Skip to main content
หากพูดถึงหนังเพลงหรือ musical ที่มีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในทศวรรษที่ห้าสิบและหกสิบ เราก็คงจะนึกถึงเรื่อง West Side Story เป็นเรื่องแรก ๆ อาจจะก่อน Singin' in The Rain หรือ Sound of Music เสียด้วยซ้ำ ด้วยหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นคือเพลงทั้งบรรเลงและเพลงร้องที่แสนไพเราะ ฝีมือการกำกับวงของวาทยากรอันดับหนึ่งของอเมริกาและเป็นอันดับสองตลอดกาลของโลก รองแค่เฮอร์เบิร์ต ฟอน คารายาน ท่านผู้นั้นก็คือลีโอนาร์ด เบอร์สไตน์ ส่วนคนเขียนบทคืออาร์เทอร์ เลอเรนท์ส และคนแต่งเนื้อร้องก็คือสตีเวน ซาวน์ไฮม์ แน่นอนว่ามันสร้างมาจากละครเวที ที่มีชื่อเสียงมากเรื่องหนึ่งและยังถูกนำมาแสดงจนถึงทุกวันนี้ นับอายุตั้งแต่ละครเรื่องนี้ถูกนำออกมาแสดงเป็นครั้งแรกที่วินเทอร์การ์เดนเทียเตอร์  เมื่อ 26 กันยายน ปี 1957 ก็ถือได้ว่ามีอายุเกินครึ่งศตวรรษ ผู้กำกับละครเวทีมีนามว่าเรโรเม รอบบินส์ และก็ได้มากำกับร่วมกับโรเบิร์ต ไวส์ (ผู้กำกับ หนังเรื่อง Sound of Music) เมื่อถูกสร้างเป็นหนังและออกฉายในปี 1961 ก็โกยเงินได้จำนวนสูงสุดแห่งปีเลยทีเดียว แถมยังได้รางวัลออสก้าไปถึงสิบสาขารวมไปถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการถูกเสนอเข้าชิงสิบเอ็ดสาขา ปัจจุบันถูกจัดโดยสมาคมภาพยนตร์อเมริกาให้เป็นหนึ่งในร้อยภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบหนึ่งร้อยปี และหากเป็นเฉพาะประเภทของภาพยนตร์เพลงก็จะอยู่ลำดับสาม
 
                            
                                        (ภาพจาก www. Amazon.com)
 
West Side Story มีพล็อตเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากบทละครนามอุโฆษของวิลเลียม เช็คสเปียร์  คือ Romeo and Juliet แต่ในหนังเรื่องนี้มีฉากคือแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงนิวยอร์ก เป็นเรื่องราวของความขัดแย้งระหว่างแก๊งค์วัยรุ่นสองกลุ่มที่มีเชื้อชาติต่างกันนั้นคือ แก๊งเจต ซึ่งเป็นคนอเมริกัน และแก๊งชาร์ก ซึ่งมีเชื้อสายปอร์โตริโก ทั้งสองกลุ่มนี้มีการทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยครั้ง แต่เป็นการทะเลาะกันแบบละครเวทีคือเต้นสไตล์โมเดิร์นแดนซ์ เวลาปะทะกันเหมือนกับเต้นประสานด้วยกัน ดูไม่น่ากลัวเลย เข้าใจว่าคงมีอิทธิพลต่อหนังเพลงและละครเพลงของไทยในช่วงทศวรรษที่ยี่สิบอย่างมากมาย กระนั้นนายตำรวจ (คนที่แสดงเป็นจิตแพทย์ในหนังเรื่อง Psycho) พยายามเข้ามาแทรกแซงเพื่อไม่ให้ทั้งสองแก๊งค์ประพฤติตนนอกลู่นอกทาง แต่ก็ไร้ผล หนังให้เขาเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐที่พยายามสร้างอิทธิพลเหนือวัยรุ่นหัวขบถ
 
 
ต่อมาหัวหน้ากลุ่มเจ็ตที่ชื่อริฟฟ์ ก็คิดจะต่อสู้กันให้แตกหักกันไปข้างเลยไปชวนเพื่อนรักของเขาคือ โทนี มาร่วมแก๊งค์อีกครั้ง โทนีเคยร่วมกับเขาในการตั้งกลุ่มเจ็ตขึ้นมา แต่ปัจจุบันวางมือไปทำงานเป็นลูกจ้างของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ด้วยความเป็นพระเอ๊กพระเอก โทนี่ก็ปฏิเสธเพราะเป็นคนรักสงบไปเสียแล้ว แต่โทนี่ก็ไปร่วมกับงานเต้นรำที่มีทั้งสองแก๊งค์เข้าร่วมเพื่อหวังจะให้ทั้งสองกลุ่มเกิดความสมานฉันท์ ณ ที่นั่นเขาได้ตกหลุมรักมาเรีย  น้องสาวคนสวยของเบอร์นาโด หัวหน้าแก๊งชาร์คแน่นอนว่าย่อมเหมือนกับโรมีโอและจูเลียต ที่มาเรียเองก็ไม่อาจถอนสายตาจากชายหนุ่มรูปหล่อได้เช่นกัน ความรักของทั้งคู่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต้องพบกับอุปสรรค์อันใหญ่หลวงคือความเกลีดชังระหว่างสองฝ่าย โทนี่จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นเพื่อที่เขาจะได้สมหวังในความรัก หากใครรู้เกี่ยวกับพล็อตเรื่องของโรมิโอและจูเลียตแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าทั้งสองเรื่องจะเหมือนกันเสียทีเดียวกระนั้นในตอนจบก็เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้าไม่แพ้กับละครของเช็กส์เปียร์เลยทีเดียว
 
West Side Story ถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อละครเพลงยุคใหม่ของอเมริกาเป็นยิ่งนักจากเดิมที่ละครเพลงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัก ๆใคร่ ๆ หรือความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือเรื่องตลก หนังเรื่องนี้กลับด้วยการนำเสนอด้านมืดของสังคมอเมริกันที่อุดมไปด้วยเชื้อชาติต่าง ๆ (ดังที่เขาเรียกว่า Melting pot นั้นแล) ที่สำคัญคือปัญหาของวัยรุ่นในช่วงปลายทศวรรษที่ห้าสิบที่เกิดจากทางบ้านที่ยากจนและขาดความรักความเข้าใจจากพ่อแม่ของตนจนต้องออกมารวมตัวกันเป็นแก๊งค์เพื่อก่อความวุ่นวายให้กับชาวบ้านแถวนั้น แน่นอนว่าเนื้อหาของเพลงย่อมมีหลายๆ ส่วนค่อนข้างจะแรงและใช้คำทางเพศแบบโจ๋งครึม แต่เมื่อมาทำเป็นหนัง ด้วยระเบียบอันเข้มงวดของฮอลลี่วู๊ดหรือ Hollywood Production Code ผู้สร้างต้องเหนื่อยต่อการเปลี่ยนคำใหม่ให้ดูสุภาพยิ่งขึ้น จะได้ผ่านเซนเซอร์ แต่เพลงของหนังเรื่องนี้หลายเพลงก็ได้รับความนิยมและถูกนำไปดัดแปลงเสียใหม่จากคนรุ่นหลังอย่างเช่นเพลงโหมร้องหรือ Overture ซึ่งหนังเพลงในสมัยก่อนจะมีกันทุกเรื่องพร้อมกับฉากเบลอๆ ที่เปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ เมื่อดูได้สักพักก็รู้ว่าเป็นภาพวาดแบบยุคใหม่ของทัศนียภาพกรุงนิวยอร์ก นอกจากนี้หนังเพลงยุคเก่ายังมีพักช่วงกลางนั้นคือไม่มีภาพมีแต่เสียงเพลงดังที่เรียกว่า Intermission สำหรับเพลงที่ไพเราะมากคือเพลง America ซึ่งเป็นการร้องหมู่ระหว่างหนุ่มสาวชาวปอร์โตริโก ซึ่งมีเนื้อหาในการเชิดชูสังคมอันอุดมไปด้วยวัตถุของอเมริกา ซึ่งเพลงๆ นี้ถูกวิจารณ์ว่าออกไปแนวเหยียดสีผิวโดยให้พวกปอร์โตริโก้ดูกระจอกงอกง่อยเมื่ออพยพมาอยู่อเมริกา 
 
 
เพลงที่ถือได้ว่าดังที่สุดของเรื่องคือ Tonight ซึ่งเป็นการร้องคู่กันอย่างแสนหวานระหว่างโทนีและมาเรีย ตอนที่โทนี่แอบปีนบันไดหนีไฟไปหามาเรียที่อาพาตเมนท์หลังจากที่ทั้งคู่ปึ๊งกันในงานเต้นรำที่มีเนื้อร้อง (และ เพลงนี้ก็ถูกดัดแปลงไปเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งสำหรับร้องหมู่กันอย่างสนุกสนานในขณะที่ทั้งสองแก๊งค์กำลังจะปะทะกัน)หรือเพลงคร่ำครวญของโทนีต่อมาเรียคือ Maria ก็ไพเราะไม่แพ้กัน เพลงที่จังหวะสนุกสานเช่น I Feel pretty ตอนที่มาเรียร้องบรรยายความสุขที่เกิดจากการอยู่ในห้วงรักให้เพื่อน ๆที่ทำงานตัดผ้าด้วยกันฟังก็ได้รับความนิยมไม่น้อย หนังเรื่อง Anger Management ก็หยิบยืมเพลงนี้โดยให้จิตแพทย์ที่แสดงโดยแจ๊ค นิโคลสันเอามาสอนให้อดัมแซนเดอร์ร้องขณะขับรถยนตร์บนสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อให้ใจเย็น ๆ อย่างไรก็ตามเพลงที่น่าจะอื้อฉาวที่สุดของเรื่องก็คือ Gee, Officer Krupke คือตอนที่พวกเจ็ตมามั่วสุ่มกันและโดนตำรวจหาเรื่องจากนั้นพวกเขาก็ร้องเพลงหมู่ประชดเสียดสีครอบครัวของตัวเองและผู้ทรงเกียรติในสังคมที่พยายามจัดระเบียบพวกเขาไม่ว่าตำรวจ, ศาล ,นักวิชาการ หรือนักสังคมสงเคราะห์กันอย่างสนุกสนานซึ่งสามารถสะท้อนสังคมของคนระดับล่างในอเมริกาสมัยนั้นได้แบบแสบๆ คันๆ (นอกจากนี้ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้รู้ว่าในสังคมยุคหกสิบได้มี "ทอม"กับเขาด้วย เธอเป็นผู้หญิงที่ตัดผมสั้น ห้าว ๆ และต้องการจะเข้ารวมกลุ่มกับพวกเจ๊ตแต่ได้รับการปฏิเสธในตอนท้ายๆ กลับมีบทบาทสำคัญขึ้นมาต่อตัวโทนี)
 
                        
                                      ภาพจาก www.a.ltrbxd.com
 
เมื่อเอาละครเพลงเรื่องนี้มาทำเป็นหนังแล้ว ผู้กำกับจึงจำเป็นต้องหานักแสดงใหม่เนื่องจากนักแสดงบรอดเวย์ดูขึ้นไม่ขึ้นกล้องและอายุมากโขแล้ว อีกทั้งหนังเพลงในยุคนั้นนิยมให้นักแสดงลิปซิ้งค์จากเสียงร้องของนักร้องอาชีพ จึงทำให้ผู้กำกับหาดาราแบบไม่ต้องสนใจว่าคนนั้นจะมีเสียงร้องอย่างไร และไม่น่าเชื่อว่านักแสดงที่ไวส์ผู้กำกับมุ่งมั่นเหลือเกินคือเอลวิส เพรสเลย์ ราชาร็อค เอน โรลล์นั้นเอง โดยที่เจ้าตัวก็กระตือลือล้นอยากจะแสดงด้วย แต่ติดอยู่ที่ผู้จัดการส่วนตัวคือผู้พันปาร์คเกอร์ ที่ไม่ยอมให้แสดงจึงต้องอดไป สุดท้ายก็ได้นักแสดงที่ไม่ดังนักอย่างเช่นริชาร์ด เบย์เมอร์  ถึงแม้จะอายุมากเกินไปสำหรับบทโทนี่แต่อาศัยหน้าเด็ก ส่วนมาเรียนั้นไวส์ก็เล็งหาดาราสาวมากมายอีกเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ดาวจรัสแสงที่ชื่อออเดรย์ เฮบเบิร์น แต่เธอปฏิเสธไปเพราะกำลังตั้งครรภ์อยู่พอดี นึกภาพไม่ออกว่าถ้า เอลวิสได้ร้องและแสดงคู่กับเฮฟเบิร์นว่าหนังจะเป็นอย่างไร ? อาจจะยิ่งใหญ่กว่านี้หรือว่าอาจจะดูด้อยไปมาก เพราะโดนบารมีของนักร้องและดาราคู่นี้กลบทับเอาเสียหมด ท้ายสุดไวส์ก็ได้นาตาลี วูดผู้มีชื่อเสียงจากหนังเรื่อง Rebel Without A Cause ทั้งคู่สามารถแสดงรับส่งกันได้ดีแต่ไม่ดีพอที่จะได้รางวัลออสการ์ และยังถูกเบียดบังโดยตัวประกอบคนอื่น ๆ คือเพื่อนวัยรุ่นทั้งสองแก๊งที่แสดงได้อย่างยอดเยี่ยม และกลับเป็นผู้แสดงเป็นเบอร์นาโด (จอร์จ ชากิริส) และแอนนิตา (ริตา โมเรโน) ที่ได้รางวัลออสการ์สาขาดาราสมทบชายหญิงไป ที่น่าสังเกตว่าทุกคนยังเเก่งในเรื่องกายกรรมเป็นอย่างน้อยเพื่อที่จะได้ห้อยโหนบนรั้วไวส์ถึงกลับลงทุนให้ทั้งผู้แสดงของทั้งสองแก๊งค์ยั่วโทสะกันแม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงถ่ายทำเพื่อให้เกิดความตึงเครียดต่อกันและเกิดความสมจริงสมจัง
 
ในปี 1984  เบอร์สไตน์ นำเอาดนตรีของหนังเรื่องนี้มาเรียบเรียงเสียงใหม่ให้อยู่ในรูปแบบอุปรากรโดยให้นักร้องโอเปร่าเสียงทั้งเทนเนอร์และโซฟราโนชื่อดังมาร้อง เช่นให้ โฮเซ คาร์เรรัส  มาร้องส่วนของโทนีและคิริ เต คานาวา  มาร้องส่วนของมาเรีย เป็นต้น อัลบั้มนี้ได้รางวัลแกรมมี่ในปี 1985 นอกจากนี้ยังถ่ายทำเป็นวีดีโอตอนที่ทั้งหมดกำลังฝึกซ้อมและบันทึกเสียงด้วย หากใครได้ยินจะรู้สึกว่าเสียงมีความลึกและพริ้วไหวกว่าเวอร์ชั่นของละครเวทีหรือหนังมาก นับได้ว่าเป็นอุปรากรฉบับอเมริกันเลยก็ว่าได้
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที