Skip to main content

 

ผมเข้าใจว่าสำหรับบรรดาภาพยนตร์ที่ทำโดยชาวตะวันตกเกี่ยวกับราชสำนักไทย  คนไทยร่วมสมัยน่าจะรู้จัก  Anna and The King  ฉบับปี 1999 ที่แสดงโดย โจเหวินฟะ และโจดี  ฟอสเตอร์เป็นอย่างดี เพราะความโด่งดังจากการเป็นภาพยนตร์ต้องห้ามสำหรับรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ไม่ยอมอนุญาตให้ทีมงานใช้เมืองไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ ทำให้ทีมงานต้องไปใช้มาเลเซียแทน ด้วยการมีคนไทยเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาซ้ำร้ายตัวละครซึ่งเป็นชาวมาเลเซียที่พูดไทยไม่ได้เลยทำให้ประโยคที่พูดแต่ละคำชวนน่าขบขันและจวนเจียนจะเป็นภาพยนตร์ตลกแบบจักรๆ วงศ์ ๆ ไป การที่รัฐบาลไทยยังห้ามไม่ให้มีการนำเอาหนังเรื่องนี้เข้ามาฉายในประเทศก็เลยทำให้คนไทยต้องไปหาดูผ่านดีวีดีเถื่อนที่แม่สายหรือไปหาค้นหาเอาเองในอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งนักว่าทำให้เราไม่ทราบว่าฝรั่งมองเราอย่างไร  อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ที่บทความนี้ต้องการนำเสนอก็คือเรื่อง The King and I  ซึ่งถูกสร้างเมื่อปี 1956 และมีความประณีต โด่งดังกว่า Anna and The King มากมาย แต่ก็ถูกทางการไทยในยุคนั้นสั่งห้ามฉายอีกเช่นกัน น่าเสียดายที่คนไทยสมัยนั้น (ถ้าเทียบเป็นพ.ศ.ก็คือพ.ศ. 2506) ไม่มีโอกาสได้ดูแม้แต่ดีวีดี ยกเว้นต้องบินไปดูที่อเมริกาเพียงอย่างเดียว ทำไมหนังทำนองนี้ไม่ว่าฉบับไหนถึงได้เป็นหนังต้องห้ามสำหรับชาวไทย ? ลองมาดูกันว่าเหตุใด The King and I ที่เคยเป็นละครเพลงที่มีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับฮอลลีวูด (เช่นสามารถคว้ารางวัลออสก้าไปถึงห้ารางวัลในงานประกวดของปีนั้น)  แต่กลับกลายเป็นสีดำมากที่สุดสำหรับทางการไทย ?

 

 

 

      (ภาพจากเว็บ  www.doctormacro.com) 

 

    The King and I สร้างมาจากหนังสือนวนิยายชื่อ Anna and The King of Siam (ตีพิมพ์ 1944) ของมาร์กาเร็ต แลนดอน เป็นชีวิตของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์นั้นคือนางแอนนา ลีโอโนแวนส์ (มีชีวิตช่วงระหว่างปี1831-1915) แม่หม้ายชาวอังกฤษผู้นำบุตรชายคือดช.หลุยส์ไปเป็นครูสอนหนังสือในพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้นกรุงสยามกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยถูกแรงกดดันจากมหาอำนาจจากตะวันตกให้เปิดประเทศ ดังเช่นสยามต้องทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ใน พ.ศ. 2398 เพื่อเปิดเสรีทางการค้าซึ่งส่งผลให้รัชกาลที่ 4 เมื่อขึ้นครองราชย์จะต้องเตรียมการหลายอย่างเพื่อตอบรับกับภัยเช่นนี้เช่นการให้การศึกษาแก่พระโอรสและพระธิดาซึ่งหนึ่งในนั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  รัชกาลที่ 5   ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่นางแอนนาซึ่งมาเป็นพระอาจารย์ของรัชกาลที่ 5  ในวัยเยาว์จะอ้างถึงอิทธิพลของตนที่มีต่อพระองค์จากสมุดบันทึก และหนังสือของเธอซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นข้อมูลสำหรับหนังสือของแลนดอน มิชชันนารีผู้เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในเมืองไทย กระนั้นนักประวัติศาสตร์ในยุคหลังก็ได้พยายามค้นคว้าและเปิดโปงชีวิตของเธอและพบว่ามีอยู่หลายจุดที่เธอตั้งใจะเขียนเกินจริงเพื่อให้ตัวเองดูดีกว่าเดิม เช่นแอนนาอ้างว่าเธอเกิดที่แคว้นเวลส์ แต่ว่าความจริงเธอเกิดที่อินเดียหาได้เพิ่งย้ายไปยังอินเดียเมื่ออายุ 15 ปีดังที่อ้างไม่ หรือว่าสามีคนแรกของเธอก็ไม่ใช่นายทหารดังที่อ้างหากเป็นเพียงเสมียนธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น และรัชกาลที่ 4  หาได้ทรงมีพระสิเน่หาต่อเธอมากมายดังที่ปรากฎในนวนิยายหรือในหนังไม่ และที่สำคัญซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการประวัติศาสตร์ว่า นางแอนนามีอิทธิพลมากน้อยเพียงไหนต่อองค์รัชทายาทในยุคนั้นคือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จริงหรือที่เธอได้แนะนำหนังสือเกี่ยวกับชีวิตทาสที่แสนเศร้าคือกระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom's Cabin)  ที่แสนโด่งดังในอเมริกาจนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในการเลิกทาสเมื่อพระองค์ทรงได้เป็นพระมหากษัตริย์ในหลายปีต่อมา ?  กระนั้นถ้าหากมองประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์จะพบว่าแรงจูงใจในการเลิกไพร่กับทาสของรัชกาลที่ 5 มีเรื่องความพยายามรวมศูนย์อำนาจอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก จึงน่าจะทำให้อิทธิพลของ “กระท่อมน้อยของลุงทอม” เป็นปัจจัยที่แสนเบาบางหรือว่าไม่มีเอาเสียเลย

       ก่อนหน้านี้หนังสือของแลนดอนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขาวดำที่มีชื่อเดียวกันมาก่อนในปี 1946 ที่กำกับโดยจอห์น ครอมเวลล์ นางเอกหรือนางแอนนาคือไอรีน ดันน์และคนแสดงเป็นรัชกาลที่ 4  คือเร็ก แฮร์ริสัน ผู้รับบทชายโสดที่เกลียดการแต่งงานในหนังเรื่อง “บุษบาริมทาง” (My Fair Lady) การประสบความสำเร็จของหนังคงจะดึงดูดให้คู่หูคนดังคือริชาร์ด ร็อดเจอร์สและออสก้า แฮมเมอร์สไตน์ที่ 3 เจ้าของผลงานชื่อดังเช่น Sound of Music และ South Pacific นำนวนิยายไปดัดแปลงเป็นละครเพลงบอร์ดเวย์ในปี 1951 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน ต่อมาละครก็ถูกโปรดิวเซอร์มือทองนำมาสร้างเป็นหนังสีธรรมชาติโดยมีพระเอกผู้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือหัวล้านเลี่ยนตลอดกาล คือยูล บรินเนอร์ที่เคยรับบทเป็นรัชกาลที่ 4  มาก่อนในละครบรอดเวย์ บิลเนอร์ยังมีอิทธิพลต่อหนังอย่างมากเช่นคอยชี้แนะผู้กำกับคือวัลเทอร์ แลงให้สามารถกำกับหนังจนจบ รวมไปถึงการผลักดันให้เดเบอร์ราห์ เคร์รนางเอกจากภาพยนตร์เรื่อง An Affair to Remember และ From Here to Eternity    มารับบทนางแอนนาในภาพยนตร์เรื่องนี้

    หนังเริ่มต้นโดยดำเนินเรื่องเหมือนกับหนังสือคือ นางแอนนาและเด็กชายหลุยส์เดินทางมาจากอังกฤษโดยเรือเพื่อเป็นครูสอนหนังสือในราชสำนัก (ทั้งคู่ร้องเพลง "I Whistle A Happy Tune") ต่อมาหนังก็ได้จะสร้างความตกตะลึงและเสียดแทงคนไทยที่ติดอยู่กับลัทธิราชาชาตินิยมอยู่ไม่น้อยเมื่อ The King and I นิยมใช้ธีมหลักคือเรื่องความรักแบบ Screwball comedy นั้นคือประเภทพ่อแง่ แม่งอน แน่นอนว่าหนังจะทำให้คนดูที่เป็นชาวตะวันตก (หรือแม้แต่คนไทยที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ว่า) เกิดความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์สยามทรงตกหลุมรักแม่หม่ายชาวอังกฤษผู้หยิ่งยะโสและมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสร้างความเจริญให้กับราชสำนักของประเทศเล็ก ๆ เช่นนี้แต่กว่าทั้งคู่จะมีใจให้กันได้ (ใน The King and I ดูไม่ชัดเจนนักเพียงแต่ให้ทั้งคู่เต้นรำด้วยกันอย่างร่าเริง และแอนนาได้บอกลูกชายของเธอว่าเธอชื่มชอบรัชกาลที่ 4 มาก แต่ใน Anna and The King เลยเถิดกว่ามากนั้นคือถึงขั้นเกือบจะจูบกัน) ก็ต้องมีการปะทะกันทางคารมและชัดเชิงเพราะความไม่เข้าใจกันหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้กระมังผู้สร้างหนังจึงให้รัชกาลที่ 4 ทรงมีบุคลิกสองอย่างควบคู่กันไป นั้นคือเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ พร้อม ๆ ไปกับกษัตริย์ผู้ดุดัน และเป็นเผด็จการ จะได้เกิดความขัดแย้งกับนางแอนนาซึ่งมีสุขุมแต่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงไม่ยอมใคร สิ่งนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับมุมมองของชาวตะวันตกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 มีต่อชาวตะวันออกนั้นคือเห็นตัวเองว่ามีเหตุผล และเน้นความเสมอภาค ในขณะที่ชาวตะวันออกโดยเฉพาะกษัตริย์จะเป็นเผด็จการเน้นอำนาจ อารมณ์และกฏระเบียบ แน่นอนว่าในที่สุด ชาวตะวันตกเช่นนางแอนนาจะสามารถเอาชนะใจของกษัตริย์ตะวันออกได้ด้วยเหตุผลและความรู้ที่สูงส่งกว่าดังตอนที่นางแอนนาสอนให้รัชกาลที่ 4 ทรงเต้นรำแบบโปลกา (ตามเพลงที่เพราะที่สุดเพลงหนึ่งของเรื่องคือ  “Shall We Dance” )   ส่วนที่ดูเกินความจริงแบบออกทะเลคือตอนที่รัชกาลที่ 4 ทรงถามนางแอนนาว่า Et Cetera คืออะไร ? ทั้งที่รัชกาลที่ 4 ทรงออกผนวชร่วม  27 พรรษาและได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษกับภาษาละตินอย่างแตกฉานแต่ไม่ทราบความหมายของ คำว่า Et Cetera !?! และหนังก็ให้พระองค์ตรัสคำนี้ซ้ำไปซ้ำมาราวกับคนป่าที่เพิ่งเรียนรู้ภาษาของผู้เจริญแล้ว

    นอกจากนี้ที่น่าสนใจว่าผู้เป็นตัวกลางในการติดต่อกับนางแอนนาในช่วงต้นก็คือขุนนางผู้น่าเกรงขามอย่างเช่นพระยากลาโหม (คนอเมริกันแสดง) ซึ่งน่าจะมีเค้าโครงมาจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขุนนางตระกูลบุนนางที่ทางอิทธิพลที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4  จนถึงต้นรัชกาลที่ 5  ในหนังเขาดูร่างบึกบึนและมีอำนาจมากถึงขั้นเรียกได้ว่ากล้ายืนกอดอกต่อหน้าพระมหากษัตริย์ในขณะที่คนอื่นหมอบกราบกันหมด (ภาพยนตร์ทวิภพฉบับล่าสุดก็สร้างแก้ต่างให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ขุนนางไทยยุคนั้นไม่ผอมก็อ้วน ไม่ได้มีหุ่นดีอย่างนั้นและทุกคนก็ต้องหมอบต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์) แน่นอนว่าการทำให้นางแอนนาเข้าไปสัมผัสกับราชสำนักที่เต็มไปด้วยพระมเหสี หรือนางสนมรวมไปถึงพระโอรสและพระธิดาหลายสิบพระองค์ของรัชกาลที่ 4 (ที่ตัวผู้แสดงไม่ใช่คนไทย พูดไทยถูกๆ ผิดๆ ชนิดชวนน่าขบขันในสายตาคนไทยเหมือนกับเรื่อง Anna and The King) ย่อมทำให้คนดูตะวันตกเกิดความตื่นตาตื่นใจราวกับไปเยี่ยมชมฮาเร็มของสุลต่านก็ไม่ปาน ถึงแม้นางแอนนาจะเป็นคนอังกฤษแต่อย่าลืมว่าหนังทำโดยคนอเมริกันและให้คนอเมริกันดูก่อน แน่นอนว่าคนอเมริกันโดยเฉพาะในทศวรรษที่ 50 ย่อมนึกภาพไม่ออกว่าการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนโดยไม่เรียกว่าอนุภรรยาหรือชู้นั้นเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับนางเอกในเรื่อง Sound of Music นางแอนนาได้ทำให้คนเหล่านั้นหลงรักเธออย่างไม่ยากด้วยการให้ความรักและการศึกษา เปิดหูเปิดตาให้กับพวกเขา (โดยร้องเพลง "Getting To Know You")  เช่นแนะนำแผนที่โลกแบบใหม่ หรือชุดแต่งกายของชาวตะวันตกที่ชาวราชสำนักไม่เคยเห็นมาก่อนจนไปถึงการแนะนำให้รู้ว่าหิมะเป็นอย่างไรและให้แง่คิดแก่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เกี่ยวกับการเลิกทาส รวมไปถึงการต่อต้านการมีภรรยาหลายคนและเทศนาลัทธิผัวเดียวเมียเดียวแก่รัชกาลที่ 4 กับชาววัง

 

       

     

             ภาพจาก  www.teachwithmovies.org

 

      ผู้ที่ทำให้หนังมีความเข้มข้นมากขึ้นคือเจ้าจอมทับทิมซึ่งเป็นเจ้าหญิงที่กษัตริย์แห่งพม่าทรงทูลถวายให้แก่รัชกาลที่ 4  เธอกลับไปรักใคร่บุรุษอีกคนนามว่าลุนตา ชายหนุ่มที่นำเธอมาถวาย เขายังคงเฝ้ารอเธออยู่ไม่ไกลจากราชวัง และแอบมาพลอดรักกับทับทิมอยู่บ่อยครั้ง (หนุ่มสาวร้องเพลง  "We Kiss in a Shadow") สุดท้ายลุนตาก็ปลอมตัวเป็นคนลากรถแอบพาเธอหนีออกไปจากวังแต่ก็ถูกจับได้ ชะตากรรมของคนทั้งคู่ทำให้คนดูฝรั่งนึกตำหนิรัชกาลที่ 4 ทั้งที่ความจริงแล้วยังไม่มีการยืนยันทางประวัติศาสตร์ได้ว่าเจ้าจอมทับทิมมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ แต่ที่สารที่สื่อมากับหนังก็คือฮอลลีวู้ดก็ได้แสดงภาพเปรียบเทียบระหว่างความรักของชาวอเมริกัน (ชาวตะวันตก) ที่ขึ้นอยู่กับจำนงเสรีอันดูยิ่งใหญ่กว่าความรักของชาวสยาม (ตะวันออก) ที่ขึ้นอยู่กับอำนาจและหน้าที่ ในหนังสือของนางแอนนาระบุว่าทั้งคู่ถูกลงโทษโดยการเฆี่ยนและเผาทั้งเป็น (ซึ่งก็มีการโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ได้ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเพราะสยามประเทศไม่นิยมการประหารชีวิตคนโดยการเผาทั้งเป็น)  แต่ภาพยนตร์ดูเหมือนจะทำให้ดูนิ่มนวลกว่าเดิมคือเพียงประหารชีวิตลุนตา  นอกจากนี้เรื่องของเจ้าจอมทับทิมนี้ได้ทำให้เรื่องจบแบบไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์อย่างมากก็คือรัชกาลที่ 4 ทรงเกิดตรอมพระทัยจนเสด็จสวรรคตอาจเพราะไม่สามารถทนแรงกดดันจากการลงโทษเจ้าจอมทับทิมและคู่รัก อันสะท้อนว่าภาพยนตร์อาจต้องการยกย่องว่าพระองค์แท้ที่จริงเป็นคนดีคนหนึ่งแต่จำใจต้องทำตามราชประเพณี ตอกย้ำด้วยความอับอายอันเกิดจากการต่อว่าของแอนนา แต่ตามความจริงแล้วรัชกาลที่ 4 สวรรคตด้วยไข้ป่าเมื่อคราวเสด็จไปเยี่ยมชมสุริยคราสที่ตำบลหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ 2411 และตามความเป็นจริงนางแอนนาก็ไม่ได้อยู่ในกรุงสยามตอนพระองค์สิ้นพระชนม์

    The King and I ย่อมถูกรัฐบาลไทยสั่งห้ามไม่ให้ฉาย และเมื่อ Anna and The King พบกับปรากฏการณ์นี้ซ้ำเข้าไปอีกย่อมก่อให้เกิดกระแสต้านของบุคคลบางกลุ่มที่มีหัวเสรีนิยมขึ้นด้วยเห็นว่าหนังก็คือหนัง การปิดกั้นจะทำไม่ให้เรารู้ว่าตัวหนังเป็นอย่างไร  ใกล้เคียง คาดเคลื่อนหรือบิดเบือนจากความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด (อันเป็นธรรมดาของรัฐไทยที่ไม่เคยมองเห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีเหตุผล) การสั่งห้ามฉายของทางการก็เกิดจากกระแสราชาชาตินิยมอันเหลือล้นที่มีอิทธิพลเหนือกลไกของรัฐไทยตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน การตัดสินใจของรัฐจึงไม่ได้มองไปที่ไปว่าคนไทยมีเป็นคนมีเหตุผลเพียงพอที่จะแยกแยะความจริงออกจากหนังหรือไม่หากแต่มองตรงสื่อว่านำเสนอสอดคล้องกับลัทธิราชาชาตินิยมมากน้อยแค่ไหน พวกเขาเลยมองว่าถึงแม้จะไม่ใช่หนังเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่ถือได้ว่ารัชกาลที่ 4  ทรงเป็นหนึ่งในภาพพจน์ของสถาบันกษัตริย์ที่มิอาจล่วงละเมิดได้ สำหรับกฎหมายมาตรา 112  ก็ใช้เกณฑ์เช่นนี้เหมือนกันแต่เพ้อเจ้อเลยไปถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    สำหรับผมแล้วได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วเห็นว่าไม่สามารถนำเอาคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาประเมินได้เพราะมีโครงเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เสียหมด เหมือนกับหนังเรื่อง Amadeus การพูดหรือการแต่งกาย โดยเฉพาะฉากการแสดงโขน (?)  พร้อมเพลง"The Small House of Uncle Thomas" ที่รัชกาลที่ 4 ทรงจัดให้บรรดาทูตของต่างชาติได้เยี่ยมชมดูจะมีสีสันจัดจ้านไม่ตรงกับความเป็นจริงอย่างยิ่ง (สำหรับการแสดงดูแล้วเหมือนกับโมเดิร์น แดนซ์ประยุกต์กับโขนที่สร้างโดยคนไทยปัจจุบัน) โดยที่ผู้สร้างโดยเฉพาะ คือ ร็อดเจอร์สและ แฮมเมอร์สไตน์ ก็ประกาศไว้แล้วว่าจะสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ได้ดูความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ เพียงแต่ยืมชื่อมาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ The King and I ก็คือลิเกร้องเพลงของฝรั่งนั้นเอง (หากเราให้นิยามว่าลิเกคือการสร้างสรรค์เรื่องราว การพูด ประเพณีของในวังโดยชาวบ้านที่คิดขึ้นมาเองด้วยไม่เคยไปในวังมาก่อน) ในเมื่อฝรั่งทำให้ฝรั่งด้วยกันเองดู จะมีคนอเมริกันในทศวรรษที่ 50 สักกี่รายที่จะรู้จักความเป็นจริงของกรุงสยามในยุคนั้นนอกจากพวกซีไอเอหรือพวกที่ทำงานกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศในเอเชียช่วงสงครามเย็น

    The King and I จึงเป็นการสร้างภาพลวงที่เสมือนจริงของกรุงสยามและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าให้ชาวตะวันตกและชาวโลกได้รู้จัก เข้าใจว่าในยุคนั้นคงมีฝรั่งไม่น้อยที่เข้าใจว่าเมืองไทยมีช้างเดินกันขวักไขว่บนถนนเหมือนกับสุนัขจรจัด ดังแนวคิด Orientalism ของนักวัฒนธรรมนิยมผู้วายชนม์ไปแล้วคือเอ็ดเวิร์ด ซาอิดสามารถอธิบายสิ่งนี้ได้อย่างดีว่า "ชาวตะวันตกมองชาวตะวันออกจากภาพที่ตัวเองสร้างขึ้นมาและใช้อำนาจในการครอบงำให้ชาวตะวันออกเชื่อตามเช่น ชาวตะวันตกแข็งแรง/ชาวตะวันออกอ่อนแอ ชาวตะวันตกมีเหตุผล/ชาวตะวันออกไร้เหตุผล ฯลฯ" แน่นอนว่าคงมีคนตะวันออกหรือคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เผลอเชื่อในสิ่งที่ฝรั่งกำลังครอบหัวตนเพราะมันไม่ได้มีแค่ในหนังเรื่อง The King and I นี้เท่านั้น หากแฝงไปในทุกอณูของหนังฮอลลีวูดที่เราชอบกันนักกันหนาเลยละ กระนั้นผมยังมาคิดอีกว่าการปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้อะไรเหมือนราชการไทยต่อหนังเรื่องนี้และอีกหลายๆ เรื่อง มันก็เลวร้ายไม่แพ้กันเพราะจะทำให้คนไทยหลงละเมออยู่กับเรื่องเล่าอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถึงแม้จะไม่ระคายประสาทเหมือนกับที่ฝรั่งแต่งแต่ก็ทำให้เพ้อเจ้อจากการขยายความแต่งเติมไปกว่าหลายร้อยเท่าก็ไม่อาจรู้ได้

 

 

 

ขอโฆษณาหน่อยครับ

เนื่องจากคุณจอม เพชรประดับได้ให้ความกรุณาสัมภาษณ์ผมผ่านสไกป์ข้ามทวีปเมื่อเช้าวันหนึ่ง ว่างๆ ก็ลองคลิกไปดูได้ตามลิ๊งค์นี้นะครับ

ฉบับเกือบ 30 นาที

 

https://www.youtube.com/watch?v=MM4GkPL_P4o

 

ฉบับ 6 นาทีกว่า (คนละประเด็น)

 

https://www.youtube.com/watch?v=-xIvfhJoRjA

 

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ช่วงนี้หลายประเทศได้ทำการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488) ประเทศที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและพันธมิต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
I remember reading the interview by the last promoter of คณะราษฏร (People's Party or PP) from the Sarakandee magazine ,probably a decade ago.At that time he was ageing , frail ,but still p
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
f n
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
n the future of disruptive world,if I am able to make the documentary film about Sergeant Major Chakaphan Thomma who committed the worst Mass shooting in Thai history , what will the t
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Puzzling that it may seem when Thai authority chose the day king Naresuan reputedly fought with Hongsawadee's viceroy on the elephants as the Army Day.This is because, on that glorious
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เห็นกระแสแปนิคเมื่อหลายวันก่อน ทำให้นึกได้ว่าชาวโลกมีการคาดหมายหรือหวาดกลัวมานานแล้วว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เริ่มได้ตั้งแต่ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ นั่นคือการกลายเป็นศัตรูระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกันแบบหลวมๆ ในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ การสิ้นสุดของสงครามได้ทำให้ฝ่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นตำราเรียนมักบอกว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 มีประเทศที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์เหลืออยู่เพียง 5 ประเทศคือจีน เวียดนาม ลาว คิวบาว และเกาหลีเหนือ (ตลกดีมีคนที
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาป็นวันครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลจีนไปพร้อมกับการประท้วงของชาวฮ่องกงซึ่งมุ่งมั่นท้าทายรัฐบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
"...All right, Mr. DeMille, I'm ready for my close-up."
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากใครมาดูหนังเรื่อง Wild Strawberries แล้วเคยประทับใจกับหนังเรื่อง About Schmidt (2002) ที่ Jack Nicholson แสดงเป็นพ่อหม้ายชราที่ต้องเดินทางไปกับรถตู้ขนาดใหญ่เพื่อไปงานแต่งงานของลูกสาวและได้ค้นสัจธรรมอะไรบางอย่างของชีวิตมาก่อน ก็จะพบว่าทั้งสองเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Throne of Blood (1957) หรือ"บัลลังก์เลือด" เป็นภาพยนตร์ขาวดำของยอดผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นคืออาคิระ คุโรซาวา ที่ทางตะวันตกยกย่องมาก เกือบจะไม่แพ้ Seven Samurai หรือ Rashomon เลยก็ว่าได้ ลักษณะเด่นของมันก็คือการดัดแปลงมาจาก Macbeth