โดย ‘นายยืนยง’
ชื่อหนังสือ : ไตร่ตรองมองหลัก
ประเภท : บทความพุทธปรัชญา
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ศยาม
พิมพ์ครั้งที่ ๒ : กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ : แก้ไขปรับปรุง
ผู้เขียน : เขมานันทะ
บรรณาธิการ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
ในกระแสนิยมปัจจุบัน แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง ไม่ว่าจะลุ่มลึกหรือตื้นเขินตามกรอบทัศนคติของใคร แต่แก่นแท้ของพุทธศาสนาอันเป็นประตูสู่การบรรลุถึงโลกุตรธรรมนั้น ยังเป็นหลักของความสมบูรณ์แห่งทัศนะอยู่เป็นปกติ
หากเคยศึกษาหลักธรรรมะเราจะพบว่า ความรู้สึกนึกคิดและสภาวะแห่งจิตจะเกิดปรากฏการณ์แห่งความสงสัย ใคร่จะได้คำอธิบาย หรือเต็มไปด้วยปริศนา ด้วยหลักธรรมหรือพุทธปรัชญานั้น เป็นศาสตร์อันละเอียดลึกซึ้ง และเป็นนามธรรมยิ่ง
บทความว่าด้วยศาสนาและปรัชญา เล่ม ไตร่ตรองมองหลัก ที่เขียนโดย ท่านอาจารย์เขมานันทะ เล่มนี้ ได้บรรยายด้วยภาษาอันเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก ประกอบด้วยบทความเกี่ยวกับ
(๑) สาระสำคัญแห่งวัชรยานตันตระ
(๒) ข้อพินิจไตร่ตรอง ต่อความมีอยู่และไม่มีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ
(๓) เหนือคิดคำนึง
(๔) พรหมจรรย์และฐานแห่งการภาวนา
(๕) โศลกคำสอนมหามุทราของติโลปะ
ในบทความแรกอันเกี่ยวกับวัชรยาน หรือญาณสายฟ้าแลบที่เรารู้จัก เป็นบทบรรยายแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งท่านอาจารย์เขมานันทะอธิบายถึงแก่นแท้ของวัชรยาน โดยเปรียบเทียบเนื้อหาสาระกับนิกายเซน ให้ข้อสังเกตในด้านของลักษณะทางภูมิศาสตร์อันเป็นสถานที่กำเนิดความเชื่อ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงรูปลักษณะทางวัฒนธรรมในแหล่งกำเนิดความเชื่อนั้นด้วย ลักษณะการวิเคราะห์ ถอดความจากสัญลักษณ์ในเชิงปรัชญาที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมนั้น เป็นแนวทางที่ท่านอาจารย์เขมานันทะมีความถนัดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการถอดความจากสัญลักษณ์จากวรรณคดีหรือวรรณกรรม ดังในคำนำของ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวยกย่องท่านเป็น เอตทัคคะท่านหนึ่งทางด้านสามารถไขความสัญลักษณ์ ที่ปรากฎอยู่ในงาน ศาสนศิลป์
ท่านอาจารย์เขมานันทะ อธิบายรากฐานของวัชรยานโดยพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งปรากฏอยู่ในศาสนศิลป์ของชาวธิเบต โดยท่านได้ทบทวนเพื่อเชื่อมโยงถึงยุคทองของศาสนาในชมพูทวีป ว่าด้วยยุคอุปนิษัท หรือศาสนาพราหมณ์ ที่อธิบายปรากฏการณ์ของโลก ชีวิต จักรวาล นั้นว่าเป็นอันเดียวกัน ตัวเรานั้นเป็นสิ่งเดียวกับจักรวาลทั้งหมด ขณะเดียวกัน ท่านได้ยกภาษิตของจางจื้อ ที่ว่า
“ ฟ้าดินกับอั๊วเป็นอันเดียวกัน สรรพสิ่งทั้งหมดกับอั๊วเป็นหนึ่งเดียว ” (น.๑๔)
ครั้นแล้วก็เปรียบเทียบเข้ากับวรรณคดีอย่าง รามเกียรติ์หรือ รามายณะ มหาภารตะ ที่มีโครงสร้างสำคัญว่าด้วยการสู้รบของฝ่ายธรรมะคือพระราม กับฝ่ายอธรรมคือทศกัณฐ์ หรือที่ท่านว่า สัจจะซึ่งสังหารมายาภาพ เปรียบได้กับวัชรยาน ซึ่งคือเครื่องตัดอวิชชา ถือเป็นแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ ตรงกับนัยของศาสนาพราหมณ์ว่า อาตมันนั้นแท้จริงคือปรมาตมัน กิเลสตัณหาต่าง ๆ ล้วนเป็นคุณะ(Value )ของเทพ(Divine) อันซ่อนเร้น แทนด้วยสัญลักษณ์ของรากษส (พวกยักษ์มาร) (น.๑๔) ท่านอธิบายว่า ชีวิตเป็นการสู้รบกันระหว่างรากษสและเทพ เพทเป็นคุณสมบัติเบื้องสูง รากษสเป็นคุณสมบัติซ่อนเร้น เพื่อปูพื้นฐานในการทำความเข้าใจวัชรยาน
โดยภาพรวมแล้ว บทความเล่มนี้ มีลักษณะเด่นในด้านการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ท่านอาจารย์เขมานันทะใช้ภูมิความรู้ความเข้าใจเพื่ออธิบายเชื่อมโยงองค์ความรู้หลายสาขาผนวกเข้าเป็นแนวทางที่จะเข้าถึงหลักพุทธปรัชญา นอกจากนี้การยกตัวอย่างเพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน มีผลดีให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบท เหนือคิดคำนึง (น.๔๙) ได้ยกตัวอย่างโศลกธรรม เพื่อการเปรียบเทียบสภาพธรรมทางใจ แสดงให้เห็นถึงความมีอยู่ และไม่มีอยู่ ได้อย่างชัดเจน ดังโศลกของเว่ยหล่าง (น.๕๕)
“ ไม่มีต้นโพธิ
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสว่าง
เมื่อทุกสิ่งว่างไร้
ฝุ่นจะปรากฏได้ที่ไหน ”
กิเลสอันถูกเปรียบด้วยฝุ่นละออง กายซึ่งเปรียบด้วยต้นโพธิอันไร้แก่น และจิตใจอันเปรียบด้วยกระจกเงาที่เจ้าของหมั่นขยันเช็ดให้สะอาด ดังโศลกธรรมของชินเชาที่ว่า
“ กายของเราคือต้นโพธิ
และใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันอย่างระวังตั้งใจในทุก ๆ โมงยาม
ทั้งไม่ยอมให้ฝุ่นธุลีปรากฏขึ้นได้ ”
จากโศลกทั้งสองนั้น มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในเมื่อชินเชายังยืนอยู่ในความมีกาย อันเปรียบด้วยต้นโพธิ และความมีอยู่ แห่งใจอันเปรียบด้วยกระจกและความมีอยู่ของกิเลส คือฝุ่นธุลี อันตนต้องเช็ดถูอย่างระวังในทุก ๆ ชั่วโมง แสดงถึงการปฏิบัติธรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสับสน ตอกย้ำความคิดรวบยอดว่ามีตัวตน และมีศูนย์กลางของการกระทำ ... ฯลฯ
ดังนั้น การได้อ่านหนังสือพุทธปรัชญาเล่ม ไตร่ตรองมองหลัก นี้ เสมือนหนึ่งได้อ่านหนังสือหลายต่อหลายเล่มโดยผ่านการสรุปตีความจากท่านอาจารย์เขมานันทะ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา
แต่ขณะเดียวกัน การศึกษาโดยเลินเล่อหรือละเลยต่อแก่นแท้ของการศึกษาแล้ว (ไม่ว่าจะโน้มเอียงไปตามสัมมาทิฎฐิหรือมิจฉาทิฎฐิ) ย่อมอาจเป็นจุดเริ่มต้นอันสับสน ซับซ้อน ซึ่งอาจไม่มีวันเยียวยาแก้ไขได้แม้นลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ดังเช่นการศึกษาวัชรยาน ที่ท่านอาจารย์เขมานันทะได้กล่าวไว้ว่า
วัชรยานนี้เหมือนเหล้า เหลาแรง ๆ นี่แหละครับ ถ้าใครคอไม่แข็งก็จะหัวทิ่มแล้วก็เกิดโทษอาเจียนออกมา (น.๑๗)
นั่นคงบอกได้ว่าการศึกษาให้เข้าถึงนั้น ต้องรากฐานของเราต้องพอเพียงด้วย.