Skip to main content
เบโธเฟนและอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ต่อการเมืองโลก
 
ท่ามกลางความโหดร้ายทารุณของไวรัสโควิด-19 ในเดือนนี้ก็มีข่าวอันน่าปิติของชาวยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันว่าครบรอบวันเกิดของคีตกวี (นักประพันธ์เพลงคู่ไปกับนักดนตรี) ชื่อดังและที่เป็นที่นิยมที่สุดของโลกนั่นคือลุดวิก ฟาน เบโธเฟน ถ้าหากเขายังมีชีวิต เขาจะอายุครบ 250 ปีพอดีในเดือนนี้ มีการจัดงานวันเกิดนั่นคือคอนเสิร์ตและการแสดงทางศิลปะเกี่ยวกับเบโธเฟนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 ในกรุงบอนน์อันได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันอย่างเต็มที่
 
ไม่มีใครรู้ว่าเบโธเฟนเกิดวันที่เท่าไร แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนคือเขาเข้าพิธีรับศีลจุ่มในวันที่ 17 ธันวาคม ปี 1770 ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันในปัจจุบัน คนจำนวนมากสันนิฐานว่าเขาอาจเกิดวันที่ 16 อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดว่านอกจากเบโธเฟนจะเป็นคตีกวีที่ดนตรีได้รับการเล่นมากที่สุดคนหนึ่งของโลก เขายังเป็นบุคคลสำคัญทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แห่งชาติอันสำคัญยิ่งของเยอรมัน นอกจากนี้ตัวตนและงานดนตรีของเบโธเฟนยังมีอิทธิพลต่อการเมืองโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะอยู่ฝั่งใดล้วนแต่พยายามหยิบฉวยงานของงานของเขาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง อย่างเช่นลัทธิเสรีนิยมถือว่าเบโธเฟนเป็นไอดอลเพราะนอกจากจะไม่ท้อถอยต่อโชคชะตาอย่างอาการหูหนวกแล้ว เขายังเป็นตัวอย่างของศิลปินกระฎุมพีผู้ขบถต่อจารีตประเพณี อย่างเช่นตอนเบโธเฟนกับกวีชื่อดังอย่างเช่น โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่เดินคุยกัน พวกเขาได้พบกับขบวนของเจ้านายพระองค์หนึ่ง เกอเธ่ค้อมตัวให้เจ้านายอย่างนอบน้อมในขณะที่เบโธเฟนเดินผ่านไปด้วยความเมินเฉย อันอาจบอกได้ว่าคีตกวีเอกมีแนวคิดคนเท่ากันตามแบบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับนิสัยเป็นคนเจ้าอารมณ์ไม่ยอมใคร เป็นตัวของตัวเองสูงของเบโธเฟนซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดปัจเจกนิยม (แต่คนรอบข้างเขาในสมัยนั้นอาจรู้สึกเอือมระอาเพราะเห็นว่าเป็นนิสัยเสียมากกว่า)
 
ส่วนงานดนตรีของเบโธเฟนก็ถูกพวกเสรีนิยมมองว่าเป็นการขบฎต่อดนตรียุคเก่านั้นคือการเปลี่ยนผ่านยุคคลาสสิกมาสู่ยุคโรแมนติกอย่างเช่นซิมโฟนีหมายเลข 3 ที่เบโธเฟนเคยเขียนอุทิศให้นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต เมื่อนโปเลียนปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส เบโธเฟนก็ได้ขีดพระนามของพระองค์ออกจากสมุดด้วยความเดือดดาลแล้วใช้ชื่อว่า Eroica แทนอันสะท้อนถึงแนวคิดต่อต้านทรราช หรืออย่างซิมโฟนีหมายเลข 9 โดยเฉพาะท่อนที่ 4 ซึ่งเป็นเสียงร้องประสานเสียงชื่อ Ode to Joy ก็ถูกมองว่าเป็นภาพปรากฎของคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวัยหนุ่มของเบโธเฟนคือเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และอุปรากรเพียงเรื่องเดียวของเบโธเฟนคือ Fidelio ซึ่งเป็นเรื่องของสตรีที่ปลอมตัวเป็นชายเข้าไปช่วยเหลือสามีนักหนังสือพิมพ์ซึ่งถูกทรราชคุมขังไว้ในคุกใต้ดินอันเป็นการอุปมาถึงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของปัจเจกชนกับเผด็จการ
 
แม้แต่พวกฟาสซิสต์อย่างพรรคนาซีก็ให้ความสำคัญแก่เบโธเฟนเช่นเดียวกับริชาร์ด วาคเนอร์ นักแต่งอุปรากรขวัญใจของฮิตเลอร์ นักคิดของพรรคนาซีมีความพยายามอย่างยิ่งในการทำให้เบโธเฟนมีความเป็นอารยันให้มากที่สุด (แน่นอนว่าดนตรีของชาวยิวและแจ๊ซของคนผิวดำที่เคยแพร่หลายในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์จึงมีลักษณะต้องห้ามเพราะเป็นดนตรีอันต่ำช้า) ดังนั้นตระกูลของเบโธเฟนจึงมักถูกบันดาลให้เป็นเยอรมันแม้ว่าเขาจะบรรพบุรุษเชื้่อสายฟลิมมิชจากเบลเยี่ยม ทั้งนี้ไม่ต้องนับลักษณะร่างกายของเบโธเฟนซึ่งจะกลายเป็นคนผิวขาว สูงสง่า ในขณะที่ตัวจริงของเขาสันทัด ผิวค่อนข้างคล้ำ (คือถ้าใช้เกณฑ์ของชาวยุโรปก็อาจเป็นคนผิวดำได้) ในแวดวงของนาซีจึงมักยกย่องซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่นำการบรรเลงโดยวาทยกรชื่อดังอย่างวิลเฮล์ม เฟิร์ตแลงเลอร์ และยังกล่าวกันว่าฮิตเลอร์ถือว่าเบโธเฟนคือตัวแทนของเจตจำนงของคนเยอรมันทั้งผอง และจอมเผด็จการยังชอบซิมโฟนีหมายเลข 9 ถึงแม้เนื้อเพลงจะกล่าวถึงความรักที่คนทั้งโลกพึงมีให้กันและฮิตเลอร์มีปราถนาอันแรงกล้าในการลบล้างชาวยิวออกจากโลกใบนี้ก็ตาม
 
อนึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ช่วงเริ่มต้นของซิมโฟนีหมายเลข 5 ในการกระจายเสียงผ่านวิทยุเพื่อเป็นการเป็นการส่งรหัสมอสที่เป็นแทนตัว V หรือ Victory นั่นคือชัยชนะเหนือเยอรมัน และเมื่อสหรัฐฯ กับฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครองเยอรมันภายหลังสงคราม พวกเขาซึ่งก็ชื่นชอบเบโธเฟนอยู่แล้วก็ยังเปิดให้มีการบรรเลงเพลงของเบโธเฟนได้โดยไม่ถือว่าเป็นดนตรีของพวกนาซีแต่ประการใด
 
สำหรับคอมมิวนิสต์นั้นย่อมประทับใจสำหรับเนื้อหา Ode to Joy ที่ เบโธเฟนดัดแปลงมาจากผลงานของกวีชื่อดังคือ ฟรีดิช ชิลเลอร์ซึ่งแสดงถึงความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งจะช่วยโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นถึงความกลมเกลียวของบรรดาชนชั้นกรรมาชีพในการต่อสู้กับชนชั้นนายทุน ส่วนประเทศที่ให้ความเคารพแก่เบโธเฟนอย่างล้นพ้นคือเยอรมันตะวันออกนั้นเอง ประเทศซึ่งมีอายุยังน้อยเพราะถือกำเนิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มุ่งหมายในการให้เบโธเฟนเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของประเทศตน เบโธเฟนจึงถูกขยายภาพเสียใหญ่โต เป็นคีตกวีผู้มีจิตใจมุ่งมั่น อุทิศงานให้แก่มนุษยชาติและความก้าวหน้าของอารยธรรม เยอรมันตะวันออกยังพยายามแย่งเบโธเฟนจากเยอรมันตะวันตกโดยมองว่าเพื่อนบ้านของตนเป็นพวกทุนนิยมที่แสนชั่วร้าย วัฒนธรรมฟอนเฟอะไม่เหมาะกับเบโธเฟนอย่างยิ่ง แม้ว่าบ้านเกิดของเขาจะอยู่ในกรุงบอนน์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมันตะวันตก กระนั้นชาวเยอรมันตะวันออกซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ใช้เบโธเฟนเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้รัฐบาลเผด็จการ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าในช่วงที่เยอรมันรวมเป็นหนึ่งเดียวหลังการล่มสลายของเยอรมันตะวันออก งานอันสำคัญยิ่งในเชิงสัญลักษณ์คือการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่นำโดยวาทยกรชาวอเมริกันคือลีโอนาร์ด เบอร์สไตน์ที่ Konzerthaus กรุงเบอร์ลินเพียงไม่กี่เดือนหลังกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายในปี 1989 (เป็นเรื่องน่าสนใจว่าเบอร์สไตน์ยังได้ดัดแปลงชื่อ Ode to Joy เป็น Ode to Freedom)
 
สำหรับจีนนั้นเป็นเรื่องน่ากล่าวถึงอย่างยิ่งเพราะตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 จีนยังไม่เคยหยุดรักเบโธเฟนซึ่งพวกเขารู้จักมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 บุคลิกของเบโธเฟนผู้อาจหาญต่อชะตากรรมนั้นเป็นตัวอย่างที่เหมาะกับค่านิยมของจีนในการต่อสู้กับลิขิตฟ้า เช่นเดียวกับรูปแบบดนตรีของเบโธเฟนซึ่งมีลักษณะปฏิวัตินั้นช่างเหมาะกับอุดมการณ์ของจีนที่เข้าสู่ยุคใหม่ซึ่งมีการล้มล้างแนวคิดเก่าๆ ดนตรีของเขาบางชิ้นอย่างซิมโฟนีหมายเลข 6 หรือ Pastoral Symphony ที่บรรยายถึงฉากและชีวิตของชาวนาในชนบทอาจถูกพรรคคอมมิวนิสต์ตีความว่าเป็นดนตรีแห่งชนชั้นกรรมชีพ และในทศวรรษที่ 50 มีการบรรเลงเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 พร้อมกับ Ode to Joy ที่ถูกแปลเป็นภาษาแมนดาริน อย่างไรก็ตามดนตรีของเบโธเฟนรวมไปถึงคีตกวีคนอื่นๆ ก็ต้องถูกสั่งห้ามในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่เห็นว่าดนตรีตะวันตกเป็นของชนชั้นกระฎุมพีอันแสนชั่วช้า นักดนตรี วาทยกรหลายคนก็พบกับชะตากรรมอันน่าแสนเศร้าจากฝีมือของเหล่าเรดการ์ด จนเมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงได้เปิดประเทศจีนในปลายทศวรรษที่ 70 จึงได้รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกและดนตรีของเบโธเฟนอีกครั้ง และเมื่อนักศึกษาได้ทำการประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 พวกเขาได้เปิดเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ในช่วงระหว่างประท้วงด้วย
 
ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เป็นอันขาดนั้นคือ Ode to Joy ยังกลายเป็นเพลงประจำสหภาพยุโรปซึ่งก่อนหน้านี้ก็กำลังประสบปัญหาเรื่องผู้อพยพและการอุบัติของพวกขวาจัด (ซึ่งก็อาจจะใช้เบโธเฟนเป็นเครื่องมือ) อีกด้วย
Alles Gute zum Geburtstag ,Herr Beethoven!

 

 

                            ซิมโฟนีหมายเลข 5 (เบทโฮเฟิน) - วิกิพีเดีย

ภาพจาก วิกิพีเดียไทย

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามองว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  สำหรับโวห์ลสเตเตอร์และสานุศิษย์ แม็ดนั้นทั้งไร้ศิลธรรมและไร้ประสิทธิภาพ ที่ไร้ศีลธรรมคือมันจะสร้างความเสียหายให้กับพลเรือน และที่ไร้ประสิทธิภาพคือ มันจะทำให้เกิดการยุติการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งคู่ ในทางกลับกัน โวห์ลสเตเตอ