Skip to main content

ช่วงนี้หลายประเทศได้ทำการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488) ประเทศที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็เน้นมากหน่อยโดยเฉพาะสหรัฐฯ กับสมรภูมิดีเดย์ที่นอร์มังดีในปี 1944 ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การปลดปล่อยยุโรปและการพ่ายแพ้ของเยอรมันนาซี สำหรับประเทศที่เน้นยิ่งกว่าเสียมากๆ โดยมักมีการเดินขบวนสวนสนามของกองทัพก็คือ จีน รัสเซีย และเบลารุสอันเกี่ยวข้องกับลัทธิชาตินิยมและกองทัพนิยมที่ผู้นำเผด็จการมักใช้เพื่อเสริมสร้างอำนาจของตัวเอง

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงรายการหนึ่งในยูทูบที่ตั้งคำถามว่าทำไมไทยถึงไม่มีการฉลองเหตุการณ์ดังกล่าว อันเป็นคำถามที่ไม่ค่อยมีคนถามนักในสังคมไทย ผมก็เลยอยากจะลองหาคำตอบโดยตั้งข้อสังเกตเป็นข้อต่อไปนี้

1.กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสงครามโลก ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตีความของคนร่วมสมัยอย่างเราว่าไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น หรือว่าเป็นประเทศที่ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นเหมือนจีนและประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่น่าสนใจว่าในช่วงชั่วโมงต้นๆ ที่ญี่ปุ่นบุกไทย ทั้งฝั่งไทยทั้งพลเรือน ตำรวจทหาร ยุวชนทหารได้ทำการต่อต้านอย่างกล้าหาญ ก่อนจะยุติจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม

แต่ในการปลูกฝังประวัติศาสตร์ที่อิงอยู่กับชาตินิยมจนถึงปัจจุบันทั้งหนังสือเรียนและสื่อประชานิยมอย่างภาพยนตร์และละครก็ไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก เท่าที่จำได้ว่ามีภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างยุวชนทหารอยู่ไม่กี่เรื่อง อย่างเช่นยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบเมื่อปี 2543 สาเหตุที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงเท่าที่ควรอาจเป็นผลที่ได้ก็คือสุดท้ายก็พวกปกป้องชาติต้องปล่อยให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในไทย ยุวชนทหารซึ่งเด่นกว่าคนอื่นก็เป็นผลผลิตของจอมพล ป.พิบูลสงคราม บุคคลที่ประวัติศาสตร์ไทยซึ่งอิงกับลัทธิราชาชาตินิยม (ชาตินิยมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นจุดศูนย์กลาง) ไม่ค่อยชอบนัก เช่นมักกล่าวถึงเขาไปเรื่อยๆ ไม่เน้นการสรรเสริญเหมือนพระมหากษัตริย์ หรือบางทีหนังสือหลายที่ก็เสนอภาพของเขาเป็นผู้ร้าย ทั้งที่มรดกของจอมพล ป.นั้นฝังรากลึกในสังคมไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้ เช่นเดียวกับสมรภูมิที่ไทยทำสงครามกับฝรั่งเศสในปี 2484 (ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเสนอตัวมากไกลเกลี่ย) ซึ่งฝ่ายไทยก็อ้างถึงชัยชนะอย่างอลังการเหนือมหาอำนาจของตัวเองก็เกิดในยุคของจอมพลป.แต่ก็ไม่ได้รับการเน้นเท่าไรอีกเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งคนจำนวนมากยังไม่รู้เลยว่าเกี่ยวกับการฉลองสมรภูมิดังกล่าวนอกเสียไปจากจุดเปลี่ยนรถไฟฟ้า ด้วยการที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคือการส่งเสริมลัทธิเชิดชุบุคคลของจอมพล ป.ที่ไม่เข้ากับลัทธิราชานิยมในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

2.ขบวนการเสรีไทยหรือขบวนการใต้ดินช่วงญี่ปุ่นยึดครองไทยอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยไม่แพ้สงครามถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ซึ่งเป็นอดีตมันสมองของคณะราษฎร และพวกอนุรักษ์นิยมยังเชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์และอยู่เบื้องหลังการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ดังนั้นคุณูประการของปรีดีจึงไม่ถูกเน้นในประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมจนถึงปัจจุบันนัก นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ชาติราชานิยมยังไม่มีการตอกย้ำหรือเน้นการที่นายปรีดีดิ้นรนเพื่อไม่ให้สหรัฐ ฯ ไม่ยอมรับว่าไทยเคยประกาศสงคราม (ตรงนี้ก็ยังมีเรื่องถกเถียงอีกโดยเฉพาะการอ้างของมรว.เสนีย์ ปราโมชเอกอัครทูตไทยประจำสหรัฐฯ ว่าตัวเองไม่ยอมประกาศสงครามตามคำสั่งของจอมพล ป.) และยังช่วยให้สหรัฐฯ เข้ามาคานอำนาจอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนอังกฤษไม่สามารถเล่นงานไทยเช่นเรียกปฏิกรรมสงครามสงครามแพงๆ หรือแบ่งประเทศไทยกับกองทัพเป็นส่วนๆ ตามเจตจำนงได้ แม้จะมีการเดินขบวนของบรรดาเสรีไทยโดยมีรัชกาลที่ 8 เป็นประธานในวันสันติภาพไทยแต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักกันดีนัก หากไม่มีอินเทอร์เน็ต คิดว่าชาตินี้คนไทยเสียใหญ่ก็ไม่เห็นภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากจะต้องดั้นด้นไปถึงหอจดหมายเหตุที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตามก็มีทฤษฎีอีกเช่นว่าสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนนั้นมีความต้องการจะให้ไทยและเพื่อนบ้านไม่แพ้สงครามอยู่แล้ว ด้วยวัตถุประสงค์คือการผูกความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันจะเป็นการต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็น หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้ดูสง่างามเหมาะสำหรับการจัดงานฉลองที่อิงกับลัทธิชาตินิยมของไทยอีกเช่นกันเพราะเหมือนไทยเป็นแค่หมากตัวหนึ่งของฝรั่ง

3.ญี่ปุ่น ซึ่งสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนในทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมาจนสามารถมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเหนือไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจึงไม่เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งในการผลิตซ้ำของสื่อไทยที่จะทำให้คนไทยรู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นศัตรูตัวฉกาจเพื่อส่งเสริมลัทธิชาตินิยม แม้ญี่ปุ่นจะถูกโจมตีจากพวกนักศึกษาไทยในช่วงทศวรรษที่ 70 ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ดังนั้นเราจึงมักไม่เจอฉากในละครหรือภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นเป็นศัตรูนัก อีกทั้งนวนิยายของคุณทมยันตีคือคู่กรรมยังเป็นเหมือน love letter ที่มีนัยยะคือฟอกขาวกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นลัทธิชาตินิยมไทยตั้งแต่ในอดีตจึงมักเน้นศัตรูในจินตนาการคือพม่าซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของอาณาจักรอยุธยา ทั้งที่นับตั้งแต่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ประเทศดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับไทยอีกต่อไปแถมยังเป็นภัยคุกคามน้อยกว่าไทยยิ่งกว่า 3 ประเทศในอินโดจีนอย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา ซึ่งตกเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์พร้อมกันในปี 2519 เสียอีก เพราะพม่าตั้งแต่ปี 2505 ภายใต้การปกครองของนายพลเนวินก็ปิดประเทศ และยากจนอย่างรวดเร็ว เราจึงไม่ต้องเกรงอกเกรงใจพม่าเท่าไรนัก ผมว่าพม่าน่าจะยินดีเสียด้วยซ้ำเพราะยิ่งไทยตอกย้ำฉากที่พม่าเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาเสียจนราบเป็นหน้ากองในปี 2310 ก็ยิ่งตอกย้ำความเก่งของกองทัพพม่าอันจะเป็นการสร้างลัทธิชาตินิยมรวมไปถึงอิทธิพลของกองทัพซึ่งยังทรงอิทธิพลในประเทศพม่าเท่านั้น

4.ไทยขาดอัตลักษณ์ของความเป็นชาติ หากไม่เกี่ยวกับเรื่องราชานิยมแล้ว แม้แต่วันชาติไทยเก่าก็คือวันที่ 24 มิถุนายนที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันซึ่งมักภูมิใจว่าการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 คือจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของประเทศตนอย่างเช่นพม่าซึ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 เพราะบทบาทของนายพลอองซาน หัวหน้าขบวนการชาติหรืออินโดนีเซียซึ่งขบวนการชาตินิยมของซูการ์โนก็ต่อสู้กับดัชต์อย่างดุเดือดจนได้รับเอกราชในปี 2492 และผู้นำของทั้ง 2 ประเทศก็ยังได้รับความเคารพอย่างท่วมท้นจากคนในปัจจุบันในฐานะบิดาแห่งชาติ ไม่เหมือนกับจอมพลป.พิบูลสงครามและนายปรีดี พนมยงค์ ดังนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่ได้สำคัญอะไรในประวัติศาสตร์ของความเป็นรัฐไทยนัก นอกจากเหตุการณ์แห่งความคลุมเครือว่าตกลงเราดัดจริตหรือจำเป็นต้องเข้ากับฝ่ายอักษะหรือเป็นขี้ข้าญี่ปุ่นจนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาระเบิดมาทิ้งจนคนตายกันเกลื่อน แล้วตกลงไทยแพ้หรือว่าไม่แพ้หรือว่าอะไร

5.องค์กรที่ปลุกระดมลัทธิราชาชาตินิยมที่ทรงอิทธิพลของไทยคือกองทัพไม่สามารถมีบทบาทที่น่าภูมิใจได้ในช่วงสงครามโลก อย่างเช่นตอนญี่ปุ่นบุกก็ถูกยุวชนทหารกลบบทบาท และมักถูกมองว่าไม่สามารถ "สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี" ได้ ซ้ำร้ายช่วงญี่ปุ่นอยู่ในไทยยังต้องร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นในการบุกประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เมื่อสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลพลเรือนขึ้นมามีอำนาจก็ถูกกองทัพมองว่าทอดทิ้งพวกตนจนต้องเดินนับไม้หมอนรถไฟกลับมากรุงเทพฯ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 อันนำโดยจอมพลผิน ชุนหะวันนายทหารนอกราชการ ซึ่งเป็นการแผ่อิทธิพลครั้งใหญ่ของกองทัพเหนือการเมืองไทย

กองทัพเป็นองค์กรสำคัญสำหรับการปกป้องประเทศไทย (หากเรายังมองความมั่นคงในนิยามเดิม) และทหารจำนวนมากก็เสียสละความสุขและชีวิตเพื่อชาติไทย แต่ในหลายสิบปีนั้นกองทัพไทยไม่ได้มีผลงานต่อสู้กับอริราชศัตรูที่โดดเด่นจนเป็นฉากที่ต้องจดจำสำหรับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมนักอย่างเช่นรบกับคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นก็เป็นการสู้กับคนไทยด้วยกันและสุดท้ายพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็ใช้นโยบาย 66/2523 เพื่อให้พวกคอมมิวนิสต์กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย สงครามระหว่างไทยกับลาวในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าปี 2531 ก็หาความชัดเจนไม่ได้ว่าใครแพ้ใครชนะ แถมยังมีข่าวลือที่ไม่ดีเกี่ยวกับเบื้องหลังสงครามครั้งนี้ หรือความขัดแย้งทางทหารในเรื่องเขาพระวิหารกับพื้นที่รอบๆ กับกัมพูชา ก็ไม่ได้มีผลลัพธ์อะไรที่น่าภูมิใจนัก นอกจากเป็นการตรึงกำลังกันเสียมากกว่า และยังเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศมากกว่าอย่าเช่นที่คนที่สนับสนุนรัฐบาลเครือข่ายทักษิณมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้เจรจากับรัฐบาลนายฮุนเซ็นเสียมากกว่าการทำสงครามอย่างพวกฮาร์ดคอร์ที่ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายพันธมิตรที่นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุลแนะนำ จึงทำให้มติของคนในประเทศแตกแยกกัน หรือปัจจุบันแม้กองทัพเรือจะซื้อเรือดำน้ำจากจีนก็โดนด่าเสียเละ

ดังน้นกองทัพจึงต้องหาฉากหรือ Scenario บางฉากที่สร้างความภูมิใจให้กับตนและคนไทยทั้งประเทศอันเป็นการสถาปนาอำนาจนำหรือ Hegemony ของกองทัพเหนือสังคมไทย นั่นก็คือฉากที่พระนเรศวรทำสงครามยุทธหัตถีกับมหาอุปราชอันกลายเป็นที่มาของวันกองทัพไทยนั้นเอง เช่นเดียวกับฉากที่พระนเรศวรทรงประกาศเอกราชของไทย (ซึ่งที่จริงคือกรุงศรีอยุธยา) ฉากทั้ง 2 ก็กลายเป็นความภูมิใจของชนชั้นนำไทย จึงไม่น่าประหลาดใจว่าชนชั้นนำและกองทัพไทยจะส่งเสริมให้มีภาพยนตร์อย่างสุริโยทัยซึ่งตัวเอกคือพระขนิษฐาของพระนเรศวร และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชถึง 6 ภาคและแต่ละภาคล้วนใช้ทุนมหาศาล (ครั้งหนึ่งกองทัพถึงกลับเปิดให้คนไทยเข้าดูฟรี) แต่ไม่มีภาพยนตร์อันอลังการเกี่ยวกับเสรีไทยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพและการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ช่วงนี้หลายประเทศได้ทำการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ.1945 หรือ พ.ศ.2488) ประเทศที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและพันธมิต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
I remember reading the interview by the last promoter of คณะราษฏร (People's Party or PP) from the Sarakandee magazine ,probably a decade ago.At that time he was ageing , frail ,but still p
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
f n
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
n the future of disruptive world,if I am able to make the documentary film about Sergeant Major Chakaphan Thomma who committed the worst Mass shooting in Thai history , what will the t
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Puzzling that it may seem when Thai authority chose the day king Naresuan reputedly fought with Hongsawadee's viceroy on the elephants as the Army Day.This is because, on that glorious
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เห็นกระแสแปนิคเมื่อหลายวันก่อน ทำให้นึกได้ว่าชาวโลกมีการคาดหมายหรือหวาดกลัวมานานแล้วว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เริ่มได้ตั้งแต่ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ นั่นคือการกลายเป็นศัตรูระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกันแบบหลวมๆ ในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ การสิ้นสุดของสงครามได้ทำให้ฝ่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นตำราเรียนมักบอกว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 มีประเทศที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์เหลืออยู่เพียง 5 ประเทศคือจีน เวียดนาม ลาว คิวบาว และเกาหลีเหนือ (ตลกดีมีคนที
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาป็นวันครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลจีนไปพร้อมกับการประท้วงของชาวฮ่องกงซึ่งมุ่งมั่นท้าทายรัฐบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
"...All right, Mr. DeMille, I'm ready for my close-up."
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากใครมาดูหนังเรื่อง Wild Strawberries แล้วเคยประทับใจกับหนังเรื่อง About Schmidt (2002) ที่ Jack Nicholson แสดงเป็นพ่อหม้ายชราที่ต้องเดินทางไปกับรถตู้ขนาดใหญ่เพื่อไปงานแต่งงานของลูกสาวและได้ค้นสัจธรรมอะไรบางอย่างของชีวิตมาก่อน ก็จะพบว่าทั้งสองเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Throne of Blood (1957) หรือ"บัลลังก์เลือด" เป็นภาพยนตร์ขาวดำของยอดผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นคืออาคิระ คุโรซาวา ที่ทางตะวันตกยกย่องมาก เกือบจะไม่แพ้ Seven Samurai หรือ Rashomon เลยก็ว่าได้ ลักษณะเด่นของมันก็คือการดัดแปลงมาจาก Macbeth