Skip to main content

"...All right, Mr. DeMille, I'm ready for my close-up."

Norma Desmond



Sunset Boulevard ถือได้ว่าเป็นอัญมณีเม็ดงามของหนังสไตล์ฟิล์มนัวร์(1) ผสมผสานกับหนังแบบโศกนาฎกรรมของฮอลลีวู๊ด ที่สำคัญมันเป็นหนังที่ปลอกลอก เสียดสีวงการฮอลลีวู๊ดได้อย่างแสบ ๆ คันๆ เช่นเดียวกับเรื่องThe Player (1992) ของ Robert Altman ภาพยนตร์ขาวดำความยาว 110 นาทีเรื่องนี้ถูกนำออกฉายในปี 1950 และผู้กำกับจะเป็นใครไปไม่ได้เป็นอันขาดนอกจาก Billy Wilder (2) ชาวออสเตรียเชื้อสายยิวผู้หนีภัยคุกคามจากฮิตเลอร์มาตั้งรกรากในอเมริกาในปี 1933 ถึงแม้ภาพยนตร์แนวฟิล์มนัวร์ที่ชื่อ Double Indemnity (1944)หนังเรื่องที่สามของเขาในฮอลลี่วู๊ดจะยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยพลังจนเข้าถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสก้าหลายสาขาแต่พลาดทุกสาขา จนเขาต้องรอให้หนังเรื่องที่ห้าคือ The Lost Weekend (1945) เกี่ยวกับชีวิตของหนุ่มใหญ่ (นำแสดงโดย Ray Milland) ผู้พยายามต่อสู้กับการครอบงำของสุราออกฉาย ฮอลลี่วู๊ดจึงหันมายิ้มให้ไวล์เดอร์พร้อมกับมอบรางวัลออสก้าให้ถึงสี่สาขาโดยหนึ่งในนั้นคือสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

จากนั้นก็มีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องของไวล์เดอร์ที่ได้รับเสียงยกย่องจากนักวิจารณ์และคนดูทั่วโลกด้วยธีมที่ค่อนข้างหลากหลายไม่ว่า Stalag 17 (1953) หนังเกี่ยวกับพวกเชลยศึกในค่ายนาซีอันโหดเหี้ยมที่ต้องสืบหาสปายผู้บอกข้อมูลให้กับนาซีเกี่ยวกับการหลบหนีของพวกเขา ,Sabrina (1954) ที่ให้ Audrey Hepburn กลายเป็นซินเดอริลล่ายุคใหม่ในสังคมไฮโซของอเมริกา, Seven Year Itch (1955) เรื่องของพ่อบ้านที่ลูกเมียเดินทางไปตากอากาศนอกเมืองและต้องใจหวั่นไหวเมื่อพบสาวสวยมาพักที่อาพาร์ทเมนท์เดียวกัน ,Some Like It Hot (1959)เรื่องของนักดนตรีหนุ่มสองคนที่ต้องปลอมตัวเป็นผู้หญิงเพื่อหนีการปองร้ายของแก๊งสเตอร์ในทศวรรษที่ยี่สิบ และ The Apartment (1960)เรื่องของมนุษย์เงินเดือนหนุ่มที่ต้องสละอาพาร์ทเมนท์เพื่อให้บรรดาเจ้านายนำสาวๆ มากก นับเป็นหนังตลกเสียดสีสังคมทุนนิยมของอเมริกาที่แสบลึก 



(โปสเตอร์ยุคโบราณ)


Sunset Boulevard มีพล็อตเรื่องหลักที่คาบลูกคาบดอกยิ่งนักในช่วงทศวรรษที่ห้าสิบที่กองเซ็นเซอร์ของฮอลลีวู๊ดเคร่งครัดศีลธรรม มันเป็นเรื่องของJoe Gillis หนุ่มนักเขียนบทภาพยนตร์เกรดบีที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจนต้องขับรถหนีเจ้าหนี้ที่ตามมายึดรถอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าเพียงชิ้นเดียวที่เขามีอยู่ แต่เพราะยางเจ้ากรรมดันมาแตก กิลลิสก็เลยพลัดหลงเข้าไปในคฤหาสน์ทึม ๆ ซึ่งมีรูปทรงที่นิยมในทศวรรษที่ยี่สิบย่านซันเซท บูเลวาร์ดของฮอลลี่วู๊ด (อันเป็นที่มาของชื่อหนังเรื่องนี้) ที่นั่นเองเขาต้องเข้ามาพัวพันกับเจ้าของสถานที่แห่งนั้นคือ Norma Desmond ราชินีหนังเงียบในทศวรรษที่ยี่สิบอย่างไม่ตั้งใจ ด้วยหนังพูดได้เป็นเรื่องแรกของโลกคือ Jazz Singer (1927)ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการฮอลลีวู๊ดอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ดาราหนังเงียบจำนวนมากต้องตกงานเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบบันทึกเสียง คนเหล่านี้รวมไปถึงตัวเดสมอนด์ด้วย เธอจึงต้องอำลาจากวงการมานั่ง ๆ นอน ๆ กินบุญเก่าอยู่ในคฤหาสน์อันใหญ่โตของตัวเองพร้อมกับคนใช้หัวล้านท่าทางประหลาด นามว่า Max von Mayerling ท่ามกลางความฝันถึงอดีตอันหอมหวน เมื่อเดสมอนด์รู้ว่ากิลลิสประกอบอาชีพอะไร เธอจึงพยายามใช้เขาให้เป็นประโยชน์โดยจ้างให้ปรับปรุง เรียบเรียงบทภาพยนตร์ที่เธอเคยเขียนเองขึ้นมาเสียใหม่ ด้วยความสัมพันธ์อันเก่าแก่ระหว่างเดสมอนด์กับผู้กำกับหนังอันทรงอิทธิพลเช่น Cecil B.DeMille ที่เคยสร้างหนังระดับตำนานเช่น Ten Commandments หรือ The Greatest Show on Earth หากภาพยนตร์เรื่องนี้(ที่แน่นอนว่ามีเธอเป็นนางเอกเท่านั้น)ออกมาสู่สายตาชาวโลก การก้าวกลับมาเป็นราชินีจอเงินอันยิ่งใหญ่ย่อมไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ อีกต่อไปสำหรับเดสมอนด์ ส่วนกิลลิสก็ตอบรับโดยดีเพราะความหิวกระหายเงิน


จะด้วยความเหงาของเดสมอนด์หรือความเป็นหนุ่มหน้าตาดีของกิลลิสก็ตามแต่ เดสมอนด์เริ่มรุกล้ำเข้ามาในโลกส่วนตัวเองของกิลลิสขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างวัยห้าสิบเศษ ๆ กับลูกจ้างวัยสามสิบกว่า (ท่ามกลางการสังเกตการณ์และการช่วยเหลืออยู่ห่าง ๆ จาก คนใช้ผู้ซื่อสัตย์วัยหกสิบต้น ๆ ) จนในที่สุดกิลลิสพบว่า เขาได้ตกอยู่ในวังวนของความหลุ่มหลงที่เดสมอนด์มีให้กับเขาโดยการทุ่มเท ปรนเปรอของมีค่าที่ในชีวิตเขาไม่เคยได้มาก่อน ถึงแม้ชายหนุ่มจะพยายามขบถ หลบหนีออกจากคฤหาสน์ที่เดสมอนด์จัดงานเลี้ยงเพื่อเขาและเธอเพียงสองคนในคืนฝนตก แต่แล้วกิลลิสก็ต้องกลับมาหาหล่อนอีกครั้งหนึ่งด้วยความสงสารกลัวว่าเธอจะฆ่าตัวตายอีกครั้งหาใช่ความรักไม่ กระนั้นเขาก็ได้แอบไปสร้างความสัมพันธ์กับนักเขียนบทภาพยนตร์สาวผู้มีอายุน้อยกว่าเขาเกือบสิบปี นามว่า Betty Schaefer ที่สำคัญเธอยังเป็นคู่หมั้นกับเพื่อนรักที่สุดของเขา แต่แล้วเดสมอนด์ก็สืบพบกับความสัมพันธ์ของเขาทั้งสองคนจึงหันไปอาละวาดเบ็ตตี้ด้วยความหึงหวง เรื่องจึงดูเหมือนจะบานปลายขึ้นเรื่อยๆ กิลลิสจึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครดีระหว่างนายจ้างสาวใหญ่ผู้มีทุกสิ่งทุกอย่างให้แต่ลดคุณค่าของเขาแค่เครื่องเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งกับนักเขียนสาวน้อยซึ่งมีฐานะไม่ต่างกับเขาในตอนต้นเรื่อง 


