้กระทำและเลี่ยงจากการกระทำใด ๆ นอกเหนือจากความปรารถนาของเขา หรือในพื้นที่ของการกระทำจากภายนอก (ในความหมายของคานท์) พูดอีกอย่างคือ รัฐสามารถแทรกแซงการกระทำของปัจเจกชนอย่างชอบธรรมเฉพาะแต่ในกรณีที่การแสวงหาผลประโยชน์ของปัจเจกชนในการกระทำเหล่านั้นอาจล่วงละเมิดผลประโยชน์ของปัจเจกชนคนอื่น ๆ ขณะเดียวกัน ปัจเจกชนได้รับการปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากการรุกล้ำของอำนาจสาธารณะ ตราบเท่าที่การกระทำของเขาไม่ได้กระทบกระเทือนต่อใครนอกจากตัวเขาเอง ตัวอย่างเช่น ในความคิดหรือความรู้สึกส่วนตัวของเขา เสรีภาพในการคิดและแสดงความคิดเห็นของเขา อิสรภาพในการกระทำตามรสนิยมหรือแผนการของตนเอง อิสรภาพในการเชื่อมสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เป็นต้น หากเราเห็นตรงกันที่จะเรียกทฤษฎีทางการเมืองทุกอย่างที่มองว่ารัฐนั้นมีสิทธิในการแทรกแซงกิจการส่วนตัวของปัจเจกชนบนพื้นฐานที่ว่า ปัจเจกชนทุกคนหรือกระทั่งผู้ใหญ่คนหนึ่งเรียกร้องการคุ้มครองตัวเขาให้พ้นจากความโน้มเอียงและแรงกระตุ้นของตัวเองว่าเป็น ทฤษฎีแบบพ่อขุน (paternalistic) เช่นนั้นแล้ว ในงานของมิลล์ รวมถึงล็อคและคานท์ เสรีนิยมก็แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า ตัวมันเองนั้นคัดง้างกับความคิดดังกล่าวอย่างถึงที่สุด เหตุเพราะมันตั้งต้นจากสมมติฐานเชิงจริยศาสตร์ที่ได้รับการกล่าวขานอย่างแรงกล้าอยู่ในคำกล่าวของมิลล์ นั่นคือ ปัจเจกชนแต่ละคน "คือผู้พิทักษ์สุขภาพ ทั้งทางกาย ทางจิตใจ หรือทางจิตวิญญาณ ของตนเองอย่างถูกต้องเหมาะควร"[7] นี่ไม่ใช่การปฏิเสธว่า องค์ประกอบของระบบพ่อขุนไม่อาจพบได้ในงานของมิลล์ (อย่างเช่นที่พบในงานของล็อคและคานท์) เราจำต้องระลึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในการแสดงความคิดเห็นที่เพิ่งกล่าวถึงข้างต้นนั้น มิลล์ได้จำกัดมันไว้กับเพียงสมาชิกของ "ชุมชนที่เป็นอารยะ" แล้วเท่านั้น พูดอีกอย่างคือ หลักการเรื่องเสรีภาพนั้นเป็นสิ่งดีงามแต่เฉพาะกับปัจเจกที่มีปัญญาความสามารถพัฒนาเต็มที่ และมันไม่ใช่สิ่งดีสำหรับผู้เยาว์ที่ยังอยู่ใต้การคุ้มครองของผู้ใหญ่ หรือไม่ใช่สิ่งดีต่อสังคมที่ล้าหลังซึ่งพิจารณาได้ว่า ได้ตกอยู่ในเงื่อนไขของการเป็นผู้เยาว์อย่างรวมหมู่ มิลล์แสดงความเห็นในประเด็นหลังไว้อย่างชัดเจนว่า "ระบอบเผด็จการคือการปกครองที่ชอบธรรมสำหรับการปกครองคนป่าเถื่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคนเหล่านี้ ขณะที่การก่อให้เกิดผลตามเป้าหมายที่ว่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าวิธีการนั้นถูกต้อง"[8] หากละเว้นไว้ซึ่งเงื่อนไขบางประการ (เช่นว่า ใครจะเป็นผู้วินิจฉัยเป้าหมายหรือความเหมาะสมของวิธีการในการบรรลุเป้าหมายเช่นนั้น) ถึงตรงนี้ มิลล์ได้ตอกย้ำเหตุผลสนับสนุนดั้งเดิมของระบอบเผด็จการที่อริสโตเติลเคยคิดว่าเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นทาสโดยธรรมชาติเมื่อศตวรรษก่อน ไว้อย่างหนักแน่นอีกครั้งหนึ่ง.

 

 

[1] J. Bentham, “Anarchical Fallacies” in The Works, J. Bowring, ed., William Tait, Edinburgh, vol. 2, p. 500.

 

[2] J.S. Mill, Utilitarianism, Liberty, Representative Government, p. 6.

 

[3] Ibid., p. 16.

 

[4] Ibid., p. 74.

 

[5] Ibid., pp. 72-3.

 

[6] Ibid., p. 74.

 

[7] Ibid., p. 75.

 

[8] Ibid., p. 73.

 

บทที่ ความคิดเรื่องเสรีภาพยุคคลาสสิกและยุคสมัยใหม่ (Classical and Modern Ideas of Liberty)

 

การดำรงอยู่ของระบอบการปกครองที่เรียกกันว่า 'ประชาธิปไตยเสรี' และ 'เสรีประชาธิปไตย' ในปัจจุบันนั้น ชวนให้เข้าใจว่า เสรีนิยมและประชาธิปไตยนั้นเป็นของคู่กัน อย่างไรก็ตาม ความจริงคือ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองสิ่งนั้นสลับซับซ้อน และไม่ได้เป็นเรื่องของความต่อเนื่องหรือความเหมือนกันแต่อย่างใด การใช้คำทั้งสองทั่ว ๆ ไปนั้น 'เสรีนิยม' หมายถึงมโนทัศน์เฉพาะเกี่ยวกับรัฐที่เข้าใจกันว่ามีอำนาจและหน้าที่อย่างจำกัด ฉะนั้น จึงแตกต่างจากทั้งรัฐสมบูรณาญาสิทธิ และต่างจากสิ่งที่เรียกกันในทุกวันนี้ว่า รัฐสังคม (social state) ขณะที่ 'ประชาธิปไตย' หมายถึงหนึ่งในหลายรูปแบบการปกครองที่เป็นไปได้ กล่าวคือ เป็นการปกครองที่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งหรือเพียงคนกลุ่มเดียว ทว่าเป็นของคนทุกคน พูดอีกอย่างก็คืออำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ ฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงแตกต่างจากรูปแบบเผด็จการ เช่น ราชาธิปไตย และ คณาธิปไตย รัฐเสรีนิยมไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย อันที่จริง มีตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ของรัฐเสรีนิยมมากมายที่อยู่ในสังคมที่การมีส่วนร่วมในการปกครองถูกจำกัดให้อยู่ในมือของชนชั้นที่มั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้น ขณะที่ การปกครองแบบประชาธิปไตยเองไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในรัฐเสรีนิยม จริง ๆ แล้ว รัฐเสรีนิยมคลาสสิกต่างก็กำลังเผชิญวิกฤตอันเป็นผลมาจากการพัฒนาประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ซึ่งติดตามมาด้วยการขยายสิทธิในการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่การเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องสากล

 

ในการเปรียบเทียบความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพในยุคสมัยใหม่กับเสรีภาพในยุคคลาสสิก เบนยาแม็ง กงสต็อง (1767-1830) ได้จัดวางเสรีนิยมให้อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย ด้วยการอภิปรายถึงความแตกต่างระหว่างทั้งสองสิ่งไว้อย่างเฉียบแหลมในคำปราศรัยอันโด่งดังที่เขาเสนอต่อราชบัณฑิตฝรั่งเศส (The Royal Academy) ณ กรุงปารีส ในปี 1818 เริ่มต้นจากการสืบย้อนไปยังประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์อันซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างข้อเรียกร้องพื้นฐานทีให้กำเนิดรูปแบบของรัฐสมัยใหม่ภายในชาติที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมสูงที่สุด ด้านหนึ่งก็คือ ข้อเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจรัฐ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือ ข้อเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ เขาเขียนไว้ว่า:

 

เป้าหมายของคนในยุคก่อน คือการกระจายอำนาจทางสังคมในหมู่พลเมืองทุกคน และเรียกสิ่งนี้ว่าเสรีภาพ ขณะที่สำหรับคนสมัยใหม่ เป้าหมายอยู่ที่ความมั่นคงในการแสวงหาความสุขสำราญส่วนบุคคล สำหรับพวกเขา เสรีภาพจึงหมายถึงการให้สถาบันต่าง ๆ รับประกันสิทธิในการแสวงหาความสุขเหล่านี้[1]

 

ในฐานะเสรีนิยมเต็มขั้น กงสต็องเห็นว่าเป้าหมายทั้งสองประการนี้ไม่อาจลงรอยกันได้ ในที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรงกับการตัดสินใจของส่วนรวม ปัจเจกชนย่อมสำคัญน้อยกว่าสิทธิอำนาจของคนทั้งมวล และสูญเสียเสรีภาพในฐานะบุคคลคนหนึ่ง (private person) ไป นี่คือเสรีภาพส่วนบุคคลที่พลเมืองในทุกวันนี้เรียกร้องจากอำนาจมหาชน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสรุปว่า

 

เราในทุกวันนี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเสรีภาพของคนในยุคก่อน อันประกอบด้วยการมีส่วนร่วมในอำนาจส่วนรวมอย่างต่อเนื่องและแข็งขัน ตรงกันข้าม เสรีภาพของพวกเราเป็นเรื่องของความเพลิดเพลินในอิสรภาพส่วนบุคคลอย่างสันติสุข[2]

 

กระนั้น แม้กงสต็องจะอ้างถึงคนยุคก่อน แต่ข้อโต้แย้งของเขากลับพุ่งตรงไปยังบุคคลในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน นั่นคือ ฌอง-ฌาร์ค รูโซ อันที่จริง ผู้เขียนสัญญาประชาคม (The Social Contract) ซึ่งใช้ประโยชน์มากมายจากความคิดของนักเขียนยุคคลาสสิก เห็นว่า สาธารณรัฐใดก็ตามที่อำนาจอธิปไตยได้รับการสถาปนาขึ้นจากข้อตกลงของคนทั้งมวลโดยเต็มใจ ย่อมเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ และ 'ผู้ใต้ปกครองก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรับประกันใด ๆ เหตุเพราะเป็นไปไม่ได้ที่ [รัฐเช่นนั้น] จะทำร้ายสมาชิกทุกคนของมันเอง'[3] แน่นอน รูโซไม่เคยใช้ข้อโต้แย้งเรื่องเจตจำนงทั่วไปเพื่อปฏิเสธความจำเป็นของการจำกัดอำนาจรัฐ จึงเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่กล่าวหาเขาว่าเป็นบิดาของ 'ประชาธิปไตยแบบเผด็จการ' กระนั้น เขายืนยันว่า สัญญาประชาคมสามารถทำให้องคาพยพทางการเมือง (the body politic) มีอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด อีกทั้งยังยืนยันว่า 'องค์อธิปัตย์เองไม่อาจล่ามโซ่ตรวนใด ๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน ให้กับผู้ใต้ปกครองของตัวเอง'[4] อย่างไรก็ดี เป็นความจริงที่ว่า ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ก่อนหน้าที่จะมีรัฐ เช่นเดียวกับทฤษฎีว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติอันเป็นแกนกลางของความคิดที่เป็นฉากหลังของรัฐเสรีนิยม จริง ๆ แล้ว ขณะที่รูโซยอมรับว่า 'มนุษย์แต่ละคนมอบให้ .. โดยข้อตกลงทางสังคม เพียงส่วนหนึ่งของอำนาจ ... ที่มีความสำคัญจนชุมชนต้องเข้ามาควบคุม' ทว่าเขากลับยังสรุปว่า 'เราต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า องค์อธิปัตย์เป็นเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะชี้ขาดว่าสิ่งใดคือสิ่งสำคัญที่ว่า'[5].

 

 

[1] B. Constant, De la liberté des anciens compare à celles des modernes (1818), in Collection complete des ouvrages, Béchet Libraire, Paris 1820, vol. 4, part 7, p. 253.

 

[2] Ibid.

 

[3] J.-J. Rousseau, The Social Contract and Discourses, vol. 1, p. 7, trans. and introd. G.D.H. Cole, London 1973, p. 176.

 

[4] Ibid., p. 186.

 

[5] Ibid.

 

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 3 ขีดจำกัดของอำนาจรัฐ (The Limits o
Apolitical
บทที่ 2 สิทธิของมนุษย์ (The Rights of Man)
Apolitical
บทที่ 1 ความคิดเรื่องเสรีภาพยุคคลาสสิกและยุคสมัยใหม่ (
Apolitical
บล็อกนี้มีจุดประสงค์เริ่มแรก เพื่อรวบรวมงานแปลของผมเป็นหลักนะครับ โดยจะทยอยอัพเดทเรื่อย ๆ เท่าที่มีเวลา