Skip to main content

ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ถลันลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างน่าอัปยศ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ก็ประกาศแบนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยสาเหตุว่าเป็นผู้ปลุกระดมมวลชนผู้สนับสนุนตนให้ใช้ความรุนแรงบุกรุกเข้าไปยังอาคารรัฐสภา การตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มีอำนาจทางการเมืองมากจนไม่อาจมองข้าม

แพลตฟอร์มเหล่านี้มีอำนาจทางการเมืองมากเกินไปหรือไม่เป็นคำถามที่ผู้คนเพิ่งเริ่มถกเถียงกัน แต่ที่แน่ๆ ธุรกิจเหล่านี้มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาล ในปี 2020 บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ห้าบริษัท ได้แก่ กูเกิล แอมะซอน แอปเปิล เฟซบุ๊ก และไมโครซอฟท์ มีมูลค่ารวมกันสูงขึ้นถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อรวมกับเทสลาที่เพิ่งเข้าคำนวณในตลาด S&P 500 ยักษ์ใหญ่ทั้งหกมีมูลค่าเกือบหนึ่งในสี่ของดัชนี การระบาดของโควิด-19 ทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัลชั้นนำกลายเป็นผู้ให้บริการที่มีความสำคัญยิ่งไปโดยปริยาย พวกมันช่วยให้คนจำนวนมากปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ชีวิตทางไกลทั้งในแง่ระยะทางและความสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันทางการเมืองต่อบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้น เพราะคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นตรงกันว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้ใช้อำนาจของตัวเองในทางมิชอบ ทั้งด้วยการแสวงหากำไรจากความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ทำลายการแข่งขัน และกว้านซื้อบริษัทคู่แข่งที่อาจขึ้นมาท้าทาย ในเยอรมนี คำตัดสินคดีของเฟซบุ๊กโดยศาลยุติธรรมแห่งสหพันธรัฐฯ ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการยับยั้งโมเดลธุรกิจที่แสวงกำไรจากการสกัดข้อมูล (data extraction) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในสหราชอาณาจักร มีการหารือในหมู่ผู้เชี่ยวชาญว่าควรจับบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น กูเกิล แยกออกเป็นบริษัทย่อยๆ หรือไม่ และเราจะส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันต่างๆ และพัฒนาขีดความสามารถในการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างไร ขณะที่ในออสเตรเลีย รัฐบาลก็กำลังดำเนินตามข้อเสนอเกี่ยวกับกฎระเบียบจำนวนหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงขั้นตอนวิธีการในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมแพลตฟอร์ม

มากไปกว่านั้น สหภาพยุโรปยังได้ออกมาตรการทางกฎหมายสำคัญสองฉบับ ได้แก่ กฎหมายบริการดิจิทัล (Digital Services Act) และกฎหมายการตลาดดิจิทัล (Digital Markets Act) เพื่อยกเครื่องแนวทางการกำกับดูแลทางเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั้งหมด องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เองก็กำลังพยายามกำหนดมาตรฐานสากลในการวัดมูลค่าที่เกิดจากนวัตกรรมดิจิทัลและการจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มชั้นนำเหล่านี้ เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรป การสอบสวนที่ยาวนานของรัฐสภาสหรัฐฯ นำมาซึ่งข้อสรุปว่าบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำเหล่านี้ไม่ได้มีพฤติกรรมที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันชั่วครั้งชั่วคราว แต่กลับสั่งสมอำนาจตลาดไว้มากจนจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางกฎหมายกันครั้งใหญ่

ในเวลานี้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดกับการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 จึงยังไม่ชัดเจนนักว่าปัญหาเรื่องกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะลงเอยอย่างไรในอนาคต แต่รัฐบาลสหรัฐฯ จะจริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหนเมื่อเวลามาถึง ผู้นำสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้โอกาสพิเศษนี้ในการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลในระดับสากล แต่จะทำเช่นนั้นได้ รัฐบาลต้องนำมาตรการในการต่อต้านการผูกขาดกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งยังต้องคิดไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ คำถามจึงไม่ใช่แค่ว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ระบบนิเวศทางนวัตกรรมแบบไหนที่เราจำเป็นต้องสร้างขึ้น

 

ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ

สำนักทฤษฎีต่อต้านการผูกขาดยุคใหม่กำลังฟาดฟันกันเพื่อปรับปรุงจุดอ่อนของกรอบกระบวนทัศน์ทางกฎหมาย นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 หลักการเรื่องสวัสดิภาพของผู้บริโภคกลายเป็นแนวคิดครอบงำกระบวนการพิจารณาคดีความทางกฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาด สมมติฐานคือวิธีที่ดีที่สุดในการประเมินสุขภาวะของตลาดคือการระบุให้ได้ว่าสิ่งใดเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ แต่ในกรณีของกูเกิล แอมะซอน เฟซบุ๊ก และบริษัทอื่นๆ ที่ให้บริการ “ฟรี” แก่ผู้ใช้งาน สมการนี้ใช้การไม่ค่อยได้ ต่อให้เป็นฝ่ายที่ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ใช้บริการ แต่แพลตฟอร์มชั้นนำเหล่านี้ก็ยังนำหน้าผู้ใช้บริการอยู่ก้าวหนึ่ง เพราะหนึ่งในแหล่งที่มาสำคัญของมูลค่าในตลาดแพลตฟอร์ม คือการรวบรวมข้อมูลที่ผู้ใช้งานเป็นผู้สร้าง เพื่อนำไปขายหรือใช้เพื่อการโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย

ดังนั้น ผู้ออกกฎกติกาจึงจำเป็นต้องมองไปยังอีกด้านหนึ่งของสมการโดยเฉพาะในตลาดฝั่งผู้บริโภค เพราะถึงแม้ผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบตรงๆ แต่ยังมีข้อควรสงสัยอยู่ดีเกี่ยวกับวิธีการที่กูเกิลปฏิบัติต่อผู้ผลิตคอนเทนต์ แอมะซอนปฏิบัติต่อผู้ขายสินค้า อูเบอร์ปฏิบัติต่อคนขับ และเฟซบุ๊กปฏิบัติต่อพ่อค้าแม่ขาย

การผูกขาดการค้นหาข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตทำให้กูเกิลสามารถดึงผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์ที่ตนต้องการ ซึ่งปรากฏแก่ผู้ใช้งานเพื่อเก็บรายได้ค่าโฆษณา อันเป็นสิ่งเคยอยู่ในระบบนิเวศของผู้พัฒนาเว็บคอนเทนต์เองมาก่อน ข้อมูลที่ล้ำค่าเกี่ยวกับความพึงพอใจของผู้ซื้อสินค้า คำค้น และข้อมูลอื่นๆ ทำให้แอมะซอนเข้ามาแย่งบทบาทจากบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่มีอยู่เดิมด้วยการนำเสนอสินค้าที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ผู้ขายต้องแย่งชิงยอดการมองเห็นด้วยการซื้อโฆษณาของแอมะซอน สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่ว่าธุรกิจแพลตฟอร์มอาจสกัดเอาประโยชน์จากตัวผู้ใช้งานมากกว่าจะสร้างประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน แต่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการลดอำนาจและเอารัดเอาเปรียบผู้ขายและผู้ผลิตคอนเทนต์ในระบบนิเวศของตนได้อีกด้วย

ดิจิทัลแพลตฟอร์มพวกนี้มีแนวโน้มจะไม่อยู่ในกรอบกติกาเกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาดที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราจึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือใหม่ๆ ตัวชี้วัดอำนาจตลาดใหม่ๆ และที่สำคัญคือต้องการคำนิยามที่ชัดเจนของคำว่าอำนาจแพลตฟอร์ม (platform power) แต่ทฤษฎีที่ล้าสมัยเป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อเราปรับชุดคำอธิบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงใหม่แล้ว กลับกลายเป็นว่าข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจตลาดมักจะนำไปสู่ข้อสรุปว่าแพลตฟอร์มหลักๆ ควรต้องแตกแยกย่อยเป็นแพลตฟอร์มที่เล็กลง รวมทั้งต้องย้อนการควบรวมกิจการใหญ่ๆ ให้กลับไปเป็นอย่างเดิม แต่หากเดินตามตรรกะของทฤษฎีใหม่นี้ต่อไปให้สุดทาง เราจะพบว่าบริการดิจิทัลบางอย่างควรถูกพิจารณาว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมด้วย

ไม่ว่ามองจากมุมไหน เศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็แตกต่างจากเศรษฐกิจในตลาดฝ่ายเดียวหรือในโลกออฟไลน์แบบที่เคยเป็นมา ผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาถึงสมมติฐานพื้นฐานที่สุดของตนใหม่ และต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอยู่หรือไม่

 

ใครได้ประโยชน์

ความท้าทายใหญ่ที่สุดคือการกำหนดว่ามูลค่าของข้อมูลแตกต่างจากมูลค่าที่ผลิตโดยการให้บริการด้านการสร้างข้อมูลอย่างไรบ้าง แพลตฟอร์มเหล่านี้มีอำนาจในการควบคุมการตัดสินใจของเรา ส่งผลให้มันสามารถปรับเปลี่ยนมูลค่าของข้อมูลที่รวบรวมมาได้อีกทอดหนึ่ง แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ผู้ก่อตั้งกูเกิลเล็งเห็นถึงนัยของเรื่องนี้มานานแล้ว ทั้งสองเขียนไว้ในบทความปี 1998 ว่า ผู้โฆษณาหรือบุคคลที่สามในลักษณะอื่นๆ สามารถฝังแรงจูงใจแบบผสมผสานเข้าไปในการออกแบบบริการดิจิทัลได้ ในกรณีของการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต กลยุทธ์ในการโฆษณาสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ให้บริการออกจากความพยายามในการพัฒนาบริการหลัก เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสร้างมูลค่าให้กับผู้โฆษณา ไม่ใช่มูลค่าหรือคุณค่าที่เกิดแก่ตัวผู้ใช้บริการ

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการตั้งคำถามว่าใครกันแน่คือผู้ที่ได้ประโชน์มากที่สุดจากการออกแบบบริการหนึ่งๆ หากภารกิจหลักของธุรกิจแพลตฟอร์มคือการสร้างกำไรให้ได้มากที่สุดด้วยการโฆษณา ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็จะเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางของแพลตฟอร์มในการสร้างนวัตกรรม สร้างปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะ และออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการของตนไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น จำต้องเข้าใจว่าต่อให้หน่วยงานด้านการต่อต้านการผูกขาดมีพลังถึงขนาดสามารถแยกบริษัทอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กให้กลายเป็นบริษัทเล็กๆ ได้สำเร็จ แต่การสกัดข้อมูลไปใช้ประโยชน์และใช้สร้างรายได้อันเป็นหัวใจหลักของโมเดลธุรกิจแพลตฟอร์มก็ยังคงอยู่เช่นเดิม การสร้างการแข่งขันระหว่างบริษัทเฟซบุ๊กขนาดเล็กหลายๆ บริษัทไม่ได้ทำให้สิ่งนี้หายไป ซ้ำร้ายยังอาจเป็นการผลักดันให้บริษัทเหล่านี้ต้องเดินหน้าสกัดเอามูลค่าให้ได้มากที่สุดเพื่อลูกค้าที่จ่ายเงินให้ตนด้วย

เมื่อคำนึงถึงพัฒนาการของโมเดลธุรกิจของภาคบริการดิจิทัล ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องก้าวไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ต้องจินตนาการใหม่ถึงรากฐานและหลักการของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ไม่เช่นนั้นแล้วความสามารถมากมายในการสั่นคลอนอำนาจของผู้เล่นรายใหญ่หรือเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มเหล่านี้ให้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม จะกลายเป็นการทำให้การสกัดมูลค่าจากผู้ใช้บริการแพร่หลายยิ่งกว่าเดิม ด้วยการทำให้สิ่งนี้กลายเป็นคุณลักษณะติดตัวตามธรรมชาติของตลาดดิจิทัล

แต่ตลาดดิจิทัลไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่แห่งการสกัดมูลค่าและการเอารัดเอาเปรียบกันเสมอไป ตลาดดิจิทัลเป็นแบบอื่นๆ ได้ เพียงแต่เราต้องเริ่มคิดให้แตกต่าง เช่นเดียวกับอดัม สมิธ เราจำเป็นต้องตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างกำไรกับค่าเช่า ระหว่างความมั่งคั่งที่สร้างขึ้นจากการสร้างมูลค่ากับความมั่งคั่งที่สั่งสมจากการสกัดมูลค่าออกจากระบบเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งแบบแรกคือการตบรางวัลให้กับผู้ที่กล้าเสี่ยงลงมือปรับปรุงความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ความมั่งคั่งแบบหลังมาจากการฉวยคว้าเอาส่วนแบ่งที่เกินควรจากรางวัลที่ว่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องปรับปรุงความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจเลยแม้แต่นิดเดียว
 

รากฐานของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การบริหารงานบริษัทเอกชนมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น ยังผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เราจำเป็นต้องแยกให้ออกเสียก่อนว่าบริษัทไหนเป็นผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมจริงๆ และบริษัทไหนไม่ใช่ มีบริษัทมากมายที่เพียงเข้ามาส่วนร่วมในวิศวกรรมทางการเงิน ประกาศซื้อหุ้นคืน และคอยแสวงค่าเช่า บริษัทที่สกัดเอาผลกำไรจากมือผู้ที่กล้าเสี่ยงตัวจริง ขณะเดียวกันก็ลดสัดส่วนการลงทุนในสินค้าและบริการที่เป็นตัวสร้างมูลค่าลง

เศรษฐกิจดิจิทัลทำให้เรายิ่งสับสนระหว่างการสร้างความมั่งคั่งกับการสกัดค่าเช่า การแยกกิจกรรมทั้งสองออกจากกันจึงยิ่งเป็นเรื่องยาก ประเด็นไม่ใช่แค่ว่าตัวกลางทางการเงินต่างๆ กำลังกำหนดวิถีทางในการสร้างและกระจายมูลค่าจากบริษัทหนึ่งสู่อีกบริษัทหนึ่งอยู่เท่านั้น แต่กลไกในการสกัดมูลค่าเหล่านี้ยังฝังตัวอยู่ในอินเตอร์เฟสของผู้ใช้งาน โดยถูกออกแบบให้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของตลาดดิจิทัล

แพลตฟอร์มยอดนิยมทั้งหลายสามารถกำหนดทิศทางของระบบนิเวศของนวัตกรรมในภาพกว้างได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการแสวงค่าเช่าและสกัดความมั่งคั่ง อัลกอริธึมแนะนำสินค้าเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการสร้างแรงจูงใจผ่านการโฆษณากับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของตัวผู้บริโภค (ส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้ผู้ใช้งานยอมแลกข้อมูลมากขึ้นเพื่อสิทธิประโยชน์ที่น้อยลง) ขณะเดียวกันก็ออกแบบอินเตอร์เฟสให้ผู้ใช้งานเสพติดเพื่อจะได้เก็บข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย

เมื่อสิ่งนี้กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่แพร่หลาย เราจึงควรให้ความสำคัญกับ “วิธีการ” ในการสร้างมั่งคั่ง มากกว่าจะสนใจกับแค่ “ผลประกอบการทางธุรกิจ” ระบบเศรษฐกิจที่ผลิตความมั่งคั่งจากนวัตกรรมที่เคารพความเป็นส่วนตัวจะทำงานคนละแบบกับระบบเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นระบบ

แต่การวางรากฐานให้กับระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่จำต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้น เป็นให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การเล็งเห็นประโยชน์อันลึกซึ้งของการสร้างมูลค่าสาธารณะ ความมั่งคั่งและผลลัพธ์ทางการตลาดที่พึงปรารถนาต้องเป็นสิ่งที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมมือกันสร้างขึ้นและควรถูกเข้าใจในความหมายนี้ด้วย การวิเคราะห์นโยบายและการตัดสินใจขององค์กรเอกชนต้องไม่วางอยู่บนฐานคิดเรื่องประสิทธิผลสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าการสร้างความมั่งคั่งกำลังพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นและทำให้สังคมมีความสามารถในการตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ได้มากขึ้นจริงหรือไม่

 

มั่งคั่งอย่างไร้มูลค่า

พูดให้ถึงที่สุด ธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ กำลังสร้างความมั่งคั่งก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าพวกมันกำลังสร้างมูลค่าสาธารณะ ในทางทฤษฎี บริษัทที่สามารถเข้าถึงข้อมูลมหาศาลและมีผู้ใช้งานมากขึ้นย่อมสามารถใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมได้ แต่ความจริงดูจะไม่เป็นเช่นนั้นหากบริษัทกำลังทำงานภายใต้กรอบคิดที่มองว่าการสร้างรายได้จากการโฆษณาสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดไม่เว้นกระทั่งประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการ

โชคร้ายที่วัตถุประสงค์หลายข้อที่ไปด้วยกันไม่ได้นี้กลับไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนนัก และต่อให้เราปรับกรอบกระบวนทัศน์ของการต่อต้านการผูกขาดให้รองรับแนวคิดเรื่องการสกัดข้อมูลและสกัดมูลค่า แต่การดำเนินการทางกฎระเบียบและกฎหมายกับแต่ละแพลตฟอร์มก็อาจยังไม่เพียงพอ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ไม่ได้กำเนิดจากกระบอกไม้ไผ่ ที่จริงหลายบริษัทกำลังเกี่ยวเก็บดอกผลของความเสี่ยงที่มาจากการลงทุนในอดีตของรัฐแบบผู้ประกอบการ

ธุรกิจแพลตฟอร์มในปัจจุบันกำลังพัฒนาไปตามตรรกะของทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นพื้นฐาน และระบบนิเวศทางนวัตกรรมในภาพใหญ่ซึ่งตัวมันเองก็ถูกปรับแต่งให้สอดรับกับโมเดลธุรกิจโฆษณา ในบริบทดังกล่าว การต่อกรกับอำนาจตลาดโดยไม่พูดถึงเรื่องการสกัดมูลค่า หรือการพูดถึงการสกัดมูลค่าโดยไม่แตะต้องอำนาจตลาด ไม่อาจทำให้ภารกิจเราสำเร็จลุล่วงได้แต่อย่างใด การพัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในรูปแบบที่ต่างออกไปจะต้องอาศัยการผลักดันให้เกิดนโยบายด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมที่กล้าหาญ เพื่อกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีและระบบนิเวศของนวัตกรรม ยกตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการถึงระบบเศรษฐกิจที่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและมาตรฐานตลาดที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันไม่เพียงปรับเปลี่ยนการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว แต่ยังเปลี่ยนความเป็นเจ้าของข้อมูลไปพร้อมกันด้วย ในสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเราทุกคนล้วนแต่เป็นแรงงานด้านข้อมูลที่ทำงานกันฟรีๆ การตัดสินใจของเราในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติการค้นข้อมูล สถานที่จริงๆ ที่เราอยู่ ไปจนถึงการขยับเมาส์ในทุกๆ จังหวะ ล้วนแต่เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ขับเคลื่อนเครื่องยนต์แห่งการผลิตรายได้ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง

จริงๆ แล้วการชดเชยที่กำหนดไว้ล่วงหน้านี้ไม่ใช่เรื่องของการให้ค่าตอบแทน (การผลิตข้อมูลของเราแต่ละคนมีมูลค่าไม่มากนัก รวมๆ แล้วก็อาจจะไม่กี่ดอลลาร์ต่อปี) แต่เป็นเรื่องของผลกระทบในวงกว้างของบริการดิจิทัล ซึ่งสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือมีมูลค่ามากขึ้นได้หากให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นอันดับแรก ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพของการต่อต้านแอปเปิล ต่อต้านกูเกิล หรือต่อต้านแอมะซอน ข้อเสนอนี้คือการต่อสู้กับบริษัทใดๆ ก็ตามที่มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การแปรรูปมูลค่าสาธารณะให้กลายเป็นของเอกชน ด้วยการสกัดข้อมูล ละเมิดความเป็นส่วนตัว และพฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันอื่นๆ

 

รัฐต้องไม่ยอม

วิธีการในการเริ่มจัดการกับประเด็นที่ลึกซึ้งเหล่านี้มีอยู่หลายวิธี เราอาจเริ่มจากการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการออกนโยบายเกี่ยวกับระเบียบกฎเกณฑ์ นโยบายด้านอุตสาหกรรม และนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่สอดประสานกันเพื่อกำหนดทิศทางของนวัตกรรม ไม่ใช่เพียงอัตราความเร็วของนวัตกรรมเท่านั้น เรื่องสำคัญคือเราต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของรัฐในการเป็นผู้ประกอบการที่คอยสร้างและกำหนดทิศทางของตลาดให้มากขึ้น ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การลงทุนของภาครัฐได้วางรากฐานให้กับเทคโนโลยีมากมายที่เราใช้กันในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเตอร์เน็ต

โดยพื้นฐานที่สุด ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องตระหนักว่าตลาด ระบบเศรษฐกิจ และระบบนิเวศของนวัตกรรมใดๆ ก็ตามล้วนแต่ดำเนินไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น นวัตกรรมบางประเภทที่ได้รับการสนับสนุนมากกว่านวัตกรรมประเภทอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นก็อยู่กับโครงสร้างแรงจูงใจในภาพใหญ่และปัจจัยอื่นๆ ด้วย ความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนว่าความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้มีพลังอะไรมากมาย เมื่อเทียบกับอำนาจอิทธิพลของผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรและผู้ตัดสินใจว่าจะจัดสรรมูลค่าอย่างไร การกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มจึงจำเป็นต้องอาศัยบทบาทเชิงรุกของรัฐแบบผู้ประกอบการในการกำหนดว่าจะสร้างและจัดสรรมูลค่ากันอย่างไร

ขั้นตอนสำคัญต่อมาคือการเริ่มจำแนกคุณลักษณะพิเศษต่างๆ ที่แพลตฟอร์มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ใช้ในการสกัดมูลค่า โมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์มไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการสกัดข้อมูล แต่เป็นและจะเป็นธุรกิจที่อาศัยข้อมูลอย่างเข้มข้น ดังนั้นข้อมูลจะถูกใช้งานอย่างไรและต้องเก็บข้อมูลใดบ้างจึงเป็นคำถามสำคัญยิ่ง หากข้อมูลส่วนบุคคลถูกใช้เพื่อการโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย เราก็ควรตั้งคำถามกับว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่เพียงทำธุรกิจด้วยการระบุความต้องการของผู้บริโภค แต่ด้วยการสร้างความต้องการของผู้บริโภคผ่านการชักจูงทางจิตวิทยาอันแนบเนียนอยู่ใช่หรือไม่

อย่าลืมว่าผู้ก่อตั้งกูเกิลรู้มานานแล้วว่าการสร้างแรงจูงใจผ่านการโฆษณาเป็นทำให้การสร้างมูลค่าแก่ผู้ใช้บริการและการสร้างมูลค่าให้กับผู้โฆษณากลายเป็นคนละเรื่องกันมากขึ้นทุกที เวลานี้เราจึงจำเป็นต้องช่วยกันคิดว่าอินเตอร์เน็ตในยุคหลังการโฆษณาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หากการเก็บเกี่ยวข้อมูลตามอำเภอใจโดยผู้ใช้งานไม่เต็มใจเป็นสิ่งต้องห้าม สตาร์ทอัพในโลกดิจิทัลต่างๆ จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เวลา ทักษะความสามารถ และพลังงานของตนไปในทิศทางใด

ความกังวลนี้ยังขยายไปสู่ข้อได้เปรียบอื่นๆ ของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ เช่น การเป็นผู้นำสำคัญในเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การคัดสรรคนที่เป็นหัวกะทิเข้าทำงาน ความสามารถในการทำงานวิจัย และอำนาจในการรวบรวมชุดข้อมูลที่มีมูลค่าและมีความละเอียดสูง อัลฟาเบท (บริษัทแม่ของกูเกิล) แอมะซอน เฟซบุ๊ก และธุรกิจแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ได้เป็นแค่ตลาดดิจิทัล แต่เป็นเจ้าของขุมทรัพย์ข้อมูลที่สามารถใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตส่วนอื่นๆ ให้เชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลผ่านอินเตอร์เน็ตออฟติง ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้จึงกลายเป็นผู้มีบทบาทหลักในการจัดหาบริการสาธารณะและเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้เล่นหลักๆ ไม่เพียงแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดหรือผู้บริโภค แต่ยังพยายามขับเคี่ยวเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกออฟไลน์ทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบแหล่งเก็บข้อมูลในโลกออนไลน์ ซึ่งจะถูกใช้เพื่อปรับพฤติกรรมของมนุษย์ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสร้างและสกัดข้อมูล อีกทางเลือกหนึ่งคือการผลักดันให้เกิดโมเดลของการสร้างโลกดิจิทัลเพื่อการปลดปล่อย ที่ซึ่งมูลค่าจะถูกสร้างโดยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ได้เน้นการผูกขาด ทว่าเอาประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง

ท้ายที่สุด เราจำเป็นต้องให้ภาครัฐกลับมาลงทุนในตัวเองใหม่ การกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องอาศัยสิ่งอื่นที่มากกว่าแค่ “gov-tech” ที่ปรึกษาจากบริษัทแมคเคนซีหรือจากซิลิคอนวัลเลย์ รัฐจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเองในการทำความเข้าใจและตอบสนองต่อความเสี่ยงใหม่ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ การที่บริษัทเทคยักษ์ใหญ่กำลังเป็นฝ่ายผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในงานภาครัฐ ไม่ใช่นิมิตหมายอันดีนักสำหรับการกำกับดูแลทางกฎหมายและความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานของรัฐในอนาคต

รัฐจำเป็นต้องมีความสามารถในพิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบ และกำกับดูแลสภาพความเป็นจริงอันซับซ้อนของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม รัฐจำต้องรู้ถึงขั้นตอนวิธีการในการร้องขอข้อมูลที่ถูกต้องจากแพลตฟอร์มเอกชนและบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความโปร่งใสขึ้นจริงในเชิงปฏิบัติ รัฐยังจำเป็นต้องก้าวมาข้างหน้า เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนและการสร้างนวัตกรรมที่มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ ถึงเวลาแล้วที่เราจะคิดให้กว้างขึ้นว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เคารพความเป็นส่วนตัว ยกระดับตัวมนุษย์เอง และส่งเสริมบทสนทนาสาธารณะได้จริงๆ หมายความว่าอย่างไร.

แปลจาก Mariana Mazzucato et al. "Re-imagining the platform economy" The Asset. Available from https://www.theasset.com/treasury/42908/re-imagining-the-platform-economy

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
ขอขอบคุณ พอล ดีแลน-เอนนิส ที่ช่วยอ่านและให้ความเห็น
Apolitical
ไซเฟอร์พังก์ (Cypherpunks) เชื่อว่าความเป็นส่วนตัว (privacy) คือสิ่งที่ดีและอยากให้โลกนี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พวกเขาเข้าใจว่าหากต้องการความเป็นส่วนตัว เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ไม่ใช่รอให้รัฐบาล บริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ไร้ตัวตนเมตตามอบให้ ไซเฟอร์พังก์รู้ว่ามนุษย์ปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวเอง
Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป