Skip to main content

Jacqueline Godany via Unsplash

ภาพ: Jacqueline Godany via Unsplash

วิทยาศาสตร์กระทบต่อเราทุกคน ตามปกติเรามักอยากจะเชื่อในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์บอกและสนับสนุนวิทยาศาสตร์ แต่คนบางกลุ่ม เช่น ผู้ปฏิเสธปัญหาโลกร้อน พนักงานโรงงานยาสูบ ฯลฯ กลับเล็งเห็นโอกาสในการเสนอแนวคิดที่คลุมเครือจากการที่คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจในวิทยาศาสตร์นัก ในขณะที่ผลประโยชน์ทางสังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจที่หยั่งรากจนยากจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งคอยหล่อเลี่ยงเรื่องราวชวนโต้แย้งหลายต่อหลายอย่าง จะอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่เราเหล่านักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยการทำให้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ให้ชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น

ผมคิดว่าคนกำลังสับสนกับคำพูดของนักวิทยาศาสตร์ ดูเผินๆ นักวิทยาศาสตร์มักพูดอะไรประหลาดๆ หรืออาจฟังดูไร้สาระ เช่น นักวิทยาศาสตร์ที่รอบคอบทุกคนจะยอมรับว่าไม่มีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่สามารถพูดได้ว่าเป็นความจริงที่เชื่อถือได้ 100% แต่อีกสักพักนักวิทยาศาสตร์คนเดียวกันก็จะหันมาพูดด้วยท่าทีเคร่งขรึมว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับโลก (ซึ่งมีสาเหตุจากมนุษย์) เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ มันเกิดขึ้นแล้วและเป็นอันตรายต่อเราทุกคนมากขึ้นทุกวัน ไม่แปลกเลยที่คนทั่วๆ ไปจะไม่รู้ว่าควรเชื่ออะไรดี

ทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงไม่สื่อสารกับคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ให้ดีกว่านี้? ผมเกรงว่าเหตุผลก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังไม่มีคำตอบที่ดีให้กับคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ที่เราอาจถูกถามอยู่บ้าง พวกเราร่ำเรียนมากับหลักสูตรที่กำหนดรายวิชาบังคับซึ่งมุ่งศึกษาแต่ประเด็นแคบๆ ครูบาอาจารย์ของเราง่วนอยู่กับงานและมุ่งแต่ผลลัพธ์ ทำให้มีเวลาไม่มากนักให้กับประเด็นทางปรัชญาในภาพกว้าง หรือไม่ก็ไม่แยแสมันเอาเสียเลย เมื่อผมลองสอบถามบรรดาสมาชิกนับร้อยๆ คนในชุมชนชีววิทยา ผมรู้สึกประหลาดใจทีเดียวที่พบว่า 68% ของพวกเราแทบไม่ได้ฝึกฝนร่ำเรียนเรื่องวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือการคิดและการให้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์เลย ในภาพรวม พวกเราให้ความสนใจน้อยเหลือเกินกับประเด็นที่อยู่นอกเหนือความเชี่ยวชาญของตนเอง

ลองดูความขัดแย้งที่ผมกล่าวถึงข้างต้นก็ได้ เราจะสามารถยอมรับหลักการที่ว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเชื่อถือได้ว่าเป็นความจริง 100% ไปพร้อมกับความเป็นจริงที่ว่านักวิทยาศาสตร์มักทำตัวราวกับว่าข้อเท็จจริงของพวกเขาเป็นความจริงได้อย่างไร?

ทางออกหนึ่งคือการตระหนักว่าวิทยาศาสตร์หาใช่ความพยายามที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พูดให้เฉพาะเจาะจงก็คือเป้าหมายปลายทางของวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (บริสุทธิ์) และวิทยาศาสตร์ประยุกต์นั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย วิทยาศาสตร์พื้นฐานพยายามศึกษาความรู้โดยตัวของมันเอง และยึดมั่นในแนวทางนี้อย่างแน่วแน่ คือจะพอใจก็ต่อเมื่อสามารถอธิบายธรรมชาติในทุกแง่มุม ทุกสิ่ง ในทุกที่ และทุกเวลา ได้อย่างสมบูรณ์เท่านั้น แน่นอนว่านี่เป็นเป้าหมายที่ยากจะไปถึง แต่มันก็เป็นของมันอย่างนั้น และเป้าหมายนี้ก็ไม่ได้บ้าบิ่นไปกว่าการแสวงหาความสมบูรณ์ในมิติอื่นๆ ของชีวิต เช่นที่ศิลปิน นักกรีฑา นักคณิตศาสตร์ ฯลฯ ทำกันเป็นปกติ บริบทของวิทยาศาสตร์พื้นฐานคือที่เราต้องจำหลักการที่ว่า "ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จริงแท้ 100%"  ไว้ให้ขึ้นใจ

แล้วทัศนะของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศล่ะ? อย่างแรกเลย นี่เป็นปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเราสามารถระบุปัญหาของวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดทุกอย่างที่วิทยาศาสตร์พื้นฐานพยายามหาคำตอบ วิทยาศาสตร์ประยุกต์มุ่งค้นหาผลลัพธ์ที่ใช้ได้ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่แนวคิดเชิงนามธรรมที่เชื่อถือและอธิบายทุกอย่างได้ทั้งหมด วิทยาศาสตร์แนวนี้พึ่งพิงชุดข้อมูลที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ณ เวลานั้นๆ และยอมรับว่าข้อมูลนั้นยังไม่สมบูรณ์ในบางระดับ การอาศัยความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ไม่ได้เป็นเรื่องของความหละหลวมหรือน่าท้วงติงแต่อย่างใดเพราะเราต่างก็ทำแบบนั้นกันอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างพื้นๆ เลยคือเรื่องความลื่นของน้ำแข็ง จนถึงทุกวันนี้ ในปี 2020 วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำอธิบายที่สมบูรณ์ได้ว่าทำไมน้ำแข็งจึงลื่น สมมติฐานในช่วงแรกเกี่ยวกับชั้นบางๆ ของน้ำที่ละลายจากแรงกดหรือแรงเสียดทาน เช่น จากใบมีดของรองเท้าสเก็ต ถูกพิสูจน์แล้ว่าผิดจากการค้นพบว่าน้ำแข็งที่อุณหภูมิใกล้ศูนย์ซึ่งไม่มีของเหลวอยู่แล้วก็ยังคงลื่นอยู่ดี คำอธิบายที่สมบูรณ์อาจจะถูกค้นพบได้ด้วยการศึกษาด้านกลศาสตร์ควอนตัม ในขณะที่ฟิสิกส์พื้นฐานยอมรับว่าเราไม่รู้เรื่องนี้แน่ชัดและพยายามศึกษาวิจัยกันต่อไป วิทยาศาสตร์ประยุกต์รอคำตอบที่สมบูรณ์ไม่ได้และไม่จำเป็นต้องรอด้วย หากน้ำแข็งที่ลื่นเป็นปัญหา ก็ลองโรยทรายหรือเกลือทับไปก่อน ลองใช้รถที่มียางแบบ snow tires เอามันไปละลาย ตักไปทิ้ง หรือหลีกเลี่ยงมันไปพร้อมกันเลยก็ได้ 

ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าเรายังไม่สามารถเข้าใจปัญหาหรือไม่สามารถหาทางออกในรายละเอียดที่เล็กที่สุดไม่ได้ทำให้เราทำสิ่งที่สมเหตุสมผลไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องได้ทฤษฎีที่สมบูรณ์เกี่ยวกับความลื่นก่อนจึงจะป้องกันไม่ให้ลื่นได้ 

ผู้ที่คลางแคลงใจว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเราไม่มีข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ คิดถูกเพียงครึ่งเดียว ใช่ เรายังไม่ได้พิจารณาข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานทั้งหมด แต่ก็ไม่มีทางที่เราจะพิจารณาข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานทั้งหมดได้อยู่ดี ดังนั้นจึงไม่ถูกนักที่จะตีความต่อไปว่าวิทยาศาสตร์ประยุกต์จึงไปไหนต่อไม่ได้ เพราะนั่นไม่จริงเลย เราจำเป็นต้องรู้แค่ว่าวิธีการต่างๆ ที่เป็นไปได้นั้นบรรเทาปัญหาลงได้หรือไม่ จากนั้นจึงเลือกใช้วิธีการนั้นๆ ด้วยชุดข้อมูลที่ดีที่สุดที่เรามี เป็นเวลาหลายทศวรรษที่เราต่างรู้กันว่ากิจกรรมในเชิงป้องกันต่างๆ สามารถลดอันตรายจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสูบบุหรี่ได้ ทว่าเราประสบความสำเร็จกันเพียงน้อยนิด ส่วนหนึ่งก็เพราะเราถูกล่อลวงให้เข้าใจผิดด้วยพลังทางเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตัวที่อยากให้เราเชื่อว่าจะทำอะไรได้ต้องมีความเข้าใจที่สมบูรณ์เสียก่อน การเล็งเห็นถึงธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ที่สลับซับซ้อนช่วยให้เรารอดพ้นจากการถูกหลอกลวงอีกครั้งได้.

แปลจาก Bradley Alger. "Scientific facts are not 100% certain. So what?" OUP. available from https://blog.oup.com/2020/03/scientific-facts-are-not-100-certain-so-what/

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา