Skip to main content
 
กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้กำลังแปลงโฉมเงินตรา การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์มือถือกลายเป็นเหมือนการใช้เงินสด ทั้งไร้สัมผัส ราคาย่อมเยาว์ และง่ายต่อการชำระเงินแบบเพียร์ทูเพียร์ รวมถึงชำระเงินข้ามพรมแดน เราสามารถใช้ชีวิตโดยไม่มีบัญชีธนาคารซึ่งจะช่วยให้ที่ที่ไม่มีธนาคารและมีสัดส่วนการใช้โทรศัพท์มือถือต่อประชากรสูงสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
 
บริษัทหลายแห่งกำลังหาทางใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันระหว่างเงินและแพลตฟอร์มต่างๆ ในเศรษฐกิจดิจิทัล ในประเทศจีน บริษัทเทนเซนต์และแอนท์ ไฟแนนเชียลได้รวมการชำระเงินเข้ากับกิจกรรมทางสังคมและการค้าสำหรับผู้ใช้หลายล้านคน ขณะที่เฟซบุ๊คและพันธมิตรทั้ง 27 รายได้ประกาศแผนการผลิตเหรียญดิจิทัล 'Libra'
 
สำหรับรัฐบาลและธนาคารกลาง การแปลงเงินตราให้อยู่ในรูปสินทรัพย์ดิจิทัลทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ และสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เพิ่งออกมาเตือนว่าปรากฏการณ์นี้จะมาถึง "เร็วกว่าที่เราคิด" ความเปลี่ยนแปลงประการแรกคือยุคของการใช้เงินสดเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนอาจสิ้นสุดลง ที่ผ่านมาความน่าเชื่อถือของธนาคารขึ้นอยู่กับการรับรู้ว่าธนาคารมีความสามารถในการเปลี่ยนเงินฝากให้กลายเป็นเงินสด แต่ในสังคมไร้เงินสด ประชาชนอาจไม่สามารถเข้าถึงเงินที่ออกโดยธนาคารกลางได้โดยตรง เงินฝากอาจไม่สามารถถูกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการเงิน
 
ประการที่สอง ระบบการเงินอาจมีการแยกส่วนมากขึ้น ตรรกะทางเศรษฐกิจของเครือข่ายและแพลตฟอร์มหมายความว่าพวกเขามีแรงจูงใจในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ให้มากที่สุด และมีแนวโน้มจะพัฒนาจนกลายเป็นระบบปิด พวกเขาอาจสร้าง "พื้นที่สกุลเงินดิจิทัล" ซึ่งจะรวมผู้เข้าร่วมไว้ด้วยกันเพราะพวกเขาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลประเภทเดียวกัน 
 
ประการที่สาม เนื่องจากตามปกติแล้วเงินดิจิทัลจะมีลักษณะข้ามพรมแดน มันจึงเปิดทางให้เกิดการแข่งขันของสกุลเงินต่างๆ เช่น Libra และอื่นๆ ในรูปแบบใหม่ๆ รัฐบาลบางประเทศอาจพยายามใช้เครือข่ายการชำระเงินดิจิทัลเพื่อทำให้สกุลเงินของพวกเขาเป็นสกุลเงินสากล ในขณะที่บางประเทศจะเผชิญกับความเสี่ยงของ 'การใช้สกุลเงินดิจิทัลของที่อื่นเป็นสกุลเงินหลัก' (digital dollarisation) จากการที่สกุลเงินต่างประเทศไหลทะลักเข้ามาในเศรษฐกิจภายใน สิ่งนี้มีศักยภาพในการพลิกโฉมระบบการเงินระหว่างประเทศไปอย่างมีนัยสำคัญ
 
รัฐบาลอธิปไตยมีอำนาจในการปกป้องสกุลเงินของตัวเอง พวกเขาสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้เงินสกุลใดได้อย่างถูกกฎหมายและต้องใช้เงินสกุลใดชำระภาษี พวกเขาสามารถบังคับให้ระบบการชำระเงินส่วนตัวกลายเป็นระบบเปิดผ่านการทำงานร่วมกันทางเทคนิคของระบบไอซีทีต่างๆ (technical interoperability) พวกเขาสามารถกำหนดให้ยังใช้เงินสดในการแลกเปลี่ยนได้ ทั้งยังสามารถควบคุมผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างเคร่งครัดเช่นที่จีนเริ่มทำในปี 2561
 
พวกเขาควรทำมากกว่านั้น ประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์เข้าถึงเงินของธนาคารกลางเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป หากเงินสดถูกกำจัดออกจากระบบ มันควรจะเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่เทียบเท่ากันหรือที่เรียกว่า 'สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง' (Central Bank Digital Currency-CBDC) 
 
ธนาคารกลางของสวีเดนและที่อื่นๆ กำลังพิจารณาประโยชน์และอันตรายของ CBDC ต่อนโยบายและเสถียรภาพทางการเงิน ด้านหนึ่ง เงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลอาจเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลไกการทำงานของนโยบายการเงินโดยอนุญาตให้มีการจ่ายดอกเบี้ย (รวมถึงในอัตราที่ติดลบ) ในสกุลเงินดิจิทัล อีกด้านหนึ่ง มันอาจสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเงินเนื่องจากเสนอสิ่งที่ดึงดูดใจ (ไร้ความเสี่ยง) เพื่อทดแทนเงินฝาก และเพิ่มความเสี่ยงของการแห่ไปถอนเงินจากธนาคาร
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้แย้งพื้นฐานอีกหลายอย่างเกี่ยวกับสมดุลระหว่างเงินส่วนตัวและเงินสาธารณะในสังคมของเรา CBDC อาจปกป้องอำนาจที่เหนือกว่าของเงินสาธารณะในระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล มันอาจรักษาความสามารถในการแปลงค่าเงินส่วนตัวให้เป็นเงินสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการใช้สกุลเงินดิจิทัลของที่อื่นเป็นสกุลเงินหลัก 
 
เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว CBDC จึงควรใกล้เคียงกับเงินสดให้มากที่สุด มันควรเป็นส่วนที่เสริมขึ้นมา ไม่ใช่มาทดแทนเงินฝาก มันไม่ควรมีดอกเบี้ย ส่วนเรื่องที่ว่าควรเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ระบุตัวตนเช่นที่เงินสดในปัจจุบันเป็นในระดับหนึ่งหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงพื้นฐานของแต่ละสังคม เราต้องถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผยเมื่อสกุลเงินดิจิทัลกำลังบังคับให้เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาและทบทวนถึงสถานที่แห่งความเป็นส่วนตัวในชีวิตของเรากันอีกครั้ง.
 
*แปลจาก Jean-Pierre Landau. 2019. "Central banks should issue digital currencies of their own." Financial Times. Available from https://www.ft.com/content/ad1a6ae8-9be5-11e9-9c06-a4640c9feebb
 
**ฌอง-ปิแยร์ ล็องโด อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย SciencesPo ประเทศฝรั่งเศส

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา