Skip to main content

ในขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายการเจ็บป่วย ความตาย และหายนะไปทั่วทุกมุมโลก ดูเหมือนไม่มีเศรษฐกิจภาคส่วนใดที่ไม่ได้รับผลกระทบ ทว่าท่ามกลางความวุ่นวายจากโรคระบาดที่ครอบคลุมทั่วทุกหัวระแหง มีอยู่หนึ่งอุตสาหกรรมที่ไม่เพียงรอดพ้นจากหายนะ แต่ยังทำกำไรได้อย่างงดงาม

“บริษัทยาต่างๆ มองว่า COVID-19 เป็นโอกาสในทางธุรกิจที่เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในชีวิต” เจอรัลด์ พอสเนอร์ (Gerald Posner) ผู้เขียนหนังสือ Pharma: Greed, Lies, and the Poisoning of America กล่าว แน่นอนว่าโลกกำลังต้องการผลิตภัณฑ์ยา เราต้องการการรักษา วัคซีน และชุดตรวจโรคสำหรับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา บริษัทยาหลายสิบแห่งจึงกำลังแข่งขันกันผลิตอย่างสุดกำลัง

“ทุกบริษัทกำลังแข่งกัน” พอสเนอร์บอก เขาอธิบายว่าผลตอบแทนสำหรับผู้ชนะนั้นสูงมาก วิกฤตการณ์ระดับโลก “อาจเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยาในแง่ของยอดขายและกำไร” เขาเสริมอีกว่า “ยิ่งโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเท่าไหร่ กำไรปลายทางก็ยิ่งสูงเป็นเงาตามตัว”

อุตสาหกรรมยาในสหรัฐฯ มีความสามารถในการทำเงินได้มหาศาลอยู่แล้ว การขาดการควบคุมราคาแบบที่ประเทศอื่นๆ มี ทำให้บริษัทยามีอิสระในการกำหนดราคาสินค้ามากกว่าที่ใดในโลก ในขณะที่กำลังเกิดวิกฤตอยู่ตอนนี้ ผู้ผลิตยาอาจยิ่งมีอิสระมากกว่าในภาวะปกติ อันเป็นผลมาจากข้อความที่บรรดาล็อบบี้ยิสต์ของบริษัทเหล่านี้สอดแทรกเข้าไปในงบประมาณฉุกเฉินเพื่อรับมือโคโรนาไวรัสมูลค่า 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เพิ่งลงนามเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยหวังให้เพิ่มพูนผลกำไรจากโรคระบาดครั้งนี้ให้มากที่สุด

เดิมที สมาชิกสภานิติบัญญัติบางคนเคยพยายามทำให้แน่ใจว่ารัฐบาลกลางจะจำกัดวงเงินที่จะจ่ายให้กับบริษัทยาเพื่อซื้อวัคซีนและการรักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในรูปแบบอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นจากการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน ในเดือนกุมภาพันธ์ แจน ชวาคอฟสกี (Jan Schakowsky) ส.ส. พรรคเดโมแครตจากมลรัฐอิลลินอยส์ และสมาชิกสภาอีกหลายคนเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีทรัมป์ เรียกร้องให้เขา “รับประกันว่าวัคซีนหรือการรักษาใดๆ ก็ตามที่พัฒนาขึ้นจากเม็ดเงินของผู้จ่ายภาษีชาวสหรัฐฯ ต้องเข้าถึงได้ หาง่าย ในราคาที่ไม่แพง” เป้าหมายที่คนกลุ่มนี้เรียกร้องไม่มีทางเกิดขึ้นได้ “หากบรรษัทยาได้รับสิทธิให้กำหนดราคายาและกำกับกระบวนการจัดจำหน่ายอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าประโยชน์ด้านสาธารณสุข”

ระหว่างการต่อรองเรื่องงบประมาณเพื่อรับมือกับโคโรนาไวรัส ชวาคอฟสกีพยายามอีกครั้ง เธอเขียนจดหมายลงวันที่ 2 มีนาคม ถึงอเล็กซ์ อาซาร์ (Alex Azar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ จดหมายระบุว่าเป็นเรื่องที่ “รับไม่ได้หากผู้ผลิตยาจะได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวกันในผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนไวรัสโคโรนา โดยไม่ระบุเงื่อนไขเรื่องการตั้งราคาและการเข้าถึงยานั้นๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทตั้งราคายาตามใจชอบ และถึงที่สุดเป็นการขายวัคซีนกลับไปให้ประชาชนที่จ่ายเงินเพื่อพัฒนาวัคซีนนั้นขึ้นมา”

