ว่ากันว่าขณะกำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ราโชมอน (Rashomon) ผู้ช่วยทั้ง 3 คนของอาคิระ คุโรซาวาผู้กำกับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นและโลกได้เข้ามาหาเขาพร้อมกับบ่นว่าไม่เข้าใจในความซับซ้อนของเนื้อเรื่อง คุโรซาวายืนยันให้คนทั้ง 3 กลับไปอ่านให้ดีเพราะเขาได้ตั้งใจเขียนเนื้อเรื่องให้สามารถเข้าใจได้ในแบบที่ไม่มีใครคุ้นเคยมาก่อน ในที่สุดยอดผู้กำกับต้องใช้ความพยายามในการอธิบายจน 2 ใน 3 คนเข้าใจแต่คนสุดท้ายก็ยังไม่หายงงอยู่ดี คงเช่นเดียวกับผู้ชมในสมัยนั้นที่เดินออกจากโรงที่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก
อย่างไรก็ตามราโชมอนซึ่งถูกนำออกมาฉายในปี 1950 ถือได้ว่าเป็นสื่อกลางทางวัฒนธรรมที่ให้โลกกลับมารู้จักญี่ปุ่นอีกครั้งภายหลังจากที่ม่านหมอกแห่งสงครามได้เข้าปกคลุมญี่ปุ่นจนอยู่ในคราบของปีศาจร้ายกระหายสงครามมามากกว่า 2 ทศวรรษ ราโชมอนยังเป็นภาพยนตร์สำคัญเรื่องแรกของคุโรซาวา เพราะนอกจากคุโรซาวาจะได้รับรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสปี 1951 แล้ว ราโชมอนเหมือนเป็นประตูที่เปิดทางให้เขาผลิตภาพยนตร์อันทรงคุณภาพและเป็นอมตะอีกมากมายสำหรับโลก เมื่อใครพูดถึงชื่ออาคิระ คุโรซาวา เชื่อได้ว่าเลยว่าจะต้องนึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องต้น ๆ เช่นเดียวกับ Seven Samurai (ที่เรารู้จักกันเป็นภาษาไทยคือเจ็ดเซียนซามูไร) Ikiru, Yojimbo , Hidden Fortess และ Ran เป็นต้น เป็นที่น่าสนใจว่าคุโรซาวากำกับภาพยนตร์กว่าสิบเรื่องก่อนราโชมอนแต่ชื่อเสียงของเขายังคงอยู่ในแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น ราโชมอนได้มีส่วนช่วยให้ภาพยนตร์ของคุโรซาวาไม่ว่ายุคก่อนและยุคหลังจากนั้นเป็นที่ชื่นชอบและคารวะสำหรับผู้ชมทั่วโลกรวมไปถึงผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดระดับโลกหลายท่านไม่ว่าสตีเวน สปีลเบิร์ก จอร์จ ลูคัส มาร์ติน สกอร์เซซี และโรเบิร์ต อัลต์แมน สำหรับคนไทยได้รู้จักราโชมอนในฐานะละครเวทีที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นผู้เขียนและดัดแปลงมา (ซึ่งแน่นอนว่าท่านคงได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ของคุโรซาวามาด้วยไม่มากก็น้อย) หรือล่าสุดผู้กำกับอย่างหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุลที่เอาทำเป็นแบบฉบับไทยๆ ภายใต้ชื่อ “อุโมงค์ผาเมือง” เมื่อปี 2011 อย่างไรก็ตามราโชมอนนี้ทรงพลังถึงขนาดกลายเป็นต้นตำรับของเนื้อเรื่องซึ่งดำเนินตามมุมมองหรือการบอกเล่าของตัวละครที่แตกต่างกันจนมีคนตั้งชื่อว่าเป็นผลกระทบของราโชมอนหรือ Rashomon effect ตัวอย่างของภาพยนตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากราโชมอนได้แก่ Outrage , Unusual suspect , Courage Under Fire และ Hero ของจาง อี้โหมว หรือแม้แต่ภาพยนตร์ของจตุรงค์ ม๊กจกอย่างเช่น “โกยเถอะโยม” ก็มีกลิ่นของ ราโชมอนโชยมาแรงมาก แต่ด้วยความอ่อนด้อยของตัวภาพยนตร์ก็ได้ทำให้กลยุทธ์ที่ภาพยนตร์นำเสนอไม่สามารถสื่ออะไรได้เลย
ภาพจาก wikimedia.org
ราโชมอนเดิมเป็นชื่อของประตูเมืองโตเกียวซึ่งถูกสร้างในสมัยเอฮังคือประมาณปี 789 และคุโรซาวาได้นำมาเป็นชื่อเรื่องโดยนำเสนอภาพเป็นประตูเก่าและพุพังอันเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของสังคมญี่ปุ่น นอกจากนี้คุโรซาวายังได้รับอิทธิพลจากนวนิยายเรื่อง In a Grove ของ อาคุตากะวะ เรียวโนสุเกะซึ่งเป็นนักเขียนและกวีของญี่ปุ่นประมาณต้นศตวรรษที่ 20 ราโชมอนในฐานะภาพยนตร์มีรูปแบบฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ที่มีบรรยากาศแห่งอาชญากรรมพร้อมตัวละครประเภทหญิงก็ร้าย ชายก็เลวบนความสัมพันธ์ที่หักหลังไม่จริงใจต่อกัน แต่ราโชมอนทรงพลังกว่าภาพยนตร์ประเภทนี้เรื่องอื่นๆ คือมีปรัชญาอันลึกซึ้งพร้อมการดำเนินเรื่องที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใครหรืออาจจะเรียกว่าภาพยนตร์อินดี้ (Independent film) ในสมัยนั้นก็ว่าได้ สิ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้คือความชาญฉลาดของภาพยนตร์ในการจัดภาพแสงเงาและการเคลื่อนไหวของธรรมชาติรอบตัวละครที่ทรงพลังและแฝงด้วยสัญลักษณ์ที่บ่งบอกปรัชญากับอารมณ์ภายในของตัวละครแม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ขาวดำผสานอย่างแนบเนียนไปกับเพลงประกอบซึ่งบางครั้งฟังเนิบนาบเหมือน Boléro เพลงแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ของเมอริส ราเวลแต่แฝงด้วยความชั่วร้ายและความรุนแรงที่รอเวลาระเบิดออกมาดังในหลายฉากเพลงประกอบก็เกรี้ยวกราดจนน่าตกใจ ลักษณะเด่นของคุโรซาวาอีกประการหนึ่งก็คือการให้ผู้แสดงมีการเคลื่อนไหวที่พริ้วและการแสดงใบหน้าดูเหนือจริงเหมือนละครโนห์เช่นเดียวกับเรื่อง Throne of Blood ภาพยนตร์อีกเรื่องของคุโรซาวาซึ่งดัดแปลงมาจาก Macbeth ของวิลเลียม เช็คสเปียร์
โปรดระวัง เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อเรื่อง
ภาพยนตร์เริ่มต้นจากฉากประตูราโชมอนซึ่งกำลังถูกฝนตกลงมากระหน่ำ ภายใต้ประตูไม้อันเก่าคร่ำคร่านั้นชาย 3 คนได้แก่ชายตัดฟืน คนเดินทางและพระได้มานั่งหลบฝน ชายตัดฟืนซึ่งนั่งจับเจ่าก็ได้ระบายความคิดและอารมณ์ของเขาผ่านเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งให้แก่ชายทั้ง 2 ฟัง เรื่องเริ่มต้นจากโจรป่านามว่าทาโจมารู (รับบทโดยโตชิโร มิฟูเนดาราคู่บุญของคุโรซาวา) กำลังนอนเล่นอยู่ในป่าได้พบกับ 2 สามีภรรยาคือตาเกฮิโรและมาซาโกะเดินทางผ่านมาตามลำพัง ด้วยกามตัณหาเพียงเพราะลมพัดกิโมโนให้ทาโจมารูเห็นขาขาวของมาซาโกะซึ่งนั่งอยู่บนหลังม้าแม้เธอจะมีหมวกและผ้าปิดหน้าก็ตาม โจรป่าก็หลอกลวงจับซามูไรหนุ่มมัดเชือกและเข้าปล้ำข่มขืนภรรยาของเขาอย่างไม่ปราณี อันถือได้ว่าคุโรซาวามีความกล้าหาญอย่างมากต่อการเผชิญหน้ากับกรรไกรของกองเซ็นเซ่อร์เพราะฉากข่มขืนในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นฉากที่แรงอยู่ไม่เบา ในเวลาต่อมามีชายวัยกลางคนได้เดินทางไปตัดฟืนในป่าและได้พบศพของตาเกฮิโรเข้า จึงแจ้งความตำรวจและตำรวจสามารถจับตัวทาโจมารูได้อย่างง่ายดายเพราะทาโจมารูท้องเสีย (ถ้าเขาปกติดี ดูท่าทางของตำรวจแล้วอย่างไรก็คงจะจับตัวไม่ไหว) ศาลจึงเบิกตัวทั้งโจรและเจ้าทุกข์คือมาซาโกะมาให้ปากคำ และภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนจะผันตัวไปเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเพียงชั่วขณะเพราะผู้เป็นพยานยังรวมถึงตาเกฮิโรซึ่งกลายเป็นวิญญาณมาเข้าทรง
ความน่าอัศจรรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือในที่สุดแล้วทั้งโจรและเจ้าทุกข์ทั้ง 2 ต่างเล่าเหตุการณ์แตกต่างราวกันไปคนละเรื่องและภาพยนตร์ก็ไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับใครสักคนเดียว ดังนั้นการเล่าของแต่ละคน (และผี) ล้วนแต่เข้าข้างตัวเองหรือทำให้ตัวเองดูดีทั้งสิ้น ฉากในศาลถือได้ว่าเป็นรูปแบบการนำเสนอภาพที่แหวกแนวมากคือให้ตัวละครแต่ละตัวหันหน้ามาทางจอและพูดกับคนดูราวกับคนดูคือผู้พิพากษา (หรือพระเจ้า) เสียเอง หากเราดูภาพยนตร์เรื่อง “มือปืน” ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลจะเห็นว่าท่านได้นำเสนออิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มๆ ในตอนต้นเรื่อง ภาพยนตร์ยังสร้างความงงงวยให้คนดูเข้าไปอีกโดยการปิดท้ายให้คนตัดฟืนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาโจมารูกับเหยื่อทั้ง 2 ให้พระและคนที่เดินทางผ่านมาฟังด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่เหมือนกับของใครเลย ภาพยนตร์จบลงโดยที่ไม่ได้บอกเลยว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่อันเป็นการเชื้อเชิญให้คนดูใช้ความคิดในการตีความเอาเอง นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้แม้แต่ผู้ช่วยของคุโรซาวาเองก็ไม่เข้าใจ
(ภาพจาก 2.bp.blogspot.com)
ลองมาคิดเล่นๆ ว่าถ้าภาพยนตร์รีบเฉลยว่าความจริงเป็นอย่างไร ราโชมอนคงจะไม่เป็นอมตะเช่นนี้ เพราะพลังของภาพยนตร์คือปรัชญาแนวอัตถิภาวนิยมที่ว่า Truth is subjectivity (ความเป็นจริงเป็นอัตวิสัย) มนุษย์แต่ละคนต่างรับรู้ความเป็นจริงในมุมมองที่แตกต่างกันออกไปหรือตามมุมมองที่ตัวเองต้องการให้เป็น แต่ในกรณีนี้ภาพยนตร์ยังได้โยงมายังการโกหกหลอกลวงอันสอดรับกับสารของภาพยนตร์ในช่วงแรกๆ ที่นำเสนอธรรมชาติของมนุษย์ในด้านร้ายดังที่พระซึ่งนั่งคุยกับคนตัดฟืนรำพึงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศาลว่าเลวร้ายยิ่งกว่าภัยพิบัติทั้งปวงโดยเหตุการณ์เหล่านั้นคือตัวแทนของความมืดบอดภายในจิตใจมนุษย์นั่นเอง แต่ในช่วงท้ายของเรื่องคุโรซาวาได้แย้มให้เห็นถึงธรรมชาติด้านบวกของมนุษย์นั่นคือคนตัดฟืนซึ่งถูกจับได้ว่าแอบขโมยดาบซึ่งเป็นของกลางไปตัดสินใจรับเอาเด็กทารกซึ่งถูกทิ้งอยู่ไม่ไกลจากนั้นมาเลี้ยงดู เมื่อฝนหยุดตกเขาก็เดินจากไปภายใต้สายตาของพระซึ่งยืนตื้นตันใจในความมีเมตตาของเขา อันเป็นร่องรอยของแนวคิด มนุษยนิยมซึ่งได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่องของคุโรซาวา
ขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยแนวคิดของคุโรซาวาที่ปรากฎในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาซึ่งผมเชื่อว่าหากเราได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่บ่อยครั้งแล้วจะทำให้สามารถเข้าใจฉากทางการเมืองไทยหรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเราได้ดีในระดับหนึ่ง
"Human beings are unable to be honest with themselves about themselves. They cannot talk about themselves without embellishing."
“ มนุษย์นั้นไม่สามารถซื่อสัตย์ต่อเขาเองเกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง พวกเขาไม่สามารถพูดเกี่ยวกับตัวเองโดยปราศจากการเติมแต่ง”
You can contact me via "Atthasit Muang-in" in facebook