นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50
บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี
ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน
จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม
\\/--break--\>
สองสามครั้งแล้วที่สวนหนังสือเขียนถึงนิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมนาม ช่อการะเกด มาคราวนี้ขอส่งท้ายปี 2552 ด้วยช่อการะเกดเล่มใหม่สักยกหนึ่ง พร้อมกันนี้ ขอแจ้งข่าวงาน ชุมนุมช่างวรรณกรรมประจำปี 2552 ซึ่งกำหนดไว้ในวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม นี้ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ใครสนใจจะร่วมงานเรียนเชิญติดตามหารายละเอียดได้ตามสะดวกจ๊ะ
ว่าถึงช่อการะเกดยุค 3 ในมือบริหารของ 3 หนุ่ม เวียง-วชิระ บัวสนธ์ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ สองศิษย์เก่า กับอีกหนึ่งบรรณาธิการมือทองนามสุชาติ สวัสดิ์ศรี นั้น หลายคนอดตั้งความหวังไม่ได้ว่า ยุค 3 ที่คลื่นลมวรรณกรรมอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของซากศพกับเสียงกรีดร้องของผลกำไรขาดทุนของธุรกิจวรรณกรรมจะกลับฟื้นคืนมาสู่บรรยากาศอันหอมหวานเช่นวันก่อนได้ดังอดีตอีก
ช่างเป็นความหวังอันน่าชื่นชมยินดีเหลือเกิน ต้องขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่โลกได้มอบ "ความหวัง" ไว้ให้มนุษย์ได้รู้จัก "หวัง" กัน
ยุค 3 นี้ ผีตายซากทางวรรณกรรมอย่างเรื่องสั้นไทยนั้น จะฟื้นขึ้นมาในรูปอะไร จะเป็นผีเน่ากับโลงผุ หรือเป็นฟอสซิลเรื่องสั้นอย่างที่ควรค่าเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น หรือ หรือ หรือ ก็ต้องติดตามอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์สถานเดียว
ความรู้สึกส่วนตัวที่ได้อ่านมาแล้วทั้งสิบสองเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ และอาจรวมถึงช่อการะเกดเล่มก่อนนี้ โดยเฉพาะนักเขียนรุ่นเก๋าเล็ก คือ หรือที่เป็นนักเขียนพอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้างในแวดวง แต่ไม่ใช่รุ่นใหญ่หรือปรมาจารย์นั้น มีอันให้ต้องประสบกับปัญหายามอ่านหลายข้อ เนื่องจากบรรดาท่านเก๋าเล็กทั้งหลายยังคงเขียนเรื่องสั้นราวกับต้องการดำรงสถานภาพของฟอสซิลเรื่องสั้นอยู่อย่างไม่คลอนแคลน ทำราวกับว่าเรื่องสั้นมีไว้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากเนื้อหาของเรื่อง แม้กระทั่งมุมมอง ก็ยังนับว่าเป็นปากกาและกระดาษแผ่นเดิม แผ่นเดียวกับเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
แต่เชื่อเถอะว่า สำหรับ "หน้าใหม่ผ่านเกิด" ทั้งหลายเช่นกัน ต่างก็มีอารมณ์ของเรื่องอย่างคนโหยหาอดีตอย่างกับอะไรดี ลุ่มหลงความเคร่งขรึมศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจวรรณกรรมอย่างกับอะไรดี ซึ่งนั่นก็คล้ายคลึงกับรุ่นเก๋าเล็กข้างต้น จึงนับว่าเป็นเพียงเรื่องสั้นที่เจริญรอยตามอำนาจวรรณกรรมคร่ำครึของนักเขียนรุ่นพี่ที่บัดนี้กลายเป็นรุ่นปรมาจารย์ไปแล้ว
แต่เชื่ออีกสักครั้งเถอะว่า ช่อการะเกด 50 เล่มนี้ มีเรื่องสั้นที่อ่านแล้วต้องยกนิ้วให้เป้ง ๆ เลยทีเดียว
ยกให้ทั้งบรรณาธิการและนักเขียนด้วย
เรื่องสั้นที่ว่านี้นอกจากผุดผ่องขึ้นมาจากบรรดาซากตากแห้งของเรื่องสั้นทั้งหลาย ทั้งจากหน้านิตยสารทั้งหลายแหล่ที่ตีพิมพ์เรื่องสั้นกันอย่างเอาจริงเอาจังและอย่างทีเล่นทีจริง ยังได้จุดประกายให้คิดและคาดหวัง พร้อมทั้งอุทานออกมาดัง ๆ ว่า
เฮ้ย! วรรณกรรมไทยยังไม่ถึงกาลหายนะนี่หว่า
นักเขียนไทยไม่ได้โง่โข่งนี่หว่า
บรรณาธิการไทยไม่ได้สวมแว่นตาไว้ฉุยฉายอย่างเดียวนี่หว่า
แล้วไง...
ก็จะอะไรอีกล่ะ ถ้าไม่ใช่เรื่องสั้น เรื่องกระจกของตา ที่ทำเอาฉันลุกขึ้นเต้นได้อีกครั้ง และ ‘วัฒน์ ยวงแก้ว' นามปากกาของผู้เขียนเรื่องนี้ เป็นใครกันหนอ ใครรู้ ช่วยตอบให้ทีเถอะ...
สำหรับช่อการะเกด 50 จะไม่ให้ตรากันล่ะว่า ใครเป็นผีตายซาก ใครเป็นผู้สะสมฟอสซิลไว้เป็นเอกสมบัติบันดาลใจส่วนตัว แต่ไม่ว่าอย่างไร ต้องยอมรับระดับหนึ่งว่า บรรดาเรื่องสั้นทั้งหลายที่ได้ลงพิมพ์ล้วนมีลักษณะเด่นกันคนละอย่าง สองอย่าง เรียกว่า สีสันแพรวพราวไปทั้งเล่ม และที่เด่นก็คือ "แนว" ของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ที่ดูเหมือนบรรณาธิการจะบันดาลให้เป็นเช่นนั้น นอกจากข้อดีที่หลายหลากแนวแล้ว ยังให้ความรู้สึกสดใหม่ขึ้นมาด้วย (ไม่นับพวกฟอสซิลที่ชอบพูดถึงเรื่องศีลธรรมขาวดำนะ)
หลักใหญ่ใจความของเรื่องสั้น กระจกของตา อยู่ที่การกล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่างเหตุการณ์ในอดีต โดยปลุกเอา "บิ๊กแบง" จุดกำเนิดของจักรวาลตามแนวคิดแบบควอนตัมฟิสิกส์ กับ ปลุกเอา "พระเจ้าสร้างโลก" นำสอง "ปลุก" นี้มาเคลื่อนทับกันผ่านสถานการณ์ที่เคลื่อนทับกันแล้วอย่างเลอะเทอะระหว่างการเมืองสีแดง สีเหลือง สีขาว สีเทา ของปัจจุบัน มาเล่าให้มีชีวิตราวกับมันได้เคยมีชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่เป็นแค่รายงานข่าวที่เข้าหูซ้ายทะลุหูข่าว ที่ทำให้ข้อเท็จจริงถูกบิดผัน กลบทับซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นแค่โปสเตอร์หนังที่คนไม่อยากเดินเข้าโรงไปดู เพราะไม่เชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง
เล่าโดยผ่านมุมมองของพระเจ้าองค์หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งนั่นคือ เสียงพิพากษา รวมถึงใช้เทคนิคการจัดแบ่งภาคให้เป็นมิติต่าง ๆ ยกตัวอย่างหน้า 108
คำให้การในมิติ - 1
คุณอยู่ฝ่ายไหน
ไม่ ผมไม่อยู่ฝ่ายไหนทั้งนั้น
โดยหน้าที่ของคุณต้องเป็นเช่นนั้น แต่เวลานี้เรากำลังพูดถึงเรื่องของจิตใจกัน
ผิดล่ะ คุณเข้าใจกลับกันแล้วโดยหน้าที่นั่นหรือที่ผมไม่ต้องเลือกฝ่าย กรุณาอย่าเข้าใจด้วยเพียงถ้อยคำ มันเป็นแค่ความลวงที่กรอกใส่ลงในตัวผมเท่านั้น
เรื่องนั้นเราจะคุยกันในมิติหลังจากนี้ แต่ถ้าไม่เลือกฝ่ายคุณยิงทำไม
ขอยืนยันอีกครั้ง ผมยิงเพราะไม่มีฝ่าย
ขอเหตุผลที่เข้าใจง่ายหน่อย อย่าลืมว่าตอนนี้เรามีมิติเดียว
อ้อ...ใช่ ผมเห็นตา นี่ล่ะเหตุผล
...
...
...
คุณรู้หรือไม่ว่าการกระทำของคุณ คืออาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด
ไม่ มันไม่ใช่อาชญากรรม
เรื่องดำเนินไปโดยสลับลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง ขณะที่ในส่วนของคำให้การในมิติต่อ ๆ ไปนั้นดำเนินไปตามลำดับ1 2 3 แล้วย้อนมาที่มิติ 0 หลังจาก "จักรวาลมีแนวโน้มที่จะยุ่งเหยิงมากขึ้น" โดยคำให้การในมิติ 0 นี่เองที่ผู้เขียนได้สรุปองค์ในรูปของสมการของถ้อยคำ หน้า 116 เขียนไว้ว่า
การมีมิติ 0 = การไม่มีมิติ
มันถูกสร้างขึ้นด้วยแสง แสงสร้างเวลา เวลาสร้างอวกาศ อวกาศสร้างแสง เมื่อเราส่องกระจกเงา เราเห็นตัวเองเมื่ออดีตเสมอ แต่กระจกโปร่งใสย่อมไม่กั้นแสง
ดังนั้น
การมีอยู่ = การไม่มีอยู่
และ
การไม่มีอยู่ = การมีอยู่ของเหตุการณ์
ดังนั้น การมีอยู่ = การมีอยู่ของเหตุการณ์
ชายผู้นั้นสรุปกฎของเขาให้ฟัง ฯลฯ
น่าสังเกตว่า ทางคณิตศาสตร์ แม้ 0 จะแทนการไม่มี แต่ไม่ได้หมายถึง ความว่างเปล่าไร้ตัวตน แต่หมายถึงตำแหน่งที่ไม่มีค่า เมื่อนำ 0 มาบวก หรือ ลบ จำนวนใดก็ได้เท่าจำนวนนั้น แต่หากนำ 0 คูณจำนวนใด ๆ จะได้ 0 เสมอ
ค่าของ 0 กับตำแหน่งของ 0 บนเส้นจำนวนจึงไม่สามารถแทนกันได้
ดูจากเส้นจำนวนที่ 0 อยู่ตรงกลาง จำนวนทางขวาของ 0 บนเส้นจำนวนชี้บอกค่าที่มากขึ้น จำนวนทางซ้ายของ 0 บนเส้นจำนวนชี้บอกค่าที่ลดลง
ดังนั้น สมการแรก คือ การมีมิติ 0 จึงไม่เท่ากับ การไม่มีมิติ และสมการที่สัมพันธ์กับสมการตั้งต้นที่ไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นจริงไปด้วย คือ การมีอยู่ ไม่เท่ากับ การไม่มีอยู่
ในย่อหน้าดังกล่าวผู้เขียนได้ให้ความสำคัญไว้ระดับหนึ่งแต่ไม่ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษในเนื้อเรื่องส่วนอื่น การแสดงความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไรต่อเนื้อเรื่องที่มีความเข้มข้นอยู่แล้ว ชวนให้ตีความอยู่เป็นทุนแล้ว ฉะนั้นการสรุปอะไรง่าย ๆ ในเรื่องสั้นที่ได้วางเค้าโครงเรื่องไว้อย่างดีแล้ว จึงไม่ใช่การกระทำที่รอบคอบหรือดูฉลาดแม้แต่น้อย
แต่ที่น่าสนใจคือ การนำจุดกำเนิดกับจุดจบ มาเป็นปมของเรื่อง โดยกำหนดให้จุดกำเนิดกับจุดจบเป็นจุดเดียวกัน หรือที่ใช้สัญลักษณ์ของอวัยะเพศของตา ที่ปรากฏเป็นบทสรุปอีกข้อหนึ่งดังหน้า 120
การเอามือเล่นอวัยวะเพศทำให้ผมผสานรวมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ตอนนั้นได้ดีขึ้น มันคือเครื่องมือแห่งกาลเวลา เครื่องมือแห่งการครอบครองเหตุการณ์และขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ เพราะเป็นอวัยวะเดียวที่ยืนยันการมีอยู่และการสิ้นสูญของตัวตนไปพร้อมกัน ฯลฯ
ซึ่งการจะมองให้เห็นว่าจุดกำเนิดกับจุดจบให้เป็นจุดเดียวกันนั้น ผู้เขียนสร้างเครื่องมืออันหนึ่งขึ้นมาใช้ พร้อมทั้งเสนอให้ผู้อ่านคล้อยตาม นั่นคือ กระจกใส ที่จะมองทะลุทุกสิ่ง แม้กระทั่งพระเจ้าที่เมื่อมองผ่านกระจกใส ก็คือ ตัวเรา นั่นเอง
หากจะกล่าวว่า เราคือพระเจ้า และพระเจ้าก็คือเรา พร้อมกันนั้น เมื่อย้อนกลับไปที่ "พระเจ้าสร้างโลก" แล้ว เราจะพบว่า สมการนี้ของผู้เขียนเป็นจริง
เมื่อเราคือพระเจ้า พระเจ้าคือเรา
เมื่อพระเจ้าสร้างโลก นั่นคือ เราสร้างโลก
นี่ไม่ใช่การจำลองภาพเอกภพแต่อย่างใด เมื่ออ่านแล้ว ฉันขอยืนยันว่า ผู้เขียน ‘วัฒน์ ยวงแก้ว' ไม่ได้ต้องการจะนำเสนอเรื่องราวของเอกภพฉบับย่อไว้ในเรื่องสั้นของเขา หากแต่เขามุ่งเสนอโลกทัศน์แบบปัจเจกที่ชัดเจนและเข้มข้น ราวกับเขาจะกล่าวว่า โลกก็คือสิ่งที่เราถือกำเนิดและตายลง เราสร้างโลกขึ้นผ่านกระจกใสที่แต่ละครั้งซึ่งแสงตกกระทบโลกจะเผยมิติอื่นให้เราเห็นและดำรงอยู่
เพียงบางส่วนจากเรื่องสั้น กระจกของตา เรื่องนี้ ที่นำมากล่าวถึง จึงเป็นเพียงอีกมิติหนึ่งที่แสงตกกระทบนัยน์ตาของฉัน ที่อดไม่ได้จะกล่าวคำชื่นชมอย่างจริงใจ แต่หากจะถามถึงมิติที่ว่า ทำไมวรรณกรรมขายไม่ได้นั้น คงต้องไปถามผู้บริโภคหนังสือแล้วล่ะว่า วรรณกรรมไทยดี ๆ นั้นมีอยู่ วรรณกรรมไทยไม่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานแต่อย่างใด แล้วผู้อ่านล่ะ ให้ความสนใจสิ่งดี ๆ อันเป็นความหวังเหล่านี้แค่ไหน จะให้นักเขียนปรามาส ตัดพ้อต่อว่าไปถึงไหน ว่า ผู้บริโภครสนิยมต่ำเกินมาตรฐานวรรณกรรม.