Skip to main content

โดย นายยืนยง

ปกหนังสือ สายรุ้ง รุ่งเยือน
เรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทย
ผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์


ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ 

โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์

ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น  ค่อนข้างจะมีนัยยะโน้มไปทางที่ หนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ มีลักษณะจำเพาะ เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของผู้เขียนกับผลงานกวีนิพนธ์ของเขาเอง  และเฉพาะอย่างยิ่งในบทนำจากผู้เขียน ที่ได้ลงท้ายว่า เป็นความจำเป็นสำหรับเวลาอันเป็นธรรม ด้วยความสังวรยิ่ง .เหล่านี้  ล้วนเป็นรสสัมผัสอันเปรียบได้กับลมหนาวแรกของปี ที่พัดแผ่วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน  เป็นรสสัมผัสอันประหลาดล้ำ...

ลมหนาวในแดดเทาอมฟ้า เหมือนละอองแห่งชีวิตที่ถูกล้อมโอบด้วยความรู้สึก...ในหมู่ไม้พันธุ์ ยืนต้น หรือทอดยอด ออกดอกพวงระย้า ช่างดูสงบ อ่อนหวาน อย่างมีนัยยะเกี่ยวถึงทรรศนะของสังคมมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน ดังเช่น  ภุชงคประยาตฉันท์  ชื่อบทว่า  เด็ดยอดแม่ดอกตำลึง
ที่ณรงค์ยุทธได้ปลุกชีวิตของยอดเครือตำลึง พืชพันธุ์สามัญริมรั้ว ให้ตื่นฟื้น งามขึ้นในหัวใจของฉัน
จาก     

    สไบบางเสบียงรุด        ระรื่นดุจประมาณถึง
    ขจียอดคะเนพึง            ผะดาแดดตะวันวาย
  ฯลฯ     ( หน้า ๑๐๖ )

สำหรับ ณรงค์ยุทธ เขียนบทนี้ออกมาเหมือนจะสะท้อนทรรศนะที่จัดวางอยู่ในคำฉันท์และตัวตนของเขา  เขียนออกมาจากสภาวะของเถาเครือตำลึง ที่ทนแล้ง อิ่มฝน และรอคอยที่จะชูยอดใบแห่งชีวิต   นี่คือ ประการแรกที่ตัวตนกับผลงานร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน

สายรุ้ง รุ่งเยือน ไม่เพียงเขียนถึงพืชพันธุ์รูปธรรม เช่น กระถิน ตำลึง เท่านั้น ณรงค์ยุทธ ยังเขียนถึงพืชพันธุ์นามธรรมที่แตกผลิอยู่ในดวงใจของเขาด้วย และถือเป็นความโดดเด่นสำคัญของหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้  นี่คือ กวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ที่พื้นหลักเป็นโคลงสี่สุภาพ

ดั่งลมหนาวในแดดสายปลายมิถุนายน แดดอุ่นและลมหนาวของยามสาย เป็นปรากฎการณ์ของลมฟ้
อากาศที่เกี่ยวเนื่องกับอนุภาคละเอียดอ่อนในวันคืน

ณรงค์ยุทธ เขียนโคลงสี่สุภาพอย่างกวีฝึกหัดพึงกระทำ และยิ่งอ่านจะยิ่งรับรู้ร่วมไปกับเขาเลยทีเดียวว่า แบบฝึกหัดการเขียนโคลงสี่สุภาพนั้น เป็นแบบฝึกเล่มหนาเทียบเท่าวงศ์อายุของผู้เขียนนั่นเทียว

ใน สายรุ้ง รุ่งเยือน จะสัมผัสรู้ถึงรอยก้าวย่างของการฝึกเพียร เคี่ยวเค้น อย่างหนักหน่วง  หากสังเกตตรงท้ายบท จะมีข้อความบอกถึงห้วงเวลาที่เขียน ทำให้มองได้ถึงพัฒนาการของผู้เขียนได้ในด้านหนึ่งด้วย  ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้

ก้าวย่างที่กินเวลายาวนาน ทำให้มองเห็นถึงกลเม็ดในคำโคลง อย่างเช่นบท มืดมิด(จิตใจ) บทนี้เป็นตัวอย่างการเขียนโคลงสี่สุภาพแบบเอกเจ็ดโทสี่  ไม่มีกลเม็ดใดมากกว่าลักษณะการบังคับคำ ตำแหน่งเสียง  แต่การจัดวางรูปคำที่ให้ความรู้สึกมากกว่าการจัดเรียงคำ ดังบาทแรกนี้

        เวลาช่างเหว่ว้า            เวลา  ฯลฯ ( หน้า ๘๐ )

ถือเป็นสำนวนโคลงที่หาได้ยากในมือของกวีฝึกหัด หรือ อีกตัวอย่าง บท  คลื่นชีวิต

        เหลียวฝีพายต่างจ้ำ        ห่างทุกข์
        สรรเสพสำราญสุข        เสกได้
        คลุกเศร้าผ่านเคล้าทุกข์        คราครอบ
        กางกรอบฝ่าคลื่นให้        เคลื่อนร้างลับหาย
    (หน้า ๘๕ )

เป็นบทอุปมาชีวิตกับการพายเรือ ซึ่งให้ได้มากกว่าความไพเราะของคำโคลง  เพราะให้ทั้งภาพจินตนาการในความคิดและมีคติธรรมแฝงอยู่

    ลองดู บท  ปัจเจกปัจจุบัน

        ปัจจุบันปัจเจกชั้น        ชนเหวย
        งกเงี่ยนงกงมเงย        งอกแง้ม 
   ฯลฯ   ( หน้า ๖๘ )

เป็นการแสดงออกถึงทักษะอีกขั้นหนึ่งที่ได้มาจากการฝึกฝน โดยอาศัยลักษณะสัมผัสพยัญชนะเดียวทั้งบาท  เป็นอีกกลเม็ดของคำโคลง  กระโดดข้ามมาถึง   บท  ห้วงฝัน, ฝั่งขวัญเอย    

        หงายเฉียบเลียบค่ายครื้น        เงียบฉาย
        ร่างสอบสั้นยาวสาย        รอบข้าง
        อาจโอ้ อก อด อาย        โอกาส
        การณ์ทื่อวางถือบ้าง        ถ่างบื้อคือฐาน
   ฯลฯ    ( หน้า ๙๔ )

ในคำที่ขีดเส้นใต้  ผู้เขียนได้ใช้การผวนคำ แล้วจัดวาง คล้ายกลบทแบบอย่างโบราณ ทำให้อ่านสนุกและดูเหมือนผู้เขียนได้ผ่านมาอีกขั้น   และล่วงไปถึงการเล่นกลบท หงษ์ทองลีลา  เช่น บท ข้าพเจ้ายังรู้จักโลกสังคมน้อยนัก

        ให้บุพกาลร่ำร้าง            ใจถึง
        โลกกระพริบดาวดึงส์        ดื่มร้อย
        ให้ผลัดส่องกระซิบพึง        พาเยี่ยม
        โลกออกตกเหนือน้อย        นิ่งหน้าทิศทาง
   ฯลฯ    ( หน้า ๔๙ )

หรือกลบทครอบจักรวาล  เช่น บท     จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก

        หวังสุญญา...ว่างแร้น        โลกหวัง
        ฟื้นตื่นเช้าสายดัง        เท่าฟื้น
        โลกจินตพลบภวังค์        กอบโลก
        ถือระยะย่ำย้ำพื้น        วาดถือ
   ฯลฯ          ( หน้า ๙๘ )

จุดเด่นของโคลงสี่สุภาพของณรงค์ยุทธนี้  สังเกตได้ชัดคือ การเลือกใช้คำโดด ซึ่งแปลกต่างจากคำโคลงที่คุ้นเคย คือนิยมใช้คำสมาส สนธิ หรือคำผสม  แต่ขณะเดียวกัน จุดเด่นที่มากเกินไป  
เป็นธรรมชาติที่ทำให้บางครั้ง ก็อาจเป็นข้อด้อยได้เช่นเดียวกัน
 
ด้วยธรรมชาติของคำโดดแล้ว   เมื่อวางเรียงกัน อาจทำให้อ่านเข้าใจได้ยาก เพราะต้องมีคำเชื่อม  ต้องอาศัยการสร้างความคุ้นเคยขึ้นใหม่ในวงการอ่าน 

แม้เสน่ห์ของการเลือกใช้คำโดดในกวีนิพนธ์ของณรงค์ยุทธ จะเป็นรสคำที่แปลกไปบ้าง แต่การเลือกใช้อุปมาโวหาร ผสมเข้ามา ก็ช่วยเสริมเนื้อหาให้เต็มแน่นด้วย นอกจากนั้น ยังมีการใช้สัญลักษณ์ที่ไม่คุ้นเคยอีกด้วย   เช่น  บท  จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก

    สูง – ต่ำ, ทางแอ่นเกี้ยว        กราดแกร็น
    สูง – ต่ำ, ยูงรำแพน        กรีดเยื้อง
    สูง – ต่ำ, หากหื่นแหน        แหวกเหยียบ
    สูง – ต่ำ, ผูกพลั้งเปลื้อง        ปรับหมุน
         ฯลฯ   (หน้า ๙๘)

การเทียบสัญลักษณ์ของนกยูง และท่าทางการเคลื่อนไหวของมัน จะสะท้อนให้ผู้อ่านนึกถึงสิ่งใด
โดยปกติ นกยูง จะมีนัยยะถึงความสูงส่ง สง่างาม แต่การเลือกใช้คำเกี่ยวข้อง เช่น  หากหื่นแหน นั้น
ดูขัดแย้ง แต่หากอ่านสืบเนื่องทั้งบทนี้แล้ว  จะเห็นได้ว่าเป็นการเลือกใช้คำเพื่อต้องการจะเสียดสี
เยาะหยันนกยูง หรือนัยยะแฝงที่ผู้เขียนนั่นเอง

นอกเหนือจากสัญลักษณ์แล้ว  จุดเด่นที่ต้องกล่าวถึงคือ  วิธีการเรียงร้อยหรือ กลวิธีการประพันธ์

กวีนิพนธ์เล่มนี้  ผู้เขียนได้จารึกถึงความรู้สึก นึก คิด ของตัวผู้เขียนเอง ผ่านเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ ซึ่งถือว่าเป็นอารยธรรมของภาษาไทย ทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และร่าย แม้กระทั่งบทกวีไร้ฉันทลักษณ์  โดยอาศัยการสร้างวลีใหม่ ที่ตรึงใจผู้อ่านได้   เช่น  บท  แลดอกมะลิพันธุ์ ข้าฯ ฝันถึง

    อารมณ์ร่วงต่อพื้น    เตรียมพาน     หรือ
    หวั่นน้อยใจพรั่นท้อ    พวงขาว           ( หน้า ๒๗ )

และยังมีอีกหลายบทหลายบาท  ที่ผู้เขียนได้เรียงร้อยไว้ต่ออารมณ์สัมผัสของผู้อ่าน  ซึ่งจะได้ทั้งความรู้สึกแปลก ร่วมสมัย และสะเทือนใจเศร้าโศกร่วมไปกับเขาด้วย 

โดยสรุปแล้ว  สายรุ้ง  รุ่งเยือน เปรียบได้ดั่งทัศนียภาพอันแปลกตาสำหรับผู้อ่านในยุคสมัย  แต่เนื้อหาที่เขาบอกเล่า  กลับเป็นเรื่องราวที่หลายคนอาจคุ้นเคย เคยรู้สึกอย่างนั้น  จนต้องกล่าวว่า  ณรงค์ยุทธ เขียนออกมาทดแทนอารมณ์ ความรู้สึก แทนใจของผู้คนในยุคแห่งปัจเจกชนอันหม่นมัว ซับซ้อน เต็มไปด้วยความหวั่นระแวง ได้อย่างละเอียดลออและประณีตทีเดียว   เนื่องด้วยถ้อยคำของเขา เรียงร้อยออกมาได้หมดจิตหมดใจ ซึ่งสะท้อนได้ว่า เขามีภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารโดยแท้

เนื้อหาโดยหลักใหญ่ที่ถ่ายทอด หรือแฝงเร้นอยู่ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ มักมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม  ซึ่งคล้ายกับมีวิถีชีวิตที่ด้านชากับความน่ารังเกียจ อันปรากฏจนดาษดื่นในความเป็นจริง  โดยเขาไม่ได้จำกัดตัวเองให้อยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ความน่ารังเกียจเหล่านั้น หรือ ด่าทอชนชั้นนายทุนตามแบบฉบับของกวีนิพนธ์เพื่อชีวิตทั่วไป แต่เขาจำใจกะเทาะเปลือกอันหนาเทอะทะของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในสังคม ทั้งในนามของบุคคลและกลุ่มก้อนของชนชั้นต่าง ๆ

ทั้งนี้ จุดหมายหรือความใฝ่ฝันของเขา ที่ปรากฏอยู่ในหลายบทนั้น น่ามุ่งให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างรู้สึกที่จะมีน้ำใจให้กัน  มองเห็นความสำคัญกับคนอื่น  ดูเขาจะเน้นเรื่องความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากทีเดียว  ดังบทไร้ฉันทลักษณ์   ชื่อ แรงโน้มถ่วงของมิตรภาพ  ( หน้า ๔๒ )

ที่กล่าวถึงความรับผิดชอบระหว่างชีวิตต่อชีวิต  อารมณ์ต่ออารมณ์  ซึ่งกันและกัน   หรือ  จากปกหลังของเล่ม  ที่เขียนว่า

    จารจรดสายเรื่อรุ้ง        รุ่งเยือน
    อาจสั่งฝนสืบเตือน        ต่อกล้า
    ยามลมแดดแกร่งเหมือน        มามอบ
    แด่มิ่งขวัญจักรวาลฟ้า        แผ่นหล้าอเนกอนันต์.

หนังสือกวีนิพนธ์ “สายรุ้ง รุ่งเยือน” ของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ ออกมาในช่วงเวลาที่หน้าสื่อสิ่งพิมพ์ พยายามบอกกันว่า กวีตายแล้ว  พร้อมกับฤดูลมฝนอันแปลกต่อความรู้สึกผู้คน ไม่เท่านั้น โดยเนื้อหาของกวีนิพนธ์ โดยรูปแบบฉันทลักษณ์ในเล่ม ก็ถือได้ว่า สร้างปรากฏการณ์ให้แก่ยุคสมัยได้มาก  เนื่องจาก สำนักพิมพ์ทุกวันนี้  หาจะพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ได้ยากเหลือเกิน แต่สำหรับเขาแล้ว ถือว่าสำนักพิมพ์เคล็ดไทยได้ให้โอกาสอันสง่างามแก่เขา

ซึ่งเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ได้ว่า กวีนิพนธ์ที่เปี่ยมคุณภาพนั้น ไม่เคยพ้นหาย หรือ ตายไปจากสังคมมนุษย์  เท่ากับว่าเป็นการสร้างแรงกำลังใจสำหรับคนรุ่นใหม่  ที่มุ่งมั่นฝันใฝ่จะก้าวเข้ามาในถนนสายกวีนิพนธ์  เพื่อสืบต่อช่วงซึ่งกันและกัน.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…