หากจะพูดถึงผู้กำกับที่ชอบนำเอานวนิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เซอร์ เดวิด ลีน (David Lean)ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลงานอลังการอันยิ่งใหญ่สองชิ้นที่ทำให้ชื่อของชาวอังกฤษผู้นี้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลก ไม่ว่า The Bridge on the River Kwai (1957)และ Doctor Zhivago (1965)สำหรับภาพยนตร์ ที่ดังที่สุดคือ Lawrence of Arabia (1962) ถึงแม้จะไม่ได้มาจากนวนิยายแต่ก็ดัดแปลงมาจากชีวประวัติของนักเขียนและนักผจญภัยชาวอังกฤษคนดังคือที อี ลอว์เรนซ์ ทั้งนี้ยังไม่นับภาพยนตร์ในช่วงปลายทศวรรษที่สี่สิบของลีนเช่น Great Expectations (1946)และ Oliver Twist (1948) ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ที่ได้รับความสำเร็จจนภาพยนตร์เรื่องแรกได้รับรางวัลออสก้า แม้แต่ผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาคือ Passage of India (1984) ก็ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ อี เอ็ม ฟอร์สเตอร์ ส่วนงานชื่อดังของเขาที่ดัดแปลงมาจากละครได้แก่ Brief Encounter (1945) และ Summertime (1955) การดัดแปลงนวนิยายมาเป็นภาพยนตร์นี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ยิ่งเป็นนวนิยายชื่อดังที่มีคนอ่านชื่นชมไปทั่วโลก ย่อมเปิดโอกาสให้ผู้เขียนบทและผู้กำกับโดนโจมตีเสียเละเทะเพราะคนดูล้วนมีภาพของตัวละครอยู่ในจินตนาการอยู่แล้วการมาเปรียบเทียบหน้าตาและบุคลิกย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญคนเขียนบทจะต้องมีการลำดับเรื่องเสียใหม่เพราะหนังสือกับภาพยนตร์มีมิติในการถ่ายทอดเรื่องได้แตกต่างกัน ดังนั้นหากผู้เขียนบทลำดับเรื่องไม่ดีคือเยิ่นเย้อหรือรวบรัดเกินไปก็จะโดนแฟน ๆ ตำหนิเอาได้แต่ลีนมักจะทำได้โดยไม่ต้องพบกับเรื่องอันเลวร้ายเหล่านั้น
ภาพจาก www.Regerebert.com
ในบรรดาภาพยนตร์ของลีนนั้น ด็อกเตอร์ชิวาโกถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่อื้อฉาวที่สุดคือมีคนนิยมดูกันมากด้วยมีความงดงาม ปราณีตได้รับรางวัลออสก้าถึงห้าสาขาและเป็นภาพยนตร์คลาสสิกจนมาถึงปัจจุบันแต่ก็ถูกนักวิจารณ์ในยุคนั้นโจมตีเสียยับเยินแม้จะไม่เกี่ยวกับความสามารถในการดัดแปลงมาจากหนังสือก็ตามแต่ลีนต้องถอดใจเว้นว่างการทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ไปเกือบยี่สิบปี (ที่น่าเศร้าคือภาพยนตร์ฟอร์มไม่ยักษ์อย่างเช่น Ryan's Daughter ที่เขาทำคั่นกลางในปี 1970ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องคำวิจารณ์อีกเช่นกัน) อย่างไรก็ตามด็อกเตอร์ชิวาโกเองก็โด่งดังมานับตั้งแต่เป็นนวนิยายแล้ว คนเขียนเป็นนักเขียนรางวัลโนเบลชาวรัสเซียนามว่าบอรีส ปาสเตอร์แน็ค (Boris Pasternak) เขาเกิดเมื่อปี 1890 เป็นนักเขียนนักกวีที่ผลิตผลงานชื่อดังออกมาหลายเล่ม แน่นอนว่าชีวิตของเขาที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของรัสเซียไม่ว่า การโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟและการขึ้นมามีอำนาจของพรรคบอลเชวิคในปี 1917 รวมไปถึงสงครามกลางเมืองของรัสเซียที่รุนแรง ผลาญชีวิตชาวรัสเซียไปมากย่อมเป็นแหล่งข้อมูลในการเขียนนวนิยายขนาดยาวคือด็อกเตอร์ชิวาโกที่ปาสเตอร์เน็ตต้องใช้เวลาเขียนและเรียบเรียงถึงกว่าสี่สิบปีจนสำเร็จในปี 1956 เนื้อหาที่ส่อไปในการโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์ย่อมทำให้มีการตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ในสหภาพโซเวียตไม่ได้เป็นอันขาดจนต้องมีการลักลอบเอาตีพิมพ์ที่อิตาลีและประสบความสำเร็จ ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศขายดีไปทั่วโลก แต่ตัวคนเขียนเองต้องพบกับแรงกดดันอย่างหนักหน่วงจากพรรคคอมมิวนิสต์จนต้องปฏิเสธไม่รับรางวัลโนเบลในปี 1956 แต่ทางปาสเตอร์แน็คก็ถูกยกว่าเป็นผู้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้อยู่ดี ถึงแม้ไม่ได้อะไรเลยเขาก็ต้องรับผลกระทบด้วยราคาแพงนั้นคือถูกโจมตีและข่มขู่จากทางการอยู่ตลอดเวลาแม้จะไม่ถูกจับติดคุกหรือประหารชีวิตจนเขาเสียชีวิตในปี 1960 ชาวรัสเซียต้องรอให้ถึงปี 1988 ที่ด็อกเตอร์ชิวาโกได้รับการตีพิมพ์ในประเทศแม่ของตนเสียที
ข้อความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องในภาพยนตร์
ด็อกเตอร์ชิวาโกมีฉากคือช่วงต้นศตรรษที่ยี่สิบอันเป็นห้วงเวลาที่ราชวงศ์โรมานอฟภายใต้การปกครองของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองกำลังตกต่ำอย่างหนัก พระเอกคือยูริ ชิวาโก (โอมาร์ ชารีฟ)ชายหนุ่มผู้กำพร้าพ่อแม่แต่ได้รับการอุปถัมภ์จากอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งและภรรยา เมื่อชิวาโกเติบโตขึ้นก็เข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ทั้งที่ตัวเองมีความสามารถในการแต่งกวี และได้รับการคาดหวังจากท่านศาสตราจารย์ผู้บัดนี้เกษียณอายุแล้วให้แต่งงานกับลูกสาวคือทอนย่า (เจอราดีน เชปลิน)ซึ่งก็หลงรักชิวาโกเหมือนกัน เขาเข้าฝากเนื้อฝากตัวเรียนกับศาสตราจารย์บอรีส เคิร์ต (เจฟเฟอร์รี่ คีน) และภาพยนตร์ก็ได้ตัดมายังชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่งนามว่าลาริสสา อันติโปวา หรือลาร่า(จูลี่ คริสตี) ลูกสาวของช่างตัดผ้าซึ่งได้รับการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากทนายผู้ทรงอิทธิพลคือวิคเตอร์ โคมารอฟสกี้ (ร็อด สไตเกอร์) แต่แล้วลาร่าก็ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับวิคเตอร์และต้องพบกับความอับอายอย่างมากเมื่อแม่มารู้เรื่องเข้า เธอจึงพยายามฆ่าตัวตายในคืนวันหนึ่ง วิคเตอร์ได้ติดต่อขอให้นายแพทย์ซึ่งรู้จักกันให้มาช่วยเหลือ นายแพทย์ท่านนั้นคือเคิร์ตนั้นเอง เขาได้พาชิวาโกมาเป็นลูกมือที่บ้านของวิคเตอร์ด้วย จึงเป็นครั้งแรกที่ชิวาโกได้พบกับลาร่าทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยขึ้นรถรางคันเดียวกันแต่เพียงในฐานะคนแปลกหน้า
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นลาร่าเองมีเพื่อนชายคนสนิทนามว่าปาชา อันติปอฟ (ทอม คอร์ทเทเนย์) ผู้ที่มีหัวคิดทางการเมืองรุนแรง เขาแจกใบปลิวและเข้าร่วมกับขบวนการประท้วงพระเจ้าซาร์อย่างสันติทว่าถูกปราบปรามอย่างทารุณ (ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Battleship Potemkin ของเซอร์ไก ไอเซนสไตน์ก็เสนอฉากการปราบปรามนี้แต่ได้ทำยอดเยี่ยมน่าสะเทือนใจกว่าด็อกเตอร์ชิวาโกมาก) ปาชาหลบหนีมาได้ ต่อมาเขาพยายามเจรจากับวิคเตอร์ให้แยกทางกับลาร่าเพื่อที่ว่าเขาจะได้แต่งงานกับเธอ แต่ทนายเฒ่ากลับปฏิเสธด้วยความหึงหวง วิคเตอร์พยายามเหนี่ยวรั้งลาร่าไว้โดยการข่มขืนเธอ ด้วยความเดือดดาลสุดจะพรรณนา ลาร่าตามไปสังหารวิคเตอร์ที่งานเลี้ยงวันคริสต์มาสด้วยปืนพกที่ปาชาเคยฝากเธอไว้แต่ไม่สำเร็จ ในงานนั้นก็มีชิวาโกและครอบครัวเข้าร่วม จึงเป็นครั้งที่สองที่เขาได้พบเห็นเธออีกครั้ง ชิวาโกได้ทำแผลให้วิคเตอร์ วิคเตอร์ออกปากยกลาร่าให้แก่ชิวาโกแต่ลาร่าซึ่งไม่ถูกดำเนินคดีกลับไปแต่งงานกับปาชา ส่วนชิวาโกแต่งงานกับทอนย่ามีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน
ชีวิตของชาวรัสเซียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลเมื่อพระเจ้าซาร์ทรงตัดสินพระทัยส่งทหารเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชิวาโกถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นนายแพทย์ประจำกองทัพ เช่นเดียวกับปาชาซึ่งไปเป็นทหารและลาร่าเป็นนางพยาบาลด้วยเหตุผลหนึ่งว่าเพื่อตามหาปาชาถึงแม้จะมีข่าวว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ทั้งชิวาโกและลาร่าได้พบกันอีกครั้งในฐานะเพื่อนร่วมงานกันในแนวหน้า ทหารรัสเซียจำนวนมากต้องเสียชีวิต ส่วนที่เหลือไม่มีแก่ใจในการรบจึงก่อการจราจลและหนีทัพกันเป็นกองทัพใหญ่ ชิวาโกและลาร่าจำต้องติดตามคนเหล่านั้นไป และแล้วรัสเซียก็ถอนตัวออกจากสงครามหลังจากที่ราชวงศ์โรมานอฟถูกโค่นล้มในปี 1917 แต่ประเทศอันกว้างใหญ่แห่งนี้กลับมาเผชิญกับสงครามกลางเมืองเป็นเวลาห้าปีระหว่างพวกบอลเชวิค (กองทัพแดง) กับพวกภักดีเจ้า พวกนิยมศาสนา พวกต่อต้านคอมมิวนิสต์รวมไปถึงพวกเมนเชวิคบางกลุ่ม (กองทัพขาว) กองทัพขาวยังได้รับการสนับสนุนจากประเทศตะวันตกไม่ว่าอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา หรือฝรั่งเศส
ด้วยความวุ่นวายทางการเมืองเช่นนี้ถึงแม้ทั้งชิวาโกและลาร่าจะมีใจให้แก่กันอย่างลึกซึ้งแต่ทั้งคู่ไม่อาจจะสานความสัมพันธ์กันได้มากกว่านี้ ในที่สุดชิวาโกเดินทางกลับไปยังกรุงมอสโคว์ พบว่าแม่ยายของเขาเสียชีวิตไปแล้ว และบ้านของพ่อตาเขาบัดนี้ถูกรัฐยึดให้ผู้ยากไร้เข้ามาอาศัยอยู่ด้วยด้วยหลายครอบครัว ตามนโยบายของคอมมิวนิสต์ เมื่อเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกัน นายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งเดินทางมาช่วยเหลือเขา ซึ่งชิวาโกก็รู้ดีว่าเขาเป็นพี่ชายที่พลัดพรากกันมานานนามว่าเยฟกราฟ ชิวาโก (อเล็กซ์ กินเนส) เยฟกราฟแนะนำให้ชิวาโกและครอบครัวอพยพหนีออกจากมอสโคว์เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ผู้เป็นน้องชายพร้อมลูกภรรยาและพ่อตาก็เดินทางไปกับรถไฟเพื่ออาศัยอยู่ที่บ้านพักตากอากาศของครอบครัวที่วารีกิโน แถบเทือกเขาอูรัล หลังจากอาศัยอยู่ในเมืองนั้นอย่างสงบสุขเป็นเวลานาน ชิวาโกเดินทางไปที่เมืองยูเรียตินซึ่งอยู่ใกล้ ๆและได้พบกับลาร่าในห้องสมุดประจำเมืองนั้น...
ลีนใช้สถานที่ถ่ายทำด็อกเตอร์ชิวาโกเกือบทั้งหมดในสเปนและฟินแลนด์ ที่น่าสนใจก็คือสเปนขณะนั้นอยู่ในยุคที่จอมพลฟรังโกมีอำนาจ อาจเพราะภาพยนตร์ต้องการโจมตีคอมมิวนิสต์ในขณะที่ฟรังโกเป็นฟาสซิสต์ กระนั้นภาพยนตร์เองก็มีบางส่วนที่โจมตีลัทธิฟาสซิสต์เหมือนกัน ลีนสามารถถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติของทั้งสองประเทศได้อย่างหมดจรด บางฉากหากใครได้ดูลอว์เรนซ์ออฟอาระเบียจะรู้ว่าลีนหันมาใช้กลยุทธแบบเก่าๆ นั้นคือถ่ายภาพจากมุมไกลให้เห็นกองทหารกำลังควบม้าฝ่าหิมะอันหนาวเหน็บไปอย่างช้า ๆ ในขณะที่เรื่องแรกนั้นเป็นฝ่าทะเลทรายอันร้อนระอุและเวิ้งว้างอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาถูกโจมตีว่าใช้เทคนิคซ้ำซาก แต่ว่าเพลงประกอบโดยมอริส จาร์รได้ทำให้ภาพยนตร์ดูมีพลังน่าสะเทือนใจกับสภาพของสังคมรัสเซียในช่วงสงครามกลางเมือง แต่ก็ในหลายครั้งก็เปี่ยมด้วยอารมณ์แห่งความอ่อนไหวในห้วงรักโดยมีธีมหลักที่ชื่อ Lara's theme ซึ่งต่อมาถูกดัดแปลงใส่เนื้อร้องไปเป็นเพลงป็อบชื่อดังที่ชื่อ Somewhere My Love และจาร์รก็เป็นหนึ่งที่ได้รับรางวัลออสก้าสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ผู้โชคดีที่สุดในเรื่องนี้คือโอมาร์ ชารีฟเพราะตอนแรกเขาต้องการแค่รับบทเป็นปาชา แต่ว่าปีเตอร์ โอทูลซึ่งลีนตั้งใจจะให้มารับบทเป็นชิวาโกได้บอกปฏิเสธไป ด้วยบทชิวาโกนี้ทำให้ชารีฟเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกยิ่งกว่าลอว์เรนซ์ออฟอาระเบียที่เขารับบทเป็นพระรอง แน่นอนว่าเขาจึงกลายเป็นตัวตนของชิวาโกสำหรับคนทั่วไปที่ชมภาพยนตร์มากกว่าอ่านหนังสือ
ลีนและคณะตั้งใจให้ภาพยนตร์มีความซื่อสัตย์ต่อนวนิยายมากที่สุดแม้ว่าจะหลีกเลี่ยงในการดัดแปลงไม่ได้เช่นพล็อตเรื่องย่อยของตัวประกอบอื่นๆ ก็ต้องตัดออกไป เขาได้ให้หลายต่อฉากแสดงถึงตัวตนของชิวาโกว่าเป็นเขาเป็นคนที่มีจิตใจงดงาม มีความปรารถนาช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าตอนที่เขาพยายามไปช่วยผู้ชุมนุมประท้วงหลายคนซึ่งนอนบาดเจ็บหลังการปราบปรามโดยไม่ใส่ใจต่อคำเตือนของทหารหรือตอนที่ถูกพวกแดงบีบบับคับให้ไปเป็นนายแพทย์ประจำกองทัพ เขาเร่งรีบไปช่วยเหลือพวกขาวซึ่งบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิง นอกจากนี้ชิวาโกยังเป็นคนอ่อนไหวง่ายดังที่เขาน้ำตาไหลบ่อย ๆ เมื่อพบกับเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ กระนั้นมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาแสดงความเด็ดเดี่ยวโดยการไม่ใส่ใจต่อความคิดของพวกคอมมิวนิสต์ถึงแม้จะได้รับคำขู่ว่าจะแจ้งให้ทางพรรคทราบ ทั้งที่เรื่องนี้สำคัญมากหากใครถูกตราหน้าหรือกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติหรือ counter revolution ของพรรคบอลเชวิค ก็จะถูกจับ ถูกทารุณและสังหารในที่สุด ชิวาโกจึงเปรียบได้กับปัญญาชนหัวเสรีนิยมที่ไม่ได้อินังขังขอบกับการเมืองและสนใจในเรื่องบทกวีและรักเพื่อนมนุษย์ (ดังชื่อของเขาที่แปลว่า "ชีวิต")
ในขณะที่ชิวาโกถูกการเมืองเล่นงานจนชีวิตต้องแทบแตกสลาย เขายังต้องพบกับกับความขัดแย้งทางคุณธรรมนั่นคือความสัมพันธ์ที่ต้องเลือกระหว่างภรรยาและผู้หญิงที่ตัวเองรักจริง ๆ ส่วนตัวแทนของความแข็งกระด้างของฝ่ายอำนาจก็คือปาชาซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เสียชีวิตในสมรภูมิและกลายเป็นผู้มีอิทธิพลของพรรคบอลเชวิค เขาได้พบกับชิวาโกอีกครั้งโดยบังเอิญตอนที่รถไฟทั้งสองขบวนที่ทั้งคู่อาศัยมาจอดอยู่บนรางใกล้ๆ กัน ปาชาเมื่อได้ยินชิวาโกพูดถึงลาร่ากลับแสดงความรู้เย็นชา ไม่ใส่ใจ ราวกับภาพยนตร์ต้องการจะบอกว่าสงครามและลัทธิการเมืองได้ทำให้มนุษย์แข็งกระด้าง ส่วนอีกคนหนึ่งก็คือเยฟกราฟ พี่ชายของชิวาโกซึ่งความจริงแล้วเป็นตัวละครที่ปรากฏเป็นคนแรกในภาพยนตร์ที่เปิดเรื่องโดยการที่เขาเดินทางมาตามหาหลานสาวของเขาซึ่งเป็นลูกของชิวาโกและลาร่า แล้วจึงเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของชิวาโกให้ผู้หญิงที่เขาสงสัยว่าเป็นหลานของตนฟัง เราอาจจะเปรียบการตามหาเช่นนี้ได้ว่าเป็นเหมือนกับความแข็งกระด้างของมนุษย์ที่ลึก ๆ แล้วปรารถนาความอ่อนโยนและความงดงามของจิตวิญญาณ ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ที่เด็กสาวคนนั้นพร้อมคู่รักเดินผ่านรถคาดิแล็คประจำตำแหน่งของเยฟกราฟที่จอดอยู่มาดูเหมือนกับจะบอกว่าความเท่าเทียมกันในสหภาพโซเวียตไม่มีจริงอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อไว้
ถึงแม้ภาพยนตร์กับหนังสือที่มีรายละเอียดแตกต่างกันมากมายแต่ก็ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เข้าใจว่าสิ่งหนึ่งที่เปรียบกับโซ่โยงไว้ให้ทั้งสองมีเสน่ห์ชวนติดตามสำหรับผู้ชมรุ่นใหม่ก็คือสารเหนือกาลเวลาที่จะบอกว่า มนุษย์ไม่ว่ายุคสมัยไหนล้วนแต่มีการแย่งชิงอำนาจ คนที่เดือดร้อนก็คือประชาชนตาดำๆ รวมไปถึงคนแบบด็อกเตอร์ชิวาโกซึ่งมีอยู่มากมาย เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่ได้สนใจจะโฆษณาตัวเองแบบไฮโซไฮเซ่อ หรือดาราหรือนักการเมืองจอมปลอมจำนวนมากที่กำลังลอยหน้าลอยตาอยู่ในโทรทัศน์กับหนังสือพิมพ์ ด้วยพวกเขาอาจเห็นว่าความสุขจากการดื่มด่ำกับการช่วยเหลือผู้อื่นและศิลปะอันใสบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่จริงแท้กว่ากระมัง
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ตัวละครบางตัวได้แรงบันดาลใจมาจากอิ๊กคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา The Abbot and The Noble (1) In our village , Abbot Akisada was enormously respected by most of our
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องความแค้นของผีตายทั้งกลม This (real) horror short story is partly inspired by the ghost tale told by the popular YouTuber like Ajarn Yod. Or it is in fact from the amateurish storytellers participating in Ghost Radio or The Shock more or less.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
My Moment with the Romanov It is based on some historical facts and persons , but it is still fictitious anyways. Chapter 1 St.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This is the second play I have written in my entire life. Now I hope some of my styles of language , cheekily imitating the Elizabethan writer I didn't mention the name here before : William Shakespeare, won't disturb you much.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนประมาณ ปี 2005 หรือ 2006 ผู้เขียนเองก็จำไม่ค่อยได้ ตัวเอกหรือผู้บรรยายเป็นคนไทยแต่ไปสอนวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินในเยอรมันช่วงที่นาซีกำลังเรืองอำนาจ อนึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบภาษาไทยเท่าไรนัก จึงต้อขออภัยหากมีความผิดพลาดทางภาษาเกิดขึ้น&nbs
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(newly compiled and edited) This is the first play I have ever written in my entire life.It is a sublime story about ghost, inspired by The Shock , the popular radio program of horror story telling from fan clubs via telephone. I am also truly impressed wi
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม เกาหลีเหนือได้จัดพิธีเดินสวนสนามของกองทัพเพื่อฉลองครบรอบการก่อตั้งพรรคแรงงานหรือ Worker's Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลีเหนือ (ความจริงยัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทรัมป์ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนไทยเพราะเผลอไปเรียก Thailand เป็น Thighland หรือดินแดนแห่ง "ต้นขา" โดยคนไทยทั่วไปไม่ซีเรียส เห็นว่าเป็นเรื่องสนุกสนานไป เพราะรู้มานาน