นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ)
ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา
ประเภท : สารคดี
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552
ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553
ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
ปีใหม่นี้ท่านผู้อ่านไปเที่ยวที่ไหนบ้างหนอ สนุกสนานรื่นเริงกันอย่างไร บอกเล่ากันบ้างนะ เผื่อคนเดินทางน้อยอย่างฉันจะได้ร่วมบรรยากาศไปด้วย เมื่อวานนี้ไปลาดตระเวนดูบรรยากาศวันปีใหม่ในตัวเมืองโคราช โอ้โห..ไม่น่าเชื่อเลยว่า ปีใหม่นี้ที่โคราชเงียบหงอยผิดคาด ขนาดสถานท่องเที่ยวประจำเมืองอย่างห้างเดอะมอลล์ยังไม่หนาแน่นเท่าที่ควร ต่างจากปีที่แล้วสิ้นเชิง แม้แต่งานหิมะตกที่โคราชที่จัดเป็นครั้งแรกยังดูไม่คึกคักเลย บรรดาร้านรวงเปิดรับเทศกาลดูเหมือนจะร้างผู้คน ทำให้คิดไปว่าเศรษฐกิจส่อเค้าน่ากลัวตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว
ถึงจะไม่ได้ไปเที่ยวตามเทศกาลกับเขา ฉันก็ทำตัวเสมือนไปเที่ยวมาสุดฤทธิ์สุดเดช ติดเว้าเป็นภาษาลาวปนพูดกลางโคราช ฟังชุลมุนหูชอบกล ไม่ใช่อะไรหรอก เป็นเพราะฉันได้อ่านสารคดีท่องเที่ยว พาเที่ยวประเทศลาว เริ่มตั้งแต่ลาวใต้จรดลาวเหนือ นำทีมโดยนักเขียนสาวลูกอีสานแท้ เว้าลาวคัก ๆ มัน ๆ ให้ติดใจในความเป็นผู้ชำนาญทางภาษาลาว เธอเป็นผู้เขียนสารคดีเรื่อง จำปาขาว ลาวหอม ทั้งสองเล่ม คือ เล่มลาวใต้และเล่มลาวเหนือ มีนามว่า รวงทอง จันดา
จำปาขาว ลาวหอม ทั้งสองเล่ม เป็นสารคดีนำเที่ยวที่อ่านสนุกเล่มหนึ่ง คือ อ่านแล้วอยากไปเที่ยวสมความตั้งใจของผู้เขียน อีกอย่างหนึ่งคือ อ่านแล้วไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดทัศนคติของผู้เขียนจนมากมายนัก โดยเฉพาะกับแนวทางการเที่ยวแบบไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านธรรมดา กินข้าวข้างถนน พักรีสอร์ทราคาเบา ต่างจากแนวทางการเที่ยวแบบพักโรงแรมหรูที่นำเสนอผ่านนิตยสารอีกกลุ่มหนึ่ง แต่น่าสังเกตว่า แนวทางการเที่ยวแบบไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านมักมาพร้อมข้อเสนอเชิงอุดมคติ หรือไม่ก็เชิงอนุรักษ์นิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา สารคดีแบบนี้มักเต็มไปด้วยคำถาม ข้อสังเกตที่น่าคิด หรือไม่ก็คำเหน็บแนมแกมวิเคราะห์อย่างชาญฉลาด
ประเภทที่ต้องการให้ประเทศลาวคงความเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมประเพณี เป็นเมืองที่คงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ปกป้องความบริสุทธิ์ผุดผ่องของคนลาวเอาไว้ให้พ้นเงื้อมมือของการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ฉันต้องถามกลับไปว่า ตกลงคุณจะสต๊าฟประเทศลาวเอาไว้เพื่อใช้เป็นที่หย่อนใจของคุณหรือไงไม่ทราบ เก็บลาวเอาไว้เพื่อเป็นที่ท่องเที่ยว ชวนให้ระลึกถึงความหลัง ในยามที่คุณเบื่อหน่ายชีวิตแบบอุดมด้วยความเจริญบรรดามีอย่างนั้นหรือ นี่..สารคดีประเภทนี้มีให้เห็นกันเยอะ แต่ไม่ใช่กับจำปาขาว ลาวหอม
เนื่องจากรวงทอง จันดา ใช้วิธีการเล่าแบบบันทึก ขณะที่เปิดโอกาสให้ผู้คนหรือที่เรียกว่า “วัตถุดิบ” เป็นผู้เล่าเรื่องราวของตัวเองไปพร้อมกับการนำเสนอของเธอ มีการเปรียบเปรยบ้างตามแต่เรื่องราวจะนำพาไป ไม่ใช่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนเกี่ยวกับการอนุรักษ์แบบที่กล่าวถึงในย่อหน้าข้างบน จะยกตัวอย่างในเล่มลาวใต้มาให้อ่านกัน
ขณะที่สนทนากันนั้นเราก็ได้ตระหนักถึงทัศนะค่านิยมที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการสร้างโบสถ์ เจ้าอาวาสวัดลาวบอกว่าชาวบ้านอยากให้สร้างเป็นปูน เห็นวัดอื่นเขาทำ เห็นในโทรทัศน์เมืองไทยที่วัดสร้างด้วยปูนดูมีสง่าราศี แข็งแรงและสวยงาม ในขณะนั้นพระไทยก็ยืนยันว่าทำด้วยไม้นั่นแหละสวยที่สุดแล้ว ไม้ก็มีเยอะไม่ต้องซื้อหา เมืองไทยไม่ค่อยมีไม้จึงต้องสร้างด้วยปูน
ถ้าใครอยากให้เข้าลึกถึงจิตใจและความรู้สึกของพี่น้องลาวในปัจจุบัน ก็ต้องลองนั่งไทม์แมชชีนหัวใจย้อนกลับไปดูด้วยทำใจให้เป็นกลาง รำลึกถึงรสนิยม ความชอบ ความหรูหรา ความทันสมัยและความมีหน้ามีตา รวมถึงการอวดประชันขันแข่งกันเน้นวัตถุใหญ่โตมโหฬาร ไม่ว่าจะเป็นวัด บ้าน รถหรือทรัพย์สินเงินทองล้ำค่า
ดังนั้น บทบาทของนักเขียนสารคดีไม่ใช่ชี้ถูกผิดให้ผู้อ่านหรือผู้คนที่ตนได้เข้าไปสัมผัสในเรื่องราวอยู่เสมอไป หากแต่ควรอย่างยิ่งที่จะเคารพเรื่องราวของผู้คน เคารพในวัตถุดิบของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดนักเขียนสารคดีก็เป็นเพียงผู้ผ่านทาง เป็นนักเดินทาง นักท่องเที่ยว เดินทางไปถึงจุดหมายแล้วก็ต้องกลับออกมา หาใช่ผู้คนในเรื่องราวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นทุกเมื่อเชื่อวันแต่อย่างใด
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย ๆ ที่นำมาแสดงให้เห็นว่า บทบาทที่แท้จริงของงานเขียนประเภทสารคดีมีขีดจำกัดอยู่ที่ไหน เพราะทุกวันนี้งานเขียนประเภทสารคดีได้แบ่งแยกเป็นประเภทย่อย ๆ ลงมาอย่างหลากหลายมากขึ้น
สารคดีกับกระบวนการจัดวางข้อมูล
ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข้อเสนอจากนักเขียนสารคดีบางกลุ่ม ให้คณะกรรมการรางวัลซีไรต์บรรจุงานเขียนประเภทสารคดีเข้าประกวด เพิ่มเติมจากงานเขียนประเภทเรื่องสั้น นวนิยาย และกวีนิพนธ์ แต่งานเขียนประเภทสารคดีมีลักษณะเฉพาะอยู่ตรงที่ข้อมูลที่ใช้ในงานเขียนต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามหลักวิชา ทั้งในแง่ของเวลา สถานที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องเฉพาะทาง ข้อเสนอนี้จึงยังค้างคาอยู่ในความทรงจำหรือในแฟ้มเอกสารของผู้เกี่ยวข้อง เป็นความค้างคาอันเงียบงันและไร้เสียงไต่ถามใดใด
อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติของข้อเท็จจริงนั้นมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ไม่มีความแน่นอนตายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงสถิติ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมือง ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมออีกด้วย ทั้งนี้นักเขียนสารคดีจำเป็นต้องบริหารข้อเท็จจริงให้อยู่หมัด คนที่จัดการกับข้อเท็จจริงได้ย่อมมีอำนาจเหนือกว่า สำหรับนักเขียนสารคดีแล้วย่อมต้องยอมรับภาระต้นทุนตรงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทันทีที่หนังสือของคุณวางแผง ข้อเท็จจริงของคุณอาจกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วก็ได้ นอกเสียจากคุณจะคาดการณ์ความเป็นไปได้อย่างแม่นยำ
แม้ว่างานเขียนประเภทสารคดีจะอิงอยู่กับข้อเท็จจริงเพียงใด แต่มันก็ไม่ใช่งานเขียนแบบวิชาการ อีกอย่างหนึ่งจะมีผู้อ่านสักกี่คนกันที่เรียกร้องข้อเท็จจริงของข้อมูลเชิงลึก นอกเสียจากข้อมูลแบบใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพราะอะไร รวมถึงเรียกร้องความเพลิดเพลินในการอ่าน หรืออาจอ่านสารคดีเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลขึ้น เพราะข้อเท็จจริง หรือข้อมูลเชิงลึกนั้น ผู้อ่านไม่สามารถตัดสินถูกผิดได้ ฉะนั้นเราจะได้อ่านสารคดีในแบบที่ละเว้นที่จะกล่าวถึงข้อมูลเชิงลึก ขณะเดียวกันก็ได้จำแนกสารคดีออกเป็นประเภทต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น สารคดีเชิงประวัติศาสตร์ สารคดีท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งในแต่ละประเภทต่างก็ได้รับความนิยมจากผู้อ่าน มีการจัดพิมพ์สารคดีกันมากขึ้น หลากหลายรูปแบบขึ้น กลายเป็นสารคดีท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สารคดีประวัติศาสตร์เชิงวิชาการ สารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่แต่ละประเภทก็ได้ให้ข้อเท็จจริงจำเพาะลงไปตามเนื้อหา
เมื่อผู้อ่านและนักเขียนในสารคดีบางประเภทต่างพร้อมใจในการละเว้นข้อมูลเชิงลึกกันมากขึ้น เช่น สารคดีท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างแรก ๆ สิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับคือ แนวคิดของนักเขียนสารคดีที่มาพร้อมกับข้อมูลที่ถูกตัดต่อและจัดวางเพื่อส่งเสริมแนวคิดนั้นให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ยกตัวอย่าง สารคดีท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็มุ่งเน้นนำเสนอข้อมูลในเชิงอนุรักษ์ เชิงนิเวศน์ ร้ายกว่านั้นคือการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวสุดแล้วแต่นักเขียนจะมีแนวคิดอย่างไร มีทัศนคติอย่างไร และมีจุดมุ่งหมายอย่างเข้มข้นเพียงไรในการเขียนสารคดีชิ้นนั้น
ดังนั้นจะกล่าวได้ไหมว่า นักเขียนสารคดีมีอำนาจบริหารข้อเท็จจริงเพื่อสนองตอบต่อแนวคิดของตัวเอง และในขณะเดียวกันข้อเท็จจริงที่นักเขียนไปพบเจอก็พร้อมที่จะส่งผลกระทบต่อแนวคิดและทัศนคติของนักเขียนไปพร้อมกันด้วย
ฉะนั้น งานเขียนประเภทสารคดีนอกจากจะเป็นการเขียนที่อิงอยู่กับข้อเท็จจริงแล้ว และเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ยังเป็นงานเขียนที่อิงอยู่กับแนวคิดของผู้เขียนซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นมโนทัศน์เฉพาะตัว ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้งานเขียนประเภทสารคดีเหมือนกับวรรณกรรมประเภทนวนิยาย เรื่องสั้นหรือกวีนิพนธ์
หน้าที่ของผู้อ่าน
หน้าที่ของผู้อ่านงานเขียนประเภทสารคดีคืออะไร เมื่อลองพิจารณาถึงกระบวนการอ่าน
งานเขียนทุกประเภทนั้น เมื่อถูกอ่าน และตีความโดยผู้อ่าน การเคลื่อนไหวของความหมายยิ่งเพิ่มมิติ เนื่องจากมันได้สัญจรผ่านทัศนคติของผู้อ่าน ผ่านประสบการณ์การอ่าน ผ่านรสนิยม เรียกให้เท่ว่าผ่านจิตวิญญาณเฉพาะของผู้อ่านแต่ละคน เพราะฉะนั้นการตีความจึงเป็นเรื่องที่เป็นอิสระจากนักเขียนอย่างยิ่ง แต่หากผู้อ่านคนใด ยินยอมจะตีความคล้อยตามนักเขียน ปลดปล่อยอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกไปตามเจตนารมของนักเขียน การอ่านจะเป็นดั่งพันธะสัญญาระหว่างผู้ส่งสาร คือ นักเขียน กับ ผู้รับสาร คือ ผู้อ่าน
เพราะฉะนั้น การอ่านก็เป็นหน้าที่ที่ต้องอาศัยวิจารณญาณอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน นักเขียนยิ่งต้องอาศัยวิจารณญาณให้มากขึ้นในการที่จะส่ง “สาร” ที่เจือปนกับแนวคิดเฉพาะตัวของตัวเอง มิเช่นนั้นงานเขียนประเภทสารคดีจะกลายเป็นงานเขียนที่อิงกับข้อเท็จจริงที่มีสารปนเปื้อนเข้ามาจนก่อเป็นพิษได้
สำหรับจำปาขาว ลาวหอม ทั้งเล่มลาวใต้และลาวเหนือ ผลงานของ รวงทอง จันดา สารคดีท่องเที่ยวปลอดมลพิษสองเล่มนี้ ผู้อ่านคนใดอยากอ่านก็เชิญฝากอีเมลไว้ได้เลย จะจัดส่งไปให้ถึงบ้าน ด้วยความเต็มใจ
ถือว่ามาร่วมเดินทางฉลองปีใหม่ 2553 ด้วยการไปเที่ยวลาวแบบสัญจรผ่านถนนสายสารคดีก็แล้วกัน