ด้วยบทสนทนาอันแสนคมคายพร้อมกับตลกร้ายเล็กๆ ที่หนังมีให้คนดูไปพร้อมกับความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ กับชะตากรรมของกิลลิส เช่นเดียวกับภาพเรืองแสงแม้จะเป็นหนังขาวดำก็ตามทำให้ Sunset Boulevard ดูมีเสน่ห์อันน่ากลัวยิ่งกว่าหนังฟิล์มนัวร์ทั่วไป หนังเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยคำบรรยายความคิดและความรู้สึกของตัวกิลลิสเองแต่ที่สำคัญคือตอนที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว หนังเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องแรก ๆในประวัติศาสตร์ฮอลลีวู๊ดเองที่ให้คนตายเป็นผู้บรรยายเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วจึงย้อนระลึกกลับไปในอดีต แน่นอนว่าหนังดังๆในทศวรรษที่เก้าสิบอย่างเช่น American Beauty หรือ Casino ย่อมรับเอาเทคนิคนี้มาใช้เต็มๆ นอกจากนี้ภาพในตอนต้นเรื่องที่ทำให้คนดูรู้สึกทึ่งก็คือภาพจากข้างล่างของสระน้ำซึ่งหันขึ้นไปมองศพของกิลลิสที่กำลังคว่ำหน้าอยู่อยู่เหนือน้ำ สำหรับการถ่ายภาพจากใต้น้ำหากเป็นสมัยนี้เหมือนกับเรื่องปลอกกล้วยเข้าปาก แต่เมื่อห้าสิบปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย กระนั้นฉากนี้ย่อมทำให้คนดูเดาได้ว่าตอนจบเป็นอย่างไรตามประสาหนังฟิล์มนัวร์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญหากเป็นคำถามที่ว่าทำไมกิลลิสต้องกลายเป็นศพขึ้นอืดบนสระน้ำต่างหากเป็นเรื่องที่คนดูอยากรู้ หนังจึงมีพลังเหลือเฟือในการนำคนดูท่องไปกับชีวิตของกิลลิสหลังจากนั้นอย่างไม่เบื่อหน่าย



สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้อื้อฉาวคือความสัมพันธ์ระหว่างเดสมอนด์กับกิลลิสซึ่งฝ่ายหลังอยู่ในฐานะอะไรไม่ต่างกับ "นายบำเรอ"หรือ gigolo ของฝ่ายแรก ว่ากันว่ามันกลั่นมาจากประสบการณ์ของไวล์เดอร์ตัวผู้กำกับเองที่ต้องรับอาชีพนี้ในช่วงกำลังตกทุกข์ได้ยากในกรุงเบอร์ลิน (ในปี 1960 เขาได้พัฒนามันในเรื่อง The Apartment โดยให้นางเอกตกเป็นภรรยาน้อยของประธานบริษัท) และมันได้ทำให้เกิดปัญหาว่าไม่มีดาราหนุ่มคนไหนจะกล้ามารับบทของกิลลิส เพราะกลัวว่าภาพพจน์ของตัวเองจะเสียไม่ว่า Montgomery clift หรือ Fred MacMurray (ผู้เคยรับบทนำใน Double Indemnity) จนในที่สุดไวล์เดอร์ได้ดาราหนุ่ม Billy Holden เจ้าของฉายาไอ้หนูทองคำหรือ Golden Boy ของวงการฮอลลี่วู๊ด ผู้ที่ไวล์เดอร์ไม่เคยประทับใจผลงานของเขามาก่อน แต่เมื่อทั้งคู่ได้มาร่วมมือกันในหนังเรื่องนี้ดาราหนุ่มก็สามารถชนะใจผู้กำกับจนทั้งคู่ก็ได้เป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่บัดนั้นและโฮล์เดนยังได้แสดงในหนังของไวล์เดอร์อีกหลายเรื่องเช่น Sabrina และ Stalag 17 (ซึ่งทำให้ฮอล์เดนได้รางวัลออสก้าเป็นตัวแรก) 

ส่วนตัว"นางเอก"นั้นก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีดาราที่มีลักษณะเข้าข่ายเหมือนกับเดสมอนด์ไม่ว่า Mae West หรือ Pola Negri แต่ต่างก็ปฎิเสธกันหมด เป็น George cukor ผู้กำกับหนังชื่อดังอีกคน (3) ที่ช่วยแนะนำให้ไวล์เดอร์รู้จักกับเพื่อนของเขาซึ่งเคยเป็นซูปเปอร์สตาร์หนังเงียบทศวรรษที่ยี่สิบมาก่อนคือ Gloria Swanson ผู้มีลักษณะทั้งหลายทั้งปวงคล้ายคลึงกับเดสมอนด์จึงไม่ต้องสงสัยว่าในหนัง บุคลิกของเดสมอนด์จะมีส่วนลึกมาจากตัวตนข้างในของแสวนสันเอง เธอจึงได้คำชมเชยอย่ามากมายเพราะเดสมอนด์เป็นตัวละครที่แสดงยากและซับซ้อนที่สุดในเรื่องนั่นคือมีบุคลิกของคนที่ละเมอเพ้อพกถึงอดีต และไม่รู้สึกรู้สาว่าอดีตกำลังเข้ามาครอบงำตัวเองจนแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับภาพลวงตา ปะดังประเดด้วยความสิ้นหวังและความหึงหวงต่อตัวชายที่เธอรัก จนทุกอย่างกลายเป็นความบ้าอย่างสมบูรณ์แบบในตอนจบของเรื่องซึ่งเราจะเห็นเป็นลาง ๆ ได้จากคำพูดอันแสนโด่งดังของเดสมอนด์กับกิลลิสในตอนแรกที่คนทั้งสองรู้จักกัน


Joe Gillis: You're Norma Desmond. You used to be in silent pictures. You used to be big.(คุณคือ นอร์มา เดสมอนด์ คุณเคยแสดงหนังเงียบมาก่อน คุณเคยยิ่งใหญ่มาก่อนนี่)

Norma Desmond: I am big. It's the pictures that got small. (ชั้นยังคงยิ่งใหญ่อยู่ย่ะ เป็นตัวหนังต่างหากที่กระจอกลง)
 


ส่วนตัวผู้แสดงอีกคนที่น่ากล่าวถึงคือแม๊กซ์ คนรับใช้หน้าตายของเดสมอนด์ รับบทโดยผู้กำกับชาวเยอรมันชื่อดังในทศวรรษที่ยี่สิบคือ Erich von Stroheim ซึ่งในหนังเองตอนท้ายก็มีการเฉลยจากปากของแม๊กซ์ว่า เขาเคยเป็นผู้กำกับหนังชื่อดังระดับเดียวกับเดอ มิลล์มาก่อนและเป็นอดีตสามีคนแรกของเดสมอนด์ ดาราสาวที่เขาปั้นมากับมือและเขานี่เอง ที่หล่อเลี้ยงภาพลวงตาให้กับอดีตภรรยา ไม่ว่าการปลอมจดหมายจากแฟนๆ เพื่อทำให้เดสมอนด์เข้าใจว่าเธอยังอยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลก นอกจากนี้น่าตลกที่ว่า มีคนในวงการหลายคนที่หนังกล้าเอาชื่อบุคคลจริงๆ มาเอ่ยถึง (กระนั้นบางคนก็ปฏิเสธอย่างเช่น Darryl F. Zanuck โปร์ดิวเซอร์มือทอง)และมีดาราหรือผู้มีชื่อเสียงในฮอลลี่วู๊ดไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันต่างยอมมารับบทบาทเป็นตัวเองเช่น Buster Keaton (4) ,Anna Q. Nilsson และ H.B. Warner ซึ่งแสดงเป็นเพื่อน ๆ มาเล่นไพ่ร่วมกับเดสมอนด์ที่คฤหาสน์ อาจเพราะพวกเขาต้องการยอมรับว่าตัวเองบัดนี้เป็นแค่ "อดีตคนดัง" หนังจึงมีลักษณะเหมือนกับหนังดราม่าผสมผสานกับหนังสารคดีนั้นคือมีความจริงเข้ามาคาบเกี่ยวกับจินตนาการอยู่กลาย ๆ


สิ่งที่สร้างความอื้อฉาวให้กับหนังยิ่งกว่าข้างบนอีกคือความกล้าของหนังในการชำแหละวงการฮอลลีวู๊ด ดังที่เราจะเห็นได้จากตัวของกิลลิสซึ่งอยู่ในภาวะตกยากต้องวิ่งวุ่นไปขอความช่วยเหลือจากพรรคพวกในวงการกลับได้รับการแยแส อันแสดงให้เห็นว่าในวงการนี้ที่ภาพเบื้องหน้าเต็มไปด้วยสีสัน ความสนุกสนาน ฉากหลังคือความเย็นชาไม่ยอมให้ที่ว่างสำหรับคนที่พลาดท่า เช่นเดียวกับชะตากรรมของเดสมอนด์ซึ่งไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงเธอกำลังตกรถด่วนหรือความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของหนังฮอลลีวู๊ดในทศวรรษที่ห้าสิบ ฉากที่ถือได้ว่าเป็นการเสียดสีความหลงตัวเองของเดสมอนด์อย่างดีคือตอนที่เธอไปเยือนโรงถ่ายของเดอ มิลล์(ที่เจ้าตัวมารับบทเป็นตัวเอง) ด้วยความเข้าใจว่าเขาให้คนติดต่อเธอเพื่อจะมาแสดงหนังเรื่องใหม่ และเธอต้องนั่งรอเขาอยู่บนเก้าอี้ผู้กำกับทันใดนั้นคนงานและดาราประกอบเก่าแก่ที่เคยร่วมงานกับเธอต่างกรูกันมาทักทาย ร่างของเธอดูสง่างามยามต้องแสงสปอต์ไลท์ที่ส่องลงมาจากคนงานวัยดึกที่ชื่อ Hogeye เป็นฉากที่บ่งบอกความในใจของเดสมอนด์ได้ว่าเธอเข้าใจว่าตัวเองได้รับความนิยมอยู่เต็มเปี่ยม ทั้งที่คนเหล่านั้นเข้ามาทักทายต้อนรับเธอในฐานะคนดังในอดีตเท่านั้นเอง จึงเป็นภาพที่ดูยิ่งใหญ่แต่ไร้ค่ายิ่งนัก

สิ่งนี้สะท้อนว่าว่าในความเป็นจริง คงมีดารารุ่นเก่าอีกมากที่ยังหลงละเมอเพ้อพกกับอดีตของตนเช่นเดียวกับเดสมอนด์ แต่กลับถูกฮอลลีวู๊ดปฏิเสธอย่างไม่แยแส และแน่นอนว่าคงมีชายหรือหญิงจำนวนมากในวัยกำดัดที่ยอมพลีร่างให้กับผู้มีอิทธิพลในวงการฮอลลีวู๊ดเพื่อเงินหรือเพื่ออนาคตในการงานเช่นเดียวกับกิลลิส หลังจากหนังเรื่องนี้ถูกนำออกฉาย ไวล์เดอร์จึงถูกบรรดาคนในฮอลลีวู๊ดด่าทอ สาปแช่งกันเป็นการใหญ่บางคนถึงกลับบอกว่าเขาเป็นคนเนรคุณต่อวงการที่ชุบเลี้ยงเขามาเลยทีเดียว แต่ Sunset Boulevard ก็ยังคงคุณค่าจนมาถึงปัจจุบันสาเหตุหนึ่งอาจเพราะมันสามารถเป็นเป็นกระจกสะท้อนวงการบันเทิงทั่วโลกอีกด้วย เพราะเหตุการณ์ที่ในหนังเรื่องนี้หาได้เกิดแต่ในเฉพาะฮอลลีวู๊ดไม่ หนังเรื่องนี้ยังถูก Andrew Lloyd Webber นำมาดัดแปลงเป็นละครเพลงที่ถูกนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในกรุงลอนดอน ปี 1993 และได้รับความนิยมอย่างสูง

จะว่าด้วยความเยี่ยมยอดดังข้างบน หนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสก้าถึง 11 สาขาแต่ได้รางวัลเพียง 3 สาขาอาจเพราะความแสบของหนังที่เสียดแทงใจดำของคนในวงการฮอลลีวู๊ดหลายคน หนังที่พลอยได้รับอนิสงค์จากประเด็นนี้คือ All about Eve ของ Joseph L. Mankiewicz ที่แย่งรางวัลออสก้าไปหลายสาขารวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยจนกลายเป็นหนังเด่นที่สุดในงานแจกรางวัลออสก้าปี 1951 ทั้งที่หากพิจารณาให้ดีแล้ว Sunset Boulevard หาได้ด้อยไปกว่า All about Eve แม้แต่น้อย และนักดูหนังทั่วโลกมักจะกล่าวถึงหนังเรื่องแรกด้วยการยกย่องไม่แพ้เรื่องหลัง ในบางครั้งอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ อาจเพราะคณะกรรมการตัดสินออสก้าของฮอลลี่วู๊ดในปี 1951 คงตระหนักอย่างเงียบ ๆ ถึงสุภาษิตที่ว่า "ความจริงเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์" (The Truth is the most horrifying thing for humans) กระมัง



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ sunset boulevard

ภาพจาก www.tbrnewsmedia.com




เชิงอรรถ

(1) Film noirเป็นชื่อมาจากภาษาฝรั่งเศส เป็นตระกูลหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในด้านมืดเช่นชิงรัก หักสวาท หักหลัง ก่ออาชญากรรม ส่วนตัวผู้แสดงก็ไม่มีใครสมบูรณ์แบบเข้าทำนองหญิงก็ร้าย ชายก็เลว

(2) โปรดอย่าจำสับสนกับผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอีกคนของฮอลลีวู๊ดคือ William Wyler ผู้มีผลงานดัง ๆ ไม่ว่า Mrs. Miniver (1942), The Best Years of Our Lives (1946), The Heiress (1949) ,Roman Holiday (1953) และ Ben-Hur (1959) 

(3) เขามีหนังชื่อดังหลายเรื่องไม่ว่า Gaslight (1944) , Born Yesterday (1950) และโดยเฉพาะ My Fair Lady (1964) หนังเพลงที่ให้ Audrey Hepburn เป็นสาวชนชั้นรากหญ้าที่ถูกโปร์เฟสเซอร์ทางภาษานำมาขัดสีฉวีวรรณให้กลายเป็นไฮโซ

(4) ดาวตลกหน้าตายในหนังเงียบยุคเดียวกับ Charlie Chaplin คือช่วงทศวรรษที่ยี่สิบถึงแม้จะเก่งไม่แพ้ฝ่ายหลังแต่ทั่วโลกจะรู้จักแชบปลิ้นมากกว่า

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามองว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  สำหรับโวห์ลสเตเตอร์และสานุศิษย์ แม็ดนั้นทั้งไร้ศิลธรรมและไร้ประสิทธิภาพ ที่ไร้ศีลธรรมคือมันจะสร้างความเสียหายให้กับพลเรือน และที่ไร้ประสิทธิภาพคือ มันจะทำให้เกิดการยุติการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งคู่ ในทางกลับกัน โวห์ลสเตเตอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื