Skip to main content

ความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่เปิดกว้างในยุคอิเล็กทรอนิกส์ ความเป็นส่วนตัวไม่ใช่การมีความลับ เรื่องส่วนตัวคือเรื่องที่เราไม่ได้อยากให้คนทั้งโลกรู้ แต่เรื่องที่เป็นความลับคือเรื่องที่เราไม่อยากให้ใครรู้ ความเป็นส่วนตัวคืออำนาจในการเลือกเปิดเผยตัวต่อโลกในแบบที่เราต้องการ

เมื่อสองฝ่ายกำลังตกลงอะไรกันก็ตาม แต่ละฝ่ายย่อมมีความทรงจำเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ครั้งนั้นอยู่ แต่ละฝ่ายสามารถพูดถึงความทรงจำของตัวเองเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์นั้นๆ ได้ เราจะไปขัดขวางพวกเขาได้อย่างไร เราอาจออกกฎข้อห้ามต่างๆ แต่เสรีภาพในการพูดคือพื้นฐานที่สุดของสังคมที่เปิดกว้าง เป็นพื้นฐานเสียยิ่งกว่าความเป็นส่วนตัว ดังนั้น สังคมที่เปิดกว้างจึงจะพยายามไม่จำกัดการพูดของใคร เมื่อหลายฝ่ายพูดคุยกันในพื้นที่เดียวกัน แต่ละฝ่ายย่อมสามารถพูดคุยกับฝ่ายอื่นๆ ทั้งหมด และสามารถรวบรวมความรู้เกี่ยวกับคนแต่ละคนและฝ่ายต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันได้ พลังของการสื่อสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้การพูดคุยกันแบบนี้เกิดขึ้นได้ และมันจะไม่หายไปเพียงเพราะว่าเราอยากให้มันหายไป

เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว เราจึงต้องทำให้มั่นใจว่าแต่ละฝ่ายที่ติดต่อทำธุรกรรมกันอยู่รู้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นโดยตรงต่อการทำธุรกรรมนั้นๆ เมื่อข้อมูลใดๆ ล้วนแต่ถูกพูดถึงได้ เราจึงต้องทำให้มั่นใจว่าเราเปิดเผยข้อมูลออกมาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในหลายกรณี อัตลักษณ์ส่วนบุคคลไม่ใช่สิ่งที่สะดุดตานัก ผมซื้อนิตยสารและจ่ายเงินให้คนขายได้โดยที่คนขายไม่จำเป็นต้องรู้ว่าผมเป็นใคร ผมขอให้ผู้ให้บริการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่งและรับข้อความได้โดยผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องรู้ว่าผมกำลังคุยกับใคร กำลังพูดอะไร และคนอื่นกำลังคุยอะไรกับผมอยู่ ผู้ให้บริการจำเป็นต้องรู้แค่ว่าจะส่งข้อความไปถึงปลายทางได้อย่างไรและผมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นเงินเท่าไหร่ ผมจะสูญเสียความเป็นส่วนตัวเมื่อกลไกพื้นฐานของการติดต่อทำธุรกรรมเปิดเผยตัวตนของผมออกมา เพราะผมไม่อาจเลือกจะเปิดเผยตัวต่อโลกตามที่ผมต้องการได้ ผมต้องเปิดเผยตัวตน_อยู่ตลอดเวลา_

ด้วยเหตุนี้เอง ความเป็นส่วนตัวในสังคมที่เปิดกว้างจึงจำเป็นต้องอาศัยระบบการติดต่อทำธุรกรรมแบบไม่เปิดเผยตัวตน ทุกวันนี้ระบบที่ว่าที่เราใช้กันเป็นหลักก็คือเงินสด ระบบการทำธุรกรรมแบบไม่เปิดเผยตัวตนไม่ใช่ระบบการทำธุรกรรมที่เป็นความลับ ระบบที่ไม่เปิดเผยตัวตนทำให้คนแต่ละคนสามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ของตัวเมื่อต้องการและเฉพาะเมื่อแต่ละคนต้องการได้ สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญของความเป็นส่วนตัว

ความเป็นส่วนตัวในสังคมเปิดจึงต้องอาศัยวิทยาการเข้ารหัสลับ (cryptography) เวลาผมพูดอะไรบางอย่าง ผมอยากให้คนที่ได้ยินคำพูดของผมมีแต่คนที่ผมอยากให้ได้ยินเท่านั้น หากคนทั้งโลกรู้สิ่งที่ผมพูด ผมย่อมไม่มีความเป็นส่วนตัว การเข้ารหัสคือการบ่งบอกว่าผมต้องการความเป็นส่วนตัว และการเข้ารหัสด้วยวิทยากรเข้ารหัสลับแบบอ่อนๆ บ่งชี้ถึงความต้องการความเป็นส่วนตัวที่ไม่ได้มากจนเกินไป นอกจากนั้นแล้ว เมื่อการไม่เปิดเผยตัวตนเป็นค่าเริ่มต้น การจะเปิดเผยตัวตนด้วยความมั่นใจจึงจำเป็นต้องอาศัยลายเซ็นที่เข้ารหัส

เราไม่สามารถคาดหวังให้รัฐบาล บริษัทเอกชน หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถระบุตัวได้อื่นๆ มีใจกรุณาหยิบยื่นความเป็นส่วนตัวให้แก่เรา พวกเขาได้ประโยชน์จากการพูดถึงเราและเราควรคิดไว้ก่อนว่าพวกเขาจะพูดถึงเราแน่ๆ การป้องกันไม่ให้พวกเขาพูดทำได้ด้วยการต่อกรกับสภาพความเป็นจริงของข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลสารสนเทศไม่ได้เพียงต้องการจะเป็นอิสระ แต่ยังโหยหาอิสรภาพ ข้อมูลสารสนเทศคือลูกพี่ลูกน้องที่เยาว์วัยและแข็งแกร่งกว่าของข่าวลือ ข้อมูลสารสนเทศมีฝีเท้าที่ว่องไวกว่า มีดวงตามากกว่า รู้อะไรมากกว่า และเข้าใจอะไรน้อยกว่าข่าวลือ

หากอยากมีความเป็นส่วนตัว เราต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราไว้ เราต้องร่วมมือกันสร้างระบบที่ช่วยให้การทำธุรกรรมแบบไม่เปิดเผยตัวตนเกิดขึ้นจริงได้ ผู้คนปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนมายาวนานหลายศตวรรษในรูปของการกระซิบ เรื่องราวดำมืด ข้อความปิดผนึก การเจรจาในที่ลับ วิธีจับมือแบบลับเฉพาะ และด้วยอาศัยคนเดินสาร เทคโนโลยีในอดีตไม่ได้ทำให้ความเป็นส่วนตัวของเรามากขึ้น แต่เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ทำได้

พวกเรา ไซเฟอร์พังค์ อุทิศตนเพื่อสร้างระบบที่ไม่เป็นเผยตัวตน เรากำลังปกป้องความเป็นส่วนตัวด้วยวิทยาการเข้ารหัสลับ ด้วยระบบการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เปิดเผยตัวตน ด้วยลายเซ็นดิจิทัล และด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์

ไซเฟอร์พังค์จะเขียนโค้ด เรารู้ว่าใครบางคนจะต้องเขียนซอฟต์แวร์เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวขึ้นมา และในเมื่อเราไม่มีทางมีความเป็นส่วนตัวถ้าหากเราทุกคนไม่มีความเป็นส่วนตัว พวกเราจึงจะเขียนซอฟต์แวร์นั้นขึ้นมาเอง เราเผยแพร่โค้ดของเราสู่สาธารณะเพื่อให้เหล่าไซเฟอร์พังค์ที่เชื่อในแนวทางเดียวกันฝึกฝนและลองเล่นโค้ดเหล่านั้นดู ทุกคนทั่วโลกสามารถใช้งานโค้ดของเราได้ฟรีๆ เราไม่ค่อยสนใจนักว่าคุณจะเห็นด้วยกับซอฟต์แวร์ของเราหรือไม่ เรารู้แค่ว่าซอฟต์แวร์ไม่มีวันถูกทำลายและรู้ว่าระบบที่กระจายตัวไปในวงกว้างไม่มีวันถูกปิดได้

ไซเฟอร์พังค์ไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบเกี่ยวกับวิทยาการเข้ารหัสลับ เพราะโดยพื้นฐานที่สุดการเข้ารหัสคือกิจกรรมที่มีความเป็นส่วนตัว ที่จริงการเข้ารหัสคือการถอนข้อมูลสารสนเทศจากอาณาบริเวณสาธารณะ ยิ่งกว่านั้น กฎหมายต่อต้านวิทยาการเข้ารหัสลับยังบังคับใช้ได้แค่ในพรมแดนของประเทศและด้วยกลไกความรุนแรงของรัฐ สุดท้ายวิทยากรเข้ารหัสลับจะแพร่กระจายไปทั่วทั้งโลกโดยไม่อาจเลี่ยงได้ และมันจะสร้างระบบการทำธุรกรรมแบบไม่เปิดเผยตัวตนซึ่งจะแพร่กระจายไปทั่วทั้งโลกเช่นกัน

ความเป็นส่วนตัวจะขยายไปในวงกว้างได้ต้องกลายเป็นสิ่งที่คนทั้งสังคมเห็นตรงกัน ผู้คนต้องออกมาร่วมมือกันใช้งานระบบเหล่านี้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของพวกเราทุกคน สังคมใดที่สมาชิกร่วมมือกันมากย่อมมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นตามไปด้วย เรา ไซเฟอร์พังค์ อยากได้คำถามและความสนใจจากคุณ และหวังว่าเราจะทำให้คุณสนใจได้เพื่อเราจะได้ไม่ต้องหลอกตัวเอง กระนั้นเราก็จะไม่หันเหจากเป้าหมายของเราเพียงเพราะใครบางคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ

ไซเฟอร์พังค์กำลังพยายามอย่างยิ่งยวดในการสร้างเครือข่ายที่ปลอดภัยต่อความเป็นส่วนตัว ขอให้พวกเราก้าวไปพร้อมกันโดยเร็ว

 ก้าวไปข้างหน้า.

เอริค ฮิวจส์

<hughes@soda.berkeley.edu>

9 มีนาคม 1993

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 3 ขีดจำกัดของอำนาจรัฐ (The Limits o
Apolitical
บทที่ 2 สิทธิของมนุษย์ (The Rights of Man)
Apolitical
บทที่ 1 ความคิดเรื่องเสรีภาพยุคคลาสสิกและยุคสมัยใหม่ (
Apolitical
บล็อกนี้มีจุดประสงค์เริ่มแรก เพื่อรวบรวมงานแปลของผมเป็นหลักนะครับ โดยจะทยอยอัพเดทเรื่อย ๆ เท่าที่มีเวลา