ทว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนคัดค้านการเติมข้อความใดๆ เข้าไปในกฎหมายอันเป็นการจำกัดความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรม โดยแย้งว่ามันจะทำให้การวิจัยและนวัตกรรมก้าวไปไหนไม่ได้ และถึงแม้ว่าอาซาร์ ซึ่งเคยเป็นล็อบบี้ยิสต์ระดับต้นๆ และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทยายักษ์ใหญ่ Eli Lilly สาขาสหรัฐฯ ก่อนจะมาทำงานในรัฐบาลทรัมป์ จะยืนยันกับชวาคอฟสกีว่าตัวเขาเองก็กังวลเรื่องนี้เช่นเดียวกัน แต่กฏหมายงบประมาณที่ออกไปกลับปกป้องความสามารถของบริษัทยาในการตั้งราคาวัคซีนและยาที่พวกเขาพัฒนาขึ้นจากเงินภาษีด้วยตัวเลขที่สูงเกินจริง

แผนงบประมาณฉุกเฉินฉบับสมบูรณ์ไม่เพียงละเลยข้อความที่อาจช่วยจำกัดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ผลิตยาเท่านั้น แต่ยังระบุไว้ด้วยว่าห้ามไม่ให้รัฐบาลกลางกระทำการใดๆ ต่อให้กังวลว่าการรักษาและวัคซีนที่พัฒนาขึ้นด้วยงบประมาณสาธารณะนั้นมีราคาสูงเกินไป

พอสเนอร์กล่าวว่า “ล็อบบี้ยิสต์พวกนั้นควรได้รับเหรียญชมเชยจากบริษัทยาที่เป็นลูกค้าเพราะช่วยทำลายข้อกฎหมายเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา” เขาเสริมอีกว่าข้อความที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลตอบสนองต่อการตั้งราคาที่ไม่เป็นธรรมร้ายแรงยิ่งกว่า “การยอมให้บริษัทยามีอำนาจเช่นนี้ได้ตอนที่เกิดโรคระบาดเป็นเรื่องอุกอาจมาก”

ความจริงก็คือการทำกำไรจากการลงทุนสาธารณะยังเป็นธุรกิจปกติๆ ของอุตสาหกรรมยาด้วย ตามการคำนวณของพอสเนอร์ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ลงทุนเงินกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการวิจัย ซึ่งในเวลาต่อมาบริษัทยานำไปใช้จดสิทธิบัตรเป็นชื่อแบรนด์ยาของตัวเอง รายงานของกลุ่มสนับสนุนสิทธิของผู้ป่วย Patients for Affordable Drugs ระบุว่ายาแต่ละตัวที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (FDA) ระหว่างปี 2010-2016 ล้วนอาศัยเงินสนับสนุนวิทยาศาสตร์ที่มาจากภาษีประชาชนที่ได้รับต่อมาจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติทั้งสิ้น ประชาชนจ่ายภาษีกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับการวิจัยดังกล่าว

หนึ่งในยาที่พัฒนาขึ้นด้วยงบประมาณสาธารณะและกลายเป็นกำไรก้อนโตให้กับธุรกิจเอกชนคือ AZT ยาต้านไวรัสเอชไอวี และ Kymriah ยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งบริษัท Novartis ขายอยู่ในราคา 475,000 ดอลลาร์

ในหนังสือ Pharma พอสเนอร์ยกอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่บริษัทเอกชนสร้างกำไรมหาศาลจากยาที่ผลิตด้วยงบประมาณสาธารณะ ยาต้านไวรัสตับอักเสบ C ชื่อ sofosbuvir มีที่มาจากงานวิจัยชิ้นสำคัญที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ยาชนิดนี้ปัจจุบันตกเป็นของบริษัท Gilead Sciences ซึ่งตั้งราคายาไว้ที่เม็ดละ 1,000 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ C หลายคนจะจ่ายได้ บริษัท Gilead ทำเงินได้ถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จากยาตัวนี้ในช่วงสามปีแรกที่วางขาย

“ไม่ดีหรอกเหรอถ้ากำไรบางส่วนจากยาพวกนั้นจะกลับไปเป็นงบประมาณวิจัยสาธารณะที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ” พอสเนอร์ถาม

ทว่าเอาเข้าจริง กำไรกลับกลายเป็นโบนัสก้อนโตให้กับผู้บริหารบริษัทยาและเป็นเม็ดเงินในการทำการตลาดเชิงรุกกับผู้บริโภค นอกจากนั้นยังถูกใช้ต่อยอดเพื่อเพิ่มพูนผลกำไรให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมยาอีกด้วย ตามการคำนวณของ Axios บริษัทยาทำกำไรได้กว่าร้อยละ 63 จากกำไรทั้งหมดของภาคสาธารณสุขในสหรัฐฯ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสำเร็จของการล็อบบี้ของบริษัทเหล่านี้ ในปี 2019 อุตสาหกรรมยาใช้เงินกว่า 295 ล้านดอลลาร์ไปกับการล็อบบี้ มากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในสหรัฐฯ จำนวนเงินเท่านั้นสูงเกือบสองเท่าของกลุ่มธุรกิจที่ใช้เงินกับการล็อบบี้รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต และกลุ่มเครื่องจักรและชิ้นส่วนอุปกรณ์ และมากเกินสองเท่าของเงินที่บริษัทน้ำมันและก๊าซใช้ในการล็อบบี้ อุตสาหกรรมยายังทุ่มเงินบริจาคสำหรับการหาเสียงให้กับทั้งสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ระหว่างการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครต โจ ไบเดน (Joe Biden) เป็นผู้สมัครที่ได้รับเงินบริจาคมากที่สุดจากอุตสาหกรรมยาและสุขภาพ

รายจ่ายของบริษัทยายักษ์ใหญ่ทำให้อุตสาหกรรมยาอยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบในขณะที่กำลังเกิดโรคระบาด ในขณะที่ตลาดหุ้นร่วงอย่างรุนแรงตามปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความไร้ประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤตของรัฐบาลทรัมป์ บริษัทยากว่า 20 แห่งที่กำลังพัฒนาวัคซีนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) กลับไม่ค่อยได้รับผลกระทบอะไรนัก ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอย่าง Moderna ซึ่งเริ่มรับอาสาสมัครเข้ารับการทดลองทางคลินิกสำหรับวัคซีนไวรัสโคโรนาตัวใหม่เมื่อสองสัปดาห์ก่อน กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันหายนะของตลาดหุ้น หุ้นของบริษัท Eli Lilly ยังถีบตัวสูงขึ้นหลังจากบริษัทประกาศว่ากำลังร่วมมือในการหาวิธีการรักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หุ้นของ Gilead Sciences ซึ่งกำลังหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการรักษาโรคนี้อยู่ ก็เติบโตขึ้นด้วย ราคาหุ้นของบริษัท Gilead เพิ่มสูงขึ้นมาสักระยะแล้วนับตั้งแต่มีข่าวว่าผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาต้านไวรัส remdesivir ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคอีโบลา วันนี้ หลังจากที่ Wall Street Journal รายงานว่ายาดังกล่าวให้ผลบวกต่อผู้โดยสารเรือสำราญที่ติดเชื้อบางคน ราคาหุ้นก็ทะยานขึ้นต่อ

บริษัทหลายแห่ง รวมถึง Johnson & Johnson, DiaSorin Molecular และ QIAGEN ประกาศชัดว่ากำลังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์เพื่อใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโรคระบาด แต่ไม่ชัดเจนนักว่าบริษัทอย่าง Eli Lilly และ Gilead Sciences กำลังใช้งบประมาณของรัฐในการต่อสู้กับไวรัสหรือไม่ จนถึงทุกวันนี้ กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของผู้ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนแต่อย่างใด และตามรายงานของ Reuters รัฐบาลทรัมป์ได้กำชับกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขให้ถือว่าการหารือเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเป็นความลับ และให้กันเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงชั้นความลับ (security clearances) ออกจากวงสทนา

อดีตล็อบบี้ยิสต์ชั้นนำของทั้งบริษัท Eli Lilly และ Gilead กำลังทำงานให้กับหน่วยเฉพาะกิจรับมือไวรัสโคโรนาของรัฐบาล (White House Coronavirus Task Force) อาซาร์เคยเป็นผู้อำนวยการของ Eli Lilly สาขาสหรัฐฯ และเคยทำงานล็อบบี้ให้กับบริษัทดังกล่าว ขณะที่โจ โกรแกน (Joe Grogan) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสภานโยบายสาธารณะ (Domestic Policy Council) เคยเป็นล็อบบี้ยิสต์มือต้นๆ ของ Gilead Sciences

แปลจาก Sharon Lerner, “Big Pharma Prepares to Profit from the Coronavirus” The Intercept, available from https://theintercept.com/2020/03/13/big-pharma-drug-pricing-coronavirus-profits/

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
ขอขอบคุณ พอล ดีแลน-เอนนิส ที่ช่วยอ่านและให้ความเห็น
Apolitical
ไซเฟอร์พังก์ (Cypherpunks) เชื่อว่าความเป็นส่วนตัว (privacy) คือสิ่งที่ดีและอยากให้โลกนี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พวกเขาเข้าใจว่าหากต้องการความเป็นส่วนตัว เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ไม่ใช่รอให้รัฐบาล บริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ไร้ตัวตนเมตตามอบให้ ไซเฟอร์พังก์รู้ว่ามนุษย์ปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวเอง
Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป