Skip to main content

เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา

เรามีโอกาสได้ทบทวนตัวเองจริงจังอยู่พักใหญ่ มีหลายเรื่องทำได้ดีขึ้น หลายเรื่องที่ยังผิดพลาด หลายอย่างที่พยายามปรับเปลี่ยนและปรับปรุง และหลายเรื่องที่ยังยืนยันและดันทุรังทำด้วยความเชือแบบเดิมๆ

หลังๆ นักเรียนน่าจะจับทางได้หมดแล้วว่าเรามีคำตอบในใจเสมอเวลาจะสอนอะไรและถามอะไร ซึ่งนั่นเป็นทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี

สำหรับบางคน คำตอบในใจเป็นอุปสรรค สำหรับบางคน คำตอบในใจเป็นสิ่งที่ชวนให้คิดให้สงสัย สำหรับบางคน คำตอบในใจคือสิ่งที่กระตุ้นให้เรียนรู้

เรายอมรับเสมอว่ายังอยู่ห่างไกลจากครูที่ดีมาก อย่างน้อยก็ในความหมายว่าเป็นคนที่เปิดกว้างเพราะเชื่อว่า 'ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก'

เราไม่เคยพูดคำนั้นกับนักเรียน

มีแน่ๆ ที่ไม่ถูกเท่าไหร่ มีแน่ๆ ที่ถูกได้มากกว่านี้ มีแน่ๆ ที่ค่อนข้างผิด แต่ผิดแล้วจะเป็นไรไป?

เราเชื่อเองลึกๆ ว่าหลายเรื่องในชีวิต หลายเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของผู้คนในสังคม เราต้องกล้าเสนอว่าบางอย่างถูกกว่า บางอย่างไม่ถูกนัก คำตอบที่ถูกร้อยเปอร์เซนต์ตลอดเวลาอาจจะไม่มี แต่เพื่อปรับปรุงพัฒนา เราอาจจำต้องกล้าพูดว่าบางอย่างเป็นปัญหาและบางอย่างควรกว่าที่จะทำ

ครูจำเป็นต้องมีคำตอบในใจ แต่ที่สำคัญที่สุด คือต้องชี้ให้เห็นว่าเราได้คำตอบในใจนั้นมาด้วย 'เหตุผลและวิธีคิด' อย่างไร

ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชิงคุณค่า เราอาจจำเป็นต้องถูกบังคับให้คิด ให้อ่าน ให้ฟัง แต่ไม่จำเป็นต้องให้เชื่อ

การเขียนคำตอบที่ถูกต้องและตรงใจราวกับท่องจำมา แต่ไม่ได้แสดงกระบวนการให้เหตุผลและวิธีคิดที่ 'ควร' จะเป็น จึงเป็นปัญหากว่าการเสนอคำตอบที่ไม่ตรงใจนัก แต่ผ่านการให้เหตุผลและวิธีคิดที่เป็นระบบพอ

สำหรับบางคน การ 'เสนอ' ข้อมูลและคำตอบที่เรามีก็เพียงพอแล้วจะทำให้รู้สึกว่าถูก 'บังคับ' ให้รู้ 'ชี้นำ' ให้เข้าใจในเรื่องที่เราอยากให้เข้าใจ

เรื่องจำเป็นจึงอาจอยู่ที่การย้ำเสมอและแสดงให้เห็นว่าคำตอบที่เรามีอาจไม่ใช่คำตอบที่เขามี แต่เพื่อจะมีคำตอบอื่นๆ ที่แตกต่างและมีคุณภาพ การ 'คิด' 'ท้าทาย' และ 'ถูกท้าทาย' เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้

คิดอย่างไรสำคัญกว่าคิดอะไร คำตอบที่แย่ไม่ใช่เพราะตอบผิด แต่เพราะไม่ได้ผ่านวิธีคิดที่ดีกว่า

แต่จะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราเชื่อมันดีกว่าจริง วิธีคิดของเราดีกว่าจริงๆ?

สำหรับผู้สอน ควบคู่ไปกับการกล้าเสนอสิ่งที่เราเชื่อ เราจึงอาจจำเป็นต้องกล้าให้พวกเขาท้าทาย

'เถียงสิ อย่าเชื่อที่ใครบอกง่ายๆ และสงสัยเสมอเวลามีใครเล่าเรื่องอะไรให้เราฟัง' คือบทเรียนแรกๆ ในวิชาประวัติศาสตร์ไทย 1

ช่วงเวลาที่เราเรียนรู้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในชีวิตมักไม่ใช่จังหวะที่เราเออออ จดตาม และพยักหน้าตามสิ่งที่ใครพูดให้ฟัง แต่คือวินาทีที่เราเริ่มหงุดหงิด สงสัย ไม่เชื่อ และพยายามหาคำตอบ คำอธิบาย ด้วยวิธีการอื่นๆ

คนที่สอนเรามากที่สุดอาจไม่ใช่คนที่เราเห็นคล้อยตามด้วยเสมอไป คนที่สอนผมมากที่สุดคือครูบาอาจารย์ที่เราเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ทั้งในและนอกห้องเรียน 

สำหรับผู้เรียน จงอย่าหยุดความไม่พอใจนั้นไว้ที่ข้างใน แต่พยายามออกไปหาคำตอบด้วยตัวเราเอง ด้วยวิธีการอื่นๆ

เป็นคุณในรูปแบบที่ดีขึ้น

และเราเคารพกันได้โดยไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน.

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา