บทที่ 1 ความคิดเรื่องเสรีภาพยุคคลาสสิกและยุคสมัยใหม่ (Classical and Modern Ideas of Liberty)
การดำรงอยู่ของระบอบการปกครองที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยเสรี” หรือ “เสรีประชาธิปไตย” ในปัจจุบันนั้น ชวนให้เข้าใจว่า เสรีนิยมและประชาธิปไตยต่างพึ่งพากันและกัน อย่างไรก็ตาม ความจริงคือ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองสิ่งทั้งสลับซับซ้อนและมิได้มีความต่อเนื่องหรือเหมือนกันแต่อย่างใด การใช้คำทั้งสองโดยทั่วไปนั้น “เสรีนิยม” หมายถึงมโนทัศน์เฉพาะเกี่ยวกับรัฐที่เข้าใจกันว่ามีอำนาจและหน้าที่อย่างจำกัด ฉะนั้น จึงแตกต่างจากทั้งรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์และต่างจากสิ่งที่เรียกกันในทุกวันนี้ว่า รัฐสังคม (social state) ขณะที่ “ประชาธิปไตย” หมายถึงหนึ่งในหลายรูปแบบการปกครองที่เป็นไปได้ กล่าวคือเป็นการปกครองที่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งหรือเพียงคนกลุ่มเดียว ทว่าเป็นของคนทุกคน พูดอีกอย่างก็คืออำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ ฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงแตกต่างจากรูปแบบเผด็จการ(autocratic) เช่น ระบอบกษัตริย์ และ คณาธิปไตย รัฐเสรีนิยมไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย อันที่จริง มีตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ของรัฐเสรีนิยมมากมายที่อยู่ในสังคมที่การมีส่วนร่วมในการปกครองถูกจำกัดและสงวนไว้ให้อยู่ในมือของชนชั้นที่มั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้น ขณะที่การปกครองแบบประชาธิปไตยเองก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในรัฐเสรีนิยม จริงๆ แล้ว รัฐเสรีนิยมคลาสสิกต่างก็กำลังเผชิญวิกฤตอันเป็นผลมาจากการพัฒนาประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ซึ่งติดตามมาจากการขยายสิทธิ์การเลือกตั้งออกไปจนถึงจุดที่การเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งสากล
ในการเปรียบเทียบความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพในยุคสมัยใหม่กับเสรีภาพในยุคโบราณ เบนยาแม็ง กงสต็อง (1767-1830) ได้จัดวางเสรีนิยมให้อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย โดยอภิปรายถึงความแตกต่างระหว่างทั้งสองสิ่งไว้อย่างเฉียบแหลมพอสมควรในคำบรรยายอันโด่งดังที่เขาแสดงแก่ราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส (The Royal Academy) ณ กรุงปารีส ในปี 1818 เริ่มต้นจากการสืบย้อนไปยังประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์อันซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานที่ได้ให้กำเนิดรูปแบบของรัฐสมัยใหม่ภายในชาติที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมสูงที่สุด อันได้แก่ ข้อเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจรัฐด้านหนึ่ง และข้อเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจอีกด้านหนึ่ง เขาเขียนไว้ว่า:
เป้าหมายของคนในยุคก่อน คือการกระจายอำนาจทางสังคมในหมู่พลเมืองทุกคน และเรียกสิ่งนี้ว่าเสรีภาพ ขณะที่สำหรับคนสมัยใหม่ เป้าหมายอยู่ที่ความมั่นคงในการแสวงหาความสุขสำราญส่วนบุคคล สำหรับพวกเขา เสรีภาพจึงหมายถึงการให้สถาบันต่าง ๆ รับประกันสิทธิในการแสวงหาความสุขเหล่านี้[1]
ในฐานะนักเสรีนิยมเต็มขั้น กงสต็องเห็นว่าเป้าหมายทั้งสองประการนี้ไม่อาจลงรอยกันได้ ในที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรงกับการตัดสินใจของส่วนรวม ปัจเจกชนย่อมสำคัญน้อยกว่าสิทธิอำนาจของคนทั้งมวลและสูญเสียเสรีภาพในฐานะบุคคลคนหนึ่ง (private person) ไป นี่คือเสรีภาพส่วนบุคคลที่พลเมืองในทุกวันนี้เรียกร้องจากอำนาจมหาชน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสรุปว่า
เราในทุกวันนี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเสรีภาพของคนในยุคก่อน อันประกอบด้วยการมีส่วนร่วมในอำนาจส่วนรวมอย่างต่อเนื่องและแข็งขัน ตรงกันข้าม เสรีภาพของพวกเราเป็นเรื่องของความเพลิดเพลินในอิสรภาพส่วนบุคคลอย่างสันติสุข[2]
กระนั้น แม้กงสต็องจะอ้างถึงคนยุคก่อน แต่ข้อโต้แย้งของเขากลับพุ่งตรงไปยังบุคคลในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน นั่นคือ ฌอง-ฌาร์ค รูโซ อันที่จริง ผู้เขียนหนังสือ สัญญาประชาคม (The Social Contract) ซึ่งใช้ประโยชน์มากมายจากความคิดของนักเขียนยุคคลาสสิก เห็นว่า สาธารณรัฐใดก็ตามที่อำนาจอธิปไตยได้รับการสถาปนาขึ้นจากข้อตกลงของคนทั้งมวลโดยเต็มใจ ย่อมเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ และ “ผู้ใต้ปกครองก็ไม่จำเป็นต้องได้รับหลักประกันใดๆ เหตุเพราะเป็นไปไม่ได้ที่องค์คณะ (body) จะทำร้ายสมาชิกทุกคนของตนเอง”[3] แน่นอน รูโซไม่เคยใช้ข้อโต้แย้งเรื่องเจตจำนงทั่วไปเพื่อปฏิเสธความจำเป็นของการจำกัดอำนาจรัฐ จึงเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่กล่าวหาเขาว่าเป็นบิดาของ “ประชาธิปไตยแบบเผด็จการ” กระนั้น เขายืนยันว่า สัญญาประชาคมสามารถทำให้องคาพยพทางการเมือง (the body politic) มีอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด อีกทั้งยังยืนยันว่า “องค์อธิปัตย์เองไม่อาจล่ามโซ่ตรวนใดๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ ให้กับผู้ใต้ปกครองของตัวเอง”[4] อย่างไรก็ดี เป็นความจริงที่ว่าข้อจำกัดเหล่านี้หาได้มีอยู่ก่อนหน้าที่รัฐจะได้รับการสถาปนาขึ้นมา เช่นเดียวกับทฤษฎีว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติอันเป็นแกนกลางของความคิดที่เป็นฉากหลังของรัฐเสรีนิยม จริงๆ แล้ว ขณะที่รูโซยอมรับว่า “มนุษย์แต่ละคนมอบให้ .. โดยข้อตกลงทางสังคม เพียงส่วนหนึ่งของอำนาจของตน ... ที่มีความสำคัญจนชุมชนต้องเข้ามาควบคุม' แต่เขากลับยังสรุปว่า “เราต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า องค์อธิปัตย์เป็นเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะชี้ขาดว่าสิ่งใดคือสิ่งสำคัญที่ว่านี้”[5].
[1] B. Constant, De la liberté des anciens compare à celles des modernes (1818), in Collection complete des ouvrages, Béchet Libraire, Paris 1820, vol. 4, part 7, p. 253.
[2] Ibid.
[3] J.-J. Rousseau, The Social Contract and Discourses, vol. 1, p. 7, trans. and introd. G.D.H. Cole, London 1973, p. 176.
[4] Ibid., p. 186.
[5] Ibid.