บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
ในบทนี้ เราจะว่ากันต่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเกิดขึ้นและขยายตัวของทฤษฎีและขบวนการสังคมนิยม ตามด้วยการร่วมมืออย่างเปิดเผยระหว่างขบวนการสังคมนิยมกับพรรคประชาธิปไตยนั้นได้รื้อฟื้นความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ ในช่วงเวลาเดียวกับที่พัฒนาการของประเทศที่พัฒนารุดหน้าที่สุดในการให้สิทธิเลือกตั้งแก่พลเมืองทั้งมวลแสดงให้เห็นถึงการประนีประนอมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างทั้งประชาธิปไตยและเสรีนิยมในบั้นปลาย ถ้าหากเป็นอย่างที่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยอ้างไว้ในแผนการขององค์การสากลที่สอง (Second International) ว่า กระบวนการของการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยอย่างก้าวหน้าจะนำทางไปสู่สังคมแบบสังคมนิยมอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือ แล้วเสรีนิยมสามารถสนับสนุนสังคมนิยมได้หรือไม่ จากปฏิกิริยาที่เสรีนิยมมีต่อสิ่งที่อาจเป็นความก้าวหน้าของสังคมนิยม ซึ่งมาพร้อมกับการวางแผนทางเศรษฐกิจและการสร้างกรรมสิทธิ์ร่วมในวิถีการผลิต เห็นได้ชัดว่าข้อโต้แย้งของเสรีนิยมได้หันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องเศรษฐกิจแบบตลาดและเสรีภาพของบรรษัท (รวมถึงสิทธิที่ติดพ่วงมาด้วยในทรัพย์สินส่วนบุคคล) อย่างคับแคบกว่าในอดีต อีกทั้งจุดยืนของเสรีนิยมยังออกจะคล้ายคลึงกับสิ่งที่รู้จักกันในการเมืองอิตาลีว่า liberismo ด้วย ถึงแม้เสรีนิยมกับสังคมนิยมจะมีอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันทั้งในแง่ต้นกำเนิดและเค้าโครงแผนการที่วางไว้จริง ทว่าหลายคนก็พยายามก้าวข้ามความขัดแย้งดังกล่าวด้วยการไกล่เกลี่ยหรือผสมผสานแนวคิดทั้งสองเข้าด้วยกันอยู่เสมอ ไล่ตั้งแต่งานที่เป็นที่รู้จักดีอย่าง Liberalism (1911) ของฮอบเฮาส์ (Hobhouse, 1864-1929) ไปจนถึงงานเรื่อง Socialismo Liberale (1930) ของการ์โล โรเซลลี (Carlo Roselli, 1899-1937) รวมถึงแนวคิดเรื่องสังคมนิยมเสรี (liberal socialism) ซึ่งดึงดูดใจผู้สนับสนุนในอิตาลี (แต่ไม่เป็นที่รู้จักในที่อื่น ๆ เลยก็ตาม) ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับพรรคการเมืองต่อต้านฟาสซิสม์เล็ก ๆ อย่าง Partito d'Azione ระหว่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขาในช่วงสั้น ๆ (1942-1947) อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่ว่ามานี้ยังคงอยู่และยิ่งเข้มข้นและแหลมคมขึ้นตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่เด่นชัดสองประการ ได้แก่ หนึ่ง ลักษณะอันไม่เสรีของระบอบการเมืองที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยแนวทางแบบสังคมนิยม และสอง องค์ประกอบที่ไม่เสรีในนโยบายของรัฐบาลเหล่านั้นที่ไปไกลกว่าการสร้างรัฐสวัสดิการ ตราบจนทุกวันนี้ สังคมนิยมเสรี (หรือเสรี-สังคมนิยม) ยังคงเป็นทั้งทฤษฎีนามธรรมที่ล่อตาล่อใจในทางทฤษฎีแต่ยากที่จะนำมาปฏิบัติในเชิงสถาบัน หรือไม่ก็เป็นหลักเกณฑ์ (ไม่ใช่เพียงประการเดียว) ในการกำหนดรูปแบบการปกครองที่ใช้กลไกของรัฐเพื่อปกป้องสิทธิทางสังคมและสิทธิในเสรีภาพ
ฉะนั้น แม้จะเป็นความทะเยอทะยานที่ล้ำค่า แต่หากการร่วมหอลงโรงระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยมยังคงเป็นสิ่งสูญเปล่ามาจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ธรรมชาติที่แท้จริงของเสรีนิยมนั้นคล้ายคลึงกับการปกป้องตลาดเสรีมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเราไม่สังเกตเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว เราก็ไม่อาจเข้าใจแง่มุมที่สำคัญที่สุดของการต่อสู้ทางการเมืองในยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ ในช่วงเวลานี้ได้จริง ๆ ในอิตาลี ประเด็นที่ว่านี้ปรากฏชัดเจนในการถกเถียงในช่วงปีท้าย ๆ ของระบอบฟาสซิสม์ ระหว่างโครเช่กับเอย์เนาดี (Einaudi, 1874-1961) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมทางศีลธรรม-การเมืองกับเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม เอย์เนาดียืนกรานว่า ทฤษฎีทางศีลธรรม-การเมืองกับเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (หรือการปกป้องกลไกตลาด) นั้นเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก และหากปราศจากสิ่งหลังเสียแล้ว สิ่งแรกก็ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ขณะที่โครเช่ที่แม้บางมุมจะเป็นอนุรักษ์นิยมยิ่งกว่าเอย์เนาดี ได้โต้แย้งว่า เสรีภาพคืออุดมคติเชิงศีลธรรมที่อาจเป็นจริงได้ด้วยการแบ่งสรรปันส่วนทางเศรษฐกิจ (economic dispensation) ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับศีลธรรมของปัจเจกชน อีกทั้งยังได้อ้างถึง "บทสรรเสริญและแก้ต่างอันเข้าที"[1] ของฮอบเฮาส์เกี่ยวกับสังคมนิยมเสรีด้วยความเห็นพ้องอีกด้วย
หากพิจารณาความหมายของคำว่าเสรีนิยมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายที่ถูกใช้งานอย่างหลายหลากโดยกระแสความคิดที่เรียกว่าเสรีนิยมใหม่ เราจะสรุปได้ว่า นักเศรษฐศาสตร์อย่างเอย์เนาดีพูดถูกต้อง เสรีนิยมใหม่ในทุกวันนี้คือทฤษฎีทางเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ขณะที่เสรีนิยมทางการเมืองถูกมองว่าเป็นเพียงวิถีทาง (และไม่ได้เป็นวิถีทางที่จำเป็นเสมอไป) ในการบรรลุเป้าหมาย หรือไม่ก็เพียงแสดงให้เห็นถึงพันธะอันแข็งกร้าวที่มองว่าอิสรภาพทางการเมืองเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ตามมาของเสรีภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น ฟรีดริช ฟอน ฮาเย็ค (Friedrich von Hayek) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลต่อการบ่อนทำลายรัฐสวัสดิการในทุกวันนี้ ได้ยืนยันถึงความเกี่ยวพันที่ไม่อาจตัดขาดระหว่างเสรีภาพทางเศรษฐกิจกับเสรีภาพทั้งมวล ฉะนั้นเอง เขาจึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างเสรีนิยมที่มีจุดตั้งต้นอยู่ในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ กับประชาธิปไตยที่มีจุดตั้งต้นอยู่ในทฤษฎีทางการเมือง สำหรับฮาเย็ค เสรีภาพของปัจเจกอันมีเงื่อนไขเบื้องต้นอยู่ที่อิสรภาพทางเศรษฐกิจนั้นมีคุณค่าภายในตัวเอง ในขณะที่ประชาธิปไตยมีคุณค่าแค่เพียงเครื่องมือเท่านั้น เขายอมรับว่าเสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นอาจยืนอยู่เคียงข้างกันและอาจผสมผสานกันในการต่อสู้ครั้งโบร่ำโบราณกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่ช่วงเวลาของความสับสนปนเปเป็นอดีตไปแล้วจนเราตระหนักได้ (เหนืออื่นใด จากความไม่เสรีที่อาจเกิดขึ้นหรือที่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ กับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย) ว่าทั้งสองทฤษฎีต่างตอบสนองต่อปัญหาที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ เสรีนิยมสนใจกับปัญหาของการทำหน้าที่ของรัฐบาล โดยเฉพาะกับการจำกัดอำนาจของรัฐ ขณะที่ประชาธิปไตยสนใจกับปัญหาที่ว่าใครจะเป็นผู้ปกครองและปกครองด้วยกระบวนการอย่างไร
เสรีนิยมกำหนดให้อำนาจทั้งปวงที่รวมถึงอำนาจของเสียงส่วนใหญ่มีขอบเขตจำกัด ตรงกันข้าม ประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะมองว่า ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่นั้นเป็นข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวต่ออำนาจของรัฐบาล ความแตกต่างระหว่างหลักการทั้งสองปรากฏเด่นชัดเมื่อเราระลึกว่า ศัตรูของประชาธิปไตยคือระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism) ส่วนศัตรูของเสรีภาพคือระบอบเผด็จการ (totalitarianism)[2]
แน่นอน เช่นเดียวกับวาทกรรมทางการเมืองอื่น ๆ คำว่า "เสรีนิยม" ถูกใช้งานอย่างหลากหลายในความหมายที่ต่างกันไป ถึงกระนั้น มุมมองของฮาเย็คดังที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นสำคัญหลายชิ้นซึ่งอาจถือว่าเป็นบทสรุปของความคิดแบบเสรีนิยมร่วมสมัย เป็นการยืนยันถึงแก่นแกนดั้งเดิมของเสรีนิยมคลาสสิกในฐานะที่เป็นทฤษฎีของการจำกัดอำนาจรัฐ ซึ่งมีสมมติฐานอยู่ที่ปัจเจกชนที่เป็นผู้ถือครองผลประโยชน์และสิทธิบางอย่างประการซึ่งรวมไปถึงสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลก่อนการปรากฏตัวของอำนาจทางการเมืองใด ๆ การจำกัดอำนาจที่ว่านี้บังคับใช้กับใครก็ตามที่ถือครองอำนาจทางการเมืองและขยายไปถึงอำนาจของประชาชนหรือของรัฐบาลประชาธิปไตยที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญ ๆ แม้เพียงในทางอ้อม ทั้งยังเป็นรัฐบาลที่อยู่ใต้การปกครองของเสียงส่วนใหญ่อีกด้วย แม้เป็นไปไม่ได้ที่จะแยกแยะขอบเขตระหว่างอำนาจของรัฐกับสิทธิของปัจเจกชนออกจากกันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่ทฤษฎีเสรีนิยมดั้งเดิมทั้งหมด โดยเฉพาะในโลกอังโกล-แซกซอน มีแนวโน้มจะมองว่า รัฐที่เสรีที่สุดจะใช้อำนาจน้อยที่สุด อันเป็นผลให้มีอาณาบริเวณของเสรีภาพเชิงลบกว้างขวางที่สุดด้วย เสรีนิยมต่างจากอำนาจนิยม (ที่ถึงอย่างไรก็ถือว่าดีกว่าระบอบเผด็จการ) ตรงที่การให้คุณค่ากับสองสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างอำนาจและเสรีภาพ รวมทั้งให้คุณค่ากับผลลัพธ์ที่จะตามมาภายหลัง ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมให้ความสำคัญกับคำว่า "เสรีภาพ" โดยเห็นว่าสังคมที่ดีที่สุดคือสังคมที่มีเสรีภาพกว้างขวางที่สุด และมีการใช้อำนาจอย่างจำกัดที่สุดนั่นเอง
ทุกวันนี้ เสรีนิยมมักถูกนิยามว่าเป็นทฤษฎีของ "รัฐที่มีอำนาจจำกัด" ฉะนั้น ในขณะที่ฝ่ายอนาธิปัตย์มองว่ารัฐเป็นปีศาจร้ายที่จำต้องกำจัด ฝ่ายเสรีนิยมจึงกลับเห็นว่ารัฐเป็นปีศาจร้ายที่จำเป็นและขาดเสียไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ควรมีอำนาจน้อยที่สุด ความสนใจที่มีต่อความคิดเรื่อง "รัฐที่มีอำนานจำกัด" นี้เองที่อธิบายว่าเหตุใดจึงปรากฏข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับหนังสือของโรเบิร์ต นอซิค (Robert Nozick) เรื่อง Anarchy, State and Utopia ที่ตีพิมพ์ในปี 1974[3] นอซิคโจมตีเป้าหมายสองประการ ได้แก่ รัฐที่มีอำนาจไม่จำกัดที่ได้รับการสนับสนุนโดยผู้ที่เชื่อใน "รัฐที่ยุติธรรม" (อันมีหน้าที่ต่าง ๆ รวมไปถึงการกระจายความมั่งคั่ง) และข้อเสนอของฝ่ายอนาธิปัตย์ว่ารัฐควรถูกทำลายให้สิ้นซาก ถึงแม้นอซิคจะเสนอข้อเสนอใหม่ ๆ แต่เขาก็ได้รื้อฟื้นหรือปกป้องข้อเสนอของเสรีนิยมคลาสสิกที่ว่า รัฐคือองค์กรที่มีสิทธิผูกขาดการใช้กำลังและได้รับมอบหมายหน้าที่อันจำกัดประการเดียวในการปกป้องสิทธิของปัจเจกแต่ละคนในรัฐ นอซิคเริ่มต้นจากทฤษฎีสภาพธรรมชาติและสิทธิตามธรรมชาติของล็อค แม้เขาจะปฏิเสธทฤษฎีสัญญาประชาคมที่มองว่ารัฐเกิดขึ้นจากความตกลงร่วมกันอย่างเต็มใจ และเสนอความคิดที่ใกล้เคียงกัน (และอาจจะผิดพลาด) ที่ว่า รัฐนั้นถือกำเนิดจาก "มือที่มองไม่เห็น" เขาโต้แย้งว่า รัฐคือการสมาคมอย่างเสรีของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ดินแดนหนึ่ง ๆ เพื่อแสวงหาการคุ้มครองตนเอง ขณะที่หน้าที่ของรัฐคือการปกป้องสิทธิของปัจเจกแต่ละคนให้พ้นจากการแทรกแซงสิทธิของคนอื่น ๆ ทั้งยังต้องขัดขวางพัฒนาการของการคุ้มครองส่วนบุคคล (private protection) ในรูปแบบต่าง ๆ หรือพูดอีกอย่างคือ ยับยั้งปัจเจกชนไม่ให้ตัดสินความยุติธรรมส่วนบุคคล (private justice) ให้แก่ตนเอง เมื่อเขาหันมาตอบคำถามที่ว่า รัฐควรปกป้องสิทธิของปัจเจกชนเรื่องใดบ้าง นอซิคอธิบายทฤษฎีของเขาบนฐานของหลักการทั่วไปจำนวนมากเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งชี้ว่า ปัจเจกชนมีสิทธิที่ครอบครองในสิ่งที่พวกเขาหามาได้อย่างยุติธรรม (หลักการว่าด้วยความยุติธรรมของการหามาได้ - the principle of justice in acquisition) รวมถึงสิ่งใดก็ตามที่พวกเขาได้รับมาจากเจ้าของคนก่อน (หลักการว่าด้วยความยุติธรรมของการถ่ายโอน - the principle of justice in transfer) หากว่ารัฐทำหน้าที่เกินเลยไปกว่านี้ รัฐก็ได้กระทำสิ่งที่อยุติธรรมเนื่องจากได้แทรกแซงชีวิตและเสรีภาพของปัจเจกชนอย่างไม่สมควร นอซิคสรุปว่า แม้รัฐที่มีอำนาจจำกัดอาจมีอำนาจไม่มากนักก็จริง แต่มันเป็นรัฐเพียงรูปแบบเดียวที่เราสามารถสร้างขึ้นได้จริง ๆ ในขณะที่รัฐอื่น ๆ ที่มีขอบเขตอำนาจเกินไปกว่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม (immoral)
ทฤษฎีของนอซิคสร้างปัญหามากกว่าจะแก้ปัญหา ทฤษฎีของเขาทั้งหมดขึ้นอยู่กับการยอมรับในทฤษฎีทางกฎหมายเกี่ยวกับการหามาได้และได้รับมาซึ่งทรัพย์สินซึ่งนอซิคเองไม่ได้ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ด้วยเหตุนี้ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมถึงความพยายามอันแรงกล้าของขนบแบบเสรีนิยมที่แท้จริงในการปกป้องรัฐที่มีอำนาจจำกัดและต่อต้านความคิดเกี่ยวกับสวัสดิการซึ่งฝากความหวังเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมไว้ภายใต้ขอบเขตอำนาจรัฐ และด้วยเหตุนี้เองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่เสรีนิยมจะต้องสะสางคำอธิบายบางประการให้สอดคล้องกับความคิดแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่ในแง่ของประชาธิปไตยแบบเท่าเทียมกัน (เพราะอย่างที่เรากล่าวไปแล้วว่าเป็นสิ่งที่ยากจะไปกันได้กับจิตวิญญาณแบบเสรีนิยม) แต่เป็นในแง่รูปแบบของการปกครองประชาธิปไตยที่แท้จริง เหตุเพราะว่า ที่ใดก็ตามที่ปกครองแบบประชาธิปไตย แม้กระทั่งในประเทศที่ไม่มีพรรคสังคมนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์ล้วนแต่นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างระดับของการแทรกแซงของรัฐกับอุดมคติของรัฐบาลที่มีอำนาจอย่างจำกัดทั้งสิ้น
[1] การแลกเปลี่ยนระหว่างโครเช่กับเอย์เนาดี รวบรวมอยู่ในงานเรื่อง Liberismo e liberalismo, P. Solari, ed., Ricciardi, Naples 1957. ขณะที่คำกล่าวของฮอบเฮาส์พบได้ในส่วนแรกของงานเขียนชิ้นนี้ “La concezione liberale come concezione della vita” (1927), p. 14.
[2] F. von Hayek, “Liberalismo” in Enciclopedia del Novecento, Istituto dell’ Enciclopedia italiana, Rome 1978, vol. 3, p. 990.
[3] สำหรับการวินิจฉัยข้อถกเถียงเหล่านี้ รวมถึงรายละเอียดสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม ดูที่ F. Comanducci, “La meta-utopia di Nozick” in Materiali per una storia della cultura giuridica, vol. 12, 1982, pp. 507-23.