Skip to main content

"...All right, Mr. DeMille, I'm ready for my close-up."

Norma Desmond



Sunset Boulevard ถือได้ว่าเป็นอัญมณีเม็ดงามของหนังสไตล์ฟิล์มนัวร์(1) ผสมผสานกับหนังแบบโศกนาฎกรรมของฮอลลีวู๊ด ที่สำคัญมันเป็นหนังที่ปลอกลอก เสียดสีวงการฮอลลีวู๊ดได้อย่างแสบ ๆ คันๆ เช่นเดียวกับเรื่องThe Player (1992) ของ Robert Altman ภาพยนตร์ขาวดำความยาว 110 นาทีเรื่องนี้ถูกนำออกฉายในปี 1950 และผู้กำกับจะเป็นใครไปไม่ได้เป็นอันขาดนอกจาก Billy Wilder (2) ชาวออสเตรียเชื้อสายยิวผู้หนีภัยคุกคามจากฮิตเลอร์มาตั้งรกรากในอเมริกาในปี 1933 ถึงแม้ภาพยนตร์แนวฟิล์มนัวร์ที่ชื่อ Double Indemnity (1944)หนังเรื่องที่สามของเขาในฮอลลี่วู๊ดจะยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยพลังจนเข้าถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสก้าหลายสาขาแต่พลาดทุกสาขา จนเขาต้องรอให้หนังเรื่องที่ห้าคือ The Lost Weekend (1945) เกี่ยวกับชีวิตของหนุ่มใหญ่ (นำแสดงโดย Ray Milland) ผู้พยายามต่อสู้กับการครอบงำของสุราออกฉาย ฮอลลี่วู๊ดจึงหันมายิ้มให้ไวล์เดอร์พร้อมกับมอบรางวัลออสก้าให้ถึงสี่สาขาโดยหนึ่งในนั้นคือสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

จากนั้นก็มีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องของไวล์เดอร์ที่ได้รับเสียงยกย่องจากนักวิจารณ์และคนดูทั่วโลกด้วยธีมที่ค่อนข้างหลากหลายไม่ว่า Stalag 17 (1953) หนังเกี่ยวกับพวกเชลยศึกในค่ายนาซีอันโหดเหี้ยมที่ต้องสืบหาสปายผู้บอกข้อมูลให้กับนาซีเกี่ยวกับการหลบหนีของพวกเขา ,Sabrina (1954) ที่ให้ Audrey Hepburn กลายเป็นซินเดอริลล่ายุคใหม่ในสังคมไฮโซของอเมริกา, Seven Year Itch (1955) เรื่องของพ่อบ้านที่ลูกเมียเดินทางไปตากอากาศนอกเมืองและต้องใจหวั่นไหวเมื่อพบสาวสวยมาพักที่อาพาร์ทเมนท์เดียวกัน ,Some Like It Hot (1959)เรื่องของนักดนตรีหนุ่มสองคนที่ต้องปลอมตัวเป็นผู้หญิงเพื่อหนีการปองร้ายของแก๊งสเตอร์ในทศวรรษที่ยี่สิบ และ The Apartment (1960)เรื่องของมนุษย์เงินเดือนหนุ่มที่ต้องสละอาพาร์ทเมนท์เพื่อให้บรรดาเจ้านายนำสาวๆ มากก นับเป็นหนังตลกเสียดสีสังคมทุนนิยมของอเมริกาที่แสบลึก 



(โปสเตอร์ยุคโบราณ)


Sunset Boulevard มีพล็อตเรื่องหลักที่คาบลูกคาบดอกยิ่งนักในช่วงทศวรรษที่ห้าสิบที่กองเซ็นเซอร์ของฮอลลีวู๊ดเคร่งครัดศีลธรรม มันเป็นเรื่องของJoe Gillis หนุ่มนักเขียนบทภาพยนตร์เกรดบีที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจนต้องขับรถหนีเจ้าหนี้ที่ตามมายึดรถอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าเพียงชิ้นเดียวที่เขามีอยู่ แต่เพราะยางเจ้ากรรมดันมาแตก กิลลิสก็เลยพลัดหลงเข้าไปในคฤหาสน์ทึม ๆ ซึ่งมีรูปทรงที่นิยมในทศวรรษที่ยี่สิบย่านซันเซท บูเลวาร์ดของฮอลลี่วู๊ด (อันเป็นที่มาของชื่อหนังเรื่องนี้) ที่นั่นเองเขาต้องเข้ามาพัวพันกับเจ้าของสถานที่แห่งนั้นคือ Norma Desmond ราชินีหนังเงียบในทศวรรษที่ยี่สิบอย่างไม่ตั้งใจ ด้วยหนังพูดได้เป็นเรื่องแรกของโลกคือ Jazz Singer (1927)ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการฮอลลีวู๊ดอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ดาราหนังเงียบจำนวนมากต้องตกงานเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบบันทึกเสียง คนเหล่านี้รวมไปถึงตัวเดสมอนด์ด้วย เธอจึงต้องอำลาจากวงการมานั่ง ๆ นอน ๆ กินบุญเก่าอยู่ในคฤหาสน์อันใหญ่โตของตัวเองพร้อมกับคนใช้หัวล้านท่าทางประหลาด นามว่า Max von Mayerling ท่ามกลางความฝันถึงอดีตอันหอมหวน เมื่อเดสมอนด์รู้ว่ากิลลิสประกอบอาชีพอะไร เธอจึงพยายามใช้เขาให้เป็นประโยชน์โดยจ้างให้ปรับปรุง เรียบเรียงบทภาพยนตร์ที่เธอเคยเขียนเองขึ้นมาเสียใหม่ ด้วยความสัมพันธ์อันเก่าแก่ระหว่างเดสมอนด์กับผู้กำกับหนังอันทรงอิทธิพลเช่น Cecil B.DeMille ที่เคยสร้างหนังระดับตำนานเช่น Ten Commandments หรือ The Greatest Show on Earth หากภาพยนตร์เรื่องนี้(ที่แน่นอนว่ามีเธอเป็นนางเอกเท่านั้น)ออกมาสู่สายตาชาวโลก การก้าวกลับมาเป็นราชินีจอเงินอันยิ่งใหญ่ย่อมไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ อีกต่อไปสำหรับเดสมอนด์ ส่วนกิลลิสก็ตอบรับโดยดีเพราะความหิวกระหายเงิน


จะด้วยความเหงาของเดสมอนด์หรือความเป็นหนุ่มหน้าตาดีของกิลลิสก็ตามแต่ เดสมอนด์เริ่มรุกล้ำเข้ามาในโลกส่วนตัวเองของกิลลิสขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างวัยห้าสิบเศษ ๆ กับลูกจ้างวัยสามสิบกว่า (ท่ามกลางการสังเกตการณ์และการช่วยเหลืออยู่ห่าง ๆ จาก คนใช้ผู้ซื่อสัตย์วัยหกสิบต้น ๆ ) จนในที่สุดกิลลิสพบว่า เขาได้ตกอยู่ในวังวนของความหลุ่มหลงที่เดสมอนด์มีให้กับเขาโดยการทุ่มเท ปรนเปรอของมีค่าที่ในชีวิตเขาไม่เคยได้มาก่อน ถึงแม้ชายหนุ่มจะพยายามขบถ หลบหนีออกจากคฤหาสน์ที่เดสมอนด์จัดงานเลี้ยงเพื่อเขาและเธอเพียงสองคนในคืนฝนตก แต่แล้วกิลลิสก็ต้องกลับมาหาหล่อนอีกครั้งหนึ่งด้วยความสงสารกลัวว่าเธอจะฆ่าตัวตายอีกครั้งหาใช่ความรักไม่ กระนั้นเขาก็ได้แอบไปสร้างความสัมพันธ์กับนักเขียนบทภาพยนตร์สาวผู้มีอายุน้อยกว่าเขาเกือบสิบปี นามว่า Betty Schaefer ที่สำคัญเธอยังเป็นคู่หมั้นกับเพื่อนรักที่สุดของเขา แต่แล้วเดสมอนด์ก็สืบพบกับความสัมพันธ์ของเขาทั้งสองคนจึงหันไปอาละวาดเบ็ตตี้ด้วยความหึงหวง เรื่องจึงดูเหมือนจะบานปลายขึ้นเรื่อยๆ กิลลิสจึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครดีระหว่างนายจ้างสาวใหญ่ผู้มีทุกสิ่งทุกอย่างให้แต่ลดคุณค่าของเขาแค่เครื่องเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งกับนักเขียนสาวน้อยซึ่งมีฐานะไม่ต่างกับเขาในตอนต้นเรื่อง 


ด้วยบทสนทนาอันแสนคมคายพร้อมกับตลกร้ายเล็กๆ ที่หนังมีให้คนดูไปพร้อมกับความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ กับชะตากรรมของกิลลิส เช่นเดียวกับภาพเรืองแสงแม้จะเป็นหนังขาวดำก็ตามทำให้ Sunset Boulevard ดูมีเสน่ห์อันน่ากลัวยิ่งกว่าหนังฟิล์มนัวร์ทั่วไป หนังเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยคำบรรยายความคิดและความรู้สึกของตัวกิลลิสเองแต่ที่สำคัญคือตอนที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว หนังเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องแรก ๆในประวัติศาสตร์ฮอลลีวู๊ดเองที่ให้คนตายเป็นผู้บรรยายเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วจึงย้อนระลึกกลับไปในอดีต แน่นอนว่าหนังดังๆในทศวรรษที่เก้าสิบอย่างเช่น American Beauty หรือ Casino ย่อมรับเอาเทคนิคนี้มาใช้เต็มๆ นอกจากนี้ภาพในตอนต้นเรื่องที่ทำให้คนดูรู้สึกทึ่งก็คือภาพจากข้างล่างของสระน้ำซึ่งหันขึ้นไปมองศพของกิลลิสที่กำลังคว่ำหน้าอยู่อยู่เหนือน้ำ สำหรับการถ่ายภาพจากใต้น้ำหากเป็นสมัยนี้เหมือนกับเรื่องปลอกกล้วยเข้าปาก แต่เมื่อห้าสิบปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย กระนั้นฉากนี้ย่อมทำให้คนดูเดาได้ว่าตอนจบเป็นอย่างไรตามประสาหนังฟิล์มนัวร์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญหากเป็นคำถามที่ว่าทำไมกิลลิสต้องกลายเป็นศพขึ้นอืดบนสระน้ำต่างหากเป็นเรื่องที่คนดูอยากรู้ หนังจึงมีพลังเหลือเฟือในการนำคนดูท่องไปกับชีวิตของกิลลิสหลังจากนั้นอย่างไม่เบื่อหน่าย



สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้อื้อฉาวคือความสัมพันธ์ระหว่างเดสมอนด์กับกิลลิสซึ่งฝ่ายหลังอยู่ในฐานะอะไรไม่ต่างกับ "นายบำเรอ"หรือ gigolo ของฝ่ายแรก ว่ากันว่ามันกลั่นมาจากประสบการณ์ของไวล์เดอร์ตัวผู้กำกับเองที่ต้องรับอาชีพนี้ในช่วงกำลังตกทุกข์ได้ยากในกรุงเบอร์ลิน (ในปี 1960 เขาได้พัฒนามันในเรื่อง The Apartment โดยให้นางเอกตกเป็นภรรยาน้อยของประธานบริษัท) และมันได้ทำให้เกิดปัญหาว่าไม่มีดาราหนุ่มคนไหนจะกล้ามารับบทของกิลลิส เพราะกลัวว่าภาพพจน์ของตัวเองจะเสียไม่ว่า Montgomery clift หรือ Fred MacMurray (ผู้เคยรับบทนำใน Double Indemnity) จนในที่สุดไวล์เดอร์ได้ดาราหนุ่ม Billy Holden เจ้าของฉายาไอ้หนูทองคำหรือ Golden Boy ของวงการฮอลลี่วู๊ด ผู้ที่ไวล์เดอร์ไม่เคยประทับใจผลงานของเขามาก่อน แต่เมื่อทั้งคู่ได้มาร่วมมือกันในหนังเรื่องนี้ดาราหนุ่มก็สามารถชนะใจผู้กำกับจนทั้งคู่ก็ได้เป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่บัดนั้นและโฮล์เดนยังได้แสดงในหนังของไวล์เดอร์อีกหลายเรื่องเช่น Sabrina และ Stalag 17 (ซึ่งทำให้ฮอล์เดนได้รางวัลออสก้าเป็นตัวแรก) 

ส่วนตัว"นางเอก"นั้นก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีดาราที่มีลักษณะเข้าข่ายเหมือนกับเดสมอนด์ไม่ว่า Mae West หรือ Pola Negri แต่ต่างก็ปฎิเสธกันหมด เป็น George cukor ผู้กำกับหนังชื่อดังอีกคน (3) ที่ช่วยแนะนำให้ไวล์เดอร์รู้จักกับเพื่อนของเขาซึ่งเคยเป็นซูปเปอร์สตาร์หนังเงียบทศวรรษที่ยี่สิบมาก่อนคือ Gloria Swanson ผู้มีลักษณะทั้งหลายทั้งปวงคล้ายคลึงกับเดสมอนด์จึงไม่ต้องสงสัยว่าในหนัง บุคลิกของเดสมอนด์จะมีส่วนลึกมาจากตัวตนข้างในของแสวนสันเอง เธอจึงได้คำชมเชยอย่ามากมายเพราะเดสมอนด์เป็นตัวละครที่แสดงยากและซับซ้อนที่สุดในเรื่องนั่นคือมีบุคลิกของคนที่ละเมอเพ้อพกถึงอดีต และไม่รู้สึกรู้สาว่าอดีตกำลังเข้ามาครอบงำตัวเองจนแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับภาพลวงตา ปะดังประเดด้วยความสิ้นหวังและความหึงหวงต่อตัวชายที่เธอรัก จนทุกอย่างกลายเป็นความบ้าอย่างสมบูรณ์แบบในตอนจบของเรื่องซึ่งเราจะเห็นเป็นลาง ๆ ได้จากคำพูดอันแสนโด่งดังของเดสมอนด์กับกิลลิสในตอนแรกที่คนทั้งสองรู้จักกัน


Joe Gillis: You're Norma Desmond. You used to be in silent pictures. You used to be big.(คุณคือ นอร์มา เดสมอนด์ คุณเคยแสดงหนังเงียบมาก่อน คุณเคยยิ่งใหญ่มาก่อนนี่)

Norma Desmond: I am big. It's the pictures that got small. (ชั้นยังคงยิ่งใหญ่อยู่ย่ะ เป็นตัวหนังต่างหากที่กระจอกลง)
 


ส่วนตัวผู้แสดงอีกคนที่น่ากล่าวถึงคือแม๊กซ์ คนรับใช้หน้าตายของเดสมอนด์ รับบทโดยผู้กำกับชาวเยอรมันชื่อดังในทศวรรษที่ยี่สิบคือ Erich von Stroheim ซึ่งในหนังเองตอนท้ายก็มีการเฉลยจากปากของแม๊กซ์ว่า เขาเคยเป็นผู้กำกับหนังชื่อดังระดับเดียวกับเดอ มิลล์มาก่อนและเป็นอดีตสามีคนแรกของเดสมอนด์ ดาราสาวที่เขาปั้นมากับมือและเขานี่เอง ที่หล่อเลี้ยงภาพลวงตาให้กับอดีตภรรยา ไม่ว่าการปลอมจดหมายจากแฟนๆ เพื่อทำให้เดสมอนด์เข้าใจว่าเธอยังอยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลก นอกจากนี้น่าตลกที่ว่า มีคนในวงการหลายคนที่หนังกล้าเอาชื่อบุคคลจริงๆ มาเอ่ยถึง (กระนั้นบางคนก็ปฏิเสธอย่างเช่น Darryl F. Zanuck โปร์ดิวเซอร์มือทอง)และมีดาราหรือผู้มีชื่อเสียงในฮอลลี่วู๊ดไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันต่างยอมมารับบทบาทเป็นตัวเองเช่น Buster Keaton (4) ,Anna Q. Nilsson และ H.B. Warner ซึ่งแสดงเป็นเพื่อน ๆ มาเล่นไพ่ร่วมกับเดสมอนด์ที่คฤหาสน์ อาจเพราะพวกเขาต้องการยอมรับว่าตัวเองบัดนี้เป็นแค่ "อดีตคนดัง" หนังจึงมีลักษณะเหมือนกับหนังดราม่าผสมผสานกับหนังสารคดีนั้นคือมีความจริงเข้ามาคาบเกี่ยวกับจินตนาการอยู่กลาย ๆ


สิ่งที่สร้างความอื้อฉาวให้กับหนังยิ่งกว่าข้างบนอีกคือความกล้าของหนังในการชำแหละวงการฮอลลีวู๊ด ดังที่เราจะเห็นได้จากตัวของกิลลิสซึ่งอยู่ในภาวะตกยากต้องวิ่งวุ่นไปขอความช่วยเหลือจากพรรคพวกในวงการกลับได้รับการแยแส อันแสดงให้เห็นว่าในวงการนี้ที่ภาพเบื้องหน้าเต็มไปด้วยสีสัน ความสนุกสนาน ฉากหลังคือความเย็นชาไม่ยอมให้ที่ว่างสำหรับคนที่พลาดท่า เช่นเดียวกับชะตากรรมของเดสมอนด์ซึ่งไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงเธอกำลังตกรถด่วนหรือความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของหนังฮอลลีวู๊ดในทศวรรษที่ห้าสิบ ฉากที่ถือได้ว่าเป็นการเสียดสีความหลงตัวเองของเดสมอนด์อย่างดีคือตอนที่เธอไปเยือนโรงถ่ายของเดอ มิลล์(ที่เจ้าตัวมารับบทเป็นตัวเอง) ด้วยความเข้าใจว่าเขาให้คนติดต่อเธอเพื่อจะมาแสดงหนังเรื่องใหม่ และเธอต้องนั่งรอเขาอยู่บนเก้าอี้ผู้กำกับทันใดนั้นคนงานและดาราประกอบเก่าแก่ที่เคยร่วมงานกับเธอต่างกรูกันมาทักทาย ร่างของเธอดูสง่างามยามต้องแสงสปอต์ไลท์ที่ส่องลงมาจากคนงานวัยดึกที่ชื่อ Hogeye เป็นฉากที่บ่งบอกความในใจของเดสมอนด์ได้ว่าเธอเข้าใจว่าตัวเองได้รับความนิยมอยู่เต็มเปี่ยม ทั้งที่คนเหล่านั้นเข้ามาทักทายต้อนรับเธอในฐานะคนดังในอดีตเท่านั้นเอง จึงเป็นภาพที่ดูยิ่งใหญ่แต่ไร้ค่ายิ่งนัก

สิ่งนี้สะท้อนว่าว่าในความเป็นจริง คงมีดารารุ่นเก่าอีกมากที่ยังหลงละเมอเพ้อพกกับอดีตของตนเช่นเดียวกับเดสมอนด์ แต่กลับถูกฮอลลีวู๊ดปฏิเสธอย่างไม่แยแส และแน่นอนว่าคงมีชายหรือหญิงจำนวนมากในวัยกำดัดที่ยอมพลีร่างให้กับผู้มีอิทธิพลในวงการฮอลลีวู๊ดเพื่อเงินหรือเพื่ออนาคตในการงานเช่นเดียวกับกิลลิส หลังจากหนังเรื่องนี้ถูกนำออกฉาย ไวล์เดอร์จึงถูกบรรดาคนในฮอลลีวู๊ดด่าทอ สาปแช่งกันเป็นการใหญ่บางคนถึงกลับบอกว่าเขาเป็นคนเนรคุณต่อวงการที่ชุบเลี้ยงเขามาเลยทีเดียว แต่ Sunset Boulevard ก็ยังคงคุณค่าจนมาถึงปัจจุบันสาเหตุหนึ่งอาจเพราะมันสามารถเป็นเป็นกระจกสะท้อนวงการบันเทิงทั่วโลกอีกด้วย เพราะเหตุการณ์ที่ในหนังเรื่องนี้หาได้เกิดแต่ในเฉพาะฮอลลีวู๊ดไม่ หนังเรื่องนี้ยังถูก Andrew Lloyd Webber นำมาดัดแปลงเป็นละครเพลงที่ถูกนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในกรุงลอนดอน ปี 1993 และได้รับความนิยมอย่างสูง

จะว่าด้วยความเยี่ยมยอดดังข้างบน หนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสก้าถึง 11 สาขาแต่ได้รางวัลเพียง 3 สาขาอาจเพราะความแสบของหนังที่เสียดแทงใจดำของคนในวงการฮอลลีวู๊ดหลายคน หนังที่พลอยได้รับอนิสงค์จากประเด็นนี้คือ All about Eve ของ Joseph L. Mankiewicz ที่แย่งรางวัลออสก้าไปหลายสาขารวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยจนกลายเป็นหนังเด่นที่สุดในงานแจกรางวัลออสก้าปี 1951 ทั้งที่หากพิจารณาให้ดีแล้ว Sunset Boulevard หาได้ด้อยไปกว่า All about Eve แม้แต่น้อย และนักดูหนังทั่วโลกมักจะกล่าวถึงหนังเรื่องแรกด้วยการยกย่องไม่แพ้เรื่องหลัง ในบางครั้งอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ อาจเพราะคณะกรรมการตัดสินออสก้าของฮอลลี่วู๊ดในปี 1951 คงตระหนักอย่างเงียบ ๆ ถึงสุภาษิตที่ว่า "ความจริงเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์" (The Truth is the most horrifying thing for humans) กระมัง



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ sunset boulevard

ภาพจาก www.tbrnewsmedia.com




เชิงอรรถ

(1) Film noirเป็นชื่อมาจากภาษาฝรั่งเศส เป็นตระกูลหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในด้านมืดเช่นชิงรัก หักสวาท หักหลัง ก่ออาชญากรรม ส่วนตัวผู้แสดงก็ไม่มีใครสมบูรณ์แบบเข้าทำนองหญิงก็ร้าย ชายก็เลว

(2) โปรดอย่าจำสับสนกับผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอีกคนของฮอลลีวู๊ดคือ William Wyler ผู้มีผลงานดัง ๆ ไม่ว่า Mrs. Miniver (1942), The Best Years of Our Lives (1946), The Heiress (1949) ,Roman Holiday (1953) และ Ben-Hur (1959) 

(3) เขามีหนังชื่อดังหลายเรื่องไม่ว่า Gaslight (1944) , Born Yesterday (1950) และโดยเฉพาะ My Fair Lady (1964) หนังเพลงที่ให้ Audrey Hepburn เป็นสาวชนชั้นรากหญ้าที่ถูกโปร์เฟสเซอร์ทางภาษานำมาขัดสีฉวีวรรณให้กลายเป็นไฮโซ

(4) ดาวตลกหน้าตายในหนังเงียบยุคเดียวกับ Charlie Chaplin คือช่วงทศวรรษที่ยี่สิบถึงแม้จะเก่งไม่แพ้ฝ่ายหลังแต่ทั่วโลกจะรู้จักแชบปลิ้นมากกว่า

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น