Skip to main content

ขอขอบคุณ พอล ดีแลน-เอนนิส ที่ช่วยอ่านและให้ความเห็น

หนึ่งในความทรงจำที่ผมประทับใจที่สุดเมื่อสิบปีก่อน คือการเดินทางไปยัง
บิตคอยน์ คีซ (Bitcoin Kiez) ในย่านคร็อยทซ์แบร์ค (Kreuzberg) กรุงเบอร์ลิน ซึ่งมีร้านค้าสิบกว่าร้านกระจุกตัวอยู่ในช่วงไม่กี่ร้อยเมตร และทั้งหมดรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์ ศูนย์กลางของชุมชนนี้คือ “Room 77” ร้านอาหารและบาร์ที่บริหารโดย ยอร์ก พลัทเซอร์ (Joerg Platzer) นอกจากจะรับบิตคอยน์แล้ว ที่นี่ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งมักจะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากหลายฝ่าย และผู้คนที่ชีวิตมีสีสันแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง

อีกความทรงจำหนึ่งที่คล้ายกันเกิดขึ้นสองเดือนก่อนหน้านั้นในงาน PorcFest (ย่อมาจาก “porcupine” หรือ “เม่น” ที่หมายถึงแนวคิด “อย่าวอนหาเรื่อง — don’t tread on me”) ซึ่งเป็นงานชุมนุมของกลุ่มลิเบอร์ทาเรียนในป่าแถบนิวแฮมป์เชียร์ ที่นั่น อาหารการกินส่วนใหญ่ต้องพึ่งร้านป๊อปอัพเล็กๆ ที่ใช้ชื่อสร้างสรรค์อย่าง “ร้านกาแฟปฏิวัติ” (Revolution Coffee)” และ “สมูทตี้ สลัด และซุปกบฏ” (Seditious Soups, Salads and Smoothies) ซึ่งแน่นอนว่ารับชำระด้วยบิตคอยน์เช่นกัน การพูดคุยเกี่ยวกับความหมายทางการเมืองที่ลึกซึ้งของบิตคอยน์ และการใช้งานมันในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นควบคู่กันไปในงานนี้

เหตุผลที่ผมพูดถึงความทรงจำเหล่านี้ขึ้นมา เพราะมันทำให้ตัวผมเองนึกถึงวิสัยทัศน์ที่ลึกซึ้งกว่าซึ่งอยู่เบื้องหลังโลกคริปโต นั่นคือ เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อสร้างแค่เครื่องมือหรือเกมที่แยกตัวจากสังคม แต่เราจะสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่เสรีและเปิดกว้างยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน โดยที่ส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี สังคม และเศรษฐกิจ สามารถหลอมรวมกันได้อย่างสมดุล

วิสัยทัศน์ในช่วงแรกของ “web3” ก็เป็นไปในลักษณะนี้เช่นกัน คือมีอุดมคติคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างออกไปเล็กน้อยในทางปฏิบัติ คำว่า “web3” ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกโดยเกวิน วู้ด (Gavin Wood) ผู้ร่วมก่อตั้งอีเธอเรียม เพื่อสื่อถึงวิธีคิดที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับอีเธอเรียม คือแทนที่จะมองว่ามันเป็น “บิตคอยน์ที่มีสมาร์ทคอนแทร็กต์” อย่างที่ผมเคยคิด เกวินกลับมองว่า อีเธอเรียม เป็นหนึ่งในชุดเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่สามารถประกอบกันเป็นพื้นฐานสำหรับอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างมากขึ้นได้

เมื่อการเคลื่อนไหวด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980–1990 ซอฟต์แวร์เหล่านั้นยังเรียบง่าย ทำงานบนคอมพิวเตอร์ของคุณและจัดการกับไฟล์ที่อยู่ในเครื่องของคุณเอง แต่ในปัจจุบัน งานที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องทำร่วมกัน (collaborative) และมักอาศัยความร่วมมือจำนวนมาก แม้ว่าทุกวันนี้ซอร์สโค้ดของแอปพลิเคชันจะเปิดแก่สาธารณะและใช้งานได้ฟรี แต่ข้อมูลของคุณยังคงถูกส่งผ่านเซิร์ฟเวอร์ศูนย์กลางที่ดำเนินการโดยบริษัท ซึ่งอาจเข้าถึงข้อมูลของคุณ เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ หรือปิดกั้นคุณเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ หากเราต้องการขยายจิตวิญญาณของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้ครอบคลุมโลกปัจจุบัน เราต้องมีโปรแกรมที่สามารถเข้าถึง ฮาร์ดไดรฟ์ที่ใช้งานร่วมกัน (shared hard drive) เพื่อจัดเก็บสิ่งต่างๆ ที่หลายคนต้องการแก้ไขและเข้าถึง แล้วอีเธอเรียม พร้อมกับเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันอย่างการส่งข้อความแบบเพียร์ทูเพียร์ (เดิมคือ Whisper ปัจจุบันคือ Waku) และการจัดเก็บไฟล์แบบกระจายศูนย์ (เดิมคือ Swarm ปัจจุบันรวมถึง IPFS) คืออะไร สิ่งเหล่านี้ก็คือฮาร์ดไดรฟ์สาธารณะที่ใช้งานร่วมกันได้และกระจายศูนย์ นี่คือวิสัยทัศน์ดั้งเดิมที่ก่อให้เกิดคำว่า “web3”

น่าเสียดายที่ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา วิสัยทัศน์เหล่านี้ได้จางหายไป มีเพียงไม่กี่คนที่พูดถึงการชำระเงินด้วยคริปโตสำหรับผู้บริโภค แอปพลิเคชันที่ไม่เกี่ยวกับการเงินเพียงอย่างเดียวที่ใช้งานได้จริงๆ อย่างกว้างขวางบนบล็อกเชนคือ ENS นอกจากนี้ ยังมีรอยร้าวทางอุดมการณ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้ชุมชนการกระจายศูนย์ที่ไม่ได้ใช้บล็อกเชน (non-blockchain decentralized community) จำนวนมากมองว่าคริปโตเป็นสิ่งกวนใจ ไม่ใช่พันธมิตรทางจิตวิญญาณที่ทรงพลัง ในหลายประเทศ แม้ว่าผู้คนจะใช้สกุลเงินดิจิทัลในการโอนและเก็บเงิน แต่ก็มักทำผ่านตัวกลาง เช่น การโอนภายในบัญชีของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ หรือการซื้อขาย USDT บน Tron

เมื่อมองย้อนกลับไปยังยุคนั้น ผมคิดว่าตัวการสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่พุ่งสูงขึ้น เมื่อค่าธรรมเนียมการบันทึกธุรกรรมลงบล็อกเชนอยู่ที่แค่ $0.001 หรือแม้แต่ $0.1 เราสามารถจินตนาการถึงการใช้งานแอปพลิเคชันหลากหลายรูปแบบบนบล็อกเชนได้ ทั้งด้านการเงินและไม่เกี่ยวข้องกับการเงินเลย แต่พอค่าธรรมเนียมพุ่งทะลุ $100 อย่างที่เราเคยเห็นในช่วงตลาดกระทิง กลุ่มคนที่เหลืออยู่และพร้อมจะจ่ายคือกลุ่มเดียวเท่านั้นก็คือ นักเสี่ยงโชค (degen gamblers) นักเสี่ยงโชคเหล่านี้อาจมีข้อดีหากมีในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะบางคนเริ่มเข้ามาในวงการคริปโตเพราะหวังผลกำไร แต่สุดท้ายกลับหลงใหลในอุดมการณ์ของมัน แต่พอพวกเขากลายเป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ที่สุดของบล็อกเชน ผลที่ตามมาคือภาพลักษณ์และวัฒนธรรมภายในวงการเปลี่ยนไป นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่เราเห็นกันชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

มาถึงปี 2023 เรามีข่าวดีทั้งในแง่ของการแก้ปัญหาหลักด้านการสเกล และในแง่ของ “ภารกิจเสริม” สำคัญๆ ที่ช่วยทำให้อนาคตในแบบไซเฟอร์พังก็เกิดขึ้นได้จริง:

การตระหนักว่าการรวมศูนย์เกินไปและการมุ่งเน้นแต่เรื่องการเงินไม่ควรเป็นเป้าหมายของคริปโต รวมถึงเทคโนโลยีสำคัญๆ ข้างต้นที่กำลังเกิดขึ้นและใช้งานได้จริงแล้วในตอนนี้ เปิดโอกาสให้เรานำพาระบบนิเวศของอีเธอเรียมกลับไปสู่แก่นแท้ที่เราเคยตั้งใจสร้าง นั่นคือ ระบบแบบโอเพนซอร์ส ต่อต้านการเซ็นเซอร์ กระจายศูนย์ และเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

แปลจาก https://vitalik.eth.limo/general/2023/12/28/cypherpunk.html

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
คุยกับฟรานส์ เดอ วาลผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Are We Smart Enough to Know How Smart Animals Are?"*โดย คลอเดีย คาฟซินสกา (Claudia Kawczynska)จากนิตยสารบาร์ค (The Bark)
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
Apolitical
ใครที่ติดตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับ GMO ในตอนนี้ คงจะเห็นคล้ายๆ กันว่า นอกจากจุดสนใจที่ค่อนข้างแตกต่างกันของหลายฝ่าย (เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม) ประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับการถกเถียงไม่แพ้กันคือการเลือกใช้คำและความห
Apolitical
Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1] สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน
Apolitical
เอปที่ไหน ใครเป็นเอป (Who A
Apolitical
สลาวอย ชิเชค – คำชี้แจงฉบับย่อว่าด้วยป
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 3) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)
Apolitical
Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 2) โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)