Skip to main content
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง  ไม่ว่าจะลุ่มลึกหรือตื้นเขินตามกรอบทัศนคติของใคร แต่แก่นแท้ของพุทธศาสนาอันเป็นประตูสู่การบรรลุถึงโลกุตรธรรมนั้น ยังเป็นหลักของความสมบูรณ์แห่งทัศนะอยู่เป็นปกติหากเคยศึกษาหลักธรรรมะเราจะพบว่า  ความรู้สึกนึกคิดและสภาวะแห่งจิตจะเกิดปรากฏการณ์แห่งความสงสัย ใคร่จะได้คำอธิบาย  หรือเต็มไปด้วยปริศนา ด้วยหลักธรรมหรือพุทธปรัชญานั้น เป็นศาสตร์อันละเอียดลึกซึ้ง และเป็นนามธรรมยิ่ง       บทความว่าด้วยศาสนาและปรัชญา  เล่ม ไตร่ตรองมองหลัก ที่เขียนโดย ท่านอาจารย์เขมานันทะ เล่มนี้  ได้บรรยายด้วยภาษาอันเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก  ประกอบด้วยบทความเกี่ยวกับ       (๑) สาระสำคัญแห่งวัชรยานตันตระ       (๒) ข้อพินิจไตร่ตรอง  ต่อความมีอยู่และไม่มีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ   (๓) เหนือคิดคำนึง(๔) พรหมจรรย์และฐานแห่งการภาวนา(๕) โศลกคำสอนมหามุทราของติโลปะในบทความแรกอันเกี่ยวกับวัชรยาน  หรือญาณสายฟ้าแลบที่เรารู้จัก  เป็นบทบรรยายแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  ซึ่งท่านอาจารย์เขมานันทะอธิบายถึงแก่นแท้ของวัชรยาน  โดยเปรียบเทียบเนื้อหาสาระกับนิกายเซน ให้ข้อสังเกตในด้านของลักษณะทางภูมิศาสตร์อันเป็นสถานที่กำเนิดความเชื่อ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงรูปลักษณะทางวัฒนธรรมในแหล่งกำเนิดความเชื่อนั้นด้วย ลักษณะการวิเคราะห์ ถอดความจากสัญลักษณ์ในเชิงปรัชญาที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมนั้น  เป็นแนวทางที่ท่านอาจารย์เขมานันทะมีความถนัดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการถอดความจากสัญลักษณ์จากวรรณคดีหรือวรรณกรรม   ดังในคำนำของ นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้  ได้กล่าวยกย่องท่านเป็น เอตทัคคะท่านหนึ่งทางด้านสามารถไขความสัญลักษณ์ ที่ปรากฎอยู่ในงาน ศาสนศิลป์  ท่านอาจารย์เขมานันทะ  อธิบายรากฐานของวัชรยานโดยพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งปรากฏอยู่ในศาสนศิลป์ของชาวธิเบต  โดยท่านได้ทบทวนเพื่อเชื่อมโยงถึงยุคทองของศาสนาในชมพูทวีป ว่าด้วยยุคอุปนิษัท หรือศาสนาพราหมณ์ ที่อธิบายปรากฏการณ์ของโลก ชีวิต จักรวาล นั้นว่าเป็นอันเดียวกัน ตัวเรานั้นเป็นสิ่งเดียวกับจักรวาลทั้งหมด ขณะเดียวกัน ท่านได้ยกภาษิตของจางจื้อ ที่ว่า“  ฟ้าดินกับอั๊วเป็นอันเดียวกัน  สรรพสิ่งทั้งหมดกับอั๊วเป็นหนึ่งเดียว ”   (น.๑๔)      ครั้นแล้วก็เปรียบเทียบเข้ากับวรรณคดีอย่าง  รามเกียรติ์หรือ  รามายณะ  มหาภารตะ ที่มีโครงสร้างสำคัญว่าด้วยการสู้รบของฝ่ายธรรมะคือพระราม กับฝ่ายอธรรมคือทศกัณฐ์    หรือที่ท่านว่า สัจจะซึ่งสังหารมายาภาพ  เปรียบได้กับวัชรยาน ซึ่งคือเครื่องตัดอวิชชา  ถือเป็นแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ ตรงกับนัยของศาสนาพราหมณ์ว่า อาตมันนั้นแท้จริงคือปรมาตมัน  กิเลสตัณหาต่าง ๆ ล้วนเป็นคุณะ(Value )ของเทพ(Divine) อันซ่อนเร้น แทนด้วยสัญลักษณ์ของรากษส (พวกยักษ์มาร) (น.๑๔)   ท่านอธิบายว่า  ชีวิตเป็นการสู้รบกันระหว่างรากษสและเทพ  เพทเป็นคุณสมบัติเบื้องสูง รากษสเป็นคุณสมบัติซ่อนเร้น  เพื่อปูพื้นฐานในการทำความเข้าใจวัชรยาน โดยภาพรวมแล้ว  บทความเล่มนี้ มีลักษณะเด่นในด้านการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ท่านอาจารย์เขมานันทะใช้ภูมิความรู้ความเข้าใจเพื่ออธิบายเชื่อมโยงองค์ความรู้หลายสาขาผนวกเข้าเป็นแนวทางที่จะเข้าถึงหลักพุทธปรัชญา  นอกจากนี้การยกตัวอย่างเพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน มีผลดีให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะในบท เหนือคิดคำนึง (น.๔๙)  ได้ยกตัวอย่างโศลกธรรม  เพื่อการเปรียบเทียบสภาพธรรมทางใจ แสดงให้เห็นถึงความมีอยู่ และไม่มีอยู่  ได้อย่างชัดเจน ดังโศลกของเว่ยหล่าง (น.๕๕) “  ไม่มีต้นโพธิ    ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสว่างเมื่อทุกสิ่งว่างไร้ฝุ่นจะปรากฏได้ที่ไหน  ” กิเลสอันถูกเปรียบด้วยฝุ่นละออง  กายซึ่งเปรียบด้วยต้นโพธิอันไร้แก่น และจิตใจอันเปรียบด้วยกระจกเงาที่เจ้าของหมั่นขยันเช็ดให้สะอาด  ดังโศลกธรรมของชินเชาที่ว่า“  กายของเราคือต้นโพธิและใจของเราคือกระจกเงาอันใสเราเช็ดมันอย่างระวังตั้งใจในทุก  ๆ โมงยามทั้งไม่ยอมให้ฝุ่นธุลีปรากฏขึ้นได้  ”จากโศลกทั้งสองนั้น  มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  ในเมื่อชินเชายังยืนอยู่ในความมีกาย  อันเปรียบด้วยต้นโพธิ และความมีอยู่ แห่งใจอันเปรียบด้วยกระจกและความมีอยู่ของกิเลส คือฝุ่นธุลี อันตนต้องเช็ดถูอย่างระวังในทุก ๆ ชั่วโมง  แสดงถึงการปฏิบัติธรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสับสน ตอกย้ำความคิดรวบยอดว่ามีตัวตน และมีศูนย์กลางของการกระทำ ...  ฯลฯ  ดังนั้น  การได้อ่านหนังสือพุทธปรัชญาเล่ม ไตร่ตรองมองหลัก นี้  เสมือนหนึ่งได้อ่านหนังสือหลายต่อหลายเล่มโดยผ่านการสรุปตีความจากท่านอาจารย์เขมานันทะ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา แต่ขณะเดียวกัน  การศึกษาโดยเลินเล่อหรือละเลยต่อแก่นแท้ของการศึกษาแล้ว (ไม่ว่าจะโน้มเอียงไปตามสัมมาทิฎฐิหรือมิจฉาทิฎฐิ)  ย่อมอาจเป็นจุดเริ่มต้นอันสับสน  ซับซ้อน ซึ่งอาจไม่มีวันเยียวยาแก้ไขได้แม้นลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ดังเช่นการศึกษาวัชรยาน ที่ท่านอาจารย์เขมานันทะได้กล่าวไว้ว่าวัชรยานนี้เหมือนเหล้า   เหลาแรง ๆ นี่แหละครับ  ถ้าใครคอไม่แข็งก็จะหัวทิ่มแล้วก็เกิดโทษอาเจียนออกมา  (น.๑๗)   นั่นคงบอกได้ว่าการศึกษาให้เข้าถึงนั้น  ต้องรากฐานของเราต้องพอเพียงด้วย.
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น  ค่อนข้างจะมีนัยยะโน้มไปทางที่ หนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ มีลักษณะจำเพาะ เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของผู้เขียนกับผลงานกวีนิพนธ์ของเขาเอง  และเฉพาะอย่างยิ่งในบทนำจากผู้เขียน ที่ได้ลงท้ายว่า เป็นความจำเป็นสำหรับเวลาอันเป็นธรรม ด้วยความสังวรยิ่ง .เหล่านี้  ล้วนเป็นรสสัมผัสอันเปรียบได้กับลมหนาวแรกของปี ที่พัดแผ่วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน  เป็นรสสัมผัสอันประหลาดล้ำ...ลมหนาวในแดดเทาอมฟ้า เหมือนละอองแห่งชีวิตที่ถูกล้อมโอบด้วยความรู้สึก...ในหมู่ไม้พันธุ์ ยืนต้น หรือทอดยอด ออกดอกพวงระย้า ช่างดูสงบ อ่อนหวาน อย่างมีนัยยะเกี่ยวถึงทรรศนะของสังคมมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน ดังเช่น  ภุชงคประยาตฉันท์  ชื่อบทว่า  เด็ดยอดแม่ดอกตำลึง ที่ณรงค์ยุทธได้ปลุกชีวิตของยอดเครือตำลึง พืชพันธุ์สามัญริมรั้ว ให้ตื่นฟื้น งามขึ้นในหัวใจของฉันจาก         สไบบางเสบียงรุด        ระรื่นดุจประมาณถึง    ขจียอดคะเนพึง            ผะดาแดดตะวันวาย  ฯลฯ     ( หน้า ๑๐๖ )สำหรับ ณรงค์ยุทธ เขียนบทนี้ออกมาเหมือนจะสะท้อนทรรศนะที่จัดวางอยู่ในคำฉันท์และตัวตนของเขา  เขียนออกมาจากสภาวะของเถาเครือตำลึง ที่ทนแล้ง อิ่มฝน และรอคอยที่จะชูยอดใบแห่งชีวิต   นี่คือ ประการแรกที่ตัวตนกับผลงานร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันสายรุ้ง รุ่งเยือน ไม่เพียงเขียนถึงพืชพันธุ์รูปธรรม เช่น กระถิน ตำลึง เท่านั้น ณรงค์ยุทธ ยังเขียนถึงพืชพันธุ์นามธรรมที่แตกผลิอยู่ในดวงใจของเขาด้วย และถือเป็นความโดดเด่นสำคัญของหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้  นี่คือ กวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ที่พื้นหลักเป็นโคลงสี่สุภาพ ดั่งลมหนาวในแดดสายปลายมิถุนายน แดดอุ่นและลมหนาวของยามสาย เป็นปรากฎการณ์ของลมฟ้อากาศที่เกี่ยวเนื่องกับอนุภาคละเอียดอ่อนในวันคืน ณรงค์ยุทธ เขียนโคลงสี่สุภาพอย่างกวีฝึกหัดพึงกระทำ และยิ่งอ่านจะยิ่งรับรู้ร่วมไปกับเขาเลยทีเดียวว่า แบบฝึกหัดการเขียนโคลงสี่สุภาพนั้น เป็นแบบฝึกเล่มหนาเทียบเท่าวงศ์อายุของผู้เขียนนั่นเทียวใน สายรุ้ง รุ่งเยือน จะสัมผัสรู้ถึงรอยก้าวย่างของการฝึกเพียร เคี่ยวเค้น อย่างหนักหน่วง  หากสังเกตตรงท้ายบท จะมีข้อความบอกถึงห้วงเวลาที่เขียน ทำให้มองได้ถึงพัฒนาการของผู้เขียนได้ในด้านหนึ่งด้วย  ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้ก้าวย่างที่กินเวลายาวนาน ทำให้มองเห็นถึงกลเม็ดในคำโคลง อย่างเช่นบท มืดมิด(จิตใจ) บทนี้เป็นตัวอย่างการเขียนโคลงสี่สุภาพแบบเอกเจ็ดโทสี่  ไม่มีกลเม็ดใดมากกว่าลักษณะการบังคับคำ ตำแหน่งเสียง  แต่การจัดวางรูปคำที่ให้ความรู้สึกมากกว่าการจัดเรียงคำ ดังบาทแรกนี้        เวลาช่างเหว่ว้า            เวลา  ฯลฯ ( หน้า ๘๐ ) ถือเป็นสำนวนโคลงที่หาได้ยากในมือของกวีฝึกหัด หรือ อีกตัวอย่าง บท  คลื่นชีวิต        เหลียวฝีพายต่างจ้ำ        ห่างทุกข์        สรรเสพสำราญสุข        เสกได้        คลุกเศร้าผ่านเคล้าทุกข์        คราครอบ        กางกรอบฝ่าคลื่นให้        เคลื่อนร้างลับหาย    (หน้า ๘๕ ) เป็นบทอุปมาชีวิตกับการพายเรือ ซึ่งให้ได้มากกว่าความไพเราะของคำโคลง  เพราะให้ทั้งภาพจินตนาการในความคิดและมีคติธรรมแฝงอยู่    ลองดู บท  ปัจเจกปัจจุบัน         ปัจจุบันปัจเจกชั้น        ชนเหวย        งกเงี่ยนงกงมเงย        งอกแง้ม    ฯลฯ   ( หน้า ๖๘ )เป็นการแสดงออกถึงทักษะอีกขั้นหนึ่งที่ได้มาจากการฝึกฝน โดยอาศัยลักษณะสัมผัสพยัญชนะเดียวทั้งบาท  เป็นอีกกลเม็ดของคำโคลง  กระโดดข้ามมาถึง   บท  ห้วงฝัน, ฝั่งขวัญเอย            หงายเฉียบเลียบค่ายครื้น        เงียบฉาย        ร่างสอบสั้นยาวสาย        รอบข้าง        อาจโอ้ อก อด อาย        โอกาส        การณ์ทื่อวางถือบ้าง        ถ่างบื้อคือฐาน   ฯลฯ    ( หน้า ๙๔ ) ในคำที่ขีดเส้นใต้  ผู้เขียนได้ใช้การผวนคำ แล้วจัดวาง คล้ายกลบทแบบอย่างโบราณ ทำให้อ่านสนุกและดูเหมือนผู้เขียนได้ผ่านมาอีกขั้น   และล่วงไปถึงการเล่นกลบท หงษ์ทองลีลา  เช่น บท ข้าพเจ้ายังรู้จักโลกสังคมน้อยนัก         ให้บุพกาลร่ำร้าง            ใจถึง        โลกกระพริบดาวดึงส์        ดื่มร้อย        ให้ผลัดส่องกระซิบพึง        พาเยี่ยม        โลกออกตกเหนือน้อย        นิ่งหน้าทิศทาง   ฯลฯ    ( หน้า ๔๙ ) หรือกลบทครอบจักรวาล  เช่น บท     จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก        หวังสุญญา...ว่างแร้น        โลกหวัง        ฟื้นตื่นเช้าสายดัง        เท่าฟื้น        โลกจินตพลบภวังค์        กอบโลก        ถือระยะย่ำย้ำพื้น        วาดถือ   ฯลฯ          ( หน้า ๙๘ ) จุดเด่นของโคลงสี่สุภาพของณรงค์ยุทธนี้  สังเกตได้ชัดคือ การเลือกใช้คำโดด ซึ่งแปลกต่างจากคำโคลงที่คุ้นเคย คือนิยมใช้คำสมาส สนธิ หรือคำผสม  แต่ขณะเดียวกัน จุดเด่นที่มากเกินไป  เป็นธรรมชาติที่ทำให้บางครั้ง ก็อาจเป็นข้อด้อยได้เช่นเดียวกัน  ด้วยธรรมชาติของคำโดดแล้ว   เมื่อวางเรียงกัน อาจทำให้อ่านเข้าใจได้ยาก เพราะต้องมีคำเชื่อม  ต้องอาศัยการสร้างความคุ้นเคยขึ้นใหม่ในวงการอ่าน  แม้เสน่ห์ของการเลือกใช้คำโดดในกวีนิพนธ์ของณรงค์ยุทธ จะเป็นรสคำที่แปลกไปบ้าง แต่การเลือกใช้อุปมาโวหาร ผสมเข้ามา ก็ช่วยเสริมเนื้อหาให้เต็มแน่นด้วย นอกจากนั้น ยังมีการใช้สัญลักษณ์ที่ไม่คุ้นเคยอีกด้วย   เช่น  บท  จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก    สูง – ต่ำ, ทางแอ่นเกี้ยว        กราดแกร็น    สูง – ต่ำ, ยูงรำแพน        กรีดเยื้อง    สูง – ต่ำ, หากหื่นแหน        แหวกเหยียบ    สูง – ต่ำ, ผูกพลั้งเปลื้อง        ปรับหมุน         ฯลฯ   (หน้า ๙๘) การเทียบสัญลักษณ์ของนกยูง และท่าทางการเคลื่อนไหวของมัน จะสะท้อนให้ผู้อ่านนึกถึงสิ่งใด โดยปกติ นกยูง จะมีนัยยะถึงความสูงส่ง สง่างาม แต่การเลือกใช้คำเกี่ยวข้อง เช่น  หากหื่นแหน นั้นดูขัดแย้ง แต่หากอ่านสืบเนื่องทั้งบทนี้แล้ว  จะเห็นได้ว่าเป็นการเลือกใช้คำเพื่อต้องการจะเสียดสี เยาะหยันนกยูง หรือนัยยะแฝงที่ผู้เขียนนั่นเองนอกเหนือจากสัญลักษณ์แล้ว  จุดเด่นที่ต้องกล่าวถึงคือ  วิธีการเรียงร้อยหรือ กลวิธีการประพันธ์ กวีนิพนธ์เล่มนี้  ผู้เขียนได้จารึกถึงความรู้สึก นึก คิด ของตัวผู้เขียนเอง ผ่านเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ ซึ่งถือว่าเป็นอารยธรรมของภาษาไทย ทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และร่าย แม้กระทั่งบทกวีไร้ฉันทลักษณ์  โดยอาศัยการสร้างวลีใหม่ ที่ตรึงใจผู้อ่านได้   เช่น  บท  แลดอกมะลิพันธุ์ ข้าฯ ฝันถึง    อารมณ์ร่วงต่อพื้น    เตรียมพาน     หรือ    หวั่นน้อยใจพรั่นท้อ    พวงขาว           ( หน้า ๒๗ ) และยังมีอีกหลายบทหลายบาท  ที่ผู้เขียนได้เรียงร้อยไว้ต่ออารมณ์สัมผัสของผู้อ่าน  ซึ่งจะได้ทั้งความรู้สึกแปลก ร่วมสมัย และสะเทือนใจเศร้าโศกร่วมไปกับเขาด้วย  โดยสรุปแล้ว  สายรุ้ง  รุ่งเยือน เปรียบได้ดั่งทัศนียภาพอันแปลกตาสำหรับผู้อ่านในยุคสมัย  แต่เนื้อหาที่เขาบอกเล่า  กลับเป็นเรื่องราวที่หลายคนอาจคุ้นเคย เคยรู้สึกอย่างนั้น  จนต้องกล่าวว่า  ณรงค์ยุทธ เขียนออกมาทดแทนอารมณ์ ความรู้สึก แทนใจของผู้คนในยุคแห่งปัจเจกชนอันหม่นมัว ซับซ้อน เต็มไปด้วยความหวั่นระแวง ได้อย่างละเอียดลออและประณีตทีเดียว   เนื่องด้วยถ้อยคำของเขา เรียงร้อยออกมาได้หมดจิตหมดใจ ซึ่งสะท้อนได้ว่า เขามีภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารโดยแท้ เนื้อหาโดยหลักใหญ่ที่ถ่ายทอด หรือแฝงเร้นอยู่ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ มักมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม  ซึ่งคล้ายกับมีวิถีชีวิตที่ด้านชากับความน่ารังเกียจ อันปรากฏจนดาษดื่นในความเป็นจริง  โดยเขาไม่ได้จำกัดตัวเองให้อยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ความน่ารังเกียจเหล่านั้น หรือ ด่าทอชนชั้นนายทุนตามแบบฉบับของกวีนิพนธ์เพื่อชีวิตทั่วไป แต่เขาจำใจกะเทาะเปลือกอันหนาเทอะทะของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในสังคม ทั้งในนามของบุคคลและกลุ่มก้อนของชนชั้นต่าง ๆ ทั้งนี้ จุดหมายหรือความใฝ่ฝันของเขา ที่ปรากฏอยู่ในหลายบทนั้น น่ามุ่งให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างรู้สึกที่จะมีน้ำใจให้กัน  มองเห็นความสำคัญกับคนอื่น  ดูเขาจะเน้นเรื่องความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากทีเดียว  ดังบทไร้ฉันทลักษณ์   ชื่อ แรงโน้มถ่วงของมิตรภาพ  ( หน้า ๔๒ )ที่กล่าวถึงความรับผิดชอบระหว่างชีวิตต่อชีวิต  อารมณ์ต่ออารมณ์  ซึ่งกันและกัน   หรือ  จากปกหลังของเล่ม  ที่เขียนว่า     จารจรดสายเรื่อรุ้ง        รุ่งเยือน    อาจสั่งฝนสืบเตือน        ต่อกล้า    ยามลมแดดแกร่งเหมือน        มามอบ    แด่มิ่งขวัญจักรวาลฟ้า        แผ่นหล้าอเนกอนันต์. หนังสือกวีนิพนธ์ “สายรุ้ง รุ่งเยือน” ของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ ออกมาในช่วงเวลาที่หน้าสื่อสิ่งพิมพ์ พยายามบอกกันว่า กวีตายแล้ว  พร้อมกับฤดูลมฝนอันแปลกต่อความรู้สึกผู้คน ไม่เท่านั้น โดยเนื้อหาของกวีนิพนธ์ โดยรูปแบบฉันทลักษณ์ในเล่ม ก็ถือได้ว่า สร้างปรากฏการณ์ให้แก่ยุคสมัยได้มาก  เนื่องจาก สำนักพิมพ์ทุกวันนี้  หาจะพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ได้ยากเหลือเกิน แต่สำหรับเขาแล้ว ถือว่าสำนักพิมพ์เคล็ดไทยได้ให้โอกาสอันสง่างามแก่เขา ซึ่งเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ได้ว่า กวีนิพนธ์ที่เปี่ยมคุณภาพนั้น ไม่เคยพ้นหาย หรือ ตายไปจากสังคมมนุษย์  เท่ากับว่าเป็นการสร้างแรงกำลังใจสำหรับคนรุ่นใหม่  ที่มุ่งมั่นฝันใฝ่จะก้าวเข้ามาในถนนสายกวีนิพนธ์  เพื่อสืบต่อช่วงซึ่งกันและกัน.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมมีความเชื่อว่าคนที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบ้านเรา ถ้าหากไม่หลงไปปฏิบัติผิดที่ผิดทาง ท่านคงจะรู้กันดีทุกคนนะครับ ว่าเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติเพื่อลดละและปล่อยวาง  ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นตัวของเรา – เป็นของของเรา ซึ่งทางพุทธบ้านเราถือว่าเป็นต้นตอรากเหง้าของความทุกข์ทางใจทั้งหลายทั้งปวงส่วนจะเป็นทุกข์มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าไปยึดถือมากก็ย่อมเป็นทุกข์มาก ถ้าเข้าไปยึดถือน้อยก็เป็นทุกข์น้อยนั่นเองครับนี่เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก หรือถ้าสามารถเข้าใจได้แล้ว...ก็ยังมีเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการปฏิบัติให้ได้จริงและเป็นจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝืนใจปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ที่ล้วนแล้วแต่เกิดมาเพื่อเรียนรู้การยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการลดละและปล่อยวาง...จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องนี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นแก่นของพุทธศาสนาที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ เคยพูดเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้คน จะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนจะเข้าใจและปฏิบัติได้ พวกเราส่วนมากที่สักแต่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ จึงกลายเป็นคนที่อยู่ใกล้...แต่กลับไกลจนสุดหล้าฟ้าเขียวจากของดีที่อยู่ใกล้ตัว เพราะมันฝืนความเคยชิน ฝืนใจคนกิเลสหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ  เหลือเกินครับพระคุณเจ้า...จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอีกเหมือนกันที่คนที่หันหลังให้กับทางโลกย์เข้าไปหาทางธรรม ถึงขั้นเข้าวัดวาหรือสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จึงมักจะเป็นคนที่ได้ประสบกับความทุกข์ทางใจอันใหญ่หลวงมาแล้วอย่างหนักหนาสาหัส และมองเห็นความทุกข์นั้นด้วยตัวเองจริง ๆ เท่านั้น ที่มักจะพากันเข้าไปด้วยความสมัครใจ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าไปแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะถอยหลังกลับมาดังเช่นกรณี ท่านศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง นักปฏิบัติธรรม อาวุโส ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายในวงการพุทธ ศาสนา ได้ให้สัมภาษณ์ คุณขวัญใจ เอมใจ เอาไว้ในหนังสือสารคดีประจำเดือนมีนาคม 2543 เกี่ยวกับเส้นทางการปฏิบัติธรรมของท่านเอาไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งตรงกับประเด็นที่ผมได้เกริ่นกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษา ดังต่อไปนี้สารคดี : เหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวชคืออะไรคะ ดิฉันได้ยินมาว่า มีความ    คิดสองทาง มองว่าคนที่มาบวชนั้น หนึ่ง เพราะมีความทุกข์ สอง เป็นคนที่กำลังแสวงหา บางคนมองไกลไปถึงว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้แสวงหาอีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติอ.รัญจวน : เห็นทุกข์ค่ะ แต่ก่อนนี้ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่อาการของความทุกข์ก็คืออาการซัดส่ายของใจ วุ่นวายไม่เป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ เพราะไม่เคยศึกษา พอมาตอนหลังก็มีเหตุที่ทำให้เริ่มเห็นความทุกข์ชัดขึ้น คือเรื่องหลานชาย ดิฉันมีหลานชายที่ดิฉันเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ  เขาเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด เรียนหนังสือดี อยู่มหาวิทยาลัยก็เรียกว่าเป็นดารา แต่เขาเป็นคนคิดมาก ดิฉันไม่รู้ว่าเขาคิดมากขนาดไหน ภายนอกของเขาเป็นคนที่รื่นเริงบันเทิงใจมาก อยู่ที่ไหนมีแต่จะทำให้ที่ตรงนั้นมีเสียหัวเราะ เพื่อนฝูงจะไปไหนก็มาขอให้เขาไปด้วย เพราะเขาเป็นคนนำ ทำให้เพื่อนฝูงสนุกสนาน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขปัญหาให้เพื่อน แต่ผลที่สุด เขาก็แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปอยู่โรงพยาบาลจนทุกวันนี้  เขาไม่ก้าวร้าว แต่จะพูดจะคิดอะไรเลื่อนลอย อยู่กับความหลัง อยู่กับอนาคต แต่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ตอนนั้นดิฉันเริ่มรู้แล้วว่า อ้อ...ความทุกข์มันเป็นเช่นนี้เองแล้วก็นั่งคิด เอ...นี่เราเลี้ยงเขาผิดหรือเปล่า ทั้งที่เราก็ประชาธิปไตยพอสมควร มีอะไรก็พูดอภิปรายกัน ไม่ได้เก็บกักอะไรเขาเลย ก็ถามตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกเศร้าใจ ยิ่งเมื่อเห็นดอกเตอร์หนุ่ม ๆ ก็นึกในใจ หลานเราก็เป็นได้ แล้วเขาก็เป็นได้อีกตั้งหลายอย่าง เป็นนักดนตรี นักพูด นักเขียน แต่กลับมาเป็นอย่างนี้ นี่ละจิตที่ทุกข์จริง ๆ ก็ตอนนั้นสารคดี : เรื่องหลานชายถือเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เห็นทุกข์ กระทั่งตัดสินใจบวชอ.รัญจวน : ใช่ค่ะ เริ่มเห็นความทุกข์ชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับความทุกข์มาตลอดชีวิตอย่างที่เล่ามาแล้ว นี่ที่สำคัญมากนะคะ คนทุกคนในโลกนี้คลุกคลีกับความทุกข์มาตลอด แต่ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันกลับมองไม่เห็น มันมีอยู่ตลอดทั้งวัน  ตลอดระยะทางของชีวิต เกือบจะทุกขณะทุกชั่วโมง ก็ที่เดี๋ยวเราดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจอีกแล้ว นั่นละ แต่เพราะไม่เคยเรียนรู้ ก็เลยไม่รู้ว่า เรามีชีวิตอยู่กับความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักมาก ยึดถือมาก...ว่ามันเป็นของเราเกิดวิปริตขึ้นมา มันถึงตีตูมเข้ามาที่ใจ ทำไมถึงเห็นว่าเป็นทุกข์มาก ทุกข์ใหญ่  เพราะเราไม่เคยได้ฝึกอบรมใจ เพื่อจะต้อนรับทุกเล็ก ๆ  ที่ผ่านใจเข้ามาตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยจัดการ ที่หลังมันก็จะสะสมความทุกข์ ความไม่พอใจมาเรื่อยทีละน้อย ๆ แล้วพอมีอะไรใหญ่มาก ๆ ลงมาตูมเดียว จึงไม่มีความต้านทานที่จะรับแต่สำหรับตัวเอง พอจะรับได้บ้าง ไม่ถึงเป็นบ้าเป็นหลังไปกับความทุกข์ ไม่ได้ล้มสลบสิ้นสติลงไป ที่เน้นเรื่องนี้ก็อยากจะบอกทุกคนว่า เราควรจะต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจสี่ และเมื่อเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทุกข์ใหญ่ เช่นไฟไหม้บ้าน เกิดอุบัติเหตุตายทั้งหมู่ ลูกสาวหลานสาวถูกข่มขืน ยำยี มันก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ชอกช้ำจนถึงเสียสติสารคดี : อาการของท่านเองตอนที่เจอทุกข์ใหญ่มากในตอนนั้น เป็นอย่างไรบ้างอ.รัญจวน : ข้างนอกนี่ไม่เป็นอะไร แต่ข้างในรู้สึกเหนื่อย...เหนื่อยมากเหลือเกิน เพราะพอหลานชายออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ต้องเอาเขามานอนเตียงข้าง ๆ ติดกัน แล้วก็ต้องคอยพูดคอยปลอบใจ ให้กำลังใจ แนะนำต่าง ๆ  ไหนจะงานสอนที่รามคำแหง แล้วตอนนั้นเป็นประธานสภาอาจารย์รามคำแหง ซึ่งเริ่มมีเป็นครั้งแรกด้วย พอมาถึงบ้านก็ต้องมาทำงานพยาบาลด้วย แล้วพยาบาลโรคทางใจนี่หนักกว่าโรคทางกายนัก เพราะฉะนั้น นอกจากทุกข์เพราะสงสารว่าเขาเป็นอย่างนี้แล้ว ยังทุกข์เพราะเหนื่อยอีก มันเหนื่อยสายตัวแทบขาดทีเดียว เหนื่อยทุกอย่างทั้งกายและใจ เลยรู้ว่า อ๋อ...ลักษณะของความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเช่นนี้เองถ้ามองจากตอนนี้ ถามว่า ที่ตอนนั้นตัวเองทุกข์เพราะอะไร ก็ตอบว่า ทุกข์เพราะอุปทาน ยึดมั่นถือมั่น  ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ทุกข์  มีเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีอาการอย่างหลานชายของเราอีกนับพันนับหมื่น ทำไมเราไม่ไปทุกข์กับเขา ก็เพราะเขาไม่ใช่หลานเรา นี่ธรรมะบอก เพราะเราไปยึดมั่น เพราะฉะนั้นจึงทุกข์มาก นี่ถ้าไม่ใช่หลานของเรา มีอะไรจะช่วยได้ก็คงช่วยกันไปเท่าที่กำลังจะช่วยได้  แต่ไม่ต้องเสียใจเศร้าหมองจนไม่คิดถึงเหตุผลอย่างใช้สติปัญญาครับ ผมหวังว่า บทสัมภาษณ์ บทนี้ของอาจารย์รัญจวน ที่สูญเสียหลานชายที่ท่านรัก และเป็นเหตุทำให้ท่านหันหน้าเข้ามาปฏิบัติธรรมตราบจนเท่าทุกวันนี้ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นต้นตอความทุกข์ทางใจของคนเราได้ง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากความเข้าใจนี้กันทุกคนนะครับ.17 ตุลาคม 2550กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่ภาพประกอบจาก http://dungtrin.com ขอบคุณครับ
แสงพูไช อินทะวีคำ
ในประเทศลาว หากเอ่ยถึงวรรณคดีปฏิวัติแล้ว หลายคนก็เข้าใจทันทีที่เอ่ยถึง ว่าเป็นบทวรรณคดีที่แต่งขึ้นในยุคที่ทำการปฏิวัติชาติประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระยะที่ประเทศชาติลาวตกเป็นอาณานิคมของจักรพรรดิเก่าและใหม่  ระยะนี้วรรณคดีเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์อยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือรับใช้ให้แก่การปฏิวัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติและประชาชนออกจากการกดขี่ของจักรวรรดินิยม เพื่อให้ชาติและประชาชนมีเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยประชาชนเมื่อเป็นเช่นนั้น วรรณคดีปฏิวัติระยะนี้จึงมีความสำคัญมากในการประกอบส่วนเข้าในการโฆษณาเผยแพร่ผลงาน และการชนะสงครามของการปฏิวัติ, การรณรงค์ให้ประชาชนบรรดาชนเผ่าเข้าร่วมการปฏิวัติเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยม และหุ้นผู้ขายชาติที่หวังกลืนกินประเทศชาติลาวหลายๆ บทประพันธ์ที่ประพันธ์ขึ้นจากฝีมือของนักเขียนปฏิวัติ เช่น 1. ส.บุบผานุวง หรือ ชายเชโปน ที่มีชื่อจริงว่า “สุวันทอน บุบผานุวง” 2.จ.เดือนสะหวัน ที่มีชื่อจริงว่า จันที เดือนะหวัน  3. ดาวเหนือ และนักเขียนปฏิวัติ ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจำชื่อได้หมดและก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย นักเขียนเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองลาว ในฐานะที่เป็นนักเขียนปฏิวัติอาวุโส บทเขียนที่เขียนขึ้นโดย ส.บุบผานุวงก็มี อาทิ ใต้ร่มทงของพัก, ลูกสาวของพัก, กองพันที่สอง, อยากข้าเพี่นโตตาย. บทเรื่องที่เขียนจาก “จ.เดือนสะหวัน” ก็มี เส้นทางแห่งชีวิต 3 เล่ม นอกนี้ก็มีบท เรื่องต่างๆที่ถูกนำลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากสองท่านนี้ก็ท่านนักเขียนท่านอื่นๆเช่น “ดวงไช หลวงพาสี” เรื่อง สายเลือดเดียวกัน  เรื่อง ฟองเดือนเก้า ของ “ท่านคำมา พมกอง” และ พัดพากจากสี่พันดอน ของ “ป้าเวียงเฮือง”  นอกนี้ก็มีบทเขียนอื่นๆและนักเขียนปฏิวัติท่านอื่นๆ หลายท่านซึ่งผมไม่สามารถจำได้หมดบทเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมานั้น แสดงออกให้เราเห็นถึงแนวคิดปฏิวัติ สีสันตามรูปแบบปฏิวัติ หลักจรรยาบรรณของรูปปฏิวัติ ก้าวไปสู่แนวคิดที่สร้างสรรค์ในรูปแแบบปฏิวัติ เพราะทุกบทเรื่องที่เขียนล้วนสะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า “มีเพียงการปฏิวัติเท่านั้น ที่สามารถนำความเป็นเจ้าของประเทศชาติมาสู่พี่น้องประชาชนชาวลาวทั้งประเทศได้” เมื่อเราอ่านวรรณคดีปฏิวัติแล้วทำให้เราสามารถมองเห็นเส้นขนานสองด้านอย่างแจ่มแจ้ง คือ ความก้าวหน้าศิวิไลซ์ของการปฏิวัติและความอยุติธรรมในสังคมเก่า แต่ในบทเรื่องปฏิวัติไม่ได้พูดถึงว่า การปฏิวัติมีอะไรบ้างที่ไม่ดีและในสังคมเก่ามีอะไรบ้างที่ดีเมื่อเราอ่านบทเรื่องปฏิวัติแล้ว เหมือนกับว่าเราสามารถมองเห็นความมีระเบียบของผู้คนจะเป็นใครก็ตามที่เดินตามเส้นทางปฏิวัติ มองเห็นความจงรักภักดีของคนที่มีต่อการปฏิวัติ ถือเอาการปฏิวัติเปรียบเสมอเหมือนชีวิตจิตใจ ถือการปฏิวัติเหมือนกับลมหายใจเข้าออกของตนนอกจากนั้น เมื่อเราอ่านแล้วทำให้เรามองเห็นว่า สภาพการดำรงชีวิตของผู้คนก่อนการปฏิวัติมีความเป็นอยู่ที่เลอะเทอะ สร้างสิ่งที่ไม่ดีงามขึ้นในสังคม อ่านแล้วทำให้เรามองเห็นภาพเหมือนกับว่า แผ่นดินลาวก่อนปฏิวัติถูกครอบงำด้วยซาตานอะไรประมาณนั้น อ่านแล้วเหมือนกับว่า ก่อนการปฏิวัติแผ่นดินลาวทุกหย่อมหญ้ามีแต่เปลวไฟลุกลามไปทั่ว ทำให้แผ่นดินกลายเป็นแผ่นดินเถื่อน ในแผ่นดินเต็มไปด้วยคราบเลือดและน้ำตา รอการช่วยเหลือให้หลุดออกจากกงกรรมแห่งนรกอเวจีอย่างใดก็ดี ในบทต่อไปผมจะอนุญาตท่านผู้อ่าน เสนอเรื่องลาวต่างๆในบทวรรณคดีปฏิวัติเพื่อเป็นการแลกเปลียนทัศนะด้วยกัน.หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ “เวียงจันท์ใหม่” เมื่อปี ค.ศ.2005 แล้ว แต่จำเดือนไม่ได้ จึงขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วย  
แพร จารุ
“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ยืนล้วงกระเป๋าเสื้ออยู่ริมทางรถไฟ ในขณะที่รถไฟกำลังมา  เป็นภาพปกหนังสือ ฅ คน ที่ทำให้ฉันต้องนับเงินในกระเป๋าให้ครบแปดสิบบาท ความจริงหนังสือเขาไม่แพงหรอก เพียงแต่ว่า เงินสำหรับบ้านฉันมันหายากมาก หรือจะเรียกให้ถูกก็คือฉันไม่ค่อยหาเงิน ดังนั้นเมื่อไม่หาเงินก็ต้องใช้เงินน้อย ๆ หรือไม่ใช้ไปเลยถ้าไม่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ แม้ว่าการจะซื้อหนังสือถือเป็นความจำเป็นหนึ่ง แต่ก็ต้องเลือกอย่างพิถีพิถันในเนื้อหา ดังนั้น ถ้าร้านไหนห่อพลาสติกอย่างดีเปิดไม่ได้ ก็ผ่านเลย หนังสือเล่มนี้ก็ห่อพลาสติกอย่างดีเหมือนกัน แต่ก็รีบซื้อ  เพราะทั้งรถไฟและคุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี ถือเป็นความผูกพันหนึ่งหรือเป็นความสัมพันธ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน  เพราะชีวิตการเดินทางเริ่มต้นจากรถไฟ ส่วนงานเขียนหนังสือผู้ชายที่ยืนริมทางรถไฟ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นคนเขียนหนังสือ นอกจากได้อ่านบทสัมภาษณ์เรื่องราวของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้หายคิดถึง ตามประสาคนในแวดวงวรรณกรรม เพราะรู้จักรู้เรื่องกันอยู่แล้ว แต่คนอยู่ร่วมบ้านเดียวกันและเป็นคนเขียนหนังสือเหมือนกัน บอกฉันว่า หลังจากอ่านเรื่องของคุณสุชาติแล้ว พบว่าตัวเองเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ถือว่าเป็นการค้นพบที่คุ้มค่ามากความไม่พร้อมไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ทำ เป็นคำตอบหนึ่งดูเหมือนคุณสุชาติจะมีความพยายามและตั้งใจสูงมากที่จะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานบรรณาธิการ โดยเฉพาะงานศิลปะภาพวาดที่ต้องลงทุนสูง เรียกว่าไม่ได้พร้อมด้านทุนแต่พร้อมด้านจิตใจ ครั้งหนึ่งฉันมีโอกาสเดินทางไปบ้านเขา ในช่วงปลายปี 2540  เป็นช่วงปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงค่าเงินบาทลด และช่วงตกงานอย่างจริงจัง เพราะหนังสือที่ทำอยู่ปิดตัวลงทีละเล่ม ๆ ช่วงนั้นได้เดินทางไปบ้านคุณสุชาติ เป็นการไปครั้งแรก กับเพื่อน ๆ นักเขียน มีสุจินดา กับชามาไปด้วย  สุจินดากับชามาอยากดูรูปเขียนมากๆ  ตอนนั้นรูปยังไม่มาก เพราะเป็นการเริ่มต้น แต่สองนางที่หลงใหลงานศิลปะต่างชื่นชอบชื่นชมกันมาก ๆ   พวกเขาคุยกันไม่รู้จบและฉันก็ง่วงมากจึงตัดสินใจนอนที่นั้น  ตื่นขึ้นมายามเช้า ศิลปินใหญ่หายไปจากบ้านแล้ว แต่ไม่นานก็เดินกลับมาพร้อมด้วยแปรงสีฟันสำหรับพวกเรา นักเขียนอีกคน “ศรีดาวเรือง” ทำอาหารง่าย ๆ แบบประหยัด ๆ คือพวกผักต่าง ๆ และไข่ ส่วนนักเขียนที่เริ่มเป็นหนุ่ม เขามีคอลัมน์ในหนังสือ ไรท์เตอร์ มาคุยด้วยในช่วงนั้นฉันยังเป็นคนเขียนหนังสือที่รับจ้างทำหนังสือ รับจ้างเป็นรีไรท์เตอร์  เรียกว่ามีเงินพอที่จะอยู่สบาย แต่เหนื่อยและมีชีวิตอยู่กับการง่วงนอนเมื่อหนังสือพิมพ์ที่รับจ้างเป็นรีไรเตอร์ปิดลง  หนังสือที่เขียนบทความอยู่ก็ปิดลงทีละเล่ม จนหมด และตกงานอย่างจริงจัง ฉันไม่ได้บอกใครว่าฉันรู้สึกดีใจอยู่ลึก โล่งโปร่งสบายใจได้เดินทางไปไหนต่อไหนรวมทั้งบ้านคุณสุชาติด้วย ฉันก็รู้สึกสบายที่ได้ล้มตัวลงนอนที่บ้านหลังนั้น ได้เห็นว่าการใช้ชีวิตไม่ต้องใช้เงินมากก็ได้ ไม่ต้องมีรถยนต์  ใช้รถไฟ และเดินตัดผ่านทุ่งก็ไม่ได้ลำบากอะไร ไม่ต้องมีเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านมากมาย ไม่ต้องมีโทรศัพท์มือถือก็ได้ ชีวิตไม่ต้องแพงมากก็ได้นี่เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่ง ฉันจึงเป็นคนตกงานอย่างถาวร และไม่ได้ทำงานเพื่อหาเงินมาใช้ แต่หาเงินเพื่อทำงาน แค่มีกินและกินตามสมควร แน่นอนล่ะ เหนื่อยยาก ลำบากอยู่บ้าง แต่ดีกว่ามีชีวิตที่ไม่สดชื่นเลยทั้งปีและอาจจะทั้งชาติแปดสิบบาทสำหรับ ฅ คน ถือว่า คุ้มค่าอยู่ เพราะนอกจากเรื่องราวของ “สุชาติ สวัสดิศรี” และการกลับมาของนิตยสาร ช่อการะเกด นิตยสารเรื่องสั้นไทย ที่เปิดรับเรื่องสั้นทั่วทิศ ไม่ใช่แค่นักเขียนเก่า แต่เป็นที่นักเขียนใหม่แจ้งเกิดด้วย ใครที่อยากเขียนเรื่องสั้นและกลัวว่าไม่มีใครอ่านหรือส่งไปแล้วบรรณาธิการไม่คุ้นชื่อไม่อ่าน ส่งมาที่ช่อการะเกด ไม่ผิดหวัง บรรณาธิการอ่านแน่ และที่สำคัญ โดยส่วนตัวแล้วพบว่า บรรณาธิการช่อการะเกด เขาอ่านงานนักเขียนด้วยเมตตา ด้วยมิตรที่อบอุ่น และให้เกียรติผู้เขียน สำหรับฉันเห็นว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่หาได้ยากในบรรณาธิการรุ่นใหม่ ๆ เอาล่ะที่บอกว่า คุ้มค่าคือได้อ่านคอลัมน์ สโมสรจุดเปลี่ยน เพราะไม่ค่อยได้ดูโทรทัศน์ จึงไม่ได้ดูรายการนี้ เหตุที่ไม่ได้ดูเพราะว่า สัญญาณรับโทรทัศน์ไม่ค่อยจะดี ต้องลงทุนซื้อเสาอากาศ  พิจารณาดูแล้วไม่คุ้มทุนเท่าไหร่ มีรายการที่น่าสนใจน้อย จึงใช้วิธีดูบ้านเพื่อนถ้ามีรายการดี ๆ เพราะคนข้างบ้านเขาเอื้อเฟื้อ โทรทัศน์อยู่ใต้ถุนบ้านจอใหญ่ด้วยขอนำ สโมสรจุดเปลี่ยนมาเขียนถึงสักเล็กน้อย  เขาเสนอเรื่อง การใช้ปิ่นโตแทนถุงพลาสติก  ถุงพลาสติก เป็นภัยร้ายทำลายสภาพแวดล้อมของโลกในอนาคต และมีภาพของศิลปินคนหนึ่ง หิ้วปิ่นโตมาซื้อกับข้าวและมีตัวอักษรพาดผ่านภาพว่า ใช้มาสิบปีแล้ว ใกล้บ้านฉันก็มีเด็กชายใช้ปิ่นโตมานับสิบปีแล้วเหมือนกัน ฉันเห็นเขาเอาปิ่นโตห้อยมากับหน้ารถจักรยาน กลับบ้านทุกเย็น เขาเอาข้าวไปกินโรงเรียน ตั้งแต่เริ่มเรียนอนุบาล จนถึงวันนี้เขาเรียน ป.6 แล้ว ปีหน้าเขาจะย้ายไปเรียนโรงเรียนในเมือง ฉันไม่รู้ว่าเขาจะเริ่มใช้กล่องโฟมหรือเปล่า เอาล่ะ เพื่อสนับสนุนจุดเปลี่ยน เขาว่าต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน วันต่อมาฉันใช้ถุงผ้าไปซื้อของกับน้องสาวข้างบ้าน ไปซื้อซีอิ๊วขาว น้ำมันพืช กระเทียม หอม  ของสำหรับครัว ที่ร้านของชำเจ้าประจำในตลาด  ของพวกนี้ไม่จำเป็นต้องใส่ถุงพลาสติก ใส่ถุงผ้าได้เลย แต่เมื่อบอกว่า ใส่ถุงผ้าไปเลย เขาบอกไม่เป็นไร ใส่ไปเถอะ  ฉันเกือบจะยอมแพ้รับของมาแล้ว แต่ไม่ยอม ฉันยืนยันว่า ไม่เอา เก็บถุงพลาสติกไว้เถอะ เขาทำหน้าแปลก ๆ และรำคาญที่ต้องเอาของออกจากถุงพลาสติกใส่ถุงผ้า น้องที่ไปด้วยกันก็พูดเขิน ๆ ว่า พี่เขาอนุรักษ์ ฉันบอกว่า ไม่ให้มีขยะมาก จะได้ไม่ต้องเผามากนัก ฤดูร้อนจะได้ไม่มีหมอกควัน ลดภาวะโลกร้อนด้วย คนขายยิ้ม แต่คนที่ยืนรอซื้อของอยู่ใกล้ ๆ พูดขึ้นมา ว่าไม่เป็นไรหรอก ร้อนได้ก็เย็นได้  มีหมอกควัน พอฝนลงก็หายหมดแหละ ฝนตกหายหมดไม่ต้องกลัวอือ...ฉันพยักหน้า แบบผู้แพ้ คร้านจะพูดต่อ แต่ไม่ได้เอาถุงพลาสติกกลับบ้านสักใบเดียว เรียกว่า ชนะตัวเอง แค่นี้ก็สบายใจแล้ววันนี้ เรียกว่าสบายใจแบบพอเพียง ไม่หวังความสบายใจมาก แปดสิบบาทกับเรื่องผู้ชายริมทางรถไฟและจุดเปลี่ยนชีวิต** ภาพประกอบจาก onopen.com