Skip to main content
บทความเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้แปลมาจากบทความของโรเจอร์ อีเบิร์ต ที่เขียนขึ้นในเวบ Rogerebert.com เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม ปี ค.ศ. 1999 ส่วนภาพประกอบและหมายเหตุเป็นของผู้แปลเอง 
 
 
                                
 
                                        ภาพจาก www.amazon.com
 
หลังจากไม่กี่วันที่ผมได้ชมภาพยนตร์ของสแตนลีย์ คิวบริกคือ Eyes Wide Shut ภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ปรากฏในหัวของผมซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ Belle de Jour (1967) ของหลุยส์ บูเนล มันเป็นเรื่องราวของภรรยาสาวผู้แอบไปทำงานในซ่องโสเภณีครั้งหรือ 2 ครั้งภายใน 1 อาทิตย์ ในเรื่องนี้นักแสดงจะสร้างสรรค์ "เรื่องเร้นลับ"สำหรับตัวพวกเขาซึ่งผู้ชมภาพยนตร์ไม่รู้ ผมเชื่อมั่นว่าถ้าผู้หญิงที่แสดงโดยนิโคล คิดแมนในภาพยนตร์ของคิวบริกมีภาพยนตร์ที่ชื่นชอบเป็นส่วนตัว เรื่องนี้ก็คือ Belle de Jour นั่นเอง
 
มันอาจเป็นภาพยนตร์อีโรติกซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในปัจจุบันนี้ หรือบางทีอาจเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะมันมีความเข้าใจต่อกามสุนทรีย์ (Eroticisim) จากภายในอย่างแท้จริง นั่นคือกามสุนทรีย์ไม่ได้มีแค่เรื่องของหยาดเหงื่อและผิวหนัง แต่เป็นเรื่องของจินตนาการ  Belle de Jour เป็นเรื่องที่นำเสนอผ่านมุมมองของซีแวรีน ภรรยาผู้น่ารัก วัย 23 ปีของศัลยแพทย์คนหนึ่ง ผู้มารับบทนี้คือแคธารีน เดอเนิฟ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือบูเนลผู้มีวัยถึง 67   ปีในขณะที่ภาพยนตร์ถูกนำออกฉาย เขาใช้เวลาทั้งชีวิตในการสร้างภาพยนตร์ที่มีกลเม็ดเกี่ยวกับเรื่องอันเร้นลับของธรรมชาติมนุษย์
 
และเขารู้ว่าสิ่งหนึ่งซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ส่วนใหญ่ไม่เคยค้นพบนั่นคือสำหรับผู้หญิงเช่นซีแวรินซึ่งกำลังเดินเข้ามาในห้องเพื่อมีเพศสัมพันธ์ ความเป็นกามสุนทรีย์ไม่ได้มาจากว่าใครกำลังรออยู่ในห้อง แต่มาจากความจริงที่ว่าเธอกำลังเดินเข้ามาเพื่อ"เอา"ต่างหาก เรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเธอเอง แน่นอนว่าเรื่องความรักก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง 
 
เป้าหมายทางอารมณ์ของซีแวรินนั้นก็คือตัวซีแวรินเอง เธอมีชีวิตการแต่งงานที่แสนน่าเบื่อกับศัลยแพทย์ที่หนุ่มหล่อเพียบพร้อมทุกสิ่งนามว่าปีแอร์ (ญอง โซเรล์) ผู้ซึ่งยกย่องความเป็นคนดีของเธอ เธอถูกเกี้ยวพาราสีโดยเพื่อนผู้สูงอายุของครอบครัวสามีคืออังรีผู้วางมาดเงียบขรึม (มิเชล ปีคโคลิ ผู้ซึ่งเกิดมาดูหน้าตาเอาเรื่อง) เขายังเกิดอารมณ์จากท่าทางดูเป็นคนดีของเธอ (1) ความเป็นผู้หญิงผมบอนด์อันสมบูรณ์แบบของเธอ การแต่งตัวอย่างระมัดระวัง ท่วงทีอันเงียบขรึม และความเย็นชาเหินห่างของเธอที่มีต่อเขา "เก็บคำชมพวกนั้นไว้กับตัวคุณเองเถอะ" เธอกล่าวขึ้นขณะที่เธอและปีแอร์นั่งทานอาหารเที่ยงกับเขาที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง
 
ความลับของซีแวรีนก็คือเธอมีความฝันเฟื่องที่ออกหวือหวาสักหน่อย และบูเนลสอดแทรกมันเข้าระหว่างรอยยิ้มอันลึกลับของเธอและสิ่งที่เธอกำลังคิด บูเนลเต็มเติมความปรารถนาทางเพศที่หมกมุ่นกับวัตถุ (Festish) ของเขาเองนั่นคือมักจะให้ตัวผู้แสดงนำเข้ามาเกี่ยวข้องกับเท้าและรองเท้า และเขาเข้าใจว่าความปรารถนาทางเพศที่หมกมุ่นกับวัตถุนั้นจะไม่มีความหมายใดนอกจากว่ามันจะเกี่ยวข้องกับวัตถุเท่านั้น
 
ซีแวรีนนั้นเป็นผู้เกิดอารมณ์ทางเพศหากถูกทำให้เจ็บตัว (Masochist)และชอบถูกทำกระทำอย่างดิบ ๆ เสียด้วย และเธอยังเกิดอารมณ์เล็ก ๆน้อยๆ จากสิ่งซึ่งภาพยนตร์ฉลาดมากที่ไม่เคยอธิบายให้คนดูเต็มๆ สักทีเพราะมันเป็นเรื่องของเธอเพียงคนเดียว เช่นเสียงเหมียวๆ ของแมวและเสียงกระดิ่งของรถม้า เสียงเหล่านั้นจะมีขึ้นพร้อมกับฉากฝันกลางวันอันโด่งดังของภาพยนตร์เช่นตอนเปิดเรื่องที่ซีแวรีนนั่งรถม้ากับปีแอร์ไปในชนบท สามีของเธอสั่งให้คนรถ 2 คนเข้ามาปลุกปล้ำเธอ อีกฉากหนึ่งเธอถูกมัดจนขยับตัวไม่ได้ภายใต้ชุดสีขาวสะอาดตาขณะที่พวกผู้ชายขว้างโคลนใส่เธอ
 
จุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องทางเพศของซีแวรีนก็คือเธอได้พบว่ากรุงปารีสมีซ่องโสเภณีซึ่งบรรดาแม่บ้านมาทำงานในตอนบ่ายๆเพื่อหาลำไพ่พิเศษในขณะที่สามีของพวกเธอออกไปทำงาน
 
อองรีผู้มีหมายเลขโทรศัพท์ของเธอได้ให้ที่อยู่ของซ่องนี้แก่เธอ ไม่กี่วันต่อมา เธอแต่งชุดสีดำราวกับไปงานศพของตัวเองและไปเคาะประตูเพื่อพบกับแม่เล้าชื่อว่ามาดามอนาอีส (เชเนวิพ ปาเช)นักธุรกิจหญิงผู้เจนจัดได้ยินดีมอบงานให้กับเธอ ซีแวรีกลับวิ่งหนี แต่แล้วก็ย้อนกลับมาอีกเพราะความฉงน ตอนแรกเธอต้องการที่จะเลือกลูกค้าด้วยตัวเอง แต่อนาอิสกล่อมจนเธอต้องกล่าวว่า "ค่ะ คุณนาย" หญิงผู้สูงวัยกว่ายิ้มให้ตัวเองแล้วกล่าวว่า "ฉันรู้ดีว่าเธอต้องการคนช่วยเหลือจริง ๆ" เธอเข้าใจความต้องการของซีแวรินและพอใจว่ามันจะดีต่อธุรกิจของเธอ
 
ไม่มีฉากร่วมเพศอย่างชัดเจนในภาพยนตร์ ฉากหนึ่งที่มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งมักจะถูกนำมาอ้างอิงอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เราไม่เห็นและไม่เข้าใจ ลูกค้านำเอากล่องทาแล็คเกอร์มาด้วย เขาเปิดมันและแสดงให้หนึ่งในบรรดาโสเภณีและซีแวรีนได้ดู มีเสียงหึ่งดังเบา ๆ มาจากข้างในนั้น คุณโสคนแรกปฏิเสธที่จะตามคำขอของลูกค้า เช่นเดียวกับซีแวรีน แต่ภาพยนตร์ก็ตัดไปอย่างชวนให้สงสัยและฉากต่อมาแสดงถึงความเป็นไปได้ที่ว่าบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว
 
อะไรอยู่ในกล่อง ? ความจริงทางภาษานั้นไม่สำคัญ ความจริงเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นสิ่งที่บูเนลสนใจทั้งหมดคือการที่มันบรรจุบางสิ่งบางอย่างที่เร้าอารมณ์ทางเพศอย่างมากที่สุดสำหรับลูกค้าคนนั้น
 
แล้วก็มีนักเลง 2 คนเข้ามาในซ่องของมาดามอนาอีส หนึ่งในนั้นเป็นชายหนุ่มที่ท่าทางเขื่อง เขาถือไม้เท้าที่ข้างในเป็นดาบและสวมเสื้อคลุมหนังสีดำ แถมยังมีฟันเหล็กน่าเกลียดอยู่เต็มปาก ชายคนนี้ชื่อว่ามาร์เซล (ปีแอร์ คลีแมนติ)   "สำหรับคุณแล้วไม่เก็บเงินค่ะ" แซเวอรีนกล่าว อย่างรวดเร็ว เธอเกิดอารมณ์ต่อคำดูถูก และกิริยามารยาทของเขา ไม่ต้องสงสัยอีกว่าเพราะภาพความเป็นผู้หญิงสมบูรณ์แบบในความคิดของเธอจะต้องราคีจากท่าทางหยาบคายของเขา ทั้ง 2 มีความสัมพันธ์ทางเพศต่อกันซึ่งนำไปสู่การเสียดสีอย่างเจ็บแสบในฉากน้ำเน่าฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ แต่สิ่งที่มาร์เซลไม่เคยเข้าใจก็คือในขณะที่แซเวอรีนเสพติดในสิ่งที่เขายื่นให้ เธอนั้นแทบไม่เคยสนใจต่อตัวเขาเลย เขาเป็นผู้ช่วยสร้างความฝันเฟื่องทางเพศของเธอ ผู้ช่วยที่ดีที่สุดที่เธอเคยพบมา
 
หลุยส์ บูเนล (เกิด ปี ค.ศ. 1900- เสียชีวิต ปี ค.ศ.1983) หรือหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นดูถูกต่อรูปแบบการทำภาพยนตร์แบบปราณีตอลังการ เมื่อเขายังหนุ่มกลายเป็นศิลปินแบบเหนือจริงและร่วมงานกับซัลวาดอร์ ดาลีในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Un Chien Andalou (1928)เขานั้นมองโลกในแง่ร้ายต่อธรรมชาติของมนุษย์อย่างมากมาย แต่นำเสนอมันด้วยความขบขันไม่ใช่การดูถูก เขาสนเท่ห์ต่อความคิดที่ว่าบางสิ่งกำหนดมนุษย์ไว้ล่วงหน้าและสำคัญกว่าเจตจำนงอิสระในการตัดสินใจของมนุษย์ ภาพยนตร์หลายเรื่องของเขานำเสนอเหตุการณ์ซึ่งตัวละครดูเหมือนจะมีอิสระในการกระทำแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เขาเชื่อว่าคนจำนวนมากถูกกำหนดรูปแบบทางเพศในช่วงแรกของชีวิตและจะเป็นเช่นนั้นไปตลอดชีวิต
 
ซีแวรีนเป็นคนเช่นนั้น "ฉันไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้" เธอกล่าวในตอนหนึ่ง "ฉันกำลังหลงทาง " เธอมีการปลงตกต่อตัวเองเช่นนี้ในตอนท้าย ๆของภาพยนตร์ เธอรู้ดีว่าเธอทรยศปีแอร์ และเธอก็ได้หลอกใช้มาร์เซลอย่างน่าละอายใจถึงแม้ว่านั้นเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าเขากระทำต่อเธอ เหมือนกับคำพูดของวูดดี อัลเลนซึ่งเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง เช่นเดียวกับการท้าทายที่ว่า "หัวใจต้องการในสิ่งที่หัวใจต้องการ"
 
ภาพยนตร์มีองค์ประกอบที่งดงามไม่ว่า เครื่องแต่งกาย ฉาก เครื่องประดับ ทรงผม เสื้อผ้าและการเดินเรื่องไปอย่างสบายๆ ชะตากรรมของซีแวรีนดูเหมือนจะถูกกำหนดไว้แล้ว เช่นเดียวกับสามีของเธอซึ่งเป็นชายอ่อนแอไม่อาจต้านทานพลังอันแรงกล้าแห่งความปรารถนาของภรรยาตัวเอง จุดที่ถูกนำเสนอย่างประณีตที่สุดเป็นจุดเล็ก ๆ ที่คนซึ่งไม่คุ้นเคยกับบูเนลอาจจะพลาดไป (แต่มันก็เยี่ยมยอดถึงแม้ว่าคุณไม่ได้สังเกตมันก็ตาม) เสียงเหมียวๆ อันแผ่วเบาที่สอดแทรกมาในภาพยนตร์ มันนำเสนอถึงอะไร ? มีเพียงซีแวรีนที่รู้ มันเป็นธรรมชาติอันซ้ำซากของมนุษย์ดังเช่นหลังจากที่ซีแวรีนปฏิเสธลูกค้าคนแรก อนาอิสได้ส่งลูกน้องสาวเข้าไปทำหน้าที่แทนและพาซีแวรีนไปแอบมองและเรียนรู้พฤติกรรมของพวกเขาผ่านช่องเล็ก ๆ (2) "น่าขยะแขยงจัง" ซีแวรีนบ่นพึมพำ เบือนหน้าหนีไปแต่แล้วก็หันกลับมาแอบมองอีกครั้ง
 
Belle de Jour และ Eyes Wide Shut (3) นั้นต่างมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน มันเป็นเรื่องของผู้ชายชนชั้นกลางที่แสนจะน่าเบื่อซึ่งการแต่งงานของพวกเขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการอันมีสีสันของเหล่าภรรยาได้ เรื่องความต้องการจะมีอะไรกับทหารเรือที่ตัวละครรับบทโดย     นิโคล คิดแมนได้เล่าให้กับสามีฟังนั้นมีลักษณะคล้ายกับจินตนาการของซีแวรีน ผู้ชายทั้ง 2 คนต่างก็ไม่เข้าใจเพราะสิ่งที่ภรรยาของเขาปรารถนาไม่ใช่ตัวพวกเขาแต่เกี่ยวกับความต้องการและความหมกมุ่นที่ฝังลึกในระดับเดียวกับสัญชาติญาณ เช่นเดียวกับเสียงร้องเหมียว ๆของแมว (4)
 
 
 
 
 
.......................................................................................
 
 
1.ภาพยนตร์ยังย้อนกลับไปในวัยเด็กของซีแวรีนสักเล็กน้อยเพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอเติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งศาสนา ทำให้กลายเป็นเรื่องแบบกลับตาลปัตรที่เรามักจะพบบ่อยในชีวิตจริงนั้นคือคนที่เข้าวัดวา หมกมุ่นกับธรรมะแต่ความจริงมีความต้องการอันร้อนแรงที่รอวันปลดปล่อย แนวคิดนี้เป็นรูปแบบของบูเนลเองที่มักจะเสียดสีศาสนาจนภาพยนตร์ของเขาหลายเรื่องถูกศาสนจักรประณามก่นด่า
 
2.เป็นฉากที่น่าตกใจและน่าขบขันไปพร้อมๆ กันนั้นคือลูกค้าคนนั้นเป็นครูบาอาจารย์ มาดภูมิฐานแต่ต้องการให้โสเภณีสวมบทบาทเป็นเจ้านายเพื่อกดขี่และดูถูกตัวเขาเองก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย ซึ่งพฤติกรรมก็คือมาโซคิสต์แบบเดียวกับของซีแวรีนนั้นเอง
 
3. Eyes Wide Shut (1999)เป็นเรื่องของนายแพทย์หนุ่ม (ทอม ครุยส์)ที่มีชีวิตทางเพศที่น่าผิดหวังกับภรรยา (นิโคล คิดแมน) เขาจึงได้ดื่มด่ำไปกับชีวิตยามราตรีของมหานครนิวยอร์คที่เต็มไปด้วยการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมและสุดแสนจะอันตราย
 
4.การนำเสียงบางอย่างมาแทรกแทรกเข้าไปในภาพยนตร์นี้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้กำกับภาพยนตร์ไทยแนวศิลปะคือเป็นเอก รัตนเรืองอย่างมาก เขาใช้กลยุทธแบบนี้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง ๆ เช่น รักน้อยนิดมหาศาลและคำพิพากษาของมหาสมุทร
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น