เท่าที่สังเกตโดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวและคนรอบข้าง ดูเหมือนว่า ‘นักจัดรายการวิทยุ' หรือ DJ ในยุคมิลเลนเนียม จะต้องมีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน คือ พูดเก่ง ยิงมุขฮากระจาย ชวนคนฟังเล่นเกม และท่องจำรายชื่อสปอนเซอร์ได้อย่างชัดเจนไม่มีตกหล่น
หรือกรณีที่คนฟังวิทยุไม่นิยมดีเจพูดมาก ก็จะมีรายการอีกประเภทไว้คอยท่า คือรายการวิทยุที่ ‘ไม่มีดีเจ' แต่จะมีเพลงเปิดให้ฟังสลับกับโฆษณา และรายการทั้ง 2 ประเภทที่ว่ามาก็ได้รับความนิยมสูงเสียด้วย ส่วนเรื่องที่ว่า-ดีเจแต่ละคนมีภูมิรู้เรื่องดนตรีแน่นแค่ไหน หรือมีวิธีพูดคุยถึงเรื่องในสังคมและชีวิตประจำวันให้คนฟังได้คิดตามหรือรู้สึกเพลินๆ ได้หรือเปล่า กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงสักเท่าไหร่
ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเหมือนกันว่ามาตรฐานนักจัดรายการวิทยุแบบหลังเริ่มหายหน้าหายตาไปตอนไหน?
แล้ววันหนึ่งรายการวิทยุ The Radio คลื่น 99.5 FM ซึ่งเป็นแหล่งรวมของดีเจรุ่นใหญ่ (อาทิ มาโนช พุุฒตาล, วาสนา วีระชาติพลี หรือ วิโรจน์ ควันธรรม ฯลฯ) ไม่ค่อยเปิดเพลงตาม ‘รีเควสท์' ของคนฟัง แถมยังไม่มีค่ายเพลงค่ายไหนสนับสนุนเป็นพิเศษ (แต่ ‘รู้ลึกรู้จริง' เรื่องดนตรีกันทุกคน)-ก็หลุดจากผังไปเมื่อปลายปี 2550 ด้วยเหตุผลว่า ‘เรตติ้งไม่ดีพอ' ที่สปอนเซอร์จะให้การสนับสนุน
ฟังดูเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะวัฏจักรของธุรกิจดนตรีในโลกทุนนิยมก็เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่ครั้งนี้คนฟังที่เคยเป็น ‘พลังเงียบ' มาตลอด กลับลุกขึ้นมาทักท้วงและเรียกร้องให้รายการ The Radio ได้กลับมาออกอากาศอีกครั้ง เพราะนี่คือรายการวิทยุที่พวกเขาเห็นว่า ‘มีคุณค่า' และ ‘มีสาระหลากหลายมากกว่าการเปิดเพลงตามคำขอ' ที่มีอยู่เกลื่อนแผงหน้าปัดวิทยุ
บล็อกจำนวนหนึ่งจึงเกิดขึ้นเพื่อรายการวิทยุแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น Save the Radio หรือ The Radio Live และ Radio Star ที่เคยเป็นบล็อกดั้งเดิมของเดอะเรดิโอ บล็อกเหล่านี้เป็นศูนย์กลางสำหรับคนฟังที่ต้องการให้เดอะเรดิโอกลับมาออกอากาศ ลงชื่อเรียกร้องกับทางสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ‘นานๆ ที' จะเกิดขึ้นสักครั้ง
ใครสนใจลองเข้าไปเข้าไปดูได้ตามอัธยาศัย เผื่อบางทีปรากฎการณ์ที่ ‘คนชั้นกลาง' ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อรายการวิทยุเล็กๆ รายการหนึ่ง อาจต่อยอดไปสู่การเคลื่อนไหวในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประเด็นโครงสร้างมากขึ้นก็ได้...ใครจะรู้...เพราะอย่างน้อยครั้งนี้ ทุนนิยมก็ไม่ได้ชนะขาดลอยเหมือนที่แล้วๆ